วันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2560

ศาลยกฟ้อง 'สุเทพ' คดีหมิ่นฯ แกนนำ นปช. กล่าวหาเผาบ้านเผาเมือง


Tue, 2017-03-28 14:27
ศาลอาญายกฟ้อง 'สุเทพ' คดีหมิ่นฯ แกนนำ นปช. เหตุกล่าวหาเอี่ยวเผาบ้านเผาเมือง-เป็นคนของพรรคเพื่อไทย ไม่หมิ่นประมาท และไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง ขณะที่คดี อริสมันต์ หมิ่นฯ อภิสิทธิ์ ศาลส่งคำพิพากษาฎีกา ไปศาลพัทยาอ่าน 21 เม.ย.เหตุจำเลยคุมขังที่นั่น โดยคดีนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เคยสั่งจำคุกยอริสมันต์ 12 เดือนโดยไม่รอลงอาญา
ที่มาภาพเพจ Banrasdr Photo 
28 มี.ค. 2560 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษา สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกและประธาน กปปส. เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และกระทำการใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 53, 137 หมิ่นประมาทแกนนำ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จากการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 54 พาดพิงแกนนำ นปช.ว่าเป็นผู้ก่อการร้ายเผาบ้านเผาเมืองและเป็นคนของพรรคเพื่อไทย โดยศาลให้เหตุผลว่าจำเลยให้สัมภาษณ์ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง รายงานสถานการณ์ให้ประชาชนทั่วไปทราบ ตามรายงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) จึงไม่ได้เป็นการกล่าวข้อความอันเป็นเท็จไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
สำหรับคดีนี้อัยการโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2558 จากกรณีที่นายสุเทพให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนวันที่ 22 พ.ค. 2554 ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เขตหลักสี่ กทม.ในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2554 พาดพิง เหวง โตจิราการ, จตุพร พรหมพันธุ์ และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ สมาชิกพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.ทำนองว่า เป็นผู้ก่อการร้ายเผาบ้านเผาเมือง ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่งผลให้ทั้งสามเเละพรรคเพื่อไทยได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่งนายสุเทพ จำเลยให้การปฏิเสธและคดีนี้ศาลอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังได้ ขณะที่วันนี้ นายสุเทพ จำเลยสีหน้ายิ้มแย้ม เดินทางมาศาลพร้อมทนายความและบุคคลใกล้ชิดจำนวนหนึ่ง
      
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่า การที่ สุเทพ จำเลย ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนระบุว่าผู้เสียหายทั้งสามมีส่วนร่วมในการเผาบ้านเผาเมืองนั้น ก็ปรากฏว่าขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และได้รับข้อมูลจากรายงานการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า ในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมของ นปช.ในปี 2553 มีการเผาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์และศาลากลางจังหวัด 3 แห่ง ซึ่งการกระทำนั้นเป็นขบวนการที่มีทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และแกนนำ นปช.อยู่เบื้องหลัง กระทั่ง ศอฉ.ได้สั่งให้ยุติการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 และวันเดียวกันแกนนำ นปช.ก็ได้เข้ามอบตัว ดังนั้นจึงมีเหตุให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตใจ ไม่มีเหตุว่าเป็นการกล่าวเท็จ และต่อมายังปรากฏว่าดีเอสไอได้สรุปสำนวนส่งอัยการยื่นฟ้องแกนนำ นปช.ในคดีก่อการร้ายต่อศาล ซึ่งขณะนั้นผู้เสียหายใช้เอกสิทธิ์ ส.ส. ขอเลื่อนคดี ดังนั้นสิ่งที่จำเลยกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่และเป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงตามกรอบกฎหมาย ไม่ได้เป็นการสร้างข้อเท็จจริงขึ้นมาเอง
ส่วนที่จำเลยกล่าวว่า นปช.เกี่ยวพันกับพรรคเพื่อไทยนั้น พบว่านอกจากผู้เสียหายเป็นแกนนำ นปช. แล้ว ยังเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อไทยได้ส่งผู้เสียหายทั้งสามรายลงสมัครเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดย จตุพรอยู่ลำดับที่ 8  ณัฐวุฒิลำดับที่ 9 และ เหวง ลำดับที่ 19 ซึ่งถือเป็นรายชื่อในลำดับต้นๆ  แสดงให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญ และผู้เสียหายทั้งสามรายยังได้รับเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ
      
ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นความเท็จ เป็นการตอบคำถามโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามที่ได้ความมา และเป็นการรายงานสถานการณ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบในฐานะที่จำเลยเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง จึงไม่เป็นความผิดตามคำฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
       

ส่งคำพิพากษาฎีกา อริสมันต์ หมิ่นฯ อภิสิทธิ์ ไปศาลพัทยาอ่าน 21 เม.ย.

