วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

3 สาวผู้ต้องหาคดีการเมือง เปิด 3 เรื่องเล่าละเมิดสิทธิฯ ระหว่างรอประกันในเรือนจำ

'นศ.สาวธรรมศาสตร์-ผู้ต้องหามีขันแดง-จิตรา' เล่าประสบการณ์ถูกละเมิดระหว่างรอประกันตัวในเรือนจำ ศูนย์ทนายสิทธิฯ ชี้ศาลพลเรือนไม่ต้องนำตัวไปปล่อยที่เรือนจำ กระบวนการศาลทหารละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และข้อกำหนดแมนเดลา อดีต รมช.แรงงาน จี้ประยุทธ์สั่งเลิกตรวจภายในผู้ต้องโทษหญิง
3 พ.ค.2559 มติชนออนไลน์และเดลินิวส์ รายงานว่า ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขอเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ให้สั่งยกเลิกการตรวจภายในผู้ต้องโทษหญิงที่ไม่ใช่คดียาเสพติดทันที แม้ว่าคดีจะสิ้นสุดแล้วหรือเป็นการฝากขังชั่วคราวก็ตาม เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งเลวร้ายมากต่อผู้หญิงทุกคน และทราบมาอีกว่าเคยมีผู้นำแรงงานหญิงคนหนึ่งเคยถูกสั่งให้ถอดเสื้อผ้าแล้วให้คลานไปเข้าห้องน้ำ เป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรม ทั้งนี้การตรวจภายในคนที่ต้องคดียาเสพติดก็ควรจะเป็นสถานที่มิดชิด ไม่ให้อับอายและคนตรวจต้องเป็นพยาบาลหรือผู้ช่วยพยาบาลของเรือนจำเท่านั้น และควรทำตามอนุสัญญาระหว่างประเทศด้วย
“รู้สึกเป็นห่วง 8 ผู้ถูกจับกุม และมีผู้หญิง 1 ใน 8 ที่ถูกจับและถูกกล่าวหาเรื่องการเมืองล่าสุดที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวจะถูกล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พล.อ.ประยุทธ์ควรสั่งการให้กรมราชทัณฑ์ระงับการกระทำใดๆ และแก้ไขระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องได้รับการคุ้มครอง เพื่อไม่ให้สังคมโลกตราหน้าว่าประเทศไทยเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ละเมิดสิทธิมนุษยชน” ลดาวัลลิ์ กล่าว

นศ.ธรรมศาสตร์เล่าการตรวจช่องคลอดในเรือนจำ

กรกนก คำตา หรือ ปั๊ป 
กรณีดังกล่าวถึงพูดถึงในสังคมเนื่องจาก กรกนก คำตา หรือ ปั๊ป นักศึกษารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำเลยคดีนั่งรถไฟจะไปตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ 7 ธ.ค.58 ซึ่งเมื่อวันที่ 25 เม.ย.59 กรกนกขึ้นศาลทหารและถูกนำตัวไปเรือนจำก่อนได้รับการประกันตัวพร้อมผู้ต้องหาชายอีก 5 คน เวลา 20.20 น. วันเดียวกัน โพสต์เล่าการปฏิบัติของเรือนจำในระหว่างที่เธอรอประกันตัวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว และต่อมาเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว' ได้สัมภาษณ์ พร้อมรายงานว่า ในระหว่างอยู่ในเรือนจำ 14.00 น. – 20.00 น. เธอได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับนักโทษหญิงในเรือนจำ ถูกบอกให้ถอดเสื้อผ้าและใส่ผ้าถุงผืนเดียวเพื่อเปลี่ยนเป็นชุดนักโทษ แต่ทุกครั้งที่ต้องรายงานตัวต่อหน้าผู้คุมแต่ละแดน เธอจะถูกสั่งให้ลุกนั่งเพื่อตรวจสอบว่าซ่อนยาเสพติดหรือไม่ โดยมีผู้คุมยืนจับผืนผ้าถุงที่เธอสวมใส่ ขณะที่ผ้าถุงซึ่งล้อมตัวเธออย่างหลวมๆ นี้ ก็ไม่ได้มิดชิดพอจะบังสายตาคนนับร้อยในเรือนจำ
นอกจากนั้นยัง ถูกตรวจช่องคลอดเพื่อดูว่ามีการซุกซ่อนยาเสพติดหรือสิ่งใดหรือไม่ ทั้งที่เป็นผู้ต้องหาคดีการเมือง แต่เธอมองว่ามันไม่ควรเกิดขึ้นกับใครไม่ว่าถูกดำเนินคดีอะไร เธอเตรียมร้องเรียนต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น

