วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554


ทางออกวิกฤตกองทัพ-ไพร่-อำมาตย์?

               รายงาน(วันสุข)
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 6 ฉบับที่ 312 ประจำวัน จันทร์ ที่ 30 พฤษภาคม 2011
           http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10883
         เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดการสนทนาแบบเปิดและการประชุมนโยบายโต๊ะกลมครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “สัญญาทางสังคมใหม่ : ทางออกของวิกฤตการเปลี่ยนแปลง” (First International Conference on International Relations, Human Rights and Development) มีผู้ร่วมสนทนาได้แก่ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศ.ดร.ดันแคน แมคคาร์โก ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ซึ่งหลายประเด็นเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมทางการเมือง บทบาทของกองทัพไทย ความชอบธรรมทางการเมือง สถาบันตุลาการ และการสังหารประชาชน ซึ่ง “เว็บไซต์ประชาไท” นำมาเรียบเรียงดังนี้

ดร.เกษียรกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า คือการเปลี่ยนแปลงที่จะเปลี่ยนวิธีคิดแบบเก่า ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมาคล้ายๆกับมีอะไรเกิดขึ้นมากมาย มีการสะสมการเปลี่ยนแปลงทางปริมาณและทางคุณภาพ พอสะสมมาจุดหนึ่งก็เกิดการระเบิดเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่โต โดยมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ 3 ประการ ได้แก่ 1.มีการเปลี่ยนย้ายที่ตั้งของอำนาจ (Power shift) 2.มีการขยับเปลี่ยนจากการเมืองของชนชั้นนำ (Elite politics) สู่การเมืองภาคมวลชน (Mass politics) 3.มีนโยบายกระจายความมั่งคั่งเกิดขึ้น


ทั้งหมดนี้คือทิศทางทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น การเปลี่ยนทางปริมาณเราค่อนข้างเห็นได้ชัด เป็นเรื่องวิธีการต่อสู้ทางการเมืองโดยมีมวลชนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก อีกทั้งในกระบวนการต่อสู้นั้นมีการใช้รัฐธรรมนูญและมีความพยายามใช้อำนาจของสถาบันที่นอกเหนือจากการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญ โดย 1.อีลิตที่ต้องการรักษาระเบียบเก่า พึ่งอีลิตด้วยกันไม่ได้ต้องพึ่งมวลชน 2.เพื่อรักษาระเบียบเก่าต้องมีการรัฐประหาร ตลอดจนการรักษาระเบียบใหม่ 3.ทั้งสองฝ่ายพยายามดึงสถาบันมาใช้เพื่อความชอบธรรมทางการเมืองของฝ่ายตน


ดร.เกษียรเสนอว่า สิ่งที่สังคมไทยต้องการตอนนี้คือ 



1.รัฐธรรมนูญวัฒนธรรมฉบับใหม่ ฉบับเก่าเป็นการเมืองของอีลิต ซึ่งไม่เคยเตรียมพร้อมกับการที่มวลชนจะกระโดดเข้ามาเล่นการเมืองภาพใหญ่ ดังนั้น ต้องทำให้การเมืองภาคมวลชนมีความศิวิไลซ์ ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถออกจากกับดักได้

“ข้อคิดสำหรับรัฐธรรมนูญวัฒนธรรมฉบับใหม่คือ เราต้องยอมรับกระบวนการโลกาภิวัตน์ของความขัดแย้ง (Globalization of conflict) ให้ได้ คนไทยมีแต่รักใคร่กลมเกลียว รักกันนะ เราต้องทำให้การทะเลาะเป็นเรื่องปรกติธรรมดา ถกเถียงพูดคุยกันได้ แต่ไม่นำไปสู่ความรุนแรง สิวเป็นเรื่องธรรมชาติ conflict ก็เป็นเรื่องธรรมชาติ!”


