วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

3 องค์กรสิทธิเรียกร้อง คสช.ยุติจับกุม-คุมตัวโดยพลการ


3 องค์กรสิทธิ เรียกร้อง คสช. ยุติการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ หากมีเหตุจำเป็นตามกฎหมาย ต้องดำเนินการตามขั้นตอนและให้บุคคลผู้ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวได้รับสิทธิตามกฎหมาย พร้อมเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวบุคคลทุกกรณี
25 ม.ค. 2559 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ให้ยุติการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ โดยแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการใช้อำนาจรัฐในช่วงที่ผ่านมาและปัจจุบัน ที่เข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคล โดยเฉพาะสถานการณ์การจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลในหลายกรณี อาทิ กรณี สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง, ฐนกร ศิริไพบูลย์, ธเนตร อนันตวงษ์, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, จักรพล ผลลออ
โดยเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยุติการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ และหากมีเหตุและความจำเป็นตามกฎหมายที่จะต้องจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคล จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและให้บุคคลผู้ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวได้รับสิทธิตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทุกประการ และที่สำคัญต้องเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวบุคคลในทุกกรณี รวมถึงพิจารณายกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 ด้วย

แถลงการณ์
เรื่อง ให้ยุติการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ
ด้วยสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ โดยถูกรับรองและคุ้มครองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง พ.ศ. 2509 ตลอดจนอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. 2527(Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ. 2549 (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามว่าจะเข้าเป็นภาคี จึงมีหน้าที่ที่ต้องเคารพ คุ้มครองและส่งเสริมให้สิทธิตามพันธกรณีเกิดขึ้นจริง
องค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีรายชื่อปรากฏตามท้ายแถลงการณ์นี้ มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการใช้อำนาจรัฐในช่วงที่ผ่านมาและปัจจุบัน ที่เข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคล โดยเฉพาะสถานการณ์การจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลในหลายกรณี อาทิ การควบคุมตัวนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่คลุมเครือในเวลาต่อมา การควบคุมตัวนายฐนกร ศิริไพบูลย์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 การควบคุมตัวนายธเนตร อนันตวงษ์ นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 ขณะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล การควบคุมตัวนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ในเวลากลางคืนของวันที่ 20 มกราคม 2559 โดยชายฉกรรจ์ 8 คนแต่งกายด้วยเครื่องแบบทหารปิดบังใบหน้า และล่าสุดการควบคุมตัวนายจักรพล ผลลออ สมาชิกกลุ่มลูกชาวบ้าน มหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 โดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณ 10 คน ตามที่ปรากฎผ่านสื่อมวลชนนั้น
กรณีการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลในหลายกรณีดังกล่าวข้างต้น มีข้อมูลและข้อร้องเรียนที่แสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติการที่เข้าข่ายเป็นการจับกุมหรือควบคุมตัวโดยพลการ และขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพันธกรณีระหว่างประเทศในหลายประการ ดังจะเห็นได้จากการปฏิบัติการในบางกรณีที่ดำเนินการในยามวิกาล โดยเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่จับกุมมีการปกปิดใบหน้าและสังกัด ในบางกรณีไม่แจ้งข้อกล่าวหาและเหตุผลในการจับกุมแก่ผู้ถูกจับกุม และมักไม่มีการแจ้งสถานที่ควบคุมตัว ทำให้บุคคลที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวไม่ได้การคุ้มครองของกฎหมาย และขาดหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ เช่น สิทธิเข้าถึงทนายความ สิทธิที่จะได้พบญาติ สิทธิที่จะติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก เป็นต้น อันอาจส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงตามมา เช่น การทรมาน การถูกบังคับให้หายสาบสูญ เป็นต้น
ด้วยเหตุผลดังกล่าว องค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีรายชื่อปรากฏตามท้ายแถลงการณ์นี้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติเคารพต่อรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศดังกล่าว โดยยุติการใช้อำนาจในการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ และหากมีเหตุและความจำเป็นตามกฎหมายที่จะต้องจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคล  จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและให้บุคคลผู้ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวได้รับสิทธิตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทุกประการ และที่สำคัญต้องเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวบุคคลในทุกกรณี นอกจากนี้ ควรพิจารณายกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 อันเป็นที่มาของการใช้อำนาจที่ขาดการตรวจสอบ และยกเว้นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ อันอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องและกว้างขวางขึ้นในอนาคต
ด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น