หน้าเดิม 'ประวิตร-อนุพงษ์-สรรเสริญ' จาก ศอฉ. สู่ คสช. 'อภิสิทธิ์-สุเทพ-พล.อ.อนุพงษ์' ไม่มีความผิดทั้งต่อชีวิตและหน้าที่ เมื่อศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง-ป.ป.ช.ตีตกคำร้อง ศาลสั่งไม่ทราบใครยิง 'ฮิโรยูกิ-วสันต์-ทศชัย' แต่ 'จรูญ-สยาม' จุดเวลาเดียวกัน สั่งกระสุนยิงมาจากฝ่ายทหาร เริ่มพิจารณาคดีชายชุดดำแล้ว ทนายเผยจำเลยทั้ง 5 ปฏิเสธ และถูกทหารซ้อมข่มขู่
10 เม.ย. 2559 ครบรอบ 6 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุม หรือ 'ขอคืนพื้นที่' การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน (นปช.) บริเวณถนนราชดำเนิน โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จนมีผู้เสียชีวิต 25 ราย เป็นประชาชน 20 ราย ทหาร 5 ราย และภายหลังรายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 หรือ ศปช. รายงานเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย
ผ่านไปแล้ว 6 ปี จะสำรวจสถานะบุคคลและสถานะคดีสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่าไปถึงไหนและเป็นอย่างไรบ้างแล้ว
'อภิสิทธิ์-สุเทพ-พล.อ.อนุพงษ์' ไม่มีความผิดทั้งต่อชีวิตและหน้าที่ เมื่อศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง-ป.ป.ช.ตีตกคำร้อง
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ ในคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จากกรณีจำเลยทั้งสอง ออกคำสั่ง ศอฉ. ให้เจ้าหน้าที่ขอคืนพื้นที่การชุมนุมจาก นปช. บริเวณถนนราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ ที่เริ่มชุมนุมตั้งแต่เดือนเมษายน วันที่ 19 พ.ค. 2553 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
โดย ศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า อภิสิทธิ์ และสุเทพ ออกคำสั่งขณะดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และ รองนายกรัฐมนตรี ฟังไม่ได้ว่าเป็นกระทำในฐานะส่วนตัว ถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้มูลความผิดและยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ไม่มีอำนาจในการสอบสวน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ เห็นด้วย ยกฟ้อง
อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 57 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกฟ้องคดีดังกล่าวไปแล้ว โดยศาลระบุว่ามูลเหตุแห่งคดี เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ซึ่งเป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ และเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่ ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 2 สำนวน จึงพิพากษายกฟ้องคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 และยกฟ้องการขอเป็นโจทก์ร่วม
จากนั้นเมื่อคดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจการสืบสวนสอบสวนของ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และฉบับแก้ไข นั้น อย่างไรก็ตามเมื่อวันที 29 ธ.ค.58 ป.ป.ช. ได้มีมติให้ คำร้องตกไป กรณีการขอให้ถอดถอนและคำกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก กับพวก ในข้อหา ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ปี 53 ดังกล่าว
ศาลสั่งไม่ทราบใครยิง 'ฮิโรยูกิ-วสันต์-ทศชัย' แต่ 'จรูญ-สยาม' จุดเวลาเดียวกัน สั่งกระสุนมาจากฝ่ายทหาร
เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 58 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลมีคำสั่ง คดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพของฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ผู้ตายที่ 1 วสันต์ ภู่ทอง ผู้ชุมนุม นปช. ผู้ตายที่ 2 และทศชัย เมฆงามฟ้า ผู้ชุมนุม นปช. ผู้ตายที่ 3 จากการถูกยิงเสียชีวิตในคืนวันที่ 10 เม.ย. 2553 จากการสลายการชุมนุม นปช. ของ ศอฉ. บนถนนดินสอ บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา โดยศาลมีคำสั่งว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำหรือไม่อาจทราบได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงถูกผู้ตายทั้ง 3 มีแนววิถีกระสุนปืนมาจากทิศทางใด