2.ลดเป้าหมายการเมืองสุดโต่ง การตกอยู่ภายใต้เป้าหมายการเมืองสุดโต่งแล้วปฏิเสธเป้าหมายอื่นทั้งหมดเป็นเรื่องที่น่ากลัว 3.ต้องมีจริยธรรม การโกหก การใส่ร้ายป้ายสี การกล่าวหา การด่าทอ ฯลฯ ไม่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ดีได้ ถามว่าผ่านไป 4-5 ปี คนไทยรู้รักสามัคคีขึ้นไหม สถาบันมั่นคงขึ้นไหม เราต้องคิดว่าวิธีการนั้นสำคัญกว่าเป้าหมาย 4.ต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากเราไม่เข้าใจคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างก็จะไม่สามารถทำให้มวลชนมีความศิวิไลซ์ได้ และไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีได้


สถาบันกองทัพ-ตุลาการ


ศ.ดร.ผาสุกกล่าวว่า กระบวนการที่จะทำให้เกิดการตกลงกันได้ต้องทำให้มีสัญญาสังคมอันใหม่ โดยต้องพูดถึง actor สำคัญที่ปรับตัวไม่ทัน เพราะวิกฤตของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง มีกระบวนการพลิกผันตัวเองอย่างหน้ามือเป็นหลังมือภายในระยะเวลาหนึ่งชั่วอายุคนหรือ 30 ปี เป็นภาวะที่คาดการณ์ได้ว่ายุ่งยากมาก รวดเร็วมาก จนกระทั่งกลับตัวไม่ทัน


“ในการเปลี่ยนแปลงแบบม้วนตัวเองนี้ สถาบันต่างๆที่มีอายุยืนยาวมามากกว่า 100-200 ปี และได้รุ่งเรืองขึ้นมาหลังสงครามเย็นนี้เองจนกลายเป็นสถาบันที่แน่นหนามาก และอาจทำให้กลายเป็นสถาบันที่ปิดกั้นการตกลงใหม่ที่ไม่มีความรุนแรง ดิฉันพูดถึงกองทัพไทย”


นอกจากนั้นยังมีอีกสถาบันหนึ่งที่มีความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่การตกลงกันใหม่คือ สถาบันตุลาการ เพราะในระยะเวลาที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาก แต่ไม่เป็นไปในทิศทางที่ดี สถาบันตุลาการเป็นสถาบันที่กุมอำนาจ มีความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงได้ จนถูกวิจารณ์ว่าสถาบันนี้ดูเหมือนไม่มีหลักที่ประชาชนเชื่อถือได้ และมีหลักการที่จะปกป้องผลประโยชน์ของมวลชน ถ้าเราไม่มีระบบสถาบันตุลาการที่ให้ความคุ้มครองประชาชนแล้วจะมาตกลงอะไรกันได้


บทบาทกองทัพมากดีหรือไม่?


วิกฤตการเมืองไทยขณะนี้มีความยุ่งยากมาก เพราะมีปฏิกิริยาของสองฝ่ายซึ่งกำลังงัดข้อกันอยู่ มีความจำเป็นที่สองฝ่ายนี้จะต้องมีการเจรจาเพื่อหากรอบข้อตกลงร่วมกัน ฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายที่ต้องการรักษาระเบียบเก่า หรือหากเกิดการเปลี่ยนแปลงก็ขอให้เปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ กับอีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงโดยทันที มาถึงจุดที่จะต้องข้ามพ้นสะพานนี้ คลองนี้ให้ได้ รออีกไม่ได้แล้ว


ความยุ่งยากที่เกิดขึ้นเพราะปฏิกิริยาของพวกที่ต้องการระเบียบเก่าสามารถอ้างอิงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีอำนาจด้านกายภาพจากฝ่ายกองทัพ บวกกับแรงสนับสนุนของสังคมและชนชั้นกลางบางส่วน ยุทธศาสตร์หนึ่งของฝ่ายนี้คือ ทำให้ฝ่ายที่จะสร้างระเบียบใหม่ดูประหนึ่งว่าไร้ความชอบธรรม เช่น มีวาทกรรมไร้การศึกษา ถูกซื้อได้ง่าย คิดเองไม่เป็น


ทั้งที่มีงานเชิงประจักษ์หลายชิ้นของหลายคนที่ชี้ให้เห็นว่าประชาชนต่างจังหวัดมีความตื่นรู้ทางการเมืองอย่างเป็นระบบ สามารถคิดเอง ทำเอง และหาทางเข้าสู่ข้อมูลข่าวสารด้วยตนเองได้ ทั้งยังมีนักวิชาการญี่ปุ่นท่านหนึ่งที่ศึกษาประวัติศาสตร์และการเมืองในเมืองไทยสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า