ผู้ต้องหามีขันแดงก็โดนด้วย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า ธีรวรรณ เจริญสุข ผู้ต้องหาในคดีขันแดง ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ได้เปิดเผยกับศูนย์ทนายฯ ว่าเธอก็ได้รับการปฏิบัติในลักษณะเดียวกันกับกรณีของนักศึกษารายดังกล่าวเช่นกัน โดยเธอระบุว่าเมื่อวันที่ 29 มี.ค.59 ซึ่งพนักงานสอบสวนได้นัดหมายเธอมาที่ศาลทหาร เพื่อมาขออำนาจศาลฝากขัง และศาลทหารได้อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้ จากนั้นเพื่อนของ ธีรวรรณจึงได้ยื่นหลักทรัพย์ขอปล่อยตัวชั่วคราว และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวแล้ว แต่ขณะกำลังรอเจ้าหน้าที่ศาลทำหมายปล่อยตัวอยู่นั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับจะพาตัวเธอไปยังเรือนจำ โดยระบุว่าต้องไปปล่อยตัวจากเรือนจำ แล้วเจ้าหน้าที่ศาลจะนำหมายปล่อยไปที่เรือนจำอีกที แม้เธอจะพยายามคัดค้าน แต่ก็ไม่เป็นผล
ธีรวรรณระบุว่าเธอถูกพาตัวไปยังทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ แม้จะพยายามแจ้งเจ้าหน้าที่เรือนจำแล้วว่าศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวแล้ว และกำลังรอหมายปล่อยตัวจากศาล แต่เธอกลับยังถูกนำตัวไปตรวจร่างกายเพื่อเข้าเรือนจำ โดยมีการใช้ห้องเล็กๆ ห้องหนึ่ง ที่มีผู้คุมอยู่ด้วยสองคน ให้เธอถอดเสื้อผ้าทุกชิ้นออกทั้งหมด และยังให้ทำกิริยานั่งแล้วลุก-นั่งแล้วลุกหลายต่อหลายครั้ง เพื่อตรวจดูว่ามีการซุกซ่อนสิ่งใดไว้ในช่องคลอดหรือไม่ แต่กรณีของเธอ เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการล้วงเข้าไปในช่องคลอด เนื่องจากเห็นว่ามีอายุมากแล้ว
เมื่อตรวจร่างกายเสร็จ ก็มีการให้เธอใส่ชุดผู้ต้องขัง และนำตัวเข้าไปส่วนทะเบียน เพื่อจัดทำประวัติ ปั๊มลายมือ ถ่ายรูป และแจกอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นบางส่วนสำหรับนักโทษ พร้อมกับให้แขวนป้ายสีเหลืองที่แสดงถึงความเป็นนักโทษใหม่ ก่อนจะนำตัวเข้าไปภายในแดน 1 ซึ่งเป็น “แดนแรกรับ” อันเป็นแดนที่ผู้ต้องขังใหม่จะเข้ามาก่อนเป็นแห่งแรก ธีรวรรณระบุว่าเธอถูกนำตัวเข้าไปในเรือนจำราวชั่วโมงเศษ ทางเรือนจำก็มีการประกาศชื่อเธอว่ามีหมายปล่อยตัวมาแล้ว จึงได้มีการคืนเสื้อผ้าชุดเดิม และให้เปลี่ยนจากชุดนักโทษได้
ธีรวรรณยังระบุว่าสภาพในเรือนจำมีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในลักษณะเหมือนนายกับบ่าว โดยนักโทษจะต้องคลานเข่าเข้าไปหาผู้คุมในเรือนจำ และต้องยกมือไหว้ขณะพูดคุยด้วย
เธอระบุความรู้สึกหลังจากถูกปฏิบัติในลักษณะดังกล่าวว่า “ทำให้เราสติแตก รู้สึกเหมือนกับเข้าไปในนรก เหมือนกับเป็นนักโทษไปแล้ว ไม่เคยคิดเลยว่าจะโดนแบบนี้ ทั้งที่เราก็ได้ประกันตัวอยู่แล้ว” โดยขณะปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำ เธอมีอาการร้องไห้เสียใจ และเพื่อนๆ ต้องพากันไปทำบุญรดน้ำมนต์และสะเดาะเคราะห์ที่วัดในตัวเมืองเชียงใหม่อีกด้วย
สำหรับ ธีรวรรณ อายุ 54 ปี ก่อนหน้านี้เคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงในเชียงใหม่ เธอถูกทหารกล่าวหาตามมาตรา 116 จากกรณีการถ่ายภาพคู่กับขันน้ำสีแดง และภาพโปสเตอร์ซึ่งมีรูปภาพของ ทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม) คดีนี้ยังอยู่ในชั้นสอบสวน โดยพนักงานสอบสวนเพิ่งขออำนาจศาลทหารฝากขังเป็นผัดที่ 4

