วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2560

ขอ สนช.คุ้มครอง ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน อยู่ครบวาระ ย้ำงานมีลักษณะพิเศษ



ประธาน ป.ป.ช. ต้องการให้มีการคุ้มครองให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันอยู่ครบวาระ ชี้งานของ ป.ป.ช.มีลักษณะพิเศษ ที่ต้องอาศัยคนมีความรู้ มีความชำนาญ รธน.ก่อนหน้าจึงออกแบบให้ดำรงตำแหน่ง 9 ปี
22 ก.ย.2560 รายงานข่าวระบุว่า พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึง การพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะกำหนดให้ ป.ป.ช.ต้องดำเนินการเรื่องที่มีการร้องเรียนให้แล้วเสร็จ ภายใน 2 ปี ว่า เป็นไปตามกรอบที่ ป.ป.ช.ได้เสนอต่อ กรธ. แต่ต้องมีข้อยกเว้นในบางกรณีให้ขยายเวลาได้ ต้องดูเนื้อหาพยานหลักฐาน   
“หากเคร่งครัดมาเกินไป อาจปฏิบัติได้ยาก เร่งรัดมากเกินไป อาจไม่มีคุณภาพ ส่งผลต่อคดีที่ทำ เพราะเป็นเรื่องที่กระทบสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาด้วย จึงต้องระมัดระวัง แต่ระยะเวลา 2 ปีก็อยู่ในวิสัยน่าจะดำเนินการได้เป็นส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยมากที่ต้องขยายเวลา” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว    
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวถึง การที่  สนช. จะต้องเป็นผู้พิจารณาให้เห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยเฉพาะในประเด็นรีเซตกรรมการ ป.ป.ช. ว่า  ต้องการให้ สนช.เข้าใจว่า งานของ ป.ป.ช.มีลักษณะพิเศษ ที่ต้องอาศัยคนมีความรู้ มีความชำนาญ ประสบการณ์ในการทำหน้าที่ไต่สวน วินิจฉัยคดี เป็นเรื่องที่ต้องการความต่อเนื่อง จึงมีการออกแบบในรัฐธรรมนูญ ทั้ง ปี 50 และ 60 ให้ ป.ป.ช.ดำรงตำแหน่ง 9 ปี อีกทั้ง กรรมการทั้ง 9 คน รับตำแหน่งตามกฎหมายอย่างถูกต้องทุกอย่าง จึงน่าจะได้รับการพิจารณา    
"ขึ้นอยู่กับ สนช. ไม่ว่ากฎหมายออกมาอย่างไร ก็พร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่กังวลว่าต้องพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ เพราะได้มีโอกาสทำงานให้ประเทศชาติอย่างเต็มที่แล้ว ถ้าต้องพ้นจากตำแหน่งก็ต้องยินดีที่จะรับ แล้วไปทำอย่างอื่นในฐานะคนไทย  ทำคุณให้ชาติในบทบาทอื่น" พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
พล.ต.อ.วัชรพล ยอมรับว่า ต้องการให้มีการคุ้มครองให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันอยู่ครบวาระ ตามร่างกฎหมายลูกที่ ป.ป.ช.เสนอไปให้ กรธ. เพราะหากต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ปี 60 อาจ มี ป.ป.ช.ต้องพ้นจากตำแหน่งถึง 7 คน ก็ต้องมีเหตุผลที่อธิบายได้ว่า ให้พ้นเพราะอะไร เนื่องจากในรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ดังนั้นถ้าเป็นเหตุผลที่เหมาะสมก็รับฟัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น