ผ่านมา 1 ปีอนาคตชาติ เลือกตั้ง ปรองดองยังรางเลือน จะคานอำนาจเลือกตั้งต้องมาจากเจตจำนงประชาชน ฝากคนไทยคิดถึงเงื่อนไขการเลือกตั้ง 4 ประการ คสช. ฝืนโลกแต่คนรับกรรมคือสังคมไทย ม.44 ยังใช้ได้แม้ยกเลิก รธน. ชั่วคราว เสนอแผนแก้รัฐธรรมนูญ 3 ระยะด้วยพลังประชาชน อัดประชามติผิดหลักการ โดนแก้ไขหลังโหวต ถ้าเปิดเสรีคนไทยคงไม่โง่ถอยหลังเข้าคลอง 1 ปีผ่านไปเหมือนสูญเปล่า รธน. คนละฉบับกับที่โหวต มีก็เหมือนไม่มีเพราะทหารยังกดขี่ มรดกรัฐประหารจะอยู่ต่อไป วอน เลิกวัฒนธรรมรัฐประหาร ลอยนวลพ้นผิดต้องเอา คสช. เข้าคุกให้ได้
13 ส.ค. 2560 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) จัดงานเสวนา “เหลียวหลังแลหน้าประเทศไทย: 1 ปีหลังประชามติ” ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โดยเชิญวิทยากรมาร่วมเสวนา ได้แก่ ผศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อารีฟีน โสะ สมาชิกสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานีหรือ PerMAS กรรณิกา กิจติเวชกุล สมาชิกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และสุนทร บุญยอด สมาชิกสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ปกรณ์ อารีกุล
ผ่านมา 1 ปีอนาคตชาติ เลือกตั้ง ปรองดองยังรางเลือน จะคานอำนาจเลือกตั้งต้องมาจากเจตจำนงประชาชน
พิชญ์ กล่าวว่า ประเด็นแรกอยากจะพูดว่า โรมติดต่อมาให้พูดเรื่อง 1 ปีประชามติ ผมลืมไปแล้วว่ามันมีประชามติไปแล้ว และมีอะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้น เวลามันยาวนานเหลือเกิน และผลจากประชามติตอบอะไรบ้าง ก็ตอบว่า
- สิ่งที่พลังประชาธิปไตยคาดหวังร้อยแปดว่าถล่มทลายแน่ ตัวชี้วัดสำคัญคือฝ่ายก้าวหน้าไม่เอากระบวนการประชามติ ข้อสอง พรรคการเมืองก็รวมตัวกันไม่เอาประชามติ เว้นแต่พวกนักการเมืองกลายพันธุ์แบบคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือ กปปส. ในเชิงสถาบันการเมือง อย่างน้อยคู่ขัดแย้งสำคัญคือพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ประกาศไม่เอาประชามติทั้งคู่ ดังนั้นสิ่งที่ตอบได้มีสองประการ
- ประการที่หนึ่ง เราต้องประเมินตัวเองด้วยว่าสิ่งที่เรามโนกันมันสัมพันธ์กับความเป็นจริงทางสังคมมากน้อยแค่ไหน ทำไมมันถึงค้านกับสิ่งที่เราคิดและฝัน ซึ่งนั่นคือบทเรียน ไม่ได้หมายความว่าต้องมาตำหนิกัน
- ประการที่สอง การทำประชามติในครั้งที่ผ่านมาสะท้อนจริงๆ ว่ารัฐไทยมีความสามารถในการปราบปรามและกดบังคับประชาชนถ้ากลไกรัฐทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการสกัดยั้บยั้งไม่ให้องค์การระหว่างประเทศเข้ามาตรวจสอบ ในประเด็นการแพ้ประชามตินั้นขอดัดจริตวางตัวเป็นกลางว่า มันก็พอๆ กับการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ฝ่ายที่เลือกตั้งแล้วแพ้รู้สึกว่าการเลือกตั้งไม่เป็นธรรมฉันใด ฝ่ายที่แพ้ประชามติก็คงรู้สึกเช่นนั้น เพราะผู้ชนะคือผู้กุมอำนาจ ดังนั้นฝ่ายที่แพ้ก็ต้องกลับมาคิดว่าได้บทเรียนอะไรร่วมกันในการต่อสู้ภายใต้ข้อจำกัดหลายประการ
ผมคิดว่าสิ่งซึ่งนับถอยหลังไปก่อนประชามติ ย้อนไปนับแต่รัฐประหารจนถึงวันนี้ก็สามปี แล้วเราก็ยังมองเห็นเพียงแต่ความเลือนรางมากๆ ว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อไหร่ คำตอบของรัฐบาลก็มักตอบว่าให้เป็นไปตามโรดแมปที่เป็นรุ่นแบบเกิน 200 ปีที่แล้ว ไม่ใช่โรดแมปที่เข้าใจกันในวันนี้ที่ในมือถือมีแอพที่ชื่อว่ากูเกิลแมป ที่บอกระยะทาง มีรถติดตรงไหน ที่สำคัญคือมันบอกเงื่อนเวลาว่าท่าจะไปถึงกี่นาที แต่โรดแมปของรัฐบาลบอกเพียงว่ามีโรด และแมป แต่ไม่บอกเวลา สิ่งน่ากังวลก็คือ