จิตรา เล่าประสบการณ์ในทัณฑสถานหญิงฯ ระหว่างรอประกัน

การปฏิบัติของเรือนจำในลักษณะดักล่าวนอกจาก 2 รายข้างต้นยังมี กรณี จิตรา คชเดช นักกิจกรรมทางการเมืองและสังคม เจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพฯ และผู้ประสานงานกลุ่มสหกรณ์คนงาน TRY ARM ที่ถึงดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. หลังจากเธอไม่สามารถกลับมารายงานตัวตามคำสั่งได้ทัน เนื่องจากติดภาระกิจอยู่ที่ประเทศสวีเดน แม้จะรายงานตัวกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงสต๊อคโฮล์มแล้ว ก็ไม่เป็นผล โดยเมื่อเธอเดินทางกลับมาจึงถูกดำเนินคดี กักตัวที่ห้องขังกองปราบ 1 วัน แลัถูกส่งตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงฯ เพื่อรอการประกันตัว ซึ่งเธอเคยเปิดเผยประสบการณ์ดังกล่าวกับประชาไทด้วย ว่า วันที่ส่งศาลทหาร หลังจากนั้นเวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่นำตัวตนไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง คลองเปรม เพื่อฝากขัง และรอคำสั่งศาลทหารว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ ก่อนหน้านี้เคยถูกฝากขังในศาลปกติของพลเรือนที่จะนำตัวไปไว้ห้องขังใต้ถุนศาลเพื่อรอคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว รวมทั้งในกระบวนการปกติหากเป็นชั้นตำรวจหรือพนักงานสอบสวนนั้นหากให้ประกันตัวก็ปล่อยตัวได้ โดยไม่ต้องขังก่อน ซึ่งต่างจากกรณีนี้ที่นำตัวเข้าทัณฑสถานหญิงฯ ก่อน
ภาพจิตรา หลังถูกปล่อยตัวจากเรือนจำ
“กลไกที่เข้าเรือนจำหรือทัณฑสถานหญิงฯ นั้น กระทำกับเราเหมือนนักโทษ เรียกได้ว่ามีกระบวนการทำให้กลายเป็นนักโทษ โดยปฏิบัติกับเราเท่ากับนักโทษที่ถูกศาลสั่งจำคุกในคดีอาญาทั่วไปแล้ว” จิตรา กล่าว
พร้อมเล่าต่อว่า กระบวนการเหล่านั้นเริ่มจากการตรวจร่างกาย ให้ถอดเสื้อผ้าหมดรวมทั้งชุดชั้นในกลางวงผู้คุม เมื่ออยู่ในสภาพเปลือยก็ต้องหมุนตัวให้ผู้คุมดู ตรวจนิ้วมือนิ้วเท้า ตรวจผม โดยผู้คุมจะยืนดูและมีนักโทษในเรือนจำที่เป็นผู้ช่วยผู้คุมคอยจัดการให้
หลังจากนั้นก็นุ่งผ้าถุง 1 ตัวที่เขาจัดให้ไปตรวจภายใน ตรวจช่องคลอด และต่อด้วยการทำประวัติสุขภาพ โดยจะเขียนน้ำหนักส่วนสูงที่ฝ่ามือ หลังจากนั้นผู้คุมได้ให้คนนำเสื้อมาให้ 1 ตัว และต่อด้วยการทำประวัตินักโทษ ในระหว่างนี้ตนได้ขอผู้คุมสวมเสื้อชั้นในและกางเกงใน แต่กลับถูกปฏิเสธ โดยผู้คุมชี้แจงว่าเสื้อผ้าและสิ่งของที่เอาเข้าไปนั้นไม่สามารถใช้ได้เลย ต้องให้ญาติซื้อมาให้ภายหลัง ของที่ติดตัวมาทุกอยู่จะถูกเก็บและทำบัญชีไว้ตั้งแต่แรก โดยมีเพียงใบรายการของติดตัวมาเท่านั้น
