วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559

ไม่ปรับราคา แต่ปรับทัศนคติ ทหารเรียก 50 แกนนำยาง เข้าค่ายวิภาวดีรังสิต


พล.อ.ประยุทธ์ ยันไม่สามารถหนุนราคายางกิโลกรัมละ 60 บาทไดั ชี้ไม่มีงบฯเพียงพอ ระบุรัฐบาลกำลังสร้างระบบ เพื่อแกัปัญหาในระยะยาว ทหารเรียก 50 แกนนำยาง เข้าค่ายวิภาวดีรังสิต ปรับทัศนคติ ฟังความคิดเห็นหาทางออกในการแก้ไขปัญหา
11 ม.ค. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  กล่าวถึงปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า ขอให้สบายใจ รัฐบาลกำลังเริ่มแก้ไขปัญหาทั้งหมด โดยจัดกระบวนการขึ้นมากระบวนการหนึ่ง เพื่อรับซื้อยางพาราในราคาที่สูงขึ้นเล็กน้อย โดยรัฐบาลและคสช. จะเป็นผู้รับซื้อเอง
“แนวทางดำเนินการจะมีความชัดเจนในสัปดาห์นี้  คณะกรรมการกำลังพิจารณาราคาที่จะรับซื้อ ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาในระยะแรก ก่อนที่จะมีการปิดกรีดในอีก 3 เดือนข้างหน้า  โดยยางที่รับซื้อมา รัฐบาลจะนำเข้าสู่กระบวนการผลิต เช่น การทำถนน ที่มีแนวทางการเพิ่มการใช้ยางให้มากขึ้น จากเดิมร้อยละ5   การผลิตเครื่องมือแพทย์ ถุงมือ และแผ่นปูพื้นอ่างเก็บน้ำ  ส่วนชาวสวนยางจะพอใจหรือไม่ ก็ยังไม่ทราบ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ต่อกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการมูลนิธิ กปปส.ออกมาแสดงความเห็นว่า ไม่ยอมรับแนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาล แต่ขอให้รัฐบาลใช้วิธีอุดหนุนราคายางให้อยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า ไม่สามารถทำไดั เพราะไม่มีงบประมาณเพียงพอ แต่รัฐบาลกำลังสร้างระบบ เพื่อแกัปัญหาในระยะยาว
“เอาอะไรมาอุ้ม เอาเงินที่ไหน ตอบมา กำลังสร้างระบบ จะให้อุ้มแบบนี้ ไปหาเงินมาให้ผม  ไม่ใช่ผมใจร้าย  เพราะถ้าคิดแบบนั้น เดี๋ยวผมให้ก็ได้  ซื้อมา 120 บาท แล้วเอาไปขายใคร เน่าอยู่ในคลังโน้น เข้าใจบ้าง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ทหารเรียก 50 แกนนำยาง เข้าค่ายวิภาวดีรังสิต
วันเดียวกัน (11 ม.ค. 59) คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า  เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี  เจ้าหน้าที่ทหารเรียกแกนนำยางประมาณ 50 คน ปรับทัศนคติ และประชุมรับฟังความคิดเห็นหาทางออกในการแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำ ตามโครงการสร้างความเข้มแข็งสู่ปฏิรูปสังคมเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล ในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่กำลังเดือดร้อน ก่อนที่จะมีการชุมนุมของเกษตรกรเพื่อเรียกร้องราคายางพารา
 
โดยมี พ.อ.สมเกียรติ รัตนเจริญพรชัย รอง ผอ.รมน. เป็นประธาน และได้ขอร้องให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันหาทางออก โดยไม่ให้มีการชุมนุมกดดันรัฐบาลที่กำลังหาแนวทางแก้ไขอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้มีนักวิชาการด้านการเกษตรเป็นวิทยากรบรรยายและอธิบายเกี่ยวกับตลาดยางพาราในปัจจุบัน รวมทั้งตลาดกลางยางในกลุ่มประเทศอาเซียนและตลาดแรงงานยางพาราที่เป็นปัญหา เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่เป็นพม่า และกลับประเทศหลังจากยางราคาตกต่ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น