แม้เฟซบุ๊กจะเป็นเครื่องมือที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้สื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารได้ แต่รัฐบาลของประเทศต่างๆ เองก็นำเฟซบุ๊กมาใช้เป็นเครื่องมือในการยุยง ปลุกปั่น ชักจูงประชาชนด้วยวิธีที่เรียกว่า "ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร" (information operations หรือ IO) ซึ่งทางเฟซบุ๊กออกมายอมรับว่ามีรัฐที่ใช้เฟซบุ๊กทำเช่นนั้นอยู่จริง
ทีมงานด้านความปลอดภัยของเฟซบุ๊กเปิดเผยในเอกสารอธิบายรายละเอียดเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมาว่ามีรัฐหรือกลุ่มองค์กรอื่นๆ ใช้เทคนิควิธีการเผยแพร่ข้อมูลที่ชวนให้ไขว้เขวและกระทั่งข้อมูลเท็จเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายของตัวเองอยู่จริง อย่างการพยายามชักจูงประชาชน กรณีนี้เคยมีการนำมาใช้แล้วในการเลือกตั้งสหรัฐฯ และฝรั่งเศส
วิธีการชักจูงประชาชนไม่ได้มีแต่การใช้ "ข่าวปลอม" เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใช้กลวิธีทำให้เนื้อหาของพวกเขาปรากฏได้ง่าย การเก็บข้อมูลของเป้าหมาย ทั้งยังมีการสร้างบัญชีผู้ใช้ปลอมเพื่อปั่นกระแสแนวคิดในทางเดียวหรือชวนให้ไขว้เขวด้วย
ในรายงานของเฟซบุ๊กยังเปิดเผยหนึ่งในวิธีการหลอกล้วงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ด้วยการสร้างบัญชีผู้ใช้ปลอมแล้วไปหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว สอดแนมเป้าหมาย หรือแฮ็กเป้าหมาย นอกจากนี้ยังมีการยุยงส่งเสริมเนื้อหาที่ผิดๆ ผ่านการรุมกดไลค์หรือสร้างกลุ่มในเชิงโฆษณาชวนเชื่อขึ้น
เจน วีดอน และวิลเลียม นูแลนด์ จากทีมป้องกันภัยทางข้อมูลข่าวสารของเฟซบุ๊กรวมถึงอเล็ก สตาร์มอส หัวหน้าหน่วยความปลอดภัยของเฟซบุ๊กระบุในรายงานว่า ภารกิจของเฟซบุ๊กคือการให้ผู้คนมีอำนาจในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทำให้โลกเปิดกว้างและเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น แต่ในความเป็นจริงมีคนบางกลุ่มที่ไม่มีวิสัยทัศน์เช่นนั้นและยังพยายามทำลายวิสัยทัศน์แบบพวกเขาด้วย แต่ทางเฟซบุ๊กก็พยายามสร้างระบบการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในเชิงสร้างสรรค์และปลอดภัยเหมาะแก่การแลกเปลี่ยนของประชาชนทั่วไป
ในรายงานเปิดเผยด้วยว่า "ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร" ที่เน้นบิดเบือนความเชื่อของผู้คนไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นสิ่งที่มีมาตลอดในประวัติศาสตร์ โดยเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลหรือกลุ่มอิทธิพลต่างๆ นำมาใช้เพื่อกำจัดคู่แข่ง หรือทำลายการเคลื่อนไหวทางสังคม ทั้งข่าวปลอมและการใช้บัญชีปลอมในการจงใจส่งต่อกระจายเนื้อหาที่บิดเบือน (False Amplifiers) รวมถึงการใช้ข้อมูลใส่ร้ายป้ายสีทำลายกลุ่มการเคลื่อนไหวทางสังคม
ขณะที่การกระทำเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นการกระทำของโปรแกรมอัตโนมัติที่เรียกว่า "บ็อต" (Bot) แต่เฟซบุ๊กรายงานว่าการกระทำเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสิ่งที่ไม่ได้มาจากโปรแกรมอัตโนมัติ
เฟซบุ๊กระบุว่าพวกเขาต้องขยายขอบเขตความปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิม จากเดิมที่เน้นการป้องกันการแฮ็กบัญชี มัลแวร์ สแปม การหลอกลวงทางการเงิน พวกเขาต้องขยายขอบเขตไปป้องกันการพยายามชักจูงชี้นำประชาชนรวมถึงความพยายามหลอกลวงประชาชนด้วย
ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กเคยพยายามจัดการกับการใช้ชักจูงหรือหลอกลวงเช่นนี้มาแล้วโดยการสั่งระงับบัญชีที่น่าสงสัย 30,000 บัญชีในฝรั่งเศสก่อนช่วงที่จะมีการเลือกตั้งโดยดูจากพฤติกรรมการใช้งานและจำนวนผู้รับชม นอกจากนี้ในรายงานของเฟซบุ๊กยังระบุอีกว่าพวกเขาตรวจสอบพบหลายสถานการณ์ในช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่เข้าข่าย "ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร" โดยการแชร์ข้อมูลที่ขโมยมาเพื่อจงใจใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีหนึ่งคือการใช้บัญชีผู้ใช้ปลอมเพื่อชี้นำแนวทางความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับเนื้อหาเหล่านี้อีกด้วย
อย่างไรก็ตามถึงแม้การกระทำเช่นนี้จะมีอยู่จริงในช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ 2559 แต่เฟซบุ๊กก็ระบุว่า "ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร" เช่นนี้มีอยู่แค่กลุ่มเล็กๆ เท่านั้นเมื่อนับในเชิงสถิติเทียบกับกิจกรรมทางการเมืองโดยรวม
เฟซบุ๊กให้คำมั่นว่าจะพยายามสอดส่องดูแลไม่ให้มีการใช้พื้นที่ของพวกเขากระทำเรื่องแบบนี้โดยการหาวิธีบ่งชี้บัญชีผู้ใช้ปลอม ให้ความรู้กับผู้คนถึงวิธีการทำให้ข้อมูลของพวกเขาปลอดภัย ร่วมมือกับกลุ่มตรวจสอบข้อเท็จจริง และส่งเสริมโครงการของภาคประชาสังคมเกี่ยวกับเรื่องความรู้เท่าทันสื่อ เนื่องจากพวกเขาเล็งเห็นว่า "ในสภาพแวดล้อมของข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน โซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดการสื่อสารกัน ไม่ใช่แค่ในเวลาที่มีสถานการณ์เกี่ยวข้องกับประชาชนอย่างการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในการแสดงออกในชีวิตประจำวันด้วย"
เรียบเรียงจาก
Facebook admits: governments exploited us to spread propaganda, The Guardian, 27-04-2017
https://www.theguardian.com/technology/2017/apr/27/facebook-report-government-propaganda
https://www.theguardian.com/technology/2017/apr/27/facebook-report-government-propaganda
Facebook says it will crack down on government-led misinformation campaigns, The Verge, 27-04-2017
http://www.theverge.com/2017/4/27/15453368/facebook-fake-news-information-operations-political-propaganda
http://www.theverge.com/2017/4/27/15453368/facebook-fake-news-information-operations-political-propaganda
Facebook announces plan to fight misinformation campaigns, Tech Crunch, 27-04-2017
https://techcrunch.com/2017/04/27/facebook-announces-plan-to-fight-misinformation-campaigns/
https://techcrunch.com/2017/04/27/facebook-announces-plan-to-fight-misinformation-campaigns/
รายงานฉบับเต็ม Information Operations and Facebook (version 1.0, 27-04-2017) โดย By Jen Weedon, William Nuland and Alex Stamos
https://fbnewsroomus.files.wordpress.com/2017/04/facebook-and-information-operations-v1.pdf
https://fbnewsroomus.files.wordpress.com/2017/04/facebook-and-information-operations-v1.pdf
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น