ท่ามกลางความแตกต่างของการทำรัฐประหารรอบนี้ที่บอกว่าอย่าให้เสียของ เพราะบรรดาเนติบริกรที่กระเหี้ยนกระหือรือออกมาทำให้บ้านเมืองเป็นแบบที่พวกเขาต้องการ ช่างต่างจากการรัฐประหารที่เราคุ้นเคยในช่วงปี 2520 ที่รัฐประหารแล้วรีบจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งในแง่หนึ่งคือการปรับความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดการต่อรองในหลายๆ ฝ่าย ถ้าไม่มองแบบฝ่ายประชาธิปไตยสุดโต่ง อย่างน้อยปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงทิศทางของการแบ่งปันอำนาจไม่มากก็น้อย แต่รัฐประหารรอบนี้ไม่ใช่การแบ่งแล้ว มันเป็นการสถาปนาโครงสร้างที่ไม่มีการแบ่ง ถึงจะให้บ้างก็เป็นการโยนเศษๆ ให้ สมัยก่อนมีการแบ่งแล้วใช้อิทธิพลครอบงำ แต่สมัยนี้ใช้อภินิหารทางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการไม่แบ่ง ในโครงสร้างเก่า การแบ่งอำนาจไม่ได้แปลว่าแบ่งอย่างเท่าเทียม สมัยนี้ผู้มีอำนาจพยายามทำทุกอย่างให้เป็นกฎหมาย มันไม่ได้หมายความว่าจะยุติธรรม ลักษณะดังกล่าวสะท้อนถึงการจัดสรรบรรยากาศทางสังคม การปรับตัวเชิงสถาบันต่างๆ ที่ทำให้การปรองดองและการยอมรับให้กฎหมายชุดใหม่เดินไปได้ กฎหมายไม่ได้ทำงานบนความเป็นจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่วางอยู่บนการยอมรับของทุกฝ่าย ความถูกต้องตามกฎหมายจึงไม่เท่ากับการยอมรับการสถาปนาตัวกฎหมายเป็นสถาบัน (legal ไม่เท่ากับ institutional) กฎหมายเท่ากับคำสั่งของผู้ปกครองในสังคมที่ผู้ปกครองไม่ได้มาจากประชาชน การเคารพกฎหมายเกิดขึ้นได้เมื่อประชาชนรู้สึกยึดโยงกับอำนาจ ยอมรับความชอบธรรมของผู้ออกกฎหมาย ในที่นี้ประชาชนอาจจะยอมรับเพราะพูดไม่ได้
ในเรื่องการสร้างความปรองดอง ความพยายามในการสร้างความปรองดองไม่ชัดเจน ก้ำกึ่งระหว่างให้ความขัดแย้งคงอยู่เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองต่อ หรือความชอบธรรมในการมีอำนาจปกครองต่อคือการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่เข้มข้นเท่าที่ควรเพราะมีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าปล่อยให้เป็นแบบนี้ก็ยังอยู่ได้ ไม่ได้พูดถึงคณะรัฐประหารอย่างเดียวแต่พรรคการเมืองก็มีเหมือนกัน
ประการสุดท้าย ในสังคมไทยมีการมองการเลือกตั้งแบ่งตัวเองออกเป็นสองกลุ่ม
ในเรื่องการสร้างความปรองดอง ความพยายามในการสร้างความปรองดองไม่ชัดเจน ก้ำกึ่งระหว่างให้ความขัดแย้งคงอยู่เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองต่อ หรือความชอบธรรมในการมีอำนาจปกครองต่อคือการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่เข้มข้นเท่าที่ควรเพราะมีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าปล่อยให้เป็นแบบนี้ก็ยังอยู่ได้ ไม่ได้พูดถึงคณะรัฐประหารอย่างเดียวแต่พรรคการเมืองก็มีเหมือนกัน
ประการสุดท้าย ในสังคมไทยมีการมองการเลือกตั้งแบ่งตัวเองออกเป็นสองกลุ่ม
- กลุ่มแรกมองว่าการเลือกตั้งคือยาแก้สารพัดโรค ประชาธิปไตยเท่ากับการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่ไม่จริง แต่ก็ยังมีเงื่อนไขที่เรายังไม่พูด ส่วนตัวก็อยากให้มีการเลือกตั้ง
- ประการที่สอง กลุ่มที่ไม่เอาการเลือกตั้ง ไม่เอาประชาธิปไตยเพราะเขารู้ว่าถ้ามีดังกล่าวแล้วจะเสียอำนาจ ก็จะต้องทำทุกวิถีทางให้การเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะพัฒนาตัวไปเป็นโครงสร้างหรือวิธีการที่จะสกัดขัดขวาง คานอำนาจจากการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่การคานอำนาจในแบบก้าวหน้า ในสังคมประชาธิปไตยมีการคานเลือกตั้งมี แต่อาจมาจากสถาบันที่ยึดโยงกับประชาชน มันก็ต้องมีตัวแทนประชาชนจากแบบอื่นที่จะมาคานการเลือกตั้ง เช่น การรวมตัวของประชาชนเพื่อเริ่มต้นกระบวนการกฎหมายมากมาย มันหมายถึงว่าเราไม่ได้บอกว่าการเลือกตั้งถูกทุกอย่าง แต่สถาบันอื่นที่จะมาคานอำนาจการเลือกตั้งก็ต้องยึดโยงตัวเองกับประชาชนกลุ่มอื่น ไม่ใช่สถาบันคนดีอย่างเดียว แต่การเลือกตั้งที่มาล่าช้าอย่างที่เราเห็นเกิดจากการพยายามร่างกฎหมายให้สถาบันการจัดการเลือกตั้งมีอำนาจน้อยลงเรื่อยๆ มันคนละเรื่องกัน การคานอำนาจสถาบันการเลือกตั้งทำได้ แต่ต้องทำผ่านการริเริ่ม ก่อร่างสร้างสถาบันอื่นๆ ที่มาจากประชาชนด้วยกัน ไม่ใช่การทำให้สถาบันการเลือกตั้งยึดโยงกับประชาชนน้อยลงเรื่อยๆ
