วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

การเมืองไทยยังเป็นเผด็จการทหาร!
ฟังจากปาก
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 6 ฉบับที่ 307 ประจำวัน จันทร์ ที่ 25 เมษายน 2011
         โดย กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10467

         “เก่งกิจ กิติเรียงลาภ” อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการรุ่นใหม่ที่มีมุมมองวิกฤตการเมืองไทยว่าการเมืองไทยไม่ได้แตกต่างจากในอดีตที่กลุ่มอำมาตย์และทหารพยายามจะรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตนไว้ การเมืองไทยจึงยังเป็นเผด็จการทหาร ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ขณะที่คนเสื้อแดงก็ต้องฉวยโอกาสในขณะนี้เพื่อแสดงพลังให้เกิดประชาธิปไตยและความยุติธรรมให้ได้
มองวิกฤตการณ์การเมืองไทยอย่างไร


ปัญหาหลักของการเมืองไทยวันนี้จะเห็นได้ว่ามีรูปแบบเหมือนปัญหาการเมืองในอดีต อย่างยุคหนึ่งเรามีนายกรัฐมนตรี เช่น นายปรีดี พนมยงค์ หรือจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็โดนทหารทำปฏิวัติรัฐประหาร โดยเฉพาะนายปรีดีโดนใส่ร้ายว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสวรรคตของ ร.8 ส่วนจอมพล ป. ก็ถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐเมื่อปี 2500 นายปรีดีเรียกกลุ่มนี้ว่า “ฝ่ายอำมาตย์” ซึ่งกลุ่มนี้สร้างเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ขึ้นมาคือ จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคนั้น และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี


คนกลุ่มที่เรียกว่า “อำมาตย์” พูดง่ายๆว่าอาจเป็นกองทัพที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ เป็นองคมนตรีที่รู้สึกว่าระบอบการเมืองที่เหมาะสมกับอำนาจหรือผลประโยชน์ของตัวเองไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย การมีระบอบรัฐสภา มีระบบการเมืองที่เข้มแข็ง มีพรรคการเมืองแข่งขันกันในเชิงนโยบาย เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับผลประโยชน์หรือโครงสร้างอำนาจของตัวเอง


ตรงนี้เป็นปัญหาหลักของการเมืองไทยในหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมา คือกลุ่มพลังที่เป็นอนุรักษ์นิยมไม่ต้องการระบอบประชาธิปไตย ผมคิดว่ากรณีของอดีตนายกฯทักษิณ ถ้าดูจากในอดีตการทำรัฐประหารโดยกลุ่มฝ่ายขวา โดยทหารหรือกลุ่มอำมาตย์ก็วางอยู่บนข้อเรียกร้องที่คล้ายคลึงกันทั้งสิ้น
แม้กระทั่งสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็เหมือนกัน เช่น การยกข้ออ้างว่าเป็นภัยต่อสถาบันกษัตริย์ มีปัญหาคอร์รัปชัน ความไม่ปรองดอง ทำให้ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ล้วนแต่เป็นข้ออ้างแบบเดียวกันที่ต้องการทำลายระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยเฉพาะการเมืองยุค พ.ต.ท.ทักษิณเป็นการเมืองที่ทำให้ระบบรัฐสภามีความเข้มแข็งและระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ดี แต่ฝ่ายอำมาตย์กลับมองว่าเป็นปัญหา ระบอบการปกครองที่ดีควรเป็นระบอบที่มีหลายพรรคแล้วอ่อนแอ ผมคิดว่าไม่ใช่แค่ประเด็น แต่เป็นปัญหาหลักเลย


ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ออกมาเคลื่อนไหวในปี 2548-2549 เป็นต้นมา เป็นความขัดแย้งที่วางอยู่บนความไม่เห็นพ้องต้องกันในเรื่องระบอบการเมือง ต่างฝ่ายต่างมองระบอบการเมืองที่สนับสนุนผลประโยชน์ของตัวเองไม่เหมือนกัน
กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็บอกว่าระบอบการปกครองที่ดีที่สุดคือระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ประชาชนมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และทหารไม่ยุ่งกับการเมือง แต่ฝ่ายคนชั้นกลาง ฝ่ายเสื้อเหลืองหรืออำมาตย์มองว่าระบอบที่ดีที่สุดคือระบอบที่มีทหารควบคุมการเมืองและสนับสนุนพรรคการเมืองที่เข้ากับฝ่ายตนได้


