วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

พระฝ่าวงล้อมทหารชุมนุมพุทธมณฑล จี้รบ.เร่งสถาปนาสังฆราช - หนุนพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ


15 ก.พ. 2559 ขณะที่ Voice TV รายงานด้วยว่า พระสงฆ์และประชาชน จากศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา และศูนย์ประสานงานเครือข่ายพระเมธีธรรมมาจารย์ ร่วมสัมมนา หัวข้อ "สกัดแผนล้มการปกครองคณะสงฆ์ไทย" ที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม เพื่อแสดงออก ต่อต้านการกระทำของพระพุทธะอิสระ และนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทาง และมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ของ สปช. พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลทูลเกล้าแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช และจะอยู่ปฏิบัติธรรมร่วมกันถึงวันพรุ่งนี้ (16 ก.พ.)
ขณะที่ วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี มีตำรวจ และทหาร ปิดประตูเข้า-ออกวัด โดยนายเสริมวิทย์ สมบัติ ปลัดอำเภอคลองหลวง เปิดเผยว่า เพื่อทำความเข้าใจกับพระในวัดธรรมกาย เพราะกังวลว่า จะเดินทางไปรวมตัวที่พุทธมณฑล แต่ภายหลังไม่พบว่าจะมีการนำพระหรือมวลชนไปร่วม ตำรวจและทหารจึงได้กลับไป
 

Workpoint News - ข่าวเวิร์คพอยท์ รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ที่บริเวณหน้าปากทางเข้าสำนักพุทธฯ ได้มีกำลังทหารจากกองพันทหารราบที่ 5 จำนวนกว่า 50 นายพยายามสกัดกั้นไม่ให้รถยนต์ไม่ให้เข้าไปชุมนุมกันในสำนักพุทธ โดยมีพระภิกษุสงฆ์นับร้อยพยายามผลักดันให้ทหารหลีกทางเพื่อให้รถเข้าไป ก่อนที่จะกำลังทหารจะนำรถจี๊ปมาปิดกั้น ทำให้พระไม่พอใจจึงทำการช่วยกันยกรถ ด้านทหารก็พยายามดันกลับไม่ให้ยกรถ จึงเกิดการปะทะกันถึงขั้นชกต่อย ก่อนที่จะมีการห้ามปรามให้ยุติ ซึ่งทหารก็ยินยอมให้รถผ่านไปโดยไม่เต็มใจ เพราะไม่สามารถสกัดกั้นได้ 
นอกจากนี้ในคลิปจากข่าวเวิร์คพอยท์ ประมาณนาทีที่ 3.30 มีเสียงถามพระที่มาร่วมชุมนุมนั้นด้วยว่า "เขาจ้างมาเท่าไหร่"
จากนั้น ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ช่วงเย็นของวันนี้ พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย จะมีการแถลงข่าว และอ่านสังฆามติถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ โดยมีเนื้อหายืนยันถึงจุดประสงค์ในการชุมนุนมีอยู่ด้วยกัน 4 ข้อ คือ 1. เสนอให้บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ 2. ให้รัฐบาลและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเร่งสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 ในทันที โดยให้เป็นไปตามวาระที่เหมาะสม 3. เพื่อเป็นการแสดงพลังให้พระบางรูปที่เป็นปฏิปักษ์ จาบจ้วงประมุขสงฆ์ให้รู้สำนึกว่าการแสดงพลังไม่ได้ทำได้เฉพาะที่แจ้งวัฒนะเท่านั้น และ ข้อ 4. เพื่อแสดงออกในการปกป้องพระพุทธศาสนาจากภัยความมั่นคงเเละภัยคุกคามตามความเชื่อ
ไพบูลย์ยื่นดีเอสไอ ตรวจสอบการทำหน้าที่สมเด็จช่วง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปกป้องธรรมกาย
สำนักข่าวไทย รายงาน ด้วยว่า ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)  นายไพบูลย์ และ นพ.มโน เลาหวณิช อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตพระวัดพระธรรมกาย ยื่นหนังสือถึงอธิบดีดีเอสไอเพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์หรือสมเด็จช่วง ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชและประธานกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) สืบเนื่องจากมติที่ประชุมมส. ที่ระบุว่าประเด็นลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช  กรณีอาบัติปาราชิกของพระธัมมชโย  เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายสิ้นสุดลงแล้ว
นายไพบูลย์ กล่าวว่า หากพิจารณาข้อเท็จจริงจะพบว่าพระลิขิตยังไม่สิ้น สุดเพราะคดี มส.แถลงเป็นคดีที่ฆราวาส 2 รายฟ้องไม่ใช่เรื่องของพระลิขิตซึ่งไม่พบว่าเคยมีการดำเนินการ  แต่มีความพยายามเบี่ยงเบนให้เป็นเรื่องเดียวกัน  นอกจากนี้ยังมีข้อครหาเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าสมเด็จช่วงมีความสัมพันธ์และผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับพระธัมมชโย จึงต้องสงสัยว่าอาจเป็นผู้ให้การช่วยเหลือกัน จึงไม่ต้องการให้พระธัมมชโยสละสมณเพศ  พฤติการณ์ดังกล่าวจึงอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องการยื่นให้ดีเอสไอรับสอบสวนเป็นคดีพิเศษ
 