ฝากคนไทยคิดถึงเงื่อนไขการเลือกตั้ง 4 ประการ คสช. ฝืนโลกแต่คนรับกรรมคือสังคมไทย
อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ผมดูข่าวต่างประเทศหลายวัน พบว่าคนที่ทำเรื่องการเลือกตั้งเมืองไทยชอบสอนว่าเราต้องออกแบบประชาธิปไตย ออกแบบระบบการเลือกตั้งที่เทพมากๆ สังคมก็จะไม่มีปัญหาเรื่องความขัดแย้ง คิดอะไรซับซ้อน ยกตัวแบบฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐฯ แต่สิ่งที่ควรดูจริงๆ คือทวีปแอฟริกา ในไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญการเมืองแอฟริกา ที่ผ่านมามีการเลือกตั้งที่เคนยา เป็นตัวแบบที่น่าสนใจในระดับองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพราะมีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างชนเผ่า ทำให้นักวิชาการและนักรัฐศาสตร์ในแอฟริการมากมายวิเคราะห์วิธีการเลือกตั้ง หาสัญญาณเตือนว่าการเลือกตั้งจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่มากขึ้นกว่าเดิมหรือจะทำให้เกิดการปรองดอง มันต้องออกแบบหรือตั้งคำถามภาวะทางสังคมที่นำไปสู่การเลือกตั้งด้วย สิ่งที่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กังวลเป็นเรื่องจริงที่ว่าถ้าเลือกตั้งต่อไปแล้วจะเป็นปัญหา แต่มันไม่ใช่หน้าที่ของ กกต. ที่จะไม่ให้มีการเลือกตั้ง แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ถ้าจะพูดเรื่องการเลือกตั้งก็ต้องคิดด้วยว่าการเลือกตั้งจะนำไปสู่ปัญหาหรือเปล่า ก็ต้องมีการตั้งคำถามกับสัญญาณเตือนว่า
- หนึ่ง อำนาจรัฐกระจุกตัวอยู่กับใคร ต้องดูโครงสร้างใหญ่
- สอง ระบบราชการที่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งมันเป็นอิสระพอที่จะจัดการเลือกตั้งและมันมีทัศนคติอย่างไรกับการเลือกตั้ง
- สาม ต้องมีสื่อมวลชนที่อิสระและศรัทธากับระบบการเลือกตั้ง ไม่งั้นก็จะมาเล่นแต่ข่าวการเลือกตั้งเลว ระบบอื่นไม่เป็นไร
- สี่ ต้องมีความเข้าใจของประชาชนและองค์กรอิสระต่างๆ ที่คิดว่าฉันต้องไปแบ่งอำนาจกับนักการเมือง ไม่ใช่คิดว่านักการเมืองเลว ต้องเอาอำนาจมาที่ฉันทั้งหมด
เรื่องการเลือกตั้ง ตอนนี้เราเห็นความพยายามให้การเลือกตั้งเกิดช้าที่สุดตามกรอบรัฐธรรมนูญ แต่ก็อาจจะมีอภินิหารบางอย่างที่ทำให้กรอบตามรัฐธรรมนูญขยับออกไป ฉะนั้นมีหลายเกม เกมที่หนึ่ง เขาคำนวณมาแล้วตามกรอบรัฐธรรมนูญ ทีนี้เรื่องใหญ่ในเงื่อนไขที่จะทำให้รัฐธรรมนูญขยายไปหรือล้มลง มันก็ต้องคิดเป็นเงื่อนไขไป ไม่ใช่ตีไปกว้างๆ ว่ามันจะไม่เกิดขึ้น แต่มันจะเกิดขึ้นในแบบไหนและที่สำคัญ มันอาจจะเกิดตามเวลาเป๊ะ แต่มันไม่ใช่กติกาที่นำไปสู่ความเสมอภาคทางการเมืองใดๆ และจะถูกทำให้ไร้ความหมายหรือเปล่า
พิชญ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนหนักใจว่าปัจจุบันรัฐยังมีประสิทธิภาพสูงในการครอบงำ สกัดกั้นการต่อต้าน แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับการทำให้สังคมนั้นดำเนินไปในสภาวะที่ควรจะเป็น ความสามารถในการฝืนโลกมี แต่เมื่อสิ่งนั้นมันระเหิดหายไปสักวัน สิ่งที่เหลืออยู่มันอาจจะแย่และลำบาก คุณปิดโลกได้แต่จะฝืนโลกไปได้สักเท่าไหร่ ก็เป็นเรื่องที่น่าหนักใจร่วมกัน เพราะวันหนึ่งที่ทุกอย่างพังทลายลง สังคมก็ต้องถามว่าจะเหลืออะไรสักเท่าไหร่
ม.44 ยังใช้ได้แม้ยกเลิก รธน. ชั่วคราว เสนอแผนแก้รัฐธรรมนูญ 3 ระยะด้วยพลังประชาชน
