วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558

'พลเมืองโต้กลับ' ตั้งฉายาบุคคลทางการเมืองแทนสื่อ สะท้อนการเมืองใต้ระบอบรัฐประหาร


กลุ่มพลเมืองโต้กลับตั้งฉายาบุคคลทางการเมือง หลังสื่อทำเนียบงดตั้งฉายารัฐบาลต่อเนื่องเป็นปีที่สองเนื่องจากเป็นรัฐบาลที่มาจากวิธีพิเศษ 
30 ธ.ค. 2558 กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ตั้งฉายา 10 บุคคลการเมืองแห่งปี 2558 โดยเผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊กของกลุ่ม พร้อมระบุว่า พลเมืองโต้กลับเห็นว่าข้ออ้างของสื่อมวลชนในการงดตั้งฉายารัฐบาลนั้นเป็นการละเลยการทำหน้าที่สะท้อนภาพลักษณ์ของรัฐบาลคณะรัฐประหาร ขณะที่้การให้เหตุผลว่าเพราะเป็น "รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจหรือรัฐประหาร และอยู่ในสถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ" เพราะกลัวว่าจะ "ถูกนำไปใช้ขยายความขัดแย้งที่ยังดำรงอยู่ในสังคมไทย หรือถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มบุคคล ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด" ก็เป็นการให้เหตุผลที่ผิดฝาผิดตัว เพราะสื่อมวลชนต้องทำหน้าที่แทนประชาชนในการสะท้อนสิ่งที่ตัวเองเห็นว่าไม่ชอบมาพากล ให้สังคมร่วมตรวจสอบ และยิ่งเป็นรัฐบาลรัฐประหาร ที่กลไกต่างๆ ถูกปิดกั้นก็ยิ่งเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องทำหน้าที่ตัวเองออกมาให้สุดความสามารถ ซึ่งการตั้งฉายารัฐบาลนั้นก็เป็นรูปแบบหนึ่ง
"แต่เมื่อสื่อมวลชนไม่ทำหน้าที่ เรา พลเมืองโต้กลับ จึงขอทำหน้าที่ดังกล่าว ทั้งนี้ฉายาที่ตั้งให้ไม่เพียงแต่ฉายารัฐบาลเท่านั้น เพราะเราอยู่ในระบอบรัฐประหาร ฉายาที่ตั้งให้จึงครอบคลุมทั้งรัฐบาลคณะรัฐประหาร และผู้สนับสนุนอื่นๆ ด้วย" กลุ่มพลเมืองโต้กลับระบุ
ทั้งนี้ มีการตั้งฉายาให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ, พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา, พลเอก อุดมเดช สีตบุตร, พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา, ดอน ปรมัตถ์วินัย, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ-มีชัย ฤชุพันธุ์, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, ตลอดจนสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมมอบให้วาทะ "โกงอย่างจงรัก หักหัวคิวอย่างภักดี" ของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) เป็นวาทะแห่งปี โดยระบุว่า ข้ออ้างสำคัญของรัฐประหาร 2557 คือการมาแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน และการมีการล่วงละเมิดสถาบันฯ ตามมาตรา 112 แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลับกลายเป็นทหารเองที่ถูกตั้งคำถามเรื่องคอร์รัปชัน โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เผยแพร่ “รายงานดัชนีป้องกันคอร์รัปชั่นในกองทัพ (Government defence Anti – Corruption Index - GI) ปรากฏว่ากองทัพไทยอยู่ในระดับ E ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูงมากต่อการเกิดคอร์รัปชัน (ต่ำสุดคือ G) ดังนั้น กรณีเกิดการตั้งข้อสังเกตเรื่องคอร์รัปชันในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์และมีผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากโดน มาตรา 112 เล่นงานจึงสะท้อนให้เห็นว่าข้ออ้างต่างๆ ของการรัฐประหารนั้นไร้สาระเพียงใด วาทะ "โกงอย่างจงรัก หักหัวคิวอย่างภักดี " โดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จึงสะท้อนการเมืองภายใต้ระบอบรัฐประหารได้ชัดเจน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น