22 ก.ย. 2559 จากกรณเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Yingluck Shinawatra” ว่า วันนี้ 19 กันยายน 2559 ครบรอบ10 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็ไม่ต่างจาก 22 พฤษภาคม 2557 แม้เวลาจะผ่านไป หลายปีแล้วแต่ก็เหมือนวงจรนี้ไม่มีวันจบสิ้นไปจากสังคมไทย
"การรัฐประหารแต่ละครั้งทำให้ขาดโอกาสในการที่ประเทศจะยืนอยู่ในเวทีโลกอย่างสง่างาม ขาดการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งการค้าและการลงทุนจากนานาอารยประเทศ รวมถึงสิทธิเสรีภาพของคนไทยก็ถูกลิดรอน ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าจะไม่เกิดขึ้นอีกและขอให้ดิฉันเป็นผู้รับเคราะห์คนสุดท้ายจากเหตุการณ์รัฐประหารค่ะ" ยิ่งลักษณ์ กล่าว
วันนี้ มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่ ยิ่งลักษณ์ โพสต์ข้อความดังกล่าวว่า ถ้าจะมีความไม่ต่าง หรือ ความเหมือน ก็ต้องบอกว่า เป็นเพราะเราไม่เรียนรู้ ว่าเงื่อนไข ของการรัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา เป็นเงื่อนไขของสภาวะแวดล้อม ที่ผู้ที่เข้ามาทำรัฐประหาร บอกว่ามีความจำเป็นในการที่จะต้องมาหยุดยั้งสภาวะความขัดแย้งของมวลชนอย่างรุนแรงในทั้ง 2 ครั้ง ถ้าเราหยุดเพียงแค่นี้ แล้วพยายามจะสื่อสารเสมือนกับว่ามันเป็นความผิดของคนที่เข้ามาทำรัฐประหารอย่างเดียว เราก็จะไม่เรียนรู้และจะเห็นภาพไม่ครบ
อภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่เราก้าวไม่พ้น เป็นเพราะว่าพอเราได้สิ่งที่เป็นประชาธิปไตย หรือ กติกาที่เราคิดว่าเป็นประชาธิปไตย ซึ่งมีตั้งแต่กติกาที่เป็นรัฐธรรมนูญปี 40 ที่คนอ่านแล้วบอกว่าดีมาก ไปจนถึงรัฐธรรมนูญปี 50 ที่อาจจะดูประนีประนอมกับบางสิ่งบางอย่างมากขึ้น หรือฉบับล่าสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะวินิจฉัย ทั้งหมดนี้ก็อาจจะเป็นอีกมาตรฐานหนึ่ง แต่จะกติกาอย่างไรก็ตามประเด็นคือในฐานะผู้เล่น นักการเมืองทุกคน ทุกฝ่าย ต้องมาทบทวน เรียนรู้เหมือนกันว่าทำไมใช้กติกาไปแล้วถึงไปไม่ได้ ทำไมถึงเกิดปัญหาขึ้น เพราะเราไม่สามารถทำให้ระบบการเมืองสามารถสะท้อนความหลากหลายทางความคิด เกิดมีแนวคิดทางการเมืองในลักษณะของการรวบอำนาจ หมายความว่า เอาอำนาจที่ประชาชนมอบให้ แล้วคิดว่านั่นคือใบอนุญาตที่จะไปทำอะไรสารพัด ซึ่งไม่ใช่หลักการของประชาธิปไตย การแทรกแซงสื่อคือที่มาที่ทำให้การเมืองต้องไปสู่ท้องถนน เพราะเวทีของสื่อสารมวลชนอย่างที่เราเห็นในประเทศประชาธิปไตย คือการจัดให้มีที่ยืนสำหรับทุกคน ให้เสียงต่างๆสะท้อนออกไปได้ สามารถเปิดโปง ซักถามกันเอาเป็นเอาตายได้ แต่เมื่อมีความพยายามหลบเลี่ยงตรงนั้น สุดท้ายถึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า สื่อเลือกข้าง สื่อการเมือง แล้วนำไปสู่การปลุกระดม เราต้องคิดถึงตรงนี้
“ต้นทุนการรัฐประหารมีจริง สิ่งที่ ยิ่งลักษณ์ เขียนบางส่วนว่าโอกาสที่มันเสียไปมันมีจริง ตรงนี้คิดว่าไม่มีใครปฏิเสธได้เหมือนกัน แต่ถ้าบอกว่าเมื่อต้องสูญเสียสิ่งเหล่านี้แล้ว อะไรที่เราจะได้กลับคืนมาเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก เรื่องสำคัญที่สุดวันนี้คือสังคมต้องมาช่วยกันประคับประคองว่าทำอย่างไรให้เราทุกคนเรียนรู้ แล้วแก้ไขปัญหาเก่าๆ ให้ได้ หรือป้องกันไม่ให้ปัญหาเก่าๆ กลับมาเกิดใหม่ให้ได้” อภิสิทธิ์ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น