โมเดลที่เห็นชัดเจนที่สุดคือรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่มีการเลือกตั้ง มีรัฐสภา แต่ทหารเป็นนายกรัฐมนตรี ผมคิดว่านี่เป็นโมเดลที่เขาต้องการ หรือการเมืองยุคนี้ที่ทหารสนับสนุนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เช่น การจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นมองดูอาจเป็นปัญหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองขนาดใหญ่ แต่ความจริงแล้วเราไม่สามารถตกลงกันได้ว่าควรมีรูปแบบการปกครองอะไรผ่านกลไกรัฐธรรมนูญ เพราะปรกติรัฐธรรมนูญเป็นสถาบันการเมืองที่ทำหน้าที่ปรองดอง แต่ความขัดแย้งตอนนี้กลับไม่ได้โฟกัสไปที่ตัวรัฐธรรมนูญ


เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นตัวอธิบาย หรือเป็นตัวสะท้อนดุลอำนาจของชนชั้นต่างๆในสังคมไทยได้จริง ทำให้ปัญหาการเมืองไทยออกจากรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกทำให้มีอำนาจจริง การเมืองไทยทุกวันนี้ที่มีคนบอกว่าล้มเจ้าหรือมีการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาจึงเป็นภาพสะท้อนชัดเจนว่าความขัดแย้งทางการเมืองไทยจริงๆปัญหาที่สำคัญที่สุดคือสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้อยู่ที่ตัวรัฐธรรมนูญ จากเดิมที่ระบอบการเมืองในประเทศที่เจริญแล้วจะเถียงกันผ่านกรอบ คือกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆที่รายล้อมรอบรัฐธรรมนูญ นโยบายก็ถูกกำหนดโดยรัฐสภา แต่กลายเป็นว่าการเมืองไทยไม่ได้ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญหรือรัฐสภา แต่ถูกกำหนดโดยคนที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญ


ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นจึงไม่สามารถตกลงกันได้ว่าอะไรคือระบอบการเมืองที่ดีที่สุด และไม่ได้จบลงบนกรอบของรัฐธรรมนูญ เพราะความขัดแย้งจริงอยู่นอกรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือแม้แต่ในปัจจุบันต้องไปแตะต้องสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากสังคมไม่เคยแคร์ว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร เพราะเราฉีกรัฐธรรมนูญเป็นว่าเล่น สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาความขัดแย้งของการเมืองไทยยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่กลายเป็นประเด็นที่คนจะตั้งคำถามมากที่สุด


ตกลงเราเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ


ผมคิดว่ามีหลายวาทกรรม บางคนบอกว่าประเทศไทยตอนนี้เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ หรืออย่างยุคหนึ่งมีการถกเถียงกันว่าระบอบเปรมเป็นประชาธิปไตย หรือเผด็จการ หรือประชาธิปไตยครึ่งใบ นักวิชาการฝ่ายที่สนับสนุนระบอบทหารก็บอกว่าเราเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ เพื่อทำให้ภาพของ พล.อ.เปรมที่เป็นเผด็จการดูดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงไม่ว่าจะเอาอะไรเป็นเกณฑ์ก็ตาม แต่เกณฑ์สากลที่ชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยนั้นประเทศไทยไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเลย
เรามี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 เรามีการจับกุมคนที่เห็นต่างทางการเมือง มีการคุกคาม มีการฆ่าเกิดขึ้นโดยที่หาคนผิดไม่ได้ ล่าสุดมีความพยายามของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ด้วยการออก พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งเป็น พ.ร.บ. ที่อันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยมากที่สุด เพราะสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนคือการชุมนุมในที่สาธารณะนั้นเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ทั่วโลกต้องรับรอง ผมคิดว่าปัญหาของหลายๆคนในกลุ่มคนเสื้อแดงก็คือไม่ค่อยให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ทั้งๆที่ความจริงแล้ว พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นปัญหามากที่สุด


