วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560

กกต. ยื่นข้อโต้แย้งร่าง พ.ร.ป.กกต. ให้สนช. พิจารณา ชี้เซ็ตซีโร่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ


เลขาวุฒิสภาเผยข้อโต้แย้ง พ.ร.ป.กกต. ส่งมาถึง สนช. แล้ว พบ 6 ประเด็นโต้แย้ง เตรียมบรรจุเข้าวาระพิจารณา 29 มิ.ย. เพื่อตั้งกรรมาธิการร่วม 11 คน สนช.5 กรธ.5 กกต.1 พิจารณาภายใน 15 วัน
23 มิ.ย. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า วรารัตน์ อติแพทย์ เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาวุฒิสภา ได้รับคำแย้งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง จาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว และ จะสามารถบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม สนช. ได้ ในวันที่ 29 มิ.ย. เพื่อให้ที่ประชุม สนช. พิจารณา ตั้งกรรมาธิการร่วม 11 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจาก สนช. 5 คน กรธ.5 คน และ ประธาน กกต. 1 คน โดย กรรมาธิการร่วม จะมีเวลาพิจารณา 15 วัน และ เมื่อพิจารณาเสร็จแล้ว ต้องส่งกลับมาให้ ที่ประชุม สนช. ให้ความเห็นชอบ หาก สนช. ไม่เห็นชอบ เกิน 2 ใน 3 ร่างกฎหมายฉบับนี้จะถือว่าตกไป ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 
สำหรับข้อโต้แย้งของ กกต.ได้แก่ 1 มาตรา 11 วรรคสามมีการกำหนดเพิ่ม เรื่องการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้เป็นกรรมการสรรหากกต.ว่า ให้คัดเลือกบุคคลซึ่งมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์ สุจริต มีความเข้าใจภารกิจของ กกต.ไม่มีพฤติกรรมยอมตนอยู่ใต้อาณัติพรรคการเมืองใด ซึ่งถือว่าเขียนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 203 ประกอบมาตรา 201 และมาตรา202 บัญญัติไว้ 
2. มาตรา 12 วรรคหนึ่ง มีการกำหนดเพิ่มเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า บุคคลที่จะเป็นกกต.ต้องไมมีพฤติการณ์ยอมตนอยู่ใต้อาณัติพรรคการเมืองใดๆ รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งเขียนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญมาตรา 203 วรรคท้าย ประกอบ 206 และ 222 บัญญัติไว้ 
3 มาตรา 26 ที่บัญญัติให้กกต.คนเดียวหากพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นทุจริตสามารถสั่งระงับ ยั้บยั้งการเลือกตั้งในหน่วยหรือเขตเลือกตั้งนั้นได้และให้รายงานต่อกกต.ทราบโดยเร็ว เห็นว่า ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 224 วรรคสามที่บัญญัติให้เรื่องดังกล่าวกกต.คนเดียวมีอำนาจเด็ดขาดดำเนินการได้โดยไม่ต้องรายงานต่อกกต. 
4. มาตรา 27 ให้กกต.มอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขณะที่ รัฐธรรมนูญมาตรา 224 (1) และ (2) บัญญัติให้กกต.มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เองหรือมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการได้ 
5. มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ที่ให้กกต.มอบอำนาจให้เลขาธิการกกต.หรือพนักงาน กกต.เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจในการสืบสวน สอบสวน หรือไต่สวนได้ ซึ่งเป็นการเขียนเกินกว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 224 วรรคสองที่บัญญัติให้อำนาจดังกล่าวเป็นของกกต. เท่านั้น
6. มาตรา 70 ที่ให้กกต.ปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ โดยเห็นว่าบทบัญญัตินี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 มาตรา 26 และ 27 ในเรื่องของหลักนิติธรรมและหลักนิติประเพณีที่ปฏิบัติมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น