ปิยบุตรกล่าวว่า ในเรื่องเนื้อหา เรามีรัฐธรรมนูญปี 2560 และมาตรา 44 ใช้ควบคู่กันไปแม้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 จะยกเลิกไปแล้ว เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีรัฐธรรมนูญถาวรแล้วแต่อำนาจของคณะรัฐประหารและกฎหมายชั่วคราวยังมาหลอนเราต่อ ผมเข้าใจว่าตอนรณรงค์ประชามติก็พยายามพูดเรื่องนี้แล้ว แต่ว่าถูกกดเอาไว้ ถ้าเปิดให้รณรงค์กันเสรีคนก็คงจะรู้มากกว่านี้ บางคนที่โหวตรับก็บอกว่า นึกว่าถ้ามีร่างใหม่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะไปเสียอีก แล้วในทางกฎหมายระหว่างรัฐธรรมนูญกับ ม.44 ใครใหญ่กว่ากัน ในทางปฏิบัตินั้นมาตรา 44 ใหญ่กว่า เพราะเวลาใช้มาตรา 44 รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่าคำสั่งของหัวหน้า คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ประกันสิทธิเสรีภาพไว้เยอะมากอย่างที่อารยประเทศอื่นมี แต่ถ้ากฎหมายมาตรา 44 มาลิดรอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้วเราไปฟ้องศาล ศาลก็จะบอกว่าคำสั่งตามมาตรา 44 ไม่ผิดเพราะชอบด้วยกฎหมาย มาตรา 44 จึงขัดกับรัฐธรรมนูญทุกมาตรา จนถึงที่สุดแล้ว มาตรา 44 ยกเลิก รัฐธรรมนูญ 2560 เลยก็ยังได้ ไม่ต้องใช้กองทัพ
ในเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ทางเดียวคือต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนวิธีแก้รัฐธรรมนูญเอาไว้ซึ่งแก้ยากมากถือเป็นระดับท็อปของโลก ในทางปฏิบัติแทบทำไม่ได้เลย เพราะการแก้รัฐธรรมนูญจะต้องให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีส่วนร่วม แต่ ส.ว. ชุดแรกนั้นมีที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล คสช. แล้วประชาชนจะแก้รัฐธรรมนูญได้อย่างไร ถ้าเอากองทัพมาเป็นพวก กองทัพก็คงเข้ามารัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อทำประชาธิปไตยก็ไม่ได้ ผมคิดว่าต้องอธิบายแบบนี้รัฐธรรมนูญเวลาเกิดขึ้นแล้วหนึ่งฉบับ ประชาชนยังมีตัวตนอยู่ ไม่ล้มหายตายจากไป ถ้าเราไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้เราก็ต้องออกเสียงให้เปลี่ยนตามสิทธิตามธรรมชาติของสังคมการเมือง ถ้าคุณ(ประชาชน) ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญได้คุณก็ยกเลิกรัฐธรรมนูญได้ ต่อให้รัฐธรรมนูญจะเขียนว่าทำไม่ได้ แต่ในเมื่อประชาชนเป็นฐานของการเกิดรัฐธรรมนูญ คุณให้รัฐธรรมนูญได้คุณก็ยกเลิกรัฐธรรมนูญได้ ถ้าตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญระบุการแก้ไขกฎหมายอย่างไรก็ต้องไปตามนั้น แต่ถ้าวันหนึ่งมันถึงทางตัน ก็ต้องเป็นประชาชนที่เป็นผู้ทรงสิทธิธรรมที่มีอำนาจสูงสุดให้จัดทำ ยกเลิกหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ก็ในเมื่อประเทศนี้ยังอนุญาตให้ทหารทำรัฐประหารตลอดเลย แล้วจะอนุญาตให้ประชาชนยกเลิกรัฐธรรมนูญไม่ได้เหรอ ในเมื่อบ้านหลังนี้มันผุพังเต็มที่แล้ว แล้วเจ้าของบ้านบอกว่าต้องเปลี่ยนมันก็ต้องเปลี่ยน แม้คนเขียนแบบบ้านจะบอกไว้ว่าห้ามเปลี่ยน ก็เจ้าของบ้านมันอยากเปลี่ยน ก็ต้องไปหาสถาปนิกคนใหม่มาทำบ้านใหม่ มันเป็นสิทธิ์ตามธรรมชาติที่มนุษย์มีอยู่ ผมสรุปว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ 2 วิธี คือหนึ่ง แก้ไขตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญตามปกติ และวิธีที่สองซึ่งไม่มีการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่มันติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด ในฐานะมนุษย์ที่รวมตัวกันเป็นสังคมการเมืองก็ควรมีการปกครอง แล้วถ้ามนุษย์ตกลงกันว่าไม่ไหวแล้ว มันก็ต้องทำได้เพราะมันเป็นสิทธิ์ติดตัวกับมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด ในเชิงนามธรรม ท่านจะทำอย่างไรให้คนไทยจำนวนมากเห็นพ้องว่ารัฐธรรมนูญ 60 มันไปไม่ได้แล้ว ต้องเลิกสถานเดียว มันต้องมีขั้นตอน ซึ่งในที่นี้มีสามขั้นตอนในข้อเสนอแบ่งเป็นระยะสั้น กลางและยาว
