เพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา นายอานนท์ นำภา ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับคำแถลงการณ์ปิดคดีในคดีที่ นายสิรภพ นักเขียนผู้ใช้นามปากกา รุ่งศิลา ซึ่งตกเป็นจำเลยจากการไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 44/2557 เรื่องให้บุคคลเข้ารายงานตัว เพื่อให้ทำการแก้ไขคำแถลงเนื่องจากศาลทหารเห็นว่ามีเนื้อหาที่ส่อถึงการเสียดสีศาลทหาร โดยมีทั้งหมด 3 จุด และเมื่อแก้ไขเสร็จแล้วให้ยื่นใหม่อีกครั้งภายใน 7 วันซึ่งครบกำหนดในวันที่ 4 ต.ค. นี้
ข้อความที่ศาลทหารแจ้งแก้ไขในสองจุดแรกอยู่ในส่วนของคำแถลงข้อ 2.3 ที่กล่าวถึงการออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 และ41/2557 และ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 44/2557เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจาก คสช. เข้ามามีอำนาจในการปกครองประเทศด้วยการทำรัฐประหารซึ่งมีความผิดฐานกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 และการยอมรับการใช้อำนาจของ คสช. จึงเป็นการยอมรับต่ออำนาจของผู้ปกครองประเทศที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเนื้อความจุดที่ศาลทหารให้มีการแก้ไขมีดังนี้
“…หากอำนาจตุลาการไม่รับใช้หลักการแห่งกฎหมายในระบอบประชาธิปไตยและประชาชน แต่กลับไปโอนอ่อนผ่อนตามหรือยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมทำให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกทำลายลงจนไม่เหลือสถาพแห่งความเป็นนิติรัฐได้…”
“…หากตุลาการยอมรับว่าคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว ก็จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป เปิดช่องทางหรือยอมรับให้บุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการรัฐประหารยืมมือกฎหมายเข้าปกครองประเทศ ตุลาการจึงไม่ควรที่จะรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ หากแต่ต้องใช้อำนาจตุลาการในการพิพากษาวินิจฉัยให้คณะรัฐประหารต้องรับผิดตามกฎหมายเพื่อธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมและรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย และคุ้มครองประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง หากตุลาการรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับตุลาการไม่ได้รับใช้ประชาชน หันไปรับใช้อำนาจอันโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรมก็จะกลายเป็นบ่าวรับใช้อำนาจเผด็จการไปเสีย…”
ส่วนจุดที่สามที่ศาลทหารให้แก้ไขอยู่ในข้อ 3 ของแถลงการณ์ซึ่งเป็นส่วนปิดท้ายที่นายสิรภพกล่าวถึงการที่ตนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญและไม่ยอมรับอำนาจของ คสช. ที่ได้มาโดยการรัฐประหารจึงขอทำการอารยะขัดขืน และยังขอต่อศาลให้อำนวยความยุติธรรม โดยข้อความที่ศาลให้แก้ไขมีดังนี้
“…ขอศาลได้โปรดตีความและบังคับใช้กฎหมายภายใต้ความยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตย…”
ภายหลังจากที่นายอานนท์ทราบเรื่องวันนี้จึงเข้าเยี่ยมนายสิรภพในเรือนจำพิเศษกรุงเทพในเช้าวันนี้เพื่อสอบถามและให้คำปรึกษา ทั้งนี้ทีมทนายความจะปรึกษากันถึงแนวทางก่อน แต่จะยื่นแถลงการณ์ต่อศาลอีกครั้งภายในวันจันทร์ที่ 4ต.ค.ที่จะถึงนี้
ในคดีนี้นายสิรภพได้เคยให้การต่อศาลว่าการกระทำของ คสช. ที่ทำการรัฐประหารถือว่าเป็นการกบฏ และเชื่อว่าจะกระทำการไม่สำเร็จ การออกคำสั่งของ คสช. จึงไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย นอกจากนี้ เขายังได้ยื่นฟ้องหัวหน้าคณะรัฐประหารคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ศาลอาญาในคดีดำที่ 1805/2558
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น