รักษาการเลขาฯกกต.ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเซ็ตซีโร่ กกต. 'กกต. สมชัย' อัดนวัตกรรมฟุ้งซ่าน ปมเสนอแนวคิดผู้ตรวจการการเลือกตั้ง ขณะที่ 'มีชัย' ย้ำไม่มีเซ็ทซีโร่พรรคการเมือง-กกต.
15 พ.ย. 2559 มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) จัดงานเสวนา "ทิศทางการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ" โดยได้มีการสำรวจความเห็นของประชาชน พบว่าเห็นด้วยกับการเซ็ทซีโร่พรรคการเมือง และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า กรธ.คงไม่ทำการเซ็ทซีโร่ พรรคการเมืองและกกต. เว้นแต่บางพรรคที่อยู่ในกระบวนการที่อาจถูกยุบ เช่น พรรคการเมืองเล็กที่ไม่ได้ทำตามกฎหมาย หรือ คนที่กำลังจะหมดวาระ แต่ด้วยขณะนี้ กรธ.ยังไม่ได้รับความเห็นดังกล่าวจาก สพม.จึงยังไม่รู้ว่าจะนำประเด็นนี้หารือในการสัมมนา รับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. .... ที่จะจัดขึ้นในวันนี้ (16 พ.ย. 59) หรือไม่ แต่ กรธ.ก็พร้อมรับฟังความคิดเห็นในประเด็นนี้ และการพิจารณาจะต้องรอบคอบ มองถึงความรู้สึกของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะหากทำอะไรที่เกินกว่าเหตุก็อาจเกิดความวุ่นวายได้
ส่วนที่อ้างว่าอาจจะมีการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมืองขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ หากต้องมีการเซ็ทซีโร่ใหม่นั้น มีชัย กล่าวว่า คงไม่ใช่ เพราะกระบวนการต้องใช้เวลาเป็นปี อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้รับความเห็นในเรื่องดังกลล่าวอย่างเป็นทางการ จึงยังตอบไม่ได้ การพิจารณาเรื่องใดก็ต้อง จะต้องคำนึงถึงใจเขาใจเรา
รักษาการเลขาฯกกต.ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเซ็ตซีโร่ กกต.
ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รักษาการเลขาธิการ กกต. ให้การต้อนรับคณะผู้เข้ารับการฝึกอบรมพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหาร กองบัญชาการกองทัพไทย (พสบ.บก.ทท.) รุ่นที่ 8 จำนวน 75 คน เพื่อเข้าศึกษาดูงานของสำนักงาน กกต. นอกจากนี้ พ.ต.อ.จรุงศักดิ์ บรรยายสรุปในหัวข้อ การเตรียมการเลือกตั้งในปีพุทธศักราช 2560 ใจความว่า ที่ผ่านมา กกต.ได้เตรียมการเลือกตั้งด้วยการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมีประเด็นเพิ่มเติม เช่น การลดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง โดย กกต.จะจัดทำจุดติดตั้งป้ายหาเสียงของผู้สมัครแต่ละพรรคในย่านชุมชน และไม่อนุญาตให้ติดป้ายหาเสียงริมถนนแบบเดิม รวมถึงจัดสรรเวลาในการออกอากาศให้ทุกพรรคการเมือง จัดเวทีดีเบตให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครเกินร้อยละ 50 ส่วนคดีทุจริตการเลือกตั้ง หากศาลฎีกามีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครหรือสิทธิการเลือกตั้งแล้วสั่งให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ จะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง พร้อมต้องจ่ายค่าชดเชยการเลือกตั้งอีกร้อยละ 2 เพื่อเข้ากองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้ง
พ.ต.อ.จรุงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันได้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. โดยเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการไต่สวนและพนักงานสืบสวนมีอำนาจเป็นพนักงานฝ่ายปกครองตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในคดีเลือกตั้ง พร้อมจัดตั้งกองทุนป้องกันและปราบปรามทุจริตเลือกตั้ง ให้การคุ้มครองพยานโดยสำนักงานคุ้มครองพยานในคดีอาญา และให้มี กกต.จังหวัดละ 5 คนเพื่อช่วยในการจัดการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงการซักถามจากผู้เข้ารับฟังการบรรยาย มีการถามความคิดเห็นต่อประเด็นการเซ็ตซีโร่ กกต. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า จากที่ทราบแนวทางของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คิดว่าคงจะไม่มีการเซ็ตซีโร่ กกต.ทั้งหมด แต่จะตัดเฉพาะคนที่คุณสมบัติไม่ครบตามร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ฉบับใหม่ที่จะออกมา ซึ่งตนไม่เห็นด้วย เพราะคนที่เข้ามาแล้วมีคุณสมบัติครบตามกฎหมายเก่า แต่ต้องออกไปตามคุณสมบัติที่กำหนดในกฎหมายใหม่ ทั้ง ๆ ที่วาระยังเหลืออยู่ประมาณ 4-5 ปี จะเอาอะไรมาชดเชยได้