ระยะสั้น ในเมื่อ รัฐธรรมนูญ 60 มันเกิดแล้ว เราจะทำยังไงให้คนจำนวนมากเห็นอัปลักษณะของ รัฐธรรมนูญ 60 เพราะคนจำนวนมากอาจจะยังไม่เห็น ต้องช่วยกันรณรงค์ เบื้องต้น รัฐธรรมนูญ 60 มีเนื้อหาดีๆ เยอะเลย โดยเฉพาในช่วงต้น ๆ เราก็ทดลองว่าบทรับรองสิทธิ เสรีภาพมันใช้ได้จริงหรือไม่ ก็ต้องลองทดสอบดูว่าคำสั่งต่างๆของ คสช. ขัดรัฐธรรมนูญ แน่นอนที่สุด พอถึงมือศาลรัฐธรรมนูญก็คงเดินตามแนวเดิม แต่ก็ถือเป็นการโฆษณาว่า รัฐธรรมนูญ ที่พวกคุณโฆษณา พอเอาเข้าจริงมันใช้ไม่ได้ มันจะเป็นการบังคับให้ศาลรัฐธรรมนูญเขียนคำวินิจฉัยให้เป็นแบบนั้น ตอนนี้จึงมีความพยายามเข้าชื่อให้ยกเลิก กฎหมายมาตรา 265 ทิ้งเพราะมันเป็นมาตราที่ทำให้มีมาตรา 44 และยกเลิกมาตรา 279 ที่ทำให้การกระทำของคณะรัฐประหารชอบธรรมทุกอย่าง ทั้งหมดนี้คงไม่สำเร็จ แต่ก็เป็นการรณรงค์
ในระยะกลาง ถ้าการเลือกตั้งมาถึง เรียกร้องไปทุกพรรคการเมืองให้เลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ทำรัฐธรรมนูญใหม่ พอได้รับเสียงข้างมากแล้วก็ลองทำ แต่แน่นอนว่าจะไม่สำเร็จ เพราะกลไกแก้รัฐธรรมนูญยากมาก แต่ควรจะทำซ้ำๆ ให้คนเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปติดที่ตรงไหนบ้าง
สุดท้าย เมื่อคนเห็นพ้องต้องกันว่ารัฐธรรมนูญมันแตะต้องไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องกลับไปที่พื้นฐาน ให้ประชาชนทำรัญธรรมนูญเอง จัดให้มีการออกเสียงประชามติให้ประชาชนยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ แน่นอนว่าองค์กรต่างๆ ก็คงออกมาขัดขวางว่ารัฐธรรมนูญ 250 ไม่ได้อนุญาตให้มีการทำประชามติ ก็ต้องเถียงกลับไปว่ามันเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์
วิธีที่พูดออกมาคือสันติที่สุดเพราะไม่ได้ต้องไปยึดสภา สนามบิน ทำเนียบ จตุรัสกลางเมืองหรือต้องไปตั้งกองกำลังติดอาวุธ แต่ต้องรณรงค์ให้คนเห็นส่วนที่ไม่ดีของรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาเราใช้ทหารเลิกรัฐธรรมนูญตลอดเวลา ต้องถึงเวลาที่ประชาชนยกเลิกรัฐธรรมนูญให้ได้ ถ้าประชามติแล้วไม่ผ่าน ก็ต้องอยู่กันต่อไป แล้วค่อยทำใหม่ มันก็เป็นแบบนี้ ไม่มีรัฐธรรมนูญใดอยู่ไปตลอด มันก็ต้องเปลี่ยนตามพลวัตของโลก
อัดประชามติผิดหลักการ โดนแก้ไขหลังโหวต ถ้าเปิดเสรีคนไทยคงไม่โง่ถอยหลังเข้าคลอง
อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวในประเด็นแรกต่อคำถามที่ว่า รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีใดบ้าง แบ่งได้เป็นสองประเภท หนึ่ง คนๆ เดียวให้รัฐธรรมนูญคือกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือผู้นำเผด็จการ คือคนๆ เดียวตัดสินใจ เรียกแบบนี้ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย แบบที่สองคือให้ประชาชนมอบรัฐธรรมนูญให้กันเอง คือผ่านระบบตัวแทนในสภา หรือทำประชามติซึ่งเป็นประชาธิปไตยทางตรง ถ้าเรามองย้อนไปทางรากศัพท์ รัฐธรรมนูญ หรือ Constitution รากศัพท์ในภาษาละตินคือ Co+ Institute คือการทำอะไรร่วมๆกัน รวมกับคำว่า ก่อตั้ง รัฐธรรมนูญจึงแปลว่าเอกสารทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากคนทุกๆ คนมาตกลงร่วมกันทั้งหมด ถ้าพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวพระราชทานรัฐธรรมนูญเช่นที่ฝรั่งเศสหรือสเปนจะเรียกกันว่ากฎบัตรหรือ Charter มากกว่า