ถ้าเรามองการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายอำมาตย์ที่ผ่านมาจะพบว่ามักเล่นอยู่นอกกติกา แต่ขณะที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์อยู่ในอำนาจมาระยะหนึ่ง ฝ่ายอำมาตย์ก็พยายามเอาเครื่องมือที่อยู่นอกกติกามาเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ามีการใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯเพื่อต้องการควบคุมการชุมนุม จากเดิมที่ใช้การปราบปราม ต่อไปก็จะมีการอ้างกฎหมาย กลุ่มคนเสื้อแดงก็พูดไม่ได้ว่านี่เป็น 2 มาตรฐาน เพราะทุกอย่างทำตามกฎหมาย ผมคิดว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างนี้ และจะมากขึ้นเรื่อยๆ จะมีคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งที่บอกว่าการต่อต้าน พ.ร.บ.ชุมนุมฯเป็นเรื่องไร้สาระ จริงๆตอนนี้ต้องพูดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์


แต่คำถามคือสถาบันพระมหากษัตริย์หรือระบอบอำมาตย์ไม่สามารถทำงานได้โดยไม่มีกลไกจำนวนมากมาช่วย เรื่อง พ.ร.บ.ชุมนุมฯจึงเป็นเรื่องเฉพาะหน้าที่คนเสื้อแดงต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงการปล่อยนักโทษที่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย


นี่คือความพยายามของเผด็จการทหารที่ต้องการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือปัญหามาตรา 112 ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในแวดวงวิชาการมากขึ้นก็จะพบว่าการที่กลุ่มนิติราษฎร์ นำโดย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ (อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผมเห็นด้วยกับกลุ่มนิติราษฎร์ที่พูดว่าประเทศที่เจริญไม่ใช้กฎหมายแบบนี้แล้ว จะมีแต่ก็ประเทศที่ปกครองโดยระบอบเผด็จการแบบในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะประเทศไทยอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย จึงต้องไม่ให้นำกฎหมายนี้มาเล่นงานคนอื่นทางการเมือง
ผมขอย้ำว่าประเทศไทยไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และไม่มีมิติไหนที่เป็นประชาธิปไตยเลย มิหนำซ้ำยังเป็นเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ อย่างล่าสุดดูจากบทสัมภาษณ์ของคุณสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ออกมาเปิดเผยว่าจะมีการทำรัฐประหาร อันนี้น่าสนใจว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะมีคนจำนวนหนึ่งที่คิดจะทำรัฐประหารอยู่ตลอดเวลา หรือกรณีที่คุณสดศรีจะลาออกก็คาดเดามานานแล้วว่ามีการพูดคุยกันในกลุ่มพันธมิตรฯว่าจะไม่มีการเลือกตั้ง ถามว่าข้อมูลของคุณสดศรีมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าคิด เพราะเชื่อว่าคุณสดศรีน่าจะมีข้อมูลอะไรลึกๆอยู่


แสดงว่าอาจยังมีการพยายามทำรัฐประหารอีก


ผมคิดว่า...ในช่วงหนึ่งก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์รัฐประหารรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ตอนนั้นมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ในหมู่นักวิชาการก็ถกเถียงกันว่าจะเกิดรัฐประหารหรือไม่ คนบางกลุ่มบอกว่าไม่มีวันเกิดรัฐประหารอีกเพราะประเทศผ่านจุดนั้นมาแล้ว แต่สุดท้ายการทำรัฐประหารก็เกิดขึ้นจริงๆ ถ้าตอบแบบกว้างๆก็คือ ขณะนี้ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐประหารอีก แต่คนที่คิดจะทำรัฐประหารในอนาคตอันใกล้นี้ ผมต้องถือว่าคนคนนั้นเป็นคนโง่ เพราะสถานการณ์ตอนนี้ไม่เหมาะสมที่จะทำรัฐประหารอย่างยิ่ง แม้กระทั่งคนที่เป็นแฟนคลับของพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องการให้มีการเลือกตั้ง


อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ไม่มีใครอยากทำรัฐประหารเพื่อให้การเมืองกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เพราะจะทำให้ปัญหาบ้านเมืองวุ่นวายไปหมด และอีกอย่างหนึ่งคือกลุ่มคนเสื้อแดงตอนนี้ผมเห็นว่ามีความเข้มแข็งมากขึ้น มีการจัดตั้ง มีการรวมกลุ่ม มีการเรียนรู้ และมีประสบการณ์ในการต่อสู้กับระบอบอำมาตย์มากขึ้น โอกาสที่จะทำรัฐประหารแล้วไม่มีการต่อต้านจากประชาชนคงเป็นไปได้ยาก จึงขอฟันธงเลยว่าจะไม่เหมือนกับเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่มีภาพประชาชนมอบดอกไม้ให้ทหารเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน


การเลือกตั้งเป็นทางออกที่ดีใช่หรือไม่


ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยต้องยอมให้มีการเลือกตั้งอยู่แล้ว และโมเดลที่คิดว่าจะประนีประนอมได้มากที่สุดในปัจจุบันคือให้มีการเลือกตั้ง แต่ต้องดูทหารที่เป็นคนคุมและใช้กลไกจำนวนมากในการปราบปราม ฆ่าและจับกุมคนที่เป็นฝ่ายเสื้อแดง อีกกลไกหนึ่งที่น่าสนใจที่ผมและหลายๆคนรอดูอยู่คือจะเป็นอย่างไรหากมีความพยายามเกี๊ยะเซียะกับพรรคเพื่อไทย เป็นสิ่งที่รอดูว่าความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะผมยังคิดว่าคนเสื้อแดงกับเพื่อไทยเป็นคนละส่วนกัน ถ้าดูนโยบายการหาเสียงของเพื่อไทย ไม่ได้พูดประเด็นเรื่องคนตายหรือเรื่องประชาธิปไตย แต่พูดนโยบายการเสียงตามปรกติ เช่น การขึ้นรายได้ประชาชน


การต่อสู้ของคนเสื้อแดงมาถึงจุดที่มีการสูญเสียชีวิต โดนจับกุม คุกคาม ใส่ร้ายจำนวนมาก มันเลยจุดที่การเลือกตั้งจะแก้ปัญหาหรือตอบสนองข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดงไปแล้ว


ตอนนี้จึงอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างคนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทย นปช. จะลดระดับตัวเองมาพูดเท่ากับพรรคเพื่อไทย หรือพรรคเพื่อไทยจะยกระดับมาพูดให้เท่ากับ นปช. แต่สิ่งที่ดีที่สุดตอนนี้คือ นปช. ต้องกดดันให้พรรคเพื่อไทยพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากจะพูด และไม่ควรลดระดับไปพูดในสิ่งที่พรรคเพื่อไทยพูด ผมคิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องหลักการของนักการเมืองอยู่แล้ว คือการเลือกตั้งที่ต้องการเป็นรัฐบาล เป็น ส.ส. และเป็นรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรูปแบบของพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา


กลุ่มพลังที่อยู่นอกรัฐสภาจะกดดันพรรคการเมืองได้อย่างไร ผมมั่นใจว่าฝ่ายอำมาตย์ก็พยายามประนีประนอมกับพรรคเพื่อไทยในหลายๆรูปแบบ เช่น การปล่อยตัวแกนนำเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทยที่จะดึงแกนนำคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งไปลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบปาร์ตี้ลิสต์ จึงมองว่ามีกลไกที่พยายามจะต่อสู้แย่งชิงอะไรกันบางอย่าง อยู่ที่ว่าคนที่เป็นแกนนำของ นปช. จะมีจุดยืนอย่างไร ตรงนี้เป็นจุดที่สำคัญมากกว่า


การแสดงจุดยืนของคนเสื้อแดงที่ก้าวหน้ากว่าพรรคเพื่อไทยเป็นสิ่งที่สำคัญมากในสถานการณ์ขณะนี้ ถ้าแกนนำพูดแบบเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยพูดจะไม่มีความหมายเลยกับขบวนการขนาดใหญ่แต่ไม่มีอำนาจในการกดดันพรรคการเมือง