'สมชัย' อัดนวัตกรรมฟุ้งซ่าน ปมผู้ตรวจการการเลือกตั้ง
ขณะที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกลาง แถลงถึงเนื้อหาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. ของ กรธ. ว่า เท่าที่เห็นเนื้อหาพบว่ากรธ.มีการออกแบบเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น มีความพยายามสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไทย โดยการให้มีผู้ตรวจการการเลือกตั้ง ขึ้นมาทำหน้าที่แทน กกต.จังหวัด จำนวน 5-8 คน รวมทั่วประเทศประมาณ 500-600 คน มีระยะเวลาทำงาน 50 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง แบ่งเป็นคนในพื้นที่ 2 คน นอกพื้นที่ 3-6 คน ในส่วนคนนอกพื้นที่ให้มีการจับฉลากว่าจะได้ไปลงพื้นที่ใด การออกแบบดังกล่าวเป็นนวัตกรรมมุ่งกำจัดอิทธิพลจากนักการเมืองท้องถิ่น เพราะที่ผ่านมา กกต.จังหวัดที่เป็นข้าราชการอาจถูกอิทธิพลทางการเมืองท้องถิ่นครอบงำทำให้การเลือกตั้งขาดความสุจริต
“แนวคิดดังกล่าวถือเป็นเจตนาดี แต่กระบวนการคิดเป็นนวัตกรรมฟุ้งซ่าน จะหาคน 500-600 กว่าคนที่พร้อมปฏิบัติหน้าที่ทุกจังหวัดได้อย่างไร เพราะแต่ละคนก็มีงานประจำทำอยู่แล้ว ดังนั้นการให้ไปทำงานอยู่จังหวัดอื่นเกือบถึง 2 เดือน เป็นไปไม่ได้ และถ้าจับฉลากได้จังหวัดที่ไม่อยากไปจะทำอย่างไร ก็จะเป็นปัญหา รวมถึงงบประมาณทั้งค่ารถ ค่าที่พัก ค่าสวัสดิการ เบี้ยเลี้ยงต่างๆ รวมกัน ใช้งบประมาณกว่า 150 ล้านบาท ถือว่าค่อนข้างมาก และการให้คนนอกพื้นที่ไปอยู่ในพื้นที่อื่นที่ไม่รู้จักพื้นที่จริง ก็จะเป็นปัญหาในการทำงาน ไม่กล้าที่จะลงพื้นที่ โดยหลักอยากให้ กรธ.พิจารณาทบทวน เพราะการออกแบบดังกล่าวเป็นการคิดที่ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงที่ทำงานได้” สมชัย กล่าว
สมชัย กล่าวต่อว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังมีบทบัญญัติที่มีปัญหาในการตีความหลายมาตรา นำไปสู่ความยุ่งยากในการดำเนินการ เช่นเรื่องคุณสมบัติของ กกต.ในมาตรา 8 (1) ที่กำหนดคุณสมบัติว่าต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นตุลาการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด อาจทำให้มีการตีความได้ว่า กกต. ชุดปัจจุบัน ถือว่าเป็นกรรมการองค์กรอิสระไปแล้ว ทำให้กลับมาเป็นไม่ได้อีกหรือไม่ และมาตรา 8 (19) ที่กำหนดห้ามว่าต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นระยะเวลา 10 ปี ก่อนเข้ารับการสรรหา จะนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ หรือจะนับย้อนกลับไป 3 ปี ตั้งแต่ กกต.ชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ซึ่ง กรธ.ให้อำนาจคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้พิจารณาตีความคุณสมบัติ ตนเห็นว่าเป็นการโยนภาระเกินไป ต้องมีความชัดเจนในชั้นของ กรธ.จะเป็นผลดีกว่า เพราะคณะกรรมการสรรหาแต่ละชุดอาจตีความแตกต่างกัน ถ้ากล้าจริง กรธ.ก็ต้องตีความด้วยตัวเอง
สมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนของมาตรฐานการบังคับใช้กับองค์กรอิสระทุกแห่ง ขณะนี้มีการพูดถึงแต่ กกต.เพียงอย่างเดียว อยากได้ยินคำพูดตรงๆ เต็มปากเต็มคำ จาก มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ว่าหลักการดังกล่าวจะมีการบังคับใช้กับองค์กรอิสระทุกแห่ง รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งนี้ กกต.ไม่มีปัญหาที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ขอให้เป็นกฎกติกาที่มีความเป็นธรรม อย่างกรณีคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดให้มาจากผู้เชี่ยวชาญสายนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์อย่างละ 1 คน แต่ขณะนี้มีอยู่สายละ 2 คน ต้องจับฉลากออกสายละ 1 คนหรือไม่ เช่นเดียวกับที่กำหนดคุณสมบัติเรื่องการดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ไม่น้อยกว่า 5 ปี อยากถามว่าคนที่เป็นศาสตราจารย์ไม่ถึง 5 ปี จะถูกตัดออกหรือไม่ รวมถึงตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษจะถือเป็นศาสตราจารย์หรือไม่ ทาง กรธ.ต้องตอบสังคมให้เกิดความชัดเจน ซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ก็มีการกำหนดคุณสมบัติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่สูงขึ้นเช่นกัน จึงอยากได้คำตอบว่าจะดำเนินการอย่างไร และหากมีการดำเนินการก็ควรทำในระยะเวลาพร้อมกันด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น