วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559

จับตาวาระ กทค.: กองทัพฟ้องแผนแม่บท กสทช.


กองทัพฟ้องแผนแม่บท กสทช., AIS ขอขยายเยียวยาคลื่น 900, ไทยคมขอรับใบอนุญาตดาวเทียม, ปรับปรุงเงื่อนไขมาตรฐานการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม, กฤษฎีกาตีความสิทธิใช้คลื่น 900
การประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 1/2559 วันอังคารที่ 12 มกราคม 2559 มีวาระสำคัญที่น่าจับตา คือ เรื่องขอรับนโยบายกรณีกองบัญชาการกองทัพไทยยื่นฟ้องสำนักงาน กสทช. และ กสทช. เรื่องการขอขยายกำหนดสิ้นสุดมาตรการเยียวยาคลื่น 900 MHz ของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เรื่อง บมจ. ไทยคมขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม และเรื่องการปรับปรุงเงื่อนไขมาตรฐานในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ส่วนวาระเพื่อทราบที่น่าสนใจในการประชุมครั้งนี้ คือ เรื่องความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายในการใช้คลื่นย่าน 900 MHz และเรื่องการดำเนินการปรับเปลี่ยนการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz
วาระขอรับนโยบายกรณีกองบัญชาการกองทัพไทยยื่นฟ้องสำนักงาน กสทช. และ กสทช.
วาระนี้เป็นเรื่องสืบเนื่องจากกรณีที่กองบัญชาการกองทัพไทยยื่นฟ้องสำนักงาน กสทช. และ กสทช. ต่อศาลปกครองกลางในประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2558) และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ (พ.ศ. 2558) ด้วยเหตุผลว่าการออกประกาศฉบับนี้ทำให้มีผลกระทบต่อการใช้คลื่นความถี่เพื่อความมั่นคงของประเทศ เพราะมีการกำหนดให้กิจการวิทยุสมัครเล่นเป็นกิจการรองในคลื่นความถี่ย่าน 50 – 54 MHz ขณะที่ในปัจจุบันทางกองทัพใช้เครื่องวิทยุสื่อสารสำหรับปฏิบัติการทางทหารของเหล่าทัพต่างๆ ในย่านความถี่ 30 – 87 MHz ซึ่งรวมถึงย่านความถี่ 50 – 54 MHz นี้ด้วย ดังนั้นในคำฟ้องต่อศาลปกครองกลางจึงต้องการขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกิจการวิทยุสมัครเล่นในคลื่นความถี่ย่านนี้ออกจากประกาศ ซึ่งขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนที่ศาลรับคำฟ้อง แต่ยังไม่ได้มีการประทับรับฟ้องไว้พิจารณา
อันที่จริงแรกเริ่มเดิมที เนื้อหาของร่างประกาศฉบับนี้ที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 17/2558 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ได้มีการยกเลิกการกำหนดให้กิจการวิทยุสมัครเล่นเป็นกิจการรองของการใช้งานย่านความถี่ 50 – 54 MHz ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นจากการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยมีผู้เห็นด้วยกับการยกเลิกราว 30,000 ราย ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีจำนวน 635 ราย แต่ปรากฏว่าในการประชุมครั้งดังกล่าว กทค. ได้มีการลงมติด้วยเสียงข้างมากให้กำหนดกิจการวิทยุสมัครเล่นไว้เป็นกิจการรองต่อไปจนกว่าผลการศึกษาการใช้งานคลื่นความถี่ร่วมกันระหว่างกิจการและการแก้ไขเชิงอรรถระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องจะแล้วเสร็จ มีเพียง กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ลงมติเป็นเสียงข้างน้อยเสียงเดียว โดยได้สงวนความเห็นไว้ในการประชุมว่า “หาก กทค. จะมีการใช้ดุลยพินิจในแนวทางที่แย้งกับสิ่งที่สำนักงาน กสทช. เสนอตามผลการรับฟังความคิดเห็น ก็ควรต้องมีเหตุผลสนับสนุนที่ชัดเจนและมีน้ำหนักดีพอสมควร อีกทั้งควรกำหนดมาตรการให้สำนักงาน กสทช. สอบถามและขอความเห็นจากหน่วยงานความมั่นคงเสียก่อน ในฐานะที่เป็นฝ่ายสนับสนุนหลักให้ตัดส่วนของกิจการวิทยุสมัครเล่นออก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาและผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้” อย่างไรก็ดี ในที่สุดมติที่ประชุม กทค. ครั้งดังกล่าว ซึ่งเป็นบรรทัดฐานให้เกิดมติ กสทช. ในลำดับถัดมา ก็กลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดการฟ้องร้องขึ้นจนได้ ซึ่งในการจัดทำวาระของสำนักงาน กสทช. เข้าที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณาในครั้งนี้ ก็เพื่อขอรับนโยบายจาก กทค. ว่าจะให้สู้คดีต่อไปหากศาลปกครองกลางมีคำสั่งประทับรับฟ้อง หรือจะชิงแก้ไขประกาศโดยตัดในส่วนของกิจการวิทยุสมัครเล่นความถี่ย่าน 50 – 54 MHz ออกไปเพื่อยุติเหตุแห่งการฟ้องเสีย
วาระเรื่องการขอขยายกำหนดสิ้นสุดมาตรการเยียวยาคลื่น 900 MHz ของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส
