วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559

จตุพรดักถ้าไม่คิดโกง ก็ควรหนุน 'อียู-ยูเอ็น' สังเกตการณ์ประชามติ


ประธาน นปช. เผยเตรียมยื่นหนังสือ 'อียู-ยูเอ็น' เชิญมาเฝ้าดูประชามติ ย้ำเชิญมาสังเกตการณ์ ไม่ได้มาควบคุม ระบุถ้าไม่คิดโกง อย่ากลัวนานาชาติ แนะควรเปิดโอกาสให้มาดูประชาธิปไตยที่น่าเชื่อถือ ไม่โกง
26 เม.ย.2559 จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการมองไกล ว่า นปช. จะยื่นหนังสือเชิญชวนกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) และองค์กรสหประชาชาติมาร่วมสังเกตการณ์ประชามติที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ส.ค.นี้ โดยระบุว่าการเชิญอียู-ยูเอ็นเพียงให้มาสังเกตการณ์การทำประชามติที่โปร่งใส สุจริต เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยในอนาคต ดังนั้น ถ้าไม่คิดจะโกงกันแล้ว ควรสนับสนุนข้อเสนอของ นปช.
"ให้อียู-ยูเอ็น เข้ามานั้นเป็นการสังเกตการณ์ ไม่ได้มาควบคุม กรณีพม่าทำได้ จนต่างชาติยอมรับหลังการเลือกตั้ง และมีผลเกิดสนับสนุนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ส่วนไทย เมื่อยังอยู่กับโลก และหากประชามติไม่คิดโกง และจะกลัวอะไรกันกับการมาสังเกตการณ์" จตุพร กล่าว
จตุพร ยังกล่าวด้วยว่า องค์กรต่างประเทศได้เข้าไปสังเกตการณ์เลือกตั้งของพม่า เพราะนานาชาติไม่เชื่อว่า การเลือกตั้งจะยุติธรรม โปร่งใส ดังนั้น ประเทศไทยควรเปิดให้มาสังเกตการณ์ได้ด้วย เพื่อแสดงความโปร่งใส สร้างความน่าเชื่อถือด้านประชาธิปไตย เพราะหากการทำประชามติมีการโกงแล้ว จะทำให้มีปัญหาตามมาอย่างใหญ่หลวงและผู้มีอำนาจคงอยู่ได้ยาก
สิ่งสำคัญคือ ต้องการอธิบายปัญหาประชาธิปไตยกับชาวโลก และเตือนให้ผู้มีอำนาจหยุดพฤติกรรมลับๆล่อๆ กับการทำประชามติที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยตนเชื่อว่า การทำประชามติครั้งนี้จะมีคลิปแสดงถึงการกระทำอันไม่เสมอภาคกันเต็มไปหมด และ นปช. คงได้รับแจ้งจากประชาชนทุกพื้นที่ แล้วจะนำส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สอบสวนดำเนินความผิดตามกฎหมาย
กรณี นปช. แถลงข่าวการทำประชามตินั้น จตุพร กล่าวว่า พวกตนไม่ต้องการให้ประเทศพบกับดักในอนาคตทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองระยะยาวอีก รวมทั้ง สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.ได้แถลงจุดยืนสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว พวกตนมั่นใจว่า ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะการกระทำของนายสุเทพ ซึ่งผู้มีอำนาจเชื่อว่า เป็นสิ่งถูกต้อง ดังนั้น พวกตนทำเช่นเดียวกันจึงต้องถูกไปด้วย
จตุพร กล่าวว่า นายสุเทพประกาศจุดยืนสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ คงไม่ส่งผลดีต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลจะเป็นทุกขลาภไปด้วย เพราะจุดยืนของ สุเทพ จะทำให้ประชาชนไม่มีความสับสน ตัดสินใจใช้สิทธิ์ประชามติได้ง่ายขึ้น โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี คงเข้าใจในสิ่งดีจึงไม่ซาบซึ้งกับจุดยืน สุเทพ ส่วน นปช. ได้ประกาศจุดยืนตรงข้ามกับ สุเทพ ทุกเรื่อง และไม่ชอบทุกอย่างที่ สุเทพ ชอบด้วย
กรณีนักวิชาการและกลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย เรียกร้องให้เปิดพื้นที่แสดงความเห็นร่างรัฐธรรมนูญในช่วงทำประชามติ จตุพร กล่าวว่า ถ้า คสช. เปิดใจกว้าง จะไม่มีปัญหา แต่การห้ามฝ่ายเห็นต่างแสดงความเห็น ขณะเดียวกันกลับให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปชี้แจงอธิบายกับประชาชนได้ ทั้งๆที่ความจริงแล้ว กรธ. และ สนช. ต้องยุติบทบาทเพราะหมดหน้าที่แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น