วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554



มีหลักฐานอะไรว่าเราเสียดินแดน



ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกุล
 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมมาลัยหุวนันท์ ตึก 3 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการเสวนาทางวิชาการ "รัฐศาสตร์ภาคประชาชน ครั้งที่ 1" เรื่อง "ฝ่าวิกฤตชายแดนไทยเขมร" โดยมี ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัย วิสคอนซิล-เมดิสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา และ รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศษสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.ดร. ธงชัย กล่าวว่า มีด้วยกัน 4 ประเด็นใหญ่ คือ 1. ฐานสาเหตุที่ปะทุขึ้นมาของความสัมพันธ์ระหว่างความคิดและการเสียดินแดน จะเรียกว่าลัทธิความเชื่อก็ได้ "ลัทธิชาตินิยมไทย" แยกไม่ออกตั้งแต่ต้นเรื่องการเสียดินแดน 2. การตีเส้นเขตแดน ความเข้าใจผิดเรื่องเส้นเขตแดน 3. เรื่องกรณีปราสาทเขาพระวิหาร 4. ความขัดแย้งไทย กัมพูชาไม่ใช่เรื่องเส้นเขตแดนทั้งสิ้น แต่เป็นเพราะเรื่องการเมืองไทย

ศ.ดร.ธงชัย กล่าวเปรียบเทียบปัญหามีเรื่องใหญ่มากเหมือนช้างตัวหนึ่งอยู่ในห้องแต่สังคมไทยเรามองไม่เห็น ตราบใดที่เรายังไม่ตระหนักว่ามีช้างอยู่ในห้องก็ไม่รู้ต้องรบกันอีกกี่ร้อยยก เริ่มจากประเด็นเรื่องที่ 1. อุดมการณ์ชาตินิยม เรื่องการเสียดินแดนซึ่งเคยเขียนไปแล้ว แต่ที่คนอ่านไม่รู้เรื่อง อาจจะเพราะว่าขัดกับความเชื่อ 
"เราถูกสอนมาตลอดว่า เราเสียดินแดน แต่ผมมาบอกว่า เราไม่เสียดินแดน แต่เคยมีสักคนถามไหมว่า มีหลักฐานอะไรว่าเราเสียดินแดน เพราะเราเสียดินแดนตั้งแต่ก่อนมีคนไทยอีก ก่อนมีประเทศไทยอีก ความคิดเรื่องการเสียดินแดนมีหลายประเทศในเอเชีย ชาตินิยมหลายประเทศในเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อรูปก่อร่างออกมาโดยมีลัทธิความเชื่อ ที่พูดถึงการถูกทำให้ละอาย อย่างแสนสาหัส เขาต้องประกาศว่าตัวเองถูกรังแกให้น่าละอาย แต่ถูกรังแกบ่อยเหลือเกิน ทั้ง จีน เกาหลี ไม่ใช่เพื่อประจานตัวเอง แต่เพื่อปลุกเร้าชาตินิยม ในการเสียดินแดน ประเทศไทยมีความภาคภูมิใจว่าไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่อีกด้านหนึ่งที่เราบอกว่าตัวเองเสียดินแดน"
ศ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นความเชื่อ จึงยากมากที่จะสลัดความเชื่อออกไปได้ ความเป็นไทยและชาตินิยมไทย ถือกำเนิดมาพร้อมกับการถูกคุกคาม แยกกันไม่ออก มา 100 กว่าปี กำเนิดมาด้วยกันกับลัทธิเสียดินแดนค้ำจุ้นความเป็นไทยไว้ ความภูมิใจของการไม่เป็นเมืองขึ้นถูกปลุกมาพร้อมกับความเจ็บปวดเรื่องเสีย ดินแดน ในยุโรปก็ประมาณ 200 ปี เริ่มมีเรื่องความขัดแย้ง เรื่องอธิปไตยเหนือดินแดน มีการเสียดินแดน ที่เสียมาได้ไปอยู่อย่างนี้
"รัฐสมัยโบราณ เป็นรัฐแบบเจ้าพ่อ ไม่ได้ตายตัวแบบอธิปไตยเหนือดินแดน เหมือนเราเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1ที่ 2 ไม่ได้หมายความว่าเราเสียดินแดน หรือการเป็นเมืองขึ้น หรืออย่างกรณีพระนเรศวรประกาศอิสรภาพก็ไม่ได้หมายความอย่างนั้น สมัยที่พระนเรศวรเข้มแข็งเพราะทางพม่าอ่อนแอลง จากเอกสารเก่าพระนเรศวรไม่เคยประกาศอิสรภาพ แต่ประกาศแยกตัวออกมาจากพม่า เพราะการประกาศอิสรภาพหมายถึงเราต้องใหญ่เป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาค"
ศ.ดร.ธงชัย กล่าวอีกว่า ระบบเมืองขึ้นสยามในสมัยนั้นขึ้นต่อเมืองอื่นเกินสองแห่งทั้งนั้น ขอถามว่ามีเมืองขึ้นใดบ้างที่จ่ายเครื่องบรรณาการ ต่อเมืองสยามเพียงแห่งเดียวซึ่งไม่มีเลย เราเชื่อแผนที่สุโขทัย เชื่อแผนที่ว่า ร.1 มีพื้นที่ใหญ่เท่านั้นเท่านี้ การเสียดินแดน 14 ครั้ง อาศัยแผนที่ทางประวัติศาสตร์ ไม่น่าเชื่อถือเลย เพราะถูกสร้างขึ้นมา แม้จะรู้เป็นอย่างดีว่าประเทศเหล่านั้นไม่ได้ขึ้นต่อประเทศสยามแต่เพียงผู้ เดียว
"นอกจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม.แล้ว มีพื้นที่ซ้อนทับเต็มไปหมด เพราะเราคิดว่า เป็นที่ของเรา การเสียดินแดน 14 ครั้ง เป็นความเชื่อแบบผิดๆ ร้อยปีก็เปลี่ยนไม่ได้ ถ้าอยากเชื่ออย่างนั้นว่าคนไทยมาจากไหน ถูกจีนไล่มา เราเสียดินแดนมองโกเลียในแถบเขาอัลไต ถูกไล่มาเรื่อย ๆ เราเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ไร้สาระ ลัทธิการเสียดินแดน เป็นความเชื่อในประวัติศาสตร์ที่ผิดๆ ลัทธิชาตินิยม สร้างความเจ็บปวด จากการเสียดินแดน ทั้งหมดเป็นลัทธิความเชื่อ ที่ไม่มีมูลทางประวัติศาสตร์ ยากเหลือเกินที่จะทำให้คนเชื่อว่าเป็นลัทธิไร้สาระได้"
ศ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า หลักฐานความทรงจำของสงครามอินโดจีนที่ไทยบุกไปยึดดินแดนของกัมพูชา ที่สำคัญ คือ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่ในการจัดงานแต่ละครั้งไม่มีการรำลึกถึงทหารที่ไปรบในสงครามอินโดจีน แต่เป็นอนุสาวรีย์ที่ใช้กับอะไรก็ได้ เพราะใช้ในการรำลึกทหารผ่านศึก เพื่อลบความทรงจำในการต่อสู้ที่อินโดจีน