นายไพบูลย์  ยังเรียกร้องให้ ดีเอสไอตรวจสอบสมเด็จช่วง ที่มีข้อสงสัยอาจเข้าข่ายมีพฤติการณ์ทุจริตเชื่อมโยงกับคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นด้วยหรือไม่ จึงละเว้นการปฏิบัติหน้าที่  เนื่องจากก่อนหน้านี้มีข้อครหาเกี่ยวข้องกับสมเด็จช่วงว่าได้รับเงินจากพระธัมมชโยหลายครั้ง ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวใกล้เคียงกับช่วงที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯ ยักยอกเงินของสหกรณ์ซึ่งอาจมีเงินบางส่วนถูกนำไปให้วัดปากน้ำภาษีเจริญหรือสมเด็จช่วงด้วย  ทั้งนี้ ยืนยันว่าดีเอสไอมีอำนาจสอบสวนความผิด มส. เนื่องจากเคยมีคำพิพากษาศาลฎีการะบุว่าพระภิกษุและพระปกครอง ไม่อยู่ในนิยามของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพราะไม่ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ  แต่ในส่วนสำนักงานพระพุทธศาสนา(พศ.) อยู่ในอำนาจการพิจารณาของป.ป.ช.
 
นายไพบูลย์ ยังกล่าวถึงกรณีเครือข่ายคณะสงฆ์ฯนัดรวมตัวที่พุทธมณฑล แสดงความไม่พอใจการเคลื่อนไหวของพระพุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย ประเด็นเรียกร้องให้พระธัมมชโยอาบัติปาราชิก ว่า น่าจะเป็นการรวมตัวเพื่อปกป้องมหาเถรสมาคม(มส.) ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมองว่าคณะสงฆ์และมส.เป็นพระพุทธศาสนา แต่ในข้อเท็จจริงพระธรรมวินัยเป็นพุทธศาสนา ส่วนคณะสงฆ์และมส.เป็นพุทธบริษัท มีหน้าที่รักษาพระพุทธศาสนาจึงต้องถูกตรวจสอบได้
 
ด้านพ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ รองโฆษกดีเอสไอ กล่าวหลังเป็นผู้แทนรับเรื่องว่า ดีเอสไอจะนำกรณีดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับหนังสือจาก มส.ที่จะชี้แจงรายละเอียดของมติที่ประชุมกรณีพระธัมมชโยและตอบมายังดีเอสไอ ซึ่งขณะนี้ มส.ก็ยังไม่ได้ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการให้ดีเอสไอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น