ถ้าจะดูการเลือกตั้งในปัจจุบัน พรรคการเมืองเริ่มมีการหาเสียงแล้ว นโยบายต่างๆที่ออกมาส่วนใหญ่เน้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ผมคิดว่าหัวใจสำคัญของความขัดแย้งทางการเมือง ถ้าเราวิเคราะห์ให้ลึกเป็นปัญหาการเมืองที่ไม่ลงรอยกัน พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องหาเสียงโดยวางอยู่บนนโยบายเรื่องการปรับระบอบการเมือง ไม่ใช่วางอยู่แค่ในกรอบเรื่องปากท้องอย่างเดียว แต่ต้องผูกโยงเรื่องปากท้องมาเป็นส่วนหนึ่งกับเรื่องการเมือง เพราะจริงๆแล้วทุกวันนี้ผมคิดว่ามวลชนเสื้อแดงจำนวนมากรู้ว่าการเมืองเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การกินดีอยู่ดี ถ้าเราไม่หยิบกุญแจดอกนี้ขึ้นมาชู ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยก็คงไม่ต่างอะไรกับพรรคประชาธิปัตย์


แต่สิ่งที่ระบอบการเมืองแบบเผด็จการทหารยอมไม่ได้คือการพูดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง เป็นสิ่งที่แกนนำคนเสื้อแดงที่เข้าไปสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยจะต้องกดดันพรรคเพื่อไทย อาจไม่พูดถึงเรื่องการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงอะไรของประชาชนในตอนนี้ก็ได้ แต่พูดแค่เรื่องการปล่อยตัวนักโทษจำนวนมากที่ไม่ใช่แกนนำ หรือคนที่โดนข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กว่า 200 คน หรือการแก้ไขมาตรา 112 อย่างที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอก็อาจต้องมีการพูดกันมากขึ้น


ตรงนี้เป็นหน้าที่ของพรรคเพื่อไทยที่นำจะเสนอในทางการเมือง ไม่ใช่นำเสนอแค่เรื่องปากท้อง ที่สำคัญต้องนำเสนอในการคลี่คลายคดี 91 ศพ รวมทั้งเรื่องประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงโดยรวมด้วย


ไม่เช่นนั้นพรรคเพื่อไทยก็จะไม่ต่างอะไรกับการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์หรือฝ่ายอำมาตย์ที่ต้องการเปิดให้มีการเลือกตั้งอยู่แล้ว เพราะการเลือกตั้งทำให้ความขัดแย้งอ่อนตัวลง แทนที่มวลชนเสื้อแดงจะสามารถช่วงชิงให้การเลือกตั้งกลายเป็นโอกาสที่จะพูดถึงการเมืองได้อย่างชอบธรรม จึงอยู่ที่ว่ามวลชนเสื้อแดงจะช่วงชิงได้มากน้อยแค่ไหน


การที่ผมและเพื่อนนักวิชาการหลายคนเป็นห่วงเรื่องการเกี๊ยะเซียะระหว่างฝ่ายอำมาตย์กับพรรคเพื่อไทยนั้นเป็นการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในแง่ที่เลวร้ายที่สุด โอเค พรรคประชาธิปัตย์ยังไงก็ต้องการเป็นหัวหน้าผู้นำรัฐบาลแน่ๆ ถ้าดึงพรรคเพื่อไทยเข้าไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ปัญหาทุกอย่างก็จบ ถ้าเราคิดในเรื่องที่เลวร้ายที่สุดจะได้ทำให้เกิดการระวังตัว


สิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดขณะนี้คืออะไร?


ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดคือ ถ้าพรรคเพื่อไทยไปจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลจริง และพรรคเพื่อไทยไม่ได้ช่วยสะสางคดี 91 ศพ พรรคเพื่อไทยจะอยู่อย่างไรท่ามกลางความคาดหวังของคนเสื้อแดง เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องคิดให้หนักถ้ามีข้อเสนอแบบนี้จากฝ่ายอำมาตย์ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้ ทั้งหมดอยู่ที่ความเข้มแข็งของแกนนำ นปช. ขอย้ำอีกครั้งว่าถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นจริงจะเกิดความขัดแย้งขึ้นทันทีระหว่างพรรคเพื่อไทยกับคนเสื้อแดง อาจส่งผลให้พลังคนเสื้อแดงลดลงระดับหนึ่ง แต่อาจเป็นเรื่องดีที่คนเสื้อแดงจะต้องกลับมาคิดเรื่องการตั้งพรรคการเมืองของตัวเองที่ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยที่อยู่ภายใต้โครงข่ายการเมืองแบบเก่าๆ


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 307 วันที่ 23-29 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 18-19 คอลัมน์ ฟังจากปาก โดย กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข


http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น