หลังจากทำประวัตินักโทษเสร็จ มีคนรับตัวให้ไปที่แดนแรกรับ เมื่อถึงแดนแรกรับก็ต้องถอดเสื้อผ้าทั้งหมดเพื่อให้ผู้คุมที่นั่นดู หลังจากนั้นเขาให้ผ้าถุงเรา 1 ผืน เพื่อไปอาบน้ำโดยมีนักโทษคนหนึ่งเฝ้า หลังจากอาบน้ำเสร็จให้เสื้อผ้า 1 ชุด โดยเขียนว่าแดนแรกรับ จากนั้นก็ทำประวัติที่แดนแรกรับอีกครั้ง
ระหว่างการทำประวัติที่แดนแรกรับนั้น เวลาเดินทำประวัติถูกห้ามไม่ให้ยืน จึงต้องนั่งยองหรือถัดก้นไปตามกระบวนการและต่อแถวนักโทษคนอื่นๆประมาณ 10 กว่าคนที่ต้องทำประวัติขณะนั้น สิ่งที่ซักถาม เช่น มาจากศาลไหน คดีอะไร เพราะต้องแยกคดีของนักโทษ โดยตนอยู่ในกลุ่มนักโทษทั่วไป จากนั้นเขียนเลขที่หลังมือซึ่งเป็นเบอร์ล็อคเกอร์ของตนด้วย
จากนั้นผู้ช่วยผู้คุมจึงพาเข้าเรือนนอนในห้องคดีทั่วไป ซึ่งมีคนอยู่ 69 คน มีหัวหน้าห้องที่เป็นนักโทษ เรียกตนไปสอบประวัติอีกครั้งในห้อง คดีในนั้นส่วนมากเป็นคดีต่างด้าว แรงงานข้ามชาติ คดีฉ่อโกง โดยเฉพาะคดีต่างด้าวที่พูดไทยไม่ได้ก็มักถูกหัวหน้าห้องหงุดหงิดใส่และถูกด่าทอ
มีกิจกรรมให้ผู้ที่อยู่ในห้องทั้งหมดสวดมนต์ประมาณ 2 ชั่วโมง และเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีเสร็จให้ทุกคนผ่อนคลาย มีการเปิดทีวีละครและมิวสิควีดีโอเก่าๆให้ดู เริ่มแจกที่นอนซึ่งมีเพียงผ้าห่มคนละ 1 ผืน โดยจะนำมาห่มหรือปูนอนหรือพับเป็นหมอนก็ได้  ซึ่งคนที่อยู่มาก่อนหน้าแนะนำให้พับหนุนหัวเพราะกลางคืนอากาศจะร้อน นอนกับพื้นที่ปูกระเบื้องธรรมดา และจัดระเบียบการนอนโดยแบ่งเป็น 3 แถว โดยด้านหนึ่งให้เอาหัวชนกัน อีกด้านเอาเท้าชนกัน ตอนนั้นเวลาประมาณ 21.00 น. และสักพักผู้คุมก็มาเรียกชื่อตนเพื่อปล่อยตัว
หลังจากถูกเรียกปล่อยตัว ก็ต้องถอดเสื้อผ้าให้ผู้คุมดูอีก 1 รอบ แล้วหลังจากนั้นได้รับผ้าถุง 1 ผืน เพื่อใส่และเดินถือใบเอกสารออกไปที่ห้องปล่อยตัว โดยนั่งที่ห้องนั้นนานมาก จนกระทั่งมีคนเอาเสื้อผ้าและของต่างๆที่ติดตัวมาแต่ต้นมาให้ จึงได้ใส่เสื้อผ้าตรงนั้นท่ามกลางผู้คุม ทรัพย์สินที่ถูกคืนมานั้นมาตรวจภายหลัพบว่าจี้ของตนนั้นหายไป
ขั้นตอนการผ่านด่านแต่ละครั้งในการปล่อยตัวจะต้องมีรหัสปลดล็อค เช่น การถามชื่อ-นามสกุล ชื้อเพื่อนสนิท หมายเลขโทรศัพท์เพื่อสนิท ชื่อพ่อแม่ เป็นต้น ตามประวัติที่กรอกในรอบแรก เท่ากับว่าหากตอบผิดก็อาจจะไม่ได้ออก เพราะเขาต้องการเช็คว่าเป็นตัวจริงหรือไม่
ก่อนปล่อยตัวผู้คุมมาขอถ่ายเอกสารและบอกด้วยว่าพึ่งเป็นกรณีแรกที่มาจากศาลทหาร จึงเก็บข้อมูลไว้เป็นกรณีศึกษา