ประชามติในตัวรัฐธรรมนูญมีไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนทรงอำนาจสูงสุดในการก่อตั้งรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ทำคลอดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พระเจ้า ทีนี้ประชามติแบบไหนถึงจะทำให้เห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญเกิดจากประชาชนอย่างแท้จริงมาจากปัจจัยสองประการ หนึ่ง เป็นอิสระและยุติธรรม อิสระในที่นี้หมายถึงแต่ละคนที่ตัดสินใจเอาหรือไม่เอารัฐธรรมนูญมีสิทธิ์ตัดสินใจ มีสิทธิรณรงค์ได้อย่างเต็มที่ จะได้เกิดการถกเถียงและคนจะได้สิ่งที่ต้องการจริงๆ ส่วนความยุติธรรมหมายถึงความเสมอภาคกัน ไม่ใช่ฝ่ายรับได้เปรียบฝ่ายไม่รับ หรือฝ่ายไม่รับได้เปรียบฝ่ายรับ ประชามติที่ฟรีและแฟร์เราเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยแบบเปิด เปิดพื้นที่ถกเถียง รณรงค์และใช้เหตุผลเต็มที่ทั้งสองฝ่าย
ด้วยกลไกประชามติฟรีและแฟร์ ท่านคิดไหมว่าคนไทยทั้งประเทศเจ็ดสิบล้านคนจะโง่บัดซับเลือกรัฐธรรมนูญของรัฐบาลเผด็จการ ถ้ามีการรณรงค์กันให้ถึงที่สุด มันก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น ถ้ามนุษย์มีสติสัมปชัญญะ มีเหตุผล ได้โอภาปราศรัยกันอย่างเต็มที่ มันไม่มีมนุษย์อยากกลับไปเป็นทาสแบบเดิม มนุษย์อยากเดินไปสู่สิ่งที่ดีกว่าทั้งนั้น แล้วทำไมในโลกใบนี้มันถึงมีการได้ผลประชามติที่ไม่ดีออกมา ก็ต้องตั้งคำถามว่าประชามตินั้นไม่มีมาตรฐาน ไม่ฟรีและไม่แฟร์ ประชาชนถูกเรียกออกไปเพื่อเป็นเครื่องประดับตกแต่งให้การทำรัฐธรรมนูญของเผด็จการ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็สะท้อนกระบวนการเหมือนกัน
สอง รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้วจะต้องถูกนำไปใช้ทันที จะไม่มีองค์กรอื่นใดมาขัดขวางการใช้อีกแล้ว เพราะประชาชนตัดสินแล้วว่าจะเอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าองค์กรผู้มีอำนาจสามารถขัดขวางได้ก็แปลว่าคนที่มีอำนาจเลือกใช้รัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่ประชาชน องค์กรผู้มีอำนาจก็จะเป็นผู้ทำรัฐธรรมนูญเอง ตามหลักการแล้วถ้าประชามติผ่าน จะไม่มีใครมาขวางการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นไม่ได้ แม้แต่ศาลหรือประมุขก็ขวางไม่ได้ กลับมาดูที่ไทย รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2557 เขียนไว้ว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาแล้วจะยังไม่มีผลบังคับใช้ ต้องรอพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย แต่มีพระราชอำนาจไม่ให้บังคับใช้ก็ได้ ในทางปฏิบัติจะเห็นว่า รัฐธรรมนูญ ประกาศใช้วันที่ 6 เม.ย. 2560 มีการแก้รัฐธรรมนูญปี 2557 เพื่อเปิดทางให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมาธิการต่างๆ เข้าไปแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติไปแล้ว ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้จึงเป็นคนละฉบับกับที่เราลงประชามติไปเมื่อเดือน ส.ค. 2559
ประชามติครั้งนี้ไม่ฟรีและไม่แฟร์ กกต. ที่เป็นฝ่ายจัดประชามติแจกเอกสารโฆษณาสรรพคุณของร่าง รัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายไม่รับพอไปออกรณรงค์ก็โดนคดีความกัน รัฐธรรมนูญจึงไม่ผ่านประชามติในความหมายที่บอกว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจการคลอดรัฐธรรมนูญ มันจึงไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอยู่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านทั้งด้านความชอบธรรม เพราะเชื่อมโยงกับรัฐประหารปี 2557 เนื้อหาและกระบวนการที่ล็อคสเป็คการเขียนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ไม่ได้เขียนอย่างอิสระ การทำประชามติก็ไม่ฟรีและไม่แฟร์ และเนื้อหาที่ไม่ได้มาตรฐานอยู่หลายเรื่อง
1 ปีผ่านไปเหมือนสูญเปล่า รธน. คนละฉบับกับที่โหวต มีก็เหมือนไม่มีเพราะทหารยังกดขี่