‘ฮิโรยูกิ-วสันต์-ทศชัย’
“จรูญ ฉายแม้น-สยาม วัฒนนุกูล”
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้น ก.ย.56 ศาลได้มีคำสั่งไต่สวนการตาย จรูญ ฉายแม้น และ สยาม วัฒนนุกูล ผู้ชุมนุมฝั่ง นปช. ซึ่งเสียชีวิตในจุดเดียวกัน และเวลาใกล้เคียงกันว่า วิถีกระสุนปืนยิงมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปที่บริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้แยกสะพานวันชาติ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ
ทูตญี่ปุ่น พบ รมว. ยุติธรรมฯ ยังถามหาความคืบหน้าคดีนักข่าวตาย
แม้ศาลจะมีคำสั่งไต่สวนการเสียชีวิตของฮิโรยูกิแล้วดังกล่าว แต่เมื่อวันที่ 20 ก.ค.58 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ให้การต้อนรับชิโระ ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่่ โดยระบุว่ามีการหารือในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมเพื่อพัฒนาพฤตินิสัยและแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด พร้อมทั้งได้สอบถามความคืบหน้าคดี โทโมโกะ คาวากะ นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและฮิโรยูกิ ด้วย
ประยุทธ์ตั้งชุดสอบสวนคดี 99 ศพใหม่ ส่งศรีวราห์ประกบอธิบดี DSI
เมื่อวันที่ 1 เม.ย.58 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งที่ 68/2558 ลงวันที่ 2 มี.ค. 58 เรื่องแต่งตั้งคณะสอบสวนตำรวจ นำโดย พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ไปร่วมสอบสวนกับ สุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ และพนักงานอัยการ ประชุมร่วมกันเพื่อวางกรอบแนวทางการสอบสวนในคดี 99 ศพที่ค้างอยู่ให้เสร็จสิ้น ขณะนี้เหลือสำนวนทั้งหมด 87 ศพ เนื่องจากดีเอสไอได้ส่งสำนวนพิจารณาเสร็จสิ้น 2 ศพ ประกอบด้วย พัน คำกอง อายุ 43 ปี และ คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา อายุ 14 ปี ให้อัยการสั่งฟ้อง อภิสิทธิ์ ไปแล้วเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 56 กรณี ภิสิทธิ์ร่วมกับ สุเทพ กระทำความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล ด้วยการออกคำสั่ง ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณ ถนนราชดำเนิน และแยกราชประสงค์จาก นปช. ที่ชุมนุมตั้งแต่เดือนเม.ย.ถึง 19 พ.ค. 53 ที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 58 คณะทำงานได้ประชุมวางแนวทางการสอบสวนและทบทวนเพื่อแต่งตั้งพนักงานสอบสวนชุดใหม่ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาทั้งตำรวจนครบาลและดีเอสไอในชุดพนักงานสอบสวนชุดเก่านั้นได้ปรับเปลี่ยนโยกย้ายและเกษียณอายุราชการจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นโดยทางดีเอสไอได้แต่งตั้งให้พ.ต.ท.วรรณพงษ์คชรักษ์ พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว และ พ.ต.ท.ไพศิษฐ์ วงศ์เมือง รองอธิบดีดีเอสไอเข้ามากำกับดูแลการสืบสวนสอบสวนในสำนวนคดีที่เหลือ โดยมีนางสุวณาเป็นหัวพนักงานสอบสวน และ พล.ต.ท.ศรีวราห์ และรองอธิบดีทั้ง 3 คนเป็นรองหัวหน้าพนักงานสอบสวน
หน้าเดิม 'ประวิตร-อนุพงษ์-สรรเสริญ' จาก ศอฉ. สู่ คสช.
ตามประกาศจัดตั้ง ศอฉ. ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ1/2553 ที่ลงนามโดย อภิสิทธิ์ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 นั้น มีบุคคลที่มีตำแหน่งสำคัญขณะนั้น และขณะนี้ได้รับตำแหน่งในรัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 เช่น
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขณะนั้นเป็น รมว.กลาโหม และรอง ผอ.ศอฉ. ขณะนี้เป็นรองนายกฝ่ายความมั่นคง รมว.กลาโหม และรองหัวหน้า/ประธานคณะที่ปรึกษา คสช.
