ในประวัติศาสตร์ยุโรปเมื่อต้นยุคใหม่ ขณะที่ความรู้ความคิดใหม่กำลังเผยแพร่ พวกอนุรักษ์นิยมและฝ่ายผู้ถืออำนาจขณะนั้นวิตกว่าระเบียบสังคมที่ตนยึดถือกำลังจะเป็นอันตราย ดังนั้น จึงมีการประดิษฐ์ข้อหาแม่มดขึ้นมาทำร้ายผู้คนที่ต้องหาว่ามีความคิดความเชื่อที่แตกต่าง โดยกลุ่มกระแสหลักถือว่าความคิดที่ถูกต้องนั้นมีประการเดียวเท่านั้นคือ ต้องนับพระเจ้าตามแบบคริสต์กระแสหลัก ถ้าหากใครต้องสงสัยว่าจะมีแนวคิดอย่างอื่น เช่น ไม่นับถือพระเจ้า หรือนับถือแต่ปฏิบัติผิดประเพณี หรือเผยแพร่ความคิดที่ต่อต้านพระเจ้า ต่อต้านคริสตจักร ถือว่ามีแนวคิดแบบพ่อมดหมอผี เป็นสาวกซาตาน และเป็นพวกใช้เวทมนตร์คาถา ต้องกำจัดเสียโดยการเผาทั้งเป็น
แนวคิดแบบล่าแม่มดนี้แผ่ไปทั่วยุโรป และขยายไปยังอเมริกาเหนือ จึงนำมาซึ่งการเข่นฆ่าสังหารผู้คนจำนวนมาก จากสถิติที่พอรวบรวมได้การรณรงค์ล่าแม่มดเช่นนี้ทำให้ประชาชนถูกไต่สวนดำเนินคดีและถูกเผาทั้งเป็นมากกว่า 40,000 คน และบุคคลสำคัญ เช่น โจน ออฟ อาร์ค หรือชาน ดาร์ค (ค.ศ. 1412-1431) ก็ถูกเผาทั้งเป็นภายใต้ข้อหาแม่มด ก่อนที่จะได้รับการยกย่องในฐานะวีรสตรีและนักบุญแห่งฝรั่งเศส
ต่อมาเมื่อยุโรปผ่านเข้าสู่ยุคเสรีนิยม ยอมรับความแตกต่างทางความคิดและเสรีภาพในการนับถือหรือไม่นับถือศาสนา นักคิดรุ่นใหม่จึงเห็นว่ายุทธการล่าแม่มดนั้นเป็นความผิดพลาดและทำให้เกิดการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ เพราะผู้ที่ถูกสังหารจำนวนมากเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด ไม่มีหลักฐานในการพิสูจน์ ไม่ได้อิงหลักเหตุและผล หากแต่เป็นความเชื่อว่าคนเหล่านั้นเป็นแม่มดจึงต้องจับเผาทั้งเป็น
ที่น่าสนใจคือยุทธการล่าแม่มดที่นำไปสู่การเผาคนทั้งเป็นจำนวนมากนี้ดำเนินไปในนามของความดีงาม ความศรัทธาต่อพระเจ้า ความต้องการที่จะรักษาระเบียบสังคมให้มีความสงบสุข ดำเนินไปด้วยการใช้กฎหมาย ด้วยกระบวนการยุติธรรม ในสเปนและโปรตุเกสถึงกับมีการตั้งขึ้นมาเป็นศาลพิเศษหรือศาลศาสนาที่จะไต่สวนลงโทษพวกความคิดนอกรีตเป็นการเฉพาะ ดังนั้น ยุทธการล่าแม่มดให้อำนาจแก่ชนชั้นนำ เช่น ราชสำนัก พระชั้นผู้ใหญ่ ขุนนาง และผู้พิพากษา พวกนี้ตั้งตัวเป็นหมอผีแล้วกล่าวหาคนจำนวนมากว่าเป็นแม่มด แล้วจะนำไปสู่การประหัตประหาร
ยุทธการล่าแม่มดในยุโรปหมดสิ้นไปตั้งแต่ ค.ศ. 1782 แต่ในสังคมไทยยุทธการในลักษณะเดียวกันยังคงอยู่และยังดำเนินไปอย่างเข้มข้น เพียงแต่เปลี่ยนข้อกล่าวหาจากแม่มดมาสู่ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ผู้กล่าวหาในครั้งนี้ไม่ใช่หัวหน้าพระ แต่เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) โดยในวันที่ 12 เมษายน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงตัวเป็นผู้ภักดีอย่างสุดตัว โดยการสั่งให้นายทหารพระธรรมนูญไปแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผู้ถูกล่าครั้งนี้คือแกนนำฝ่ายบวนการเสื้อแดง 3 คน ได้แก่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายวิเชียร ขาวขำ และนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ โดยอ้างว่าคำพูดและการแสดงออกของคนทั้งสามบนเวที นปช.แดงทั้งแผ่นดินเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554
เมื่อผู้บัญชาการทหารบกสร้างเรื่องกล่าวหาเช่นนี้ ในวันเดียวกัน นายธาริษ เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็ดำเนินการต่อโดยอธิบายว่าจะดำเนินการถอนประกันกับคนเหล่านี้ รวมไปถึงแกนนำ นปช. อีก 7 คน ในทำนองว่าได้เกิดการละเมิดข้อตกลงและเงื่อนไขที่ให้ไว้กับศาลขึ้นจริง และมีส่วนร่วมการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเป็นผู้นั่งอยู่บนเวที ในขณะที่นายจตุพรปราศรัยหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งการกล่าวหาของดีเอสไอนับเป็นเรื่องตลกทีเดียวที่กล่าวหาว่าผู้ที่นั่งอยู่ในบริเวณที่มีการทำความผิดถือว่าทำผิดไปด้วย