รังสิมันต์ กล่าวว่า ตลอดสี่เดือนที่ผ่านมาหลังบังคับใช้รัฐธรรมนูญ มีสัญญาณบอกว่าอนาคตประเทศนี้จะไม่ได้ดีขึ้นเลย ขอพูดเรื่องคดี พ.ร.บ. ประชามติก่อน ล่าสุดก็ถูกฟ้องหลังจากเดินทางไปขอข้อมูลเรื่องรถไฟความเร็วสูงกับทางรัฐบาลแม้ประชามติจบไปปีกว่าแล้วด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่คงอยู่คือคดีความ หลายคนได้ติดตาม ร่วมกิจกรรมกับผมบ่อยๆ จะเห็นว่าหลายครั้งที่เรารณรงค์นอกพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นถูกจับทันที แม้กระทั่งผู้มีอำนาจและการใช้อำนาจจึงมีลักษณะของการลุแก่อำนาจสูงมาก ผมแจกเอกสารเดียวกันคนละพื้นที่แต่ได้รับการรับมือไม่เหมือนกัน ผมคิดผิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 6 เม.ย. เป็นรัฐธรรมนูญคนละฉบับกับการลงประชามติ ฝ่ายรับและไม่รับที่มุ่งต่อผลให้คนตัดสินใจอนาคตของตัวเองถูกทำลายลง การรับหรือไม่รับเมื่อ ส.ค. 2559 เป็นการรับหรือไม่รับทั้งฉบับ การแก้ไขอะไรก็แล้วแต่แม้เพียงเล็กน้อยคือการทำลายเจตจำนงของประชาชนอย่างสิ้นเชิง เราเสียเงินไปกว่า 3 พันล้านบาท แต่สิ่งที่ได้คือความว่างเปล่า รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจึงเกิดขึ้นจากรัฐบาล คสช. โดยแท้
สอง กระบวนการประชามติมีปัญหาจริงๆ ในอนาคต ถ้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมาแก้ไขไม่ได้เลยว่าต้องผ่านประชามติก่อนเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ ซึ่งไม่จริง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดการดัดแปลงจากฉบับประชามติ วันที่ 6 เม.ย. ถึงวันนี้เราประกาศใช้รัฐธรรมนูญไปแล้ว 4 เดือน หลายคนไม่รู้สึกว่าประเทศนี้มีรัฐธรรมนูญบังคับใช้อยู่จริง เพราะยังมีการจับกุม ดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ผมก็โดนหมายอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแน่ๆ กับการมาดำเนินคดีประชามติย้อนหลังเมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงไม่มีความหมายใดๆ ในสายตาเจ้าหน้าที่ แต่อำนาจที่เจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญคือม. 44 ผมทำกิจกรรมมา 3 ปี ผมพูดแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารได้ด้วยซ้ำว่า สิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญที่สุดคือพวกเขาจะโดนย้ายหรือเปล่าถ้าไม่ทำตามคำสั่งนาย
มรดกรัฐประหารจะอยู่ต่อไป วอน เลิกวัฒนธรรมรัฐประหาร ลอยนวลพ้นผิดต้องเอา คสช. เข้าคุกให้ได้
รังสิมันต์กล่าวต่ออีกว่า เนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีปัญหามาก ในวันที่ 7 ส.ค. มีคนรับร่างรัฐธรรมนูญ 16 ล้าน คนไม่รับร่าง 10 ล้าน คนที่รับร่างจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าจะได้มีการเลือกตั้งเร็วๆ จะได้มีรัฐบาลมาแก้ไขวิกฤติการณ์เหล่านี้เสียที แต่ความเป็นจริงทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดสิ่งที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ชาติ หลังจากนี้จะมีการแต่งตั้งบอร์ดที่ทำหน้าที่ออกข้อกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำตาม ถ้าพูดแบบลูกทุ่ง ยุทธศาสตร์ชาติก็คือนโยบายของ คสช. ถ้ารัฐบาลแถลงนโยบายไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รัฐบาลที่พวกเราเลือกก็อาจถูกดำเนินคดีได้ ปัญหาที่สอง การปฏิรูปประเทศชาติ ในความคิดของ คสช. การปฏิรูปคือการแก้ไขสิ่งที่แล้วมาให้ดีขึ้น ถ้าอ่านอย่างละเอียดแล้ว ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศชาติคือการก้าวถอยหลังทั้งคู่ องค์กรที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. จะมาบีบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องปฏิรูปประเทศตามแนวทางที่ คสช. กำหนดไว้ ตกลงว่าเราจะมีนโยบายจากพรรคการเมืองไหม