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ขณะนั้นเป็น ผบ.ทบ.และผู้ช่วย ผอ.ศอฉ. ขณะนี้เป็น รมว.มหาดไทย และ รองประธานคณะที่ปรึกษา คสช.
ถวิล เปลี่ยนศรี ขณะนั้นเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ ศอฉ. ขณะนี้เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวด้านความมั่นคงของ พล.อ.ประวิตร
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ขณะนั้นเป็น กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการ ศอฉ. ขณะนี้เป็น รมว.ศึกษาธิการ และที่ปรึกษา/เลขานุการคณะที่ปรึกษา คสช.
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ยศขณะนั้นเป็น พ.อ. เป็น โฆษก ศอฉ. ขณะนี้เป็น โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ปณิธาน วัฒนายากร ขณะนั้นเป็นผู้ปฏิบัติการโฆษก ขณะนี้เป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี หรือ พล.อ.ประวิตร
สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯและหัวหน้า คสช.ในปัจจุบันนั้น เมื่อวันที่ ในวันที่ 5 ต.ค. 53 ในฐานะ ผบ.ทบ. ครม.ขณะนั้นได้แต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน แทน พล.อ.อนุพงษ์ที่เกษียณอายุราชการ
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ราชกิจจานุเบกษา คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ1/2553 และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ2/2553)
เริ่มพิจารณาคดีชายชุดดำแล้ว ทนายเผยจำเลยทั้ง 5 ปฏิเสธ และถูกทหารซ้อมข่มขู่
เมื่อวันที่ 6 ก.ค.58 ศาลอาญา รัชดาฯ มีการนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีที่กิตติศักดิ์ สุ่มศรี ปรีชา อยู่เย็น รณฤทธิ์ สุริชา ชำนาญ ภาคีฉาย และปุณิกา ชูศรีเป็นจำเลยคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด แจ้งข้อหาว่ามีอาวุธปืนสงครามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่สามารถจดทะเบียนได้, นำพาอาวุธเข้าไปในเมือง ถนน ที่สาธารณะ และหมู่บ้าน โดยคำฟ้องระบุพฤติการว่าเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 จำเลยทั้ง 5 คนได้ร่วมกันพาอาวุธไปยังพื้นที่ชุมนุมของกลุ่ม นปช. บริเวณสี่แยกคอกวัว และได้ใช้อาวุธยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ โดยจำเลยทั้ง 5 คนได้แต่งกายชุดดำ
โดย วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายจำเลยระบุว่า จำเลยทั้ง 5 คนถูกจับระหว่างวันที่ 10-11 ก.ย.57 โดยระหว่างการถูกควบคุมตัว กิตติศักดิ์, ปรีชา , รณฤทธิ์ และ ชำนาญ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานและข่มขู่ ส่วนปุณิกาโดนข่มขู่ด้วยวาจาโดยเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นทั้งหมดถูกฝากขังมาตลอดโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว
วิญญัติ กล่าวด้วยว่า จำเลยทั้ง 5 ปฏิเสธว่าไม่มีอาวุธและไม่ได้พาอาวุธเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมตามที่ถูกกล่าวหา แม้ว่าก่อนหน้าที่จะได้สารภาพไปแต่เป็นเพราะว่าระหว่างการควบคุมตัวมีการใช้ถุงคลุมหัว เตะต่อย พูดข่มขู่ให้กลัว และข่มขู่เรื่องครอบครัวของจำเลยแต่ละคน ในขณะที่จำเลยหญิงถูกพูดข่มขู่ให้กลัว จึงทำให้จำเลยยอมรับสารภาพ
ครม. ตั้ง 'นิชา' ภรรยาพล.อ.ร่มเกล้า ขึ้นรองเลขาธิการนายกฯ
ขณะที่ นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม นายทหารที่เสียชีวิตจากการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา 10 เม.ย.53 นั้น เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่่ผ่านมา มีการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร (นักบริหารสูง)โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ผู้ช่วยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นักบริหารต้น) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นักบริหารสูง) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น