วาระนี้สืบเนื่องจาก บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส มีหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ลงวันที่ 4 มกราคม 2559 ขอให้พิจารณากำหนดมาตรการให้การคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า ปัจจุบันยังมีผู้ใช้บริการของบริษัท (End User) ที่ยังไม่ได้โอนย้ายเลขหมายออกจากระบบประมาณ 1 ล้านเลขหมาย และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นที่ต้องใช้บริการเครือข่ายร่วม (Roaming) อีกประมาณ 10 ล้านเลขหมาย โดยผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้บริการที่อยู่ในพื้นที่ชนบทและใช้เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 2จี หากประสงค์จะใช้เลขหมายเดิมก็จะต้องดำเนินการโอนย้ายเลขหมายไปยังผู้ให้บริการรายอื่นพร้อมกับต้องเปลี่ยนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และหากดำเนินการโอนย้ายผ่านศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Clearing House) ก็คาดว่าต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่น้อยกว่า 6 เดือน ในขณะที่ก่อนหน้านี้ กทค. ครั้งที่ 34/2558 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 ได้เคยมีมติกำหนดสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการหรือมาตรการเยียวยาฯ เมื่อมีการออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ให้แก่ผู้ชนะการประมูลรายใดรายหนึ่งแล้วเสร็จ ซึ่งหมายความว่าหากมีผู้ชนะการประมูลรายใดชำระเงินประมูลและปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตอย่างครบถ้วนแล้วเสร็จ ซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 90 วัน นับจากวันที่ผู้ชนะการประมูลรับได้แจ้งผลการประมูล การคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ก็จะถือเป็นอันสิ้นสุด และ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ไม่มีสิทธิใช้คลื่นย่านนี้เพื่อให้บริการอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม การสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีของคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz นี้ แตกต่างจากคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ตรงที่ผู้ชนะการประมูลบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ยังคงเป็นผู้ให้บริการรายเดิม จึงยังสามารถให้บริการได้ต่อเนื่อง แต่ในกรณีนี้ผู้ชนะการประมูลย่านคลื่นในช่วงนี้คือ บจ. แจส โมบาย บรอดแบนด์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ และอาจยังไม่มีความพร้อมเปิดให้บริการได้ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ต้องจัดสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ครอบคลุมพื้นที่ใช้บริการ ดังนั้นจึงย่อมเกิดผลกระทบกับผู้ใช้บริการที่ไม่สามารถโอนย้ายเลขหมายออกจากระบบได้ทัน
วาระนี้น่าจับตาอย่างยิ่ง เพราะเป็นโจทย์ยากว่า กทค. จะพิจารณาและดำเนินการอย่างไรต่อไปบนฐานอำนาจทางกฎหมายที่มีอยู่ โดยไม่กระทบสิทธิของผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตรายใหม่ ขณะเดียวกันก็ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการน้อยที่สุด
วาระ บมจ. ไทยคมขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม
บมจ. ไทยคม มีหนังสือลงวันที่ 29 กันยายน 2558 ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม สำหรับให้บริการโครงข่ายการสื่อสารผ่านดาวเทียม ซึ่งในชั้นนี้เพื่อขอเป็นผู้รับใบอนุญาตไปประสานงานตำแหน่งการใช้งานวงโคจรดาวเทียมที่ตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก ซึ่งการขอรับใบอนุญาตในครั้งนี้หากจัดส่งเอกสารหลักฐานการขอรับใบอนุญาตถูกต้องและครบถ้วน ก็ไม่น่าติดปัญหาอะไร โดยในอดีตก็เคยมีการอนุญาตในลักษณะทำนองเดียวกันนี้ไปแล้ว เพื่อให้ บมจ. ไทยคม เป็นผู้ประสานงานตำแหน่งการใช้งานวงโคจรดาวเทียมที่ตำแหน่ง 120 องศาตะวันออก และ 78.5 องศาตะวันออก อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนคือขอบเขตของการอนุญาตครั้งนี้ หมายรวมถึงผู้ประกอบการมีสิทธิใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์ด้วยหรือไม่ เพราะมาตรา 45 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 กำหนดว่า ผู้ใดประสงค์จะใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ ดังนั้นจึงควรส่งประเด็นดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. พิจารณาให้ความเห็นเพื่อความชัดเจนด้วย
วาระปรับปรุงเงื่อนไขมาตรฐานในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม
