รมว.ยุติธรรมสรุป 6,000 รายชื่อเอี่ยวโครงการจำนำข้าว เผยศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ มีหน้าที่แค่ตรวจสอบหาผู้เกี่ยวข้อง ไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินถูกผิด ด้าน ‘โรงสี-บิ๊กส่งออกข้าว’ หวั่นติดร่างแห ชดใช้ค่าเสียหาย
21 พ.ย. 2559 ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) สื่อหลายสำนัก เช่น มติชนออนไลน์ โพสต์ทูเดย์ ไทยรัฐออนไลน์ และผู้จัดการออนไลน์ รายงานตรงกันว่า พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กล่าวถึงการดำเนินการหลังทราบรายชื่อ 6,000 ราย ผู้เกี่ยวข้องการเรียกค่าเสียหายในคดีรับจำนำข้าว ส่วนที่เหลืออีก 80 เปอร์เซ็นต์ มูลค่า 142,868 ล้านบาท ว่า พูดหลายครั้งแล้วว่า เราต้องการทราบบุคคลที่เกี่ยวข้องก่อน มันไม่ได้หมายความว่ารายชื่อจำนวนดังกล่าวจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหรือไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะยังไม่ทราบ ตนเองก็เคยบอกว่ารมว.ยุติธรรมไม่เคยรับรู้เรื่องกระบวนการซื้อขายข้าวเลย แต่ตนทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นประธาน ศอตช. ที่ครม.สั่งมาให้ไปนำเอารายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดออกมา มันคงจะต้องผ่าน ศอตช. ที่เขาเข้าใจและแยกแยะว่าคนกลุ่มไหน ชื่ออะไร ต้องรับผิดชอบคนละเท่าไหร่
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ตนไม่ได้มีหน้าที่ไปบอกว่าใครถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง มีหน้าที่เอารายชื่อมาให้รัฐบาลว่ามีใครเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง ถ้าท่านคิดว้าท่านถูกก็ไปต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม อะไรที่เห็นต่างแล้วเป็นเรื่องไม่ถูกต้องไปต่อสู้กันในกระบวนการยุติธรรม ไม่ต้องมาต่อสู้กันในสื่อมวลชน มันมองถึงการสร้างการรับรู้ในแง่ประเด็นอื่นมากกว่าในกระบวนการยุติธรรม ตนคิดแบบนี้ เพราะตนเองก็ไม่เคยไปพูดอะไรมากมาย
‘โรงสี-บิ๊กส่งออกข้าว’ หวั่นติดร่างแห
ขณะหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,211 วันที่ 20 – 23 พ.ย. 2559 ซึ่งผ่านแพร่ต่อผ่านทางเว็บไซต์ต่อวันนี้ว่า แหล่งข่าวจากสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในช่วงเริ่มต้นโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.)เป็นผู้ไปเช่าโกดัง หรือคลังเก็บข้าวจากเอกชน โดยจะดำเนินการจัดเก็บข้าวที่ได้ให้โรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทำการสีแปรเป็นข้าวสารแล้วทำการจัดเก็บข้าวเอง แต่ในปีสุดท้ายของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก(ปีการผลิต 2556/57) ทาง อคส. และ อ.ต.ก.ได้มีสัญญาใหม่ให้ผู้ให้เช่าคลังฝากเก็บข้าวต้องรับผิดชอบทั้งจำนวนและคุณภาพข้าว รวมถึงการจัดหาบริษัทเซอร์เวเยอร์มาตรวจรับรองคุณภาพข้าวก่อนฝากเก็บ โดยมีเจ้าหน้าที่ของ อคส. และ อ.ต.ก. มาดูแลตรวจสอบการเข้า-ออกของข้าวร่วมกับเจ้าของคลัง
“ต้องแยกอาชีพกันให้ชัดระหว่างโรงสี กับผู้ให้เช่าคลังหากรัฐจะพิจารณาตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลเพื่อให้ชดใช้ความเสียหาย เพราะส่วนใหญ่ทำโรงสีอย่างเดียว แต่บางรายทำโรงสีด้วย และมีคลังหรือสร้างคลังให้รัฐบาลให้เช่าด้วย ต้องแยกการตรวจสอบเป็นราย ๆไป โดยจะต้องให้ความยุติธรรมและให้สิทธิทุกคนในการชี้แจงและนำเสนอข้อมูล”แหล่งข่าวกล่าว และว่า ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มีหลายปีการผลิต มีผู้ประกอบการโรงสีเคยเข้าร่วมสูงสุดกว่า 800 โรง จากในช่วงแรก ๆ มีเข้าร่วม 500-600 โรง หากรัฐบาลมีการตรวจสอบเพื่อหาความเชื่อมโยงผู้ที่มีส่วนทำให้โครงการรับจำนำข้าวได้รับความเสียหายแล้ว หากพบมีความผิดก็ว่ากันไปตามความผิดการชดใช้ความเสียหายก็ถือว่ามีความยุติธรรม
ด้านแหล่งข่าวจากผู้ส่งออกข้าวของ “ฐานเศรษฐกิจ” เผยว่า ใน 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้บริหารซึ่งเป็นส่วนของรัฐมนตรีและอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายข้าวประมาณ 2,000 รายชื่อ, กลุ่มผู้ปฏิบัติที่เป็นข้าราชการในกระทรวงที่รับผิดชอบ และจากองค์กรต่างๆ ประมาณ 4,000 ราย และกลุ่มที่ 3คือผู้ประกอบการ เช่นเอกชน โรงสี และคลังสินค้า ในส่วนนี้ยังไม่ชัดเจนว่ามีผู้ส่งออกรวมอยู่ด้วยหรือไม่ แต่ในความเข้าใจคาดจะมีผู้ส่งออกรวมอยู่ในกลุ่มนี้ และจะต้องถูกตรวจสอบความเชื่อมโยงด้วย
ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าผู้ส่งออกที่เคยซื้อข้าวในสต๊อกของโครงการรับจำนำข้าวที่ในช่วงนั้นรัฐบาลไม่มีการเปิดประมูลระบายข้าว แต่ใช้วิธีให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อ(ออเดอร์)ข้าวจากต่างประเทศสามารถนำคำสั่งซื้อมาแสดงและขอซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาล(ผ่านเลขานุการ รมว.พาณิชย์)ได้โดยตรง ซึ่งอาจจะถูกตรวจสอบว่า ราคาที่ซื้อไปนั้นต่ำกว่าราคาตลาดของกรมการค้าภายในช่วงนั้นหรือไม่ หากได้มาในราคาต่ำกว่าราคาตลาดอาจจะต้องไปแก้ต่าง และอาจต้องชดใช้ความเสียหายแก่รัฐ
“ช่วงนั้นผู้ที่ซื้อข้าวจากกระทรวงพาณิชย์โดยตรง ส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ประมาณ 10 รายรวมถึงผู้ประกอบการโรงสีที่ขอซื้อข้าวในคลังที่ตัวเองรับฝากเก็บ หากมีการตรวจสอบก็ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง ซึ่งจะยุติธรรรมหรือไม่ก็ต้องดูเป็นรายกรณี”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น