และจะทำตามนโยบายที่หาเสียงได้ไหม ในเมื่อมีพันธะกรณีที่ต้องรับผิดชอบต่อนโยบายของ คสช. ที่วางไว้แล้ว ด้วยกลไกต่างๆ และพันธะดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตเอาชนะ คสช. ได้ ถึงจะอยากเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างไรก็ทำไม่ได้ หลายคนในที่นี้คงไปให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่คดีของยิ่งลักษณ์เป็นความผิดทางนโยบายไม่ใช่ใครผิดใครถูก แต่บังเอิญไม่ถูกใจ คสช. ก็เลยต้องโดนดำเนินคดี ต่อไปในอนาคตก็คงมีคนถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันอีกมากมาย
นอกจากนั้น มาตรฐานจริยธรรมที่จะใช้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นขาดการมีส่วนร่วมจากรัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ก็จะเข้ามา หลังจากนั้นจะต้องดูกรณีการทำผิด ทุกวันนี้ที่พูดถึงกันบ่อยก็คือเรื่องการคอร์รัปชันที่ พล.อ. ปรีชาไม่เคยโดนสักที ดังนั้น มาตรฐานจริยธรรมที่เรายังไม่รู้ว่าคืออะไรจะไปควบคุมรัฐบาลเลือกตั้งตามที่ คสช. วางเอาไว้ สิ่งสุดท้ายที่อยากให้ประชาชนทดเอาไว้ในใจคือ ที่ผ่านมาประเทศนี้เป็นประเทศที่คนทำผิดไม่ติดคุกจนเป็นวัฒนธรรม ดังนั้นปัญหาที่ใหญ่ไม่หย่อนไปกว่าเรื่องอื่นๆ เลยคือ รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้เป็นเครื่องมือการสนับสนุนวัฒนธรรมการทำผิดแล้วไม่ต้องรับโทษ ที่พูดอย่างนี้เพราะคณะรัฐประหารเมื่อปี 2557 ที่มายุติการใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 และสิทธิเสรีภาพของประชาชน และยึดอำนาจเป็นของตนเอง ซึ่งโทษตามกฎหมายคือประหารชีวิต สิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้คือการยกเลิกกฎหมายที่ทำให้การยึดอำนาจนั้นชอบธรรม หนทางเดียวที่จะทำให้การรัฐประหารครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายคือทำให้การรัฐประหารครั้งนี้ล้มเหลว เอาคนเหล่านี้ไปเข้าคุก การต่อสู้ของประชาชนไม่เคยจบ วันนี้ถ้าเราบอกว่าอายุเฉลี่ยคนไทยคือ 60-70 ปี เราก็ควรคิดว่าจะทำวันนี้เพื่อลูกหลานของเรา ตัวผมเองอายุ 25 ปี ยังมีเวลาอีกมากที่ต้องรับกรรมในประเทศนี้ จึงต้องออกมาต่อสู้เพราะอยากเห็นอะไรที่ดีกว่านี้ แต่ที่ผ่านมา ประชาชนอย่างเราๆ ไม่มีโอกาสกำหนดวาระของตัวเองได้เลย การเรียกร้องที่ผ่านมานั้นเกิดจากวาระที่ คสช. ตั้งขึ้น วันนี้เป็นไปได้ไหมที่ประชาชนจะรณรงค์เข้าชื่อ 5 หมื่นรายชื่อเข้าแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง แล้วกำหนดอนาคตที่เราอยากมีเสียที การเข้าชื่อเป็นการทำตามกระบวนการที่ควรจะทำได้ แต่ความสำคัญอีกอย่างคือ นักการเมืองที่จะหาเสียงเลือกตั้งเมื่อถึงวาระที่มีการเลือกตั้ง จะต้องกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับการเข้าชื่อที่เป็นชบวนการของประชาชนให้สอดคล้องกัน เพื่อนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ และการเอา คสช. ไปเข้าคุกเพื่อไม่ให้เกิดการรัฐประหารอีก
สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยทิ้งท้ายว่า อยากให้ช่วยกัันทดลองกำหนดวาระของประชาชนบ้าง สิ่งที่เคยทำแล้วแต่ยังไม่สำเร็จคือ ทำอย่างไรให้สิ่งที่ประชาชนต้องการเป็นวาระสำคัญของประเทศ ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การทำอย่า่งไรให้ผู้แทนประชาชนในอนาคตเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์จากประชาชน ให้เสียงจากประชาชนดันขึ้นไปผ่านนักการเมืองจะทำได้อย่างไร ซึ่งการกำหนดวาระของประชาชนไม่ง่าย ต้องอาศัยคนจำนวนมากที่จะปกป้องเอาไว้ จะทำอย่างไรให้เป็นเรื่องของการรวมตัวของประชาชนจำนวนมากที่ต้องทำ แม้จะไม่เกิดขึ้นได้ในเร็วๆ นี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น