Published on Fri, 2017-08-18 18:58
ประวิตร โรจนพฤกษ์ เข้ารับทราบข้อหากับ ปอท. หลังโดนแจ้งข้อหา ม.116-พ.ร.บ.คอมฯ อีกคดีเหตุโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นต่อคสช. เจ้าตัวยันโพสต์ตามสิทธิที่ประชาชนพึงมี ยันไม่ได้ปลุกปั่น
18 ส.ค. 2560 สำนักข่าว มติชนออนไลน์ และรายงานว่า ประวิตร โรจนพฤกษ์ ข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ (Khaosod English) พร้อมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจง กรณีถูกหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ ปอท.ในข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 และนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เนื่องจากได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว วิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด โดยปรากฏรูปภาพที่แสดงท่าทีไม่เหมาะสม และแสดงความคิดที่มีผลกระทบต่อรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยประวิตรได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองข้อหาในวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา หลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งความตั้งแต่ 2 ส.ค. 60
รายงานข่าวระบุด้วยว่า การเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในวันนี้ (18 ส.ค.60) มีแอนดรูว์ อาร์มสตรอง เลขานุการโท เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา พร้อมเจ้าหน้าที่ไทยประจำสถานทูตเข้าร่วมสังเกตการณ์รับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ เนื่องจากสนใจในเรื่องของสิทธิของประชาชนที่ได้รับจากรัฐบาลไทย
ประวิตร กล่าวว่า การโพสต์ข้อความดังกล่าวนั้น เป็นไปตามสิทธิของประชาชนที่มี สามารถจะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลได้ ยืนยันว่าไม่ได้ยุยงปลุกปั่น หรือสร้างความเคลื่อนไหวของมวลชนกรณีการโพสต์ถึงการตัดสินคดีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้(18 ส.ค.60) พ.ต.ท.กฤช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา รองผกก. (สอบสวน) กก 3 บก.ปอท. และร.ต.อ.หญิง วลัญชรัชฎ์ คำแก่น รองสว. (สอบสวน) กก 3 บก.ปอท. เป็นพนักงานสอบสวนผู้แจ้งข้อกล่าวหาในคดีที่สองต่อ ประวิตร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 (2), (3), (5) โดยพนักงานสอบสวนพิจารณาเป็นกรรมเดียวกัน เนื่องจากเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน
ศูนย์ทนายฯ รายงานด้วยว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากกรณีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวจำนวน 5 ข้อความ โดยเป็นโพสต์ข้อความภาษาไทยและภาษาอังกฤษระหว่างวันที่ 21-29 กรกฎาคม 2560 โดยจากเนื้อหาแยกเป็น 2 ข้อความที่โพสต์แสดงความคิดเห็นต่อการตัดสินคดีจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีก 2 ข้อความเป็นการแสดงความคิดเห็นเรื่องการจัดการปัญหาน้ำท่วมภาคอีสานของคสช. และอีก 1 ข้อความเป็นการแสดงความคิดเห็นต่อกรณีผู้สื่อข่าวที่เข้าไปตรวจสอบโกดังเก็บข้าวที่อ่างทอง และถูกเจ้าหน้าที่ทหารข่มขู่จะยึดกล้อง โดยกล่าวหาว่าข้อความต่างๆ ดังกล่าวเป็นข้อความอันเป็นเท็จ ที่อาจทำให้ประชาชนที่พบเห็นเกิดความกระด้างกระเดื่องต่อการปกครองของรัฐบาลปัจจุบัน (คสช.) หรือหัวหน้าคณะรัฐบาลปัจจุบัน และก่อความไม่สงบขึ้นในประเทศได้
ประวิตร ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และประสงค์จะยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพนักงานสอบสวนต่อไป
สำหรับประวิตร ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 เขาเคยถูกควบคุมตัวไปแบบไม่สามารถติดต่อกับคนอื่นได้เพื่อ 'ปรับทัศนคติ' ถึง 2 ครั้งหลังแสดงความเห็นที่ถูกตีความว่ากระทบกับรัฐบาล คสช. และกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในปี 2557 และ 2558 เดิมทำงานเป็นผู้สื่อข่าวที่สำนักข่าวเดอะ เนชั่น แต่ถูกเชิญออกหลังจากถูกเรียกเข้าค่ายทหารครั้งที่สองเมื่อปี 2558 จากนั้นประวิตรจึงย้ายมาทำงานที่ข่าวสดอิงลิช
เมื่อ 18 ก.ค. 2560 คณะกรรมการคุ้มครองสื่อแห่งมหานครนิวยอร์ก (The Committee to Protect Journalists) มอบรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติประจำปี 2017 ให้กับนักข่าว 4 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสจากข่าวสดอิงลิช ที่ได้รับเกียรติจากทางคณะกรรมการฯ ร่วมกับนักข่าวอีก 3 คนจากแคเมอรูน เม็กซิโก และเยเมน แถลงการณ์ระบุถึงประวิตรว่าเป็น "นักข่าว นักวิพากษ์ และนักรณรงค์ด้านเสรีภาพสื่อ ถูกคุกคามโดยรัฐบาลและถูกคุมขัง 2 ครั้งในช่วงไม่กี่ปีนี้จากการทำข่าวประเด็นการเมืองและสิทธิมนุษยชน”
ทอดด รุยซ์ บรรณาธิการข่าวสดอิงลิชที่ประวิตรสังกัด ได้ออกมาแถลงต่อคดีนี้ ระบุว่า ตนยืนยันว่าประวิตรและประชาชนทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองในรัฐธรรมนูญ และขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยรายละเอียดแก่ประวิตรว่า ใครเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาให้ตำรวจดำเนินการกับประวิตร
"นี่คือการคุกคามประวิตรอย่างเห็นได้ชัด" ทอดด์กล่าว
คณะกรรมการนิติศาสตร์สากลหรือไอซีเจ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการใช้กฎหมายคุกคามการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประวิตร หลังจากที่องค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นเรียกร้องไทยยุติการใช้บทบัญญัติทางอาญารวมถึงความผิดฐานยุยงปลุกปั่นเป็นเครื่องมือในการกดขี่การแสดงความคิดเห็นของผู้เห็นต่างหรือการแสดงความไม่เห็นด้วย และใช้ทุกมาตรการเพื่อยุติการดำเนินคดีกับคนเหล่านั้นจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
เมื่อ 7 ส.ค. องค์กรสื่อไร้พรมแดน (Reporter Without Borders - RSF) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ภาครัฐเพิกถอนกระบวนการทางอาญาที่กำลังดำเนินอยู่กับประวิตร “ผู้สื่อข่าวที่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาได้ถูกทำร้ายซ้ำไปซ้ำมาเพียงเพราะเขาแสดงความเห็นของเขาและปกป้องเสรีภาพในการให้ข้อมูลจนถึงกับทำให้เขาต้องออกจากงานเดิมที่สำนักข่าวเดอะเนชั่น ถึงเวลาแล้วที่ทางการจะตระหนักว่าเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพสื่อคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่สามารถถูกกดปราบในลักษณะนี้ โดยเฉพาะวิธีการนำตัวผู้บริสุทธิ์มาลงโทษ”
4 ส.ค. 2560 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่าความพยายามของทางการไทยที่จะใช้กระบวนการทางอาญา เพื่อคุกคามผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลง โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคนไทยหลายสิบคนถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา เพียงแค่พวกเขาออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างสงบทั้งในการชุมนุมหรือผ่านโซเชียลมีเดีย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น