ประเด็นปัญหาอยู่ที่ว่านี่ไม่ได้เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายอำนาจรัฐเล่นงานประชาชนด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อย่างน้อยในกรณี 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ฝ่ายอำนาจรัฐก็ได้สร้างขบวนการใส่ร้ายป้ายสีขบวนการนักศึกษา แล้วก่อกระแสปราบปรามเข่นฆ่าจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนับร้อยคน จากนั้นก็ก่อการรัฐประหาร ในครั้งนี้ก็เช่นกัน ปรากฏว่าในระยะ 5 ปี นับตั้งแต่รัฐประหาร พ.ศ. 2549 ได้มีการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาโจมตีขบวนการคนเสื้อแดงหลายครั้ง ที่สำคัญคือเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 ฝ่ายกองทัพในนามของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ออกผังล้มเจ้ามากล่าวหาฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคนเสื้อแดงว่าเป็นพวกล้มเจ้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกระแสการปราบปรามของฝ่ายทหารที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 91 คน
ประเด็นการนำข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาใส่ร้ายป้ายสีแกนนำคนเสื้อแดงครั้งนี้ดูจะขยายตัวลุกลาม เพราะสื่อมวลชนฝ่ายรัฐได้นำเรื่องไปโหมกระหน่ำโจมตีและโยงเข้ากับพรรคเพื่อไทย เพื่อสร้างกระแสให้ประชาชนเสื่อมคลายในพรรคเพื่อไทย และยังสร้างความวิตกแก่กลุ่มการเมืองภายในพรรค ดังเช่นวันที่ 18 เมษายน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย ได้ลาออกจากพรรคด้วยการอ้างเหตุผลเรื่องกระแสหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และยังมีรายงานว่าจะมีสมาชิกที่เป็น ส.ส. บางส่วนอาจลาออกด้วยเหตุผลเดียวกัน
ฝ่ายกองทัพเองก็ได้รุกในประเด็นนี้ต่อไป โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้ใช้ฐานะรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (รอง ผอ.รมน.) สั่งการให้กอ.รมน.ภาคและจังหวัด ตรวจสอบการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ทางสถานีวิทยุชุมชน เว็บไซต์ และอินเทอร์เน็ต เพื่อแจ้งเบาะแสและข้อมูลการละเมิดสถาบันฯไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และตำรวจ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
จากนั้นในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2554 พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 ก็ได้แสดงท่าทีสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ โดยโจมตีการปราศรัยของแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ว่า มีคำพูดบางช่วงที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้กระทบต่อความรู้สึกของคนไทยส่วนใหญ่เป็นอย่างยิ่ง เพราะคนไทยส่วนใหญ่รักชาติและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และอธิบายว่า ทหารต้องออกมาแสดงบทบาท เพราะทหารทุกคนคือประชาชนที่เป็นลูกหลานของประชาชน
ต่อมาวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2554 พล.ต.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ ได้ประกาศให้ทหารทำหน้าที่ทหารรักษาพระองค์และปกป้องสถาบัน รวมถึงเป็นกองหนุนให้แก่ผบ.ทบ. และย้ำว่า ทหารทุกคนคิดเหมือนผบ.ทบ. พร้อมทำทุกอย่างที่ ผบ.ทบ.สั่งและหนุนทุกอย่างที่ ผบ.ทบ.ทำ
จะเห็นได้ว่า ฝ่ายกองทัพได้เคลื่อนเต็มที่ในการแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อแกนนำของกลุ่มเสื้อแดง โดยนำเอากฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาเป็นเครื่องมือ เมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จึงเห็นได้ว่ากองทัพขณะนี้ดูเหมือนจะกลายเป็นหมอผีที่นำในยุทธการล่าแม่มด โดยมิได้คำนึงว่า การใช้กฏหมายมาตรา 112 นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่
พล.อ.ประยุทธพยายามจะอ้างว่า ขออย่าการเมืองเอาสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมายุ่งเกี่ยว แต่การผูกขาดความภักดีไว้กับกองทัพแต่เพียงผู้เดียวและเที่ยวเอาข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปสร้างกระแสโจมตีคนอื่นนั้น ถือเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาสู่การเมืองโดยตรงหรือไม่
แต่ที่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนคือ การล่าแม่มดในครั้งนี้จะนำไปสู่อะไรที่มากกว่านี้หรือไม่ เช่น การก่อรัฐประหาร หรือการเข้าแทรกแซงทางการเมืองในการทำลายพรรคเพื่อไทย
ที่แน่นอนคือ ทั้งหมดนี้เป็นการเมืองแบบล้าหลังและเป็นยุทธการล่าแม่มดสมัยใหม่ที่ประเทศก้าวหน้าทางการเมืองทั้งหลายเขาไม่ทำกันแล้ว ดังนั้น ถ้าจะยุติการล่าแม่มด ต้องผลักดันให้มีการยกเลิกมาตรา 112 จะดีกว่า
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 307 วันที่ 23-29 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 9 คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ | |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น