ศูนย์ทนายสิทธิฯ ชี้ขอประกันศาลพลเรือนไม่ต้องนำตัวไปปล่อยที่เรือนจำ

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายสิทธิฯ พบว่าแม้ระเบียบปฏิบัติของเรือนจำหญิงทั่วประเทศ จะให้มีการตรวจค้นร่างกายของผู้ต้องขังที่ถูกนำตัวมาจากศาลทุกคน แต่โดยปกติในศาลพลเรือน กรณีผู้ต้องหาถูกฝากขังหรือถูกสั่งฟ้องคดีต่อศาล และอยู่ในระหว่างการทำเรื่องขอประกันตัว จะมีการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ที่ห้องขังใต้ถุนศาล โดยไม่ได้มีกระบวนการตรวจร่างกาย และหากได้รับการประกันตัว ก็จะมีการปล่อยตัวจากที่ศาล ไม่จำเป็นต้องนำตัวไปปล่อยที่เรือนจำแต่อย่างใด
แต่ในกรณีของการพิจารณาในศาลทหาร กลับมีการอ้างระเบียบว่าจำเป็นต้องนำตัวผู้ต้องหาไปปล่อยตัวที่เรือนจำ แม้ผู้ต้องหารายนั้น ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวแล้วก็ตาม ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากกระบวนการตรวจค้นร่างกายก่อนเข้าเรือนจำในกรณีของผู้ต้องหาหญิงหลายราย

ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ข้อกำหนดแมนเดลา

นอกจากนี้ ศูนย์ทนายสิทธิฯ เห็นว่าการค้นตัวผู้ต้องขังในลักษณะดังกล่าวนั้น ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และขัดต่อข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขัง [United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners (the Mandela Rules)] หรือ ‘ข้อกำหนดแมนเดลา’ ซึ่งได้รับการรับรองเป็นมาตรฐานสากลใหม่ในการคุ้มครองสิทธิผู้ถูกคุมขังทั่วโลกเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สนับสนุนข้อกำหนดดังกล่าว ข้อกำหนดดังกล่าวได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการค้นตัวผู้ต้องขังว่า “จะต้องไม่ใช้การค้นเพื่อการคุกคาม ข่มขู่ หรือเป็นการล่วงล้ำโดยไม่จำเป็นต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขัง” และ “การค้นตัวที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว รวมทั้งการค้นแบบถอดเสื้อผ้าและการค้นตามซอกหลืบต่างๆ ของร่างกาย ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น…ซึ่งหากจำเป็นก็ต้องกระทำในที่ลับ” ซึ่งศูนย์ทนายสิทธิฯ เห็นว่าเราสามารถใช้วิธีการอื่นในการตรวจสอบผู้ต้องขังโดยไม่ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขังได้
ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขัง ระบุว่า
“ข้อกำหนด 51  จะต้องไม่ใช้การค้นเพื่อการคุกคาม ข่มขู่ หรือเป็นการล่วงล้ำโดยไม่จำเป็นต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขัง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ผู้บริหารเรือนจำจะต้องเก็บรักษาบันทึกการค้นตัวอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะกรณีที่เป็นการค้นแบบถอดเสื้อผ้าและการค้นตามซอกหลืบต่าง ๆ ของร่างกาย และการค้นในห้องขัง รวมทั้งเหตุผลของการค้น ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ทำการค้นและผลของการค้นตัว”
“ข้อกำหนด 52
  1. การค้นตัวที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว รวมทั้งการค้นแบบถอดเสื้อผ้าและการค้นตามซอกหลืบต่าง ๆ ของร่างกาย ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น ผู้บริหารเรือนจำควรได้รับการสนับสนุนให้มีการคิดค้นและการใช้วิธีการที่เป็นทางเลือกอื่นอันเหมาะสมกว่าแทนที่จะใช้การค้นตัวที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขัง ซึ่งหากจำเป็นก็ต้องกระทำในที่ลับ และให้ผู้ค้นเป็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งผ่านการอบรมและมีเพศเดียวกับผู้ต้องขังนั้น
  2. การค้นตามซอกหลืบต่างๆ ของร่างกายให้กระทำได้เฉพาะโดยบุคคลากรทางการแพทย์มีคุณสมบัติเหมาะสมเท่านั้น ไม่ใช่ผู้ที่รับผิดชอบการพยาบาลเบื้องต้น หรือโดยอย่างน้อยต้องเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งผ่านการอบรมอย่างเหมาะสมจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ให้เข้าใจถึงมาตรฐานด้านอนามัย สุขภาพ และความปลอดภัย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น