สำนักงาน กสทช. เสนอวาระขอปรับปรุงเงื่อนไขมาตรฐานในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยปัจจุบันตามประกาศ กทช. เรื่อง เงื่อนไขมาตรฐานในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม มีเงื่อนไขในการอนุญาตทั้งสิ้น 11 ฉบับ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่มีสาระไม่แตกต่างกันนัก และมีข้อกำหนดเงื่อนไขที่ซ้ำซ้อน รวมทั้งข้อกำหนดในเงื่อนไขบางประการไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง เนื่องจากเป็นเงื่อนไขที่ยากปฏิบัติตาม ขณะเดียวกันปัจจุบันก็มีกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ที่ออกโดย กสทช. ดังนั้นจึงถึงคราวสมควรที่จะมีการปรับปรุงให้ทันกับสภาวะแวดล้อมในการกำกับดูแลที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในวาระนี้สำนักงาน กสทช. เสนอขอปรับปรุงเงื่อนไขมาตรฐานในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก 11 ฉบับ ยุบรวมเหลือ 2 ฉบับ คือ เงื่อนไขสำหรับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่าย และเงื่อนไขสำหรับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่าย ซึ่งการปรับปรุงเงื่อนไขในครั้งนี้ คาดว่าจะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการสามารถขอรับใบอนุญาตได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
วาระเพื่อทราบเรื่องความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับสิทธิการใช้คลื่นย่าน 900 MHz และการปรับเปลี่ยนการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz
ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2559 มีวาระเพื่อทราบที่น่าสนใจ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายในการใช้คลื่นย่าน 900 MHz เรื่องนี้มีเหตุจากที่ บมจ. ทีโอที ขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นสิทธิการใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz โดยปมพิพาทนี้เกิดจากการที่ กสทช. เห็นว่าเมื่อสัญญาสัมปทานหมดลง สิทธิการใช้คลื่นความถี่ของรัฐวิสาหกิจก็สิ้นสุดลงด้วย โดยต้องคืนคลื่นความถี่กลับมาเป็นของประเทศ และ กสทช. มีหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดสรรคลื่นให้ประชาชนได้ใช้บริการ แต่ฝั่ง บมจ. ทีโอที ไม่เห็นด้วย โดยมองว่าบริษัทฯ ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่จากคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ (กบถ.) แบบไม่มีกำหนดเวลา จึงมีสิทธิในการบริหารคลื่นความถี่ต่อไป ด้วยเหตุนี้ บมจ. ทีโอที จึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ
สำหรับผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีหนังสือแจ้งมายังสำนักงาน กสทช. ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2558 ชี้ว่า “เมื่อสัญญาอนุญาตให้ดำเนินการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่าง บมจ. ทีโอที กับ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส สิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2558 สิทธิตามกฎหมายของ บมจ. ทีโอที ในการใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จึงสิ้นสุดลงตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ฯ และต้องคืนคลื่นดังกล่าวให้แก่ กสทช. เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่” นั่นย่อมหมายถึงว่า การที่ กสทช. นำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ไปจัดสรรด้วยวิธีการประมูลเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีความถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ส่วนวาระเพื่อทราบที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ การดำเนินการปรับเปลี่ยนการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ซึ่งมติ กทค. ในการประชุมครั้งที่ 24/2558 วันที่ 30 กันยายน 2558 เห็นชอบแนวทางการดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนการใช้งานคลื่นความถี่ โดยให้ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น และ บจ. ดิจิตอลโฟน ดำเนินการปรับเปลี่ยนการใช้งานคลื่นความถี่ช่วงที่หนึ่งขนาด 2X25.3 MHz จากเดิม 1722.6 – 1747.9 MHz คู่กับ 1817.6 – 1842.9 MHz เป็น 1740 – 1765.3 MHz คู่กับ 1835 – 1860.3 MHz เพื่อใช้ในการให้บริการภายใต้สัญญาร่วมการงานระหว่าง บมจ. กสท โทรคมนาคม กับ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ในครั้งนี้จึงเป็นกรณีที่ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น รายงานผลการดำเนินการปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่มายังสำนักงาน กสทช. ว่าได้ดำเนินการปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่แล้ว และในเบื้องต้นสำนักงาน กสทช. ยังไม่ได้รับรายงานผลการรบกวนหรือข้อร้องเรียนจากผู้ใช้บริการแต่อย่างใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น