ศ.ดร.ธงชัย กล่าวถึงประเด็นต่อมา เรื่องเส้นเขตแดน คือ มรดกยุคอาณานิคม ใครก็แล้วแต่ ที่บอกว่าอย่าไปเชื่อเส้นเขตแดนยุคอาณานิคม เพราะชาติไทยทั้งชาติเป็นมรดกยุคอาณานิคมที่มีเส้นเขตแดนมากมายรอบประเทศไทย ในปัจจุบัน แล้วทำไมจะไม่ยอมรับแค่เส้นเขตแดนเขาพระวิหาร หากจะรบกันสามารถรบได้ทุกจุดรอบประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทย หากจะรู้ว่ารบตรงไหนจะชี้ให้ว่ารบตรงไหนบ้าง หากจะใช้วิธีอย่างปัจจุบัน รบรอบประเทศไทยเลย เพราะว่าพรมแดนที่ยุคอาณานิคมทิ้งไว้เข้ากันไม่ได้กับรัฐยุคโบราณ และเส้นเขตแดนตัดกลางชุมชนที่เป็นวัฒนธรรมเดียวกัน พวกเขาจึงต้องข้ามไปหากัน เส้นเขตแดนสันปันน้ำ สภาพทางภูมิศาสตร์เปลี่ยนแปลง ร่องน้ำลึกเปลี่ยนไปสันปันน้ำก็เปลี่ยนได้ พรมแดนธรรมชาติเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นสันปันน้ำที่อยู่ในสนธิสัญญาจึงไม่ใช่เส้นเขตแดน

"เขตแดนจึงเป็นเรื่องเทคนิคอยากรบ รบได้รอบประเทศไทย ถ้าหากไม่อยากรบ เป็นเรื่องของเทคนิคปล่อยให้เจ้าหน้าที่เทคนิคจัดการแล้วปล่อยให้รัฐบาลที่ มีความสัมพันธ์ดีต่อกัน จัดการไม่ดีกว่าหรือ เพราะมันตกลงกันไม่ได้ แต่ถ้าใครไปยื้อให้รบกันตาย" ศ.ดร.ธงชัย กล่าว

