วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

อัยการสั่งฟ้อง 'ประเด็นสติ๊กเกอร์โหวตโน' 4 นักกิจกรรม 1 นักข่าว กรณีราชบุรี


อัยการสั่งฟ้องคดี 4 นักกิจกรรมและ 1 นักข่าว ผิด ม.61 พ.ร.บ.ประชามติ จากประเด็นสติ๊กเกอร์โหวตโน ที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ทั้งหมดยื่นประกันด้วยหลักทรัพย์เดิมที่ใช้ในชั้นสอบสวนคนละ 1.4 แสนบาท ศาลราชบุรีให้ประกันตัว นัดสมานฉันท์ 21 ก.ย.นี้ 

 

ปกรณ์ อารีกุล พร้อมนักกิจกรรม-นักข่าวและทนายความ ให้สัมภาษณ์หลังได้รับการประกันตัวในชั้นศาล
 
29 ส.ค.2559 ที่ศาลจังหวัดราชบุรี อัยการสั่งฟ้องนักกิจกรรม-นักข่าว 5 คนในความผิดมาตรา 61 วรรคสองของพ.ร.บ.ประชามติ โดยทั้ง 5 คนเดินทางมารายงานตัวกับศาลจังหวัดราชบุรีและทั้งหมดให้การปฎิเสธข้อกล่าวหา จากนั้นยื่นประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เดิมในชั้นตำรวจ คือ เงินสด คนละ 1.4 แสนบาท ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวและนัดสมานฉันท์วันที่ 21 ก.ย.2559 นัดพร้อมตรวจพยานหลักฐาน 17 ต.ค.2559 เวลา 8.30 น.ที่ศาลจังหวัดราชบุรี
ทนายความจำเลยอธิบายว่า นัดสมานฉันท์เป็นนโยบายบริหารจัดการคดีของศาลยุติธรรมเพื่อให้คดีเสร็จรวดเร็ว กระบวนการก็คือจะถามอีกครั้งหลังสอบคำให้การไปแล้วว่า จำเลยจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังได้รับการประกันตัว ศาลเรียกทนายจำเลยทั้งหมดพูดคุยราว 15 นาที ภายหลังเสร็จสิ้นการพูดคุย ทนายระบุว่า เป็นการชี้แจงระเบียบปฏิบัติของการนัดสมานฉันท์ และทำความเข้าใจการดำเนินคดีในศาลราชบุรี
5 คนประกอบด้วย นักกิจกรรม 4 คน และนักข่าว 1 คน ได้แก่ ปกรณ์ อารีกุล, อนุชา รุ่งมรกต, อนันต์ โลเกตุ สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ และทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท เหตุเกิดสืบเนื่องจากนักกิจกรรม 4 คนเดินทางเดินทางไปให้กำลังใจชาวบ้าน 23 คนที่ถูกเรียกรายงานตัวฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. จากกรณีการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ส่วนผู้สื่อข่าวได้ติดรถไปทำข่าวดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นตำรวจได้ตรวจค้นรถที่ทั้งหมดโดยสารมาและพบเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ และรณรงค์โหวตโนหลายรายการในรถดังกล่าวจึงจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาโดยระบุว่ามีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะแจกจ่ายเอกสารดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามในคำสั่งฟ้องของอัยการระบุถึงสติ๊กเกอร์โหวตโนเพียงรายการเดียว โดยเขียนว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดโดยการแจกจ่ายสติ๊กเกอร์ข้อความ "7 สิงหา Vote No ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก" ซึ่งเป็นการเผยแพร่ข้อความในช่องทางอื่นใดที่ผิดจากข้อเท็จจริง มีลักษณะปลุกระดม โดยมุ่งให้ไม่ไปใช้สิทธิ ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ในการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย มาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ประชามติ โดยอัยการขอให้ลงโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปีและริบของกลางทั้งหมด
ส่วนในบันทึกการจับกุมของตำรวจก่อนหน้านี้ระบุถึงของกลางที่ตรวจพบบนรถว่า พบของกลาง คือ แผ่นไวนิลข้อความ "นายกไทยใครๆ ก็โดนล้อ" 1  แผ่น ไมโครโฟน ลำโพง ที่่คั่นหนังสือ "โหวตโน", จุลสาร การออกเสียง จำนวน 66 ฉบับ, แผ่นเอกสาร ปล่อย 7 นักโทษประชามติโดยไม่มีเงื่อนไข 21 แผ่น, แผ่นเอกสาร ความเห็นแย้ง 2 ฉบับ, เอกสารแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ ฉบับลงประชามติ 9 ฉบับ, เอกสารจะใช้สิทธิลงประชามตินอกเขตจังหวัดทำอย่างไร 70 ฉบับ และสติ๊กเกอร์โหวตโนจำนวนมาก
ภายหลังได้รับการประกันตัวในชั้นศาล อนันต์ โลเกตุ หนึ่งในจำเลยคดีให้สัมภาษณ์ว่า ดูจากสำนวนแล้ว ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะตนเองไม่ได้ทำตั้งแต่แรก วันดังกล่าวมีเจตนามาเยี่ยมผู้ต้องการคดีศูนย์ปราบโกง ที่บ้านโป่ง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/25583/58 เช่นเดียวกับตนเอง (คดีที่สภ.บางเสาธง)
"ประชามติน่าจะอิสระกว่านี้ ในทางสากลเขาก็รณรงค์ได้ เราไม่สามารถบังคับให้ใครออกเสียงเหมือนเราได้" อนันต์กล่าว

ปกรณ์ อารีกุล หรือแมน หนึ่งในจำเลยคดีนี้ให้สัมภาษณ์ว่า เห็นคำฟ้องอัยการแล้วรู้สึกแปลกใจที่ระบุว่าจำเลยแจกสติ๊กเกอร์ ขัด พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ใช่เรื่องเนื้อหา แผ่นพับ หรือเอกสารความเห็นแย้งเลย จึงคิดว่าสำนวนค่อนข้างอ่อน เพราะข้อความในสติ๊กเกอร์คือ “7 สิงหา Vote No ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” ไม่ใช่ข้อความเท็จ เมื่ออ่านร่างรัฐธรรมนูญย่อมเห็นว่าถ้าร่างนี้ผ่าน จากทั้งประเด็นเรื่อง ส.ว.สรรหา และยุทธศาสตร์ชาติ จะทำให้เกิดรัฐซ้อนรัฐ ส่วนการมองว่าเป็นการปลุกระดม การปลุกระดมตามที่อัยการตีความนั้นจะสำเร็จต่อเมื่อประชาชนเขารับสติ๊กเกอร์แล้วไปโหวตโน คำถามคือจะพิสูจน์อย่างไรถ้าฟ้องเช่นนี้ ตอนนี้จำเลยทุกคนปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดเพราะคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นความผิด แม้ประชามติจบแล้วแต่คดียังเดินหน้า วันนี้ศาลรับฟ้องแต่มีนัดไกล่เกลี่ยศูนย์สมานฉันท์ซึ่งจะไกล่เกลี่ยได้ก็ต้องรับสารภาพก่อนแต่ทุกคนยืนยันจะปฏิเสธ ที่ตกใจคือ ท้ายคำฟ้องอัยการขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสิบปีด้วยถือว่ารุนแรงมาก
“คนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองแบบเรา การตัดสิทธิทางการเมืองสิบปี รุนแรงกว่าการติดคุกสิบปี เพราะเราเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนคือการที่เรามีสิทธิทางการเมืองในการกำหนดอนาคตตัวเอง และอนาคตประเทศด้วยการมีสิทธิเลือกตั้ง” ปกรณ์กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น