22 ก.ย. 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดอันเกิดจากประโยชน์ส่วนตนขัดกับผลประโยชน์ส่วนรวมว่า วันนี้เราได้หยิบขึ้นมาใหม่ในความหมายที่ไม่ถึงกับ 7 ชั่วโคตร จะเพียง 4 ชั่วโคตร คือผู้กระทำผิดเป็นโคตรที่ 1 ถ้าเอื้อประโยชน์ต่อลูกเป็นโคตรที่ 2 พ่อแม่เป็นโคตรที่ 3 เอื้อประโยชน์ต่อพี่น้องเป็นโคตรที่ 4 จบแค่นี้ แต่ไม่ใช่ว่าทำผิดและไปลงโทษ 4 ชั่วโคตรเหมือนสมัยก่อน คนที่โดนคือข้าราชการอยู่คนเดียว แต่ว่าเอื้อประโยชน์ต่อใคร ซึ่งขั้นตอนขณะนี้ส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจและมีการตั้งคณะพิเศษขึ้นมาเพื่อพิจารณา ขณะนี้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ตนเห็นว่าเป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการถือเป็นกฎหมายปราบโกงฉบับแท้จริง จึงสมควรจะต้องดูให้รอบคอบ โดยตนได้ขอให้นำขึ้นเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้ดู พร้อมส่งให้กระทรวงต่างๆ นำไปศึกษาหากคิดว่าหนักไป เบาไปหรือไม่ชัดเจน ปฏิบัติไม่ถูกก็ให้บอกมาเพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขโดยให้เวลาประมาณเดือนเศษ และเมื่อรวบรวมความเห็นได้และแก้ไขเรียบร้อยแล้วจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งก่อนนำเข้าสภาเพื่อแก้ไข คาดว่าจะนำเข้าสภาได้ภายในปีนี้ และสภาจะใช้เวลาจากนี้ไป 2 เดือน
เมื่อถามว่ากฎหมายฉบับนี้จะแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นได้แบบเอาอยู่หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า เราตอบไม่ได้ว่าเอาอยู่หรือไม่อยู่ อย่างน้อยก็จะทำให้คนหวาดกลัวว่ามีเครื่องเอกซเรย์เราอยู่ มีคนจ้องจับผิดอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะทำต้องทำให้แนบเนียนและระมัดระวังกว่าเดิม และไม่ใช่เรื่องที่จะไปเล่นงานเล็กๆ น้อยๆ แล้วเรื่องใหญ่ๆ ตัวใหญ่ๆ รอด แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายดังกล่าวไม่ได้เข้มงวดจนถึงขนาดซองจดหมายตราครุฑใบเดียวก็ใช้ไม่ได้ ชาร์จโทรศัพท์นิดหน่อยก็ใช้ไม่ได้ เพราะมันมีข้อยกเว้นอะไรหลายอย่าง ถ้าอะไรเล็กน้อยก็ให้โอกาส ครม.หรือกระทรวงออกระเบียบไปว่าขนาดนี้ยอมให้ทำ ขนาดนี้ไม่ยอมให้ทำ และในกฎหมายนี้ยังรวมถึงใครไปเสนอโปรเจ็กต์อะไรเป็นประโยชน์ต่อตัวเองมากกว่าประโยชน์ต่อส่วนรวม คือถ้าเป็นประโยชน์ต่อส่วนตัว 100 เปอร์เซ็นต์ ซวยแน่ แต่ถ้าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วยแต่ของตัวเองได้ประโยชน์มากกว่าคนที่เสนอโปรเจ็กต์เหล่านี้ก็มีความผิดด้วย
“อย่างการรับของต่อไปจะเข้มงวดมาถึงข้าราชการด้วย ถ้ารับมาแล้วบอกว่ารับส่วนตัวแต่เกินอัตราราคาที่กำหนดใครได้รับไว้ต้องส่งคือราชการใน 30 วัน ถ้าส่งคืนถือว่าไม่ผิด ถ้าไม่ส่งผิด ถ้าไม่แน่ใจราคาให้ส่งไปก่อนแล้วค่อยตรวจสอบภายหลัง ทั้งหมดอยู่ในกฎหมายฉบับนี้” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่าถึงกรณีมีชื่อบุตรชาย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหมน้องชายนายกรัฐมนตรีมีผู้ถือหุ้นของบริษัทที่เข้ามารับทำโครงการของกองทัพภาคที่ 3 นายวิษณุกล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ออกมาบังคับใช้และถึงจะบังคับใช้แล้ว จะผิดหรือไม่ผิดข้อเท็จจริงตนไม่รู้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น