วันจันทร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2560

เครือข่ายนักวิชาการสิทธิพลเมืองเรียกร้องนำ 'หมุดคณะราษฎร' กลับคืนที่เดิม

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้นำ “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” กลับไปติดตั้งยังสถานที่ประวัติศาสตร์ชาติดังเดิม เพื่อยืนยันความต้องการของประชาชนที่จะให้ “ระบอบประชาธิปไตย” ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และเคารพในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน เกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบันให้จงได้ และดำรงอยู่อย่างมั่นคง สืบไปในอนาคต

 
16 เม.ย. 2560 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง การลักทรัพย์สมบัติสาธารณะและฉวยเปลี่ยน “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” อันมีข้อความว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่งคณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ” โดยระบุว่าความทรงจำร่วมเกี่ยวกับอดีตของคนในชาติหรือในสังคมไม่ได้หมายถึงความทรงจำเกี่ยวกับอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้วเท่านั้น หากยังหมายถึงความเข้าใจและความต้องการที่มีต่อสังคมในปัจจุบันและความคาดหวังที่มีต่อสังคมในอนาคตร่วมกันด้วย 
 
ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรและบทบาทของคณะราษฎรในการนำระบอบรัฐธรรมนูญมาสู่ประเทศสยามเมื่อ พ.ศ.2475 คือการให้ความสำคัญแก่ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นฐานในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และยังหมายถึงการที่ระบอบการปกครองดังกล่าวควรดำรงอยู่ในปัจจุบันและอนาคตด้วย ทั้งนี้ “เพื่อความเจริญของชาติ” อันหมายถึงชาติของประชาชน ปกครองโดยประชาชน และเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเหนือสิ่งอื่นใด
 
ย่ำรุ่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้ปัก “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า พร้อมอ่านประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน และ “หลัก 6 ประการ” ดังนี้
 
  • 1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  • 2. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
  • 3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  • 4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
  • 5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
  • 6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
 
การเปลี่ยน “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ด้วยหมุดใหม่พร้อมข้อความที่ว่า “ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง” และ“ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน” จึงเป็นการทำลายความทรงจำร่วมที่มีคุณค่าพร้อมกับสร้างความทรงจำร่วมชุดใหม่ขึ้นมาซึ่งขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง เพราะข้อความในหมุดใหม่ไม่เพียงแต่ไม่ปรากฏคำว่ารัฐธรรมนูญ หากแต่ยังขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญในระดับรากฐาน เช่น “ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัย” ไม่ให้ความสำคัญกับศาสนาอื่นอย่างเสมอหน้า และคำว่า “หน้าใส” บ่งถึงความเป็นไพร่และสังคมช่วงชั้นซึ่งขัดหลักความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตย
 
นอกจากนี้ การทำลายและเปลี่ยนหมุดบ่งถึงการไม่เคารพอดีตความเป็นมาของบรรพชนในทุกฝ่าย เนื่องจากอนุสาวรีย์มีไว้เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงความสำเร็จและความล้มเหลวของบรรพชนในการสถาปนาประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมของสังคมและชาติไทยเฉกเช่นนานาอารยประเทศ
 
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) จึงเรียกร้องให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรมศิลปากร และสำนักงานเขตดุสิต แสดงความรับผิดชอบต่อภารกิจในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยและปกปักรักษาสมบัติสาธารณะ ทั้งนี้ ไม่เพียงในทางตัวบทกฎหมาย หากแต่ยังต้องสร้างความทรงจำที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเป็นมาของระบอบการเมืองไทยในปัจจุบันว่า หากไม่มีคณะราษฎรเสียแล้ว ราษฎรทั้งหลายรวมทั้งพวกท่านก็ไม่มีสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจปกครองตนเองดังในปัจจุบัน โดยให้ดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายและลงทัณฑ์ทางสังคมกับผู้ที่ไม่เพียงแต่ขโมย “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ไปจากสถานที่ทางประวัติศาสตร์ หากแต่ยังนำไปครอบครอง ซ่อนเร้น หรือทำลายสัญลักษณ์แห่งอำนาจอธิปไตยของประชาชน 
 
พร้อมกันนี้ คนส. ขอส่งเสริมและสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนร่วมกันเรียกร้องให้นำ “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” กลับไปติดตั้งยังสถานที่ประวัติศาสตร์ชาติดังเดิม เพื่อยืนยันความต้องการของประชาชนที่จะให้ “ระบอบประชาธิปไตย” ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และเคารพในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน เกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบันให้จงได้ และดำรงอยู่อย่างมั่นคง สืบไปในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น