ศ.ดร.ธงชัย กล่าวต่อว่า เรื่องพรมแดนธรรมชาติมีปัญหาอยู่จริง แต่ยังมีพรมแดนที่มนุษย์สร้างกันเองเป็นปัญหา อย่างเรื่องพรมแดนเขาพระวิหารเป็นหน้าผา และมีคลองบ้าง ส่วนใหญ่เป็นทุ่งโล่ง หมายความว่า การข้ามเขตรู้บ้างไม่รู้บ้างมีเป็นประจำ หลักเขตที่ปักไว้โบราณจริงๆ ยกออกได้ง่ายลักษณะเหมือนหลักกิโล ช่วงอรัญประเทศ เพราะว่ารัฐไทยเคยใช้ให้เป็นทางผ่านที่เขมรแดงใช้รบหลบเข้ามาในประเทศไทย มีอยู่ช่วงหนึ่งที่แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะว่าทุ่นระเบิดเต็มไปหมด เฉพาะทหารเท่านั้นที่ผ่านไปได้ การแก้ปัญหาหลักเขต จะไปแก้ปัญหาเหล่านั้นแก้ได้ยาก กว่าจะไปแก้ได้คงอีกนาน พรมแดนที่มีการวางทุ่นระเบิดประมาณสามล้านลูก ในชายแดนไทยเขมร ซึ่งเป็นทุนระเบิดสารพัดประเทศที่หาคนกู้ได้ยากมาก

"คิดว่าจะเกิดอะไรกับภาษาไทยถ้าคืนคำว่า "ก็" ให้เขมร คงเกิดความโกลาหลกับประเทศไทยเราคงพูดไม่ออกไปอีกเยอะเลย เพราะภาษาไทยไม่มี "ไม้ไต่คู้" หรอก"

ศ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า ปัญหาพรมแดนเกิดจากเรื่องมากมายที่น่าสนใจ รากของปัญหา คือ การเมืองไทย หากความสัมพันธ์ไทยกับเพื่อนบ้านก็เกิดความสัมพันธ์ที่ดี เหมือนไทยกับมาเลเซียเป็นพรมแดนที่สั้่นที่สุด แต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้ แต่พัฒนาเป็นเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม ส่วนรากของปัญหาไทยที่ขัดแย้งกับกัมพูชา คือ การเมืองไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนัก
"จึงขอฝากช่วยกันคิดหน่อยว่า ถึงวันนี้ในความเห็นผม คิดว่าเวลาผ่านไปมองย้อนหลัง เราน่าจะเข้าใจวิกฤตได้ดีกว่าเดิม หลังผ่านวิกฤตฝุ่นตลบ ปัญหาชายแดนไทยเขมรเป็นโรคที่เกิดจากอะไร ในความเห็นของผม คือ เป็นโรคที่เกิดจากสอง ปัจจัยเศรษฐกิจ สังคม และชนบทเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่ชนชั้นนำไทย ไม่เข้าใจในการเปลี่ยนแปลงนี้ เมื่อระบบเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยน การเมืองก็ต้องเปลี่ยน ต้องปรับให้สอดคล้องกับกล่มชนชั้นเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ในการเปลี่ยนแปลงนั้น เขาได้รู้ว่าระบบการเลือกตั้งที่คนกรุงรังเกียจหนักหนา แต่สำหรับเขามีประโยชน์มาก การจะไปแสวงหาการเลือกตั้งที่ใสสะอาดไม่มีทาง หากเรายอมรับว่าระบบการเลือกตั้งไม่ได้สมบูรณ์ที่สุด แต่เอื้อสะท้อนผลประโยชน์ ที่นำมาแลกกันแล้วตกลงด้วยสันติ แค่นั้นเอง เศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนไปแล้ว แต่ระบบประชาธิปไตยที่กำลังเคลื่อนไปก็ถูกสกัดอย่างแรง

"ระบบการเมืองถูกทำลายเพราะกลัวว่าฝ่ายการเมืองจะขึ้นมาเป็นผู้มีบทบาทในการคัดเลือกบุคคลขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญสูงสุดในช่วงเปลี่ยนผ่านเรื่องนี้มีทางออกทางเดียวเท่านั้น คือ ปรับระบบการเมือง การแก้ปัญหาต้องประนีประนอม ปล่อยตัวแกนนำเสื้อแดง เพื่อเปิดประตูที่จะนำไปสู่เรื่องความอึดอัดให้มาอยู่ในกรอบ และยกเลิกกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมทั้งคณะกรรมการปฏิรูป 600 ล้าน ที่แตะทุกเรื่องยกเว้นเรื่องที่ควรจะแตะ" ที่มา

http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น