เลขาฯ ป.ป.ช. เผยการชี้มูลความผิด กรณีกล่าวหา ยิ่งลักษณ์ และครม. อนุมัติจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ใกล้เสร็จสิ้น ระบุไม่ทราบคดีประกันราคาข้าวของอภิสิทธิ์ ดำเนินการไต่สวนถึงขั้นไหนแล้ว อัยการชี้ยึด รธน.ให้สิทธิอุทธรณ์คดีจำนำข้าว
เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา เนชั่นรายงานว่า สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยถึงกรณีเตรียมชี้มูลความผิด กรณีกล่าวหา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี รวม 34 ราย กรณีอนุมัติการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2548-2553 โดยไม่มีกฎหมายรองรับ ภายในเดือน ก.ย.นี้ว่า ปัจจุบันคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการไต่สวน ใกล้เสร็จสิ้นแล้วตามที่ สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. ระบุ และวันนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้หารือกันถึงประเด็นที่ วิญญัติ ชาติมนตรี กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อติง สุภา ว่า การกระทำดังกล่าวอาจสร้างกระแสสอดรับช่วงเวลาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะพิพากษาคดีจำนำข้าวที่มี "ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลย ทั้งนี้ ตามข้อเท็จจริงแล้วไม่เกี่ยวกัน การไต่สวนของ ป.ป.ช. ดำเนินการไปตามกฎหมาย
สรรเสริญ กล่าวว่า ตนไม่ขอพูดถึงคดีเกี่ยวกับข้าวในช่วงนี้ คงต้องรอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำตัดสินออกมาก่อน ส่วนคดีประกันราคาข้าวของ อภิสิทธิ์ ไม่ทราบว่าดำเนินการไต่สวนถึงขั้นไหนแล้ว ทราบแค่ว่า อยู่ในชั้นคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ดำเนินการอยู่
ต่อกรณีคำถามถึงความคืบหน้าคดีอื่นๆ ของ ยิ่งลักษณ์ ที่ ป.ป.ช. ไต่สวน 13 คดี เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ที่พ้นจาก ป.ป.ช. ไปแล้ว 2 คดี ได้แก่ คดีโครงการรับจำนำข้าวที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดไปแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอฟังคำตัดสินของศาลฯ และคดีขอให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งต้องจัดทำข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และประกาศราคากลางในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง ป.ป.ช. มีมติยกคำร้องไปแล้ว ส่วนอีก 11 คดีที่เหลืออยู่ระหว่างการไต่สวนต่อไป
อัยการชี้ยึด รธน.ให้สิทธิอุทธรณ์คดีจำนำข้าว
วานนี้ (28 ก.ค.60) Voice TV รายงานว่า ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงสิทธิในการยื่นอุทธรณ์คดี ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีโครงการรับจำนำข้าว ที่ศาลจะพิพากษาในวันที่ 25 ส.ค.นี้ว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 195 วรรค 4 บัญญัติให้คู่ความสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โดยไม่ต้องมีพยานหลักฐานใหม่
แม้ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการประกาศใช้ แต่การพิจารณาจะต้องยึดถือรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเป็นหลัก จะไปตีความกฎหมายตัดสิทธิคู่ความในคดีว่าไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ อันเป็นการใช้สิทธิโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลไม่ได้
คู่ความในคดีจึงมีสิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ ตามที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 195 วรรค 4 บัญญัติไว้
วิษณุ เตือนให้กำลังใจระวังละเมิดอำนาจศาล
ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคนที่จะมาให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันตัดสินคดีจำนำข้าว 25 ส.ค.นี้ ระวังละเมิดอำนาจศาล
รายงานข่าวระบุด้วยว่า ส่วนวันพรุ่งนี้ วัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก หลังมีรายงานว่าตำรวจเตรียมแจ้งความดำเนินคดี ฐานความผิดยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากกรณีโพสต์ให้กำลังใจยิ่งลักษณ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น