วันเดียวกัน (28 มี.ค.60) ศาลนัดอ่านคำพิพากษาฎีกา คดีดำที่ อ.4177/2552 ที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้องอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกน นปช. เป็นจำเลยฐานหมิ่นประมาท จากกรณีวันที่ 11, 17 ต.ค. 2552 อริสมันต์จำเลยได้ขึ้นปราศรัยบนเวที นปช. ปราศรัยหมิ่นประมาทที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและหน้าทำเนียบรัฐบาล
      
คดีนี้ ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุกนายอริสมันต์จำเลย 2 กระทงๆ ละ 6 เดือน รวม 12 เดือนโดยไม่รอลงอาญา อย่างไรก็ตาม คดีนี้ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษามาจากนัดที่แล้ว คือวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจาก อริสมันต์ จำเลยไม่ได้มาฟังคำพิพากษา โดยทนายยื่นเอกสารและแถลงต่อศาลว่าจำเลยปวดท้องอย่างรุนแรงเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามจันทร์ เทศบาลนครนครปฐม ศาลจึงให้เลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาในวันนี้แทน แต่วันนี้ อริสมันต์ ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษพัทยา ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุกจำเลย 4 ปี กรณีเป็นแกนนำในการชุมนุมปิดโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ที่ใช้เป็นสถานที่การประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2552 เพื่อต่อต้านอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นที่เดินทางมาร่วมประชุม ศาลอาญาจึงมีคำสั่งให้ส่งคำพิพากษาศาลฎีกาไปให้ศาลจังหวัดพัทยาเบิกตัวจำเลยมาสอบถามและอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังต่อไป และเมื่อได้อ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังแล้ว จากนั้นศาลอาญาจะนัดโจทก์ฟังคำพิพากษาฎีกาต่อไปในวันที่ 21 เม.ย. นี้ เวลา 9.00 น.
ศุชัยวุฒิ ชาวสวนกล้วย ทนายความ อริสมันต์ กล่าวถึงเรื่องการยื่นฎีกาและขอประกันตัวอริสมันต์กับพวกในคดีแกนนำในการชุมนุมปิดโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช ว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีต้องห้ามฎีกาตามกฎหมาย การยื่นฎีกาจะต้องมีผู้พิพากษาที่ร่วมพิจารณาคดีเป็นผู้รับรองฎีกา จะต้องเขียนคำร้องขอให้ศาลรับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ว่าข้อเท็จจริงตามคำฟ้องยังมีข้อโต้แย้งยังไม่เป็นที่ยุติ นำเสนอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในคดีได้เห็นว่ายังมีปัญหาข้อสำคัญในคดี และให้เซ็นรับรองฎีกา และ ถ้ามีผู้พิพากษาเซ็นรับรอง ฎีกา แล้ว คดีของนายอริสมันต์และพวกก็จะได้ขึ้นสู่ศาลฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย หลังจากนั้นถึงจะมีการยื่นคำร้องเพื่อขอปล่อยชั่วคราวต่อไป

"คดีนี้เป็นคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเนื่องจากศาลชั้นต้นจำคุก 4 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ซึ่งตามกฎหมายเมื่อมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหากจำเลยจำเลยทั้งหมดประสงค์จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลที่นั่งพิจารณาคดีนี้จะต้องรับรองฎีกา ถือเป็นหลักทั่วไปทุกคดีไม่จำเป็นต้องคดีการเมือง โดยหลังจากนี้เราจะทำคำร้องยื่นต่อองค์คณะที่พิจารณาคดีนี้ทุกคน ขณะนี้ทีมทนายความกำลังพิจารณาร่างคำร้องอยู่เนื่องจากพึ่งได้รับคำพิพากษาฉบับเต็มมาศึกษา"  ศุชัยวุฒิ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น