“ความยุ่งเหยิงทางการเมืองในปัจจุบันเป็นขั้นตอนหนึ่งของพัฒนาการประชาธิปไตยของสังคมไทย ประเทศไทยกำลังประสบกับความเจ็บปวดของการเกิดใหม่ เมื่อระบบการเมืองไทยพร้อมที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า แต่การที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าก็ต้องมีการยอมรับว่าคนไทยได้เปลี่ยนไปแล้วจากทั้งสองฝั่ง และทั้งสองฝั่งที่ขัดแย้งกันต้องพร้อมที่จะเสวนากัน มาพูดคุยกัน และการพูดคุยกันนั้นอาจต้องมีการแลกหมูแลกแมว แปลได้ว่าจะต้องมีการสูญเสียของทั้งสองกลุ่มด้วย ต้องมีการแลกหมูแลกแมว ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลา”


ศ.ดร.ผาสุกในฐานะประชาชนคนหนึ่งจึงอยากแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันหนึ่งที่น่าจะมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้กระบวนการเจรจาเป็นไปในแนวทางที่สร้างสรรค์มากขึ้น หรือมีการพูดจาถกเถียงกันมากขึ้นหากสถาบันนี้มีการปรับเปลี่ยน นั่นคือสถาบันกองทัพไทย เพราะนับจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 กองทัพไทยได้ขยายบทบาทในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง จนเป็นที่กล่าวขานกันว่า “หากรัฐบาลใดที่ได้รับการเลือกตั้งแต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากทหารก็จะอยู่ไม่ได้”


แต่ยังไม่มีการตั้งคำถามว่าหากทหารมีบทบาทมากเช่นนั้นดีหรือไม่ดี และแนวโน้มในอนาคตจะเป็นอย่างไร?


ผู้นำกองทัพสวมหมวกหลายใบ?


สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมว่าสถาบันทหารมีการขยายบทบาทสูงมากนั่นคือ 



1.งบประมาณกระทรวงกลาโหมได้เพิ่มขึ้นในปี 2550-2552 ถ้าเปรียบเทียบงบประมาณระหว่างประเทศ พบว่ากระทรวงกลาโหมของสหรัฐ 4.3% ของจีดีพี ของไทย 1.8% ของจีดีพี เกือบครึ่งหนึ่งของสหรัฐ มากกว่าเยอรมนีที่เป็นพี่ใหญ่ของอียูที่ใช้ 1.3% ของจีดีพี อินโดนีเซีย 1% ของจีดีพี ญี่ปุ่น 0.9% ของจีดีพี จีน 2% ของจีดีพี และถ้าหากดูสัดส่วนทหารต่อประชาชน สหรัฐ 79 คนต่อประชาชน 1,000 คน ญี่ปุ่น 2.2 คนต่อประชาชน 1,000 คน ของไทย 10 ต่อ 1,000 คน อันนี้รวมทหารนอกประจำการด้วย

2.มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลัง พ.ศ. 2549 คือการแต่งตั้งโยกย้าย ก่อนรัฐประหารนั้นโผทหารจะถูกพิจารณาโดยนายกรัฐมนตรีก่อนเสนอให้ทรงลงพระปรมาภิไธย นับจากปี 2551 มีการแก้ไขให้โผทหารประจำปีอยู่ในกำกับของกองทัพแทบจะสิ้นเชิง โดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาในการตั้งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ คณะกรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม ฯลฯ


3.บทบาทของผู้นำฝ่ายทหารของไทยมีหลายบทบาท มีหมวกหลายใบ มีการตั้งข้อสังเกตว่าภายใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการออกมาแสดงความคิดเห็นของฝ่ายทหารชั้นผู้ใหญ่ต่อสื่อบ่อยมาก เช่น ผบ.ทบ. เสนอว่ารัฐบาลควรมีนโยบายต่างประเทศกับกัมพูชาอย่างไร ทั้งยังมีการออกมาพูดทำนองว่าให้ออกมาเลือกตั้งมากๆ เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ จริงๆแล้วเป็นผลดีที่ชักชวนให้คนออกมาเลือกตั้ง แต่ก็มีการออกคำสั่งให้ปิดเว็บไซต์มากขึ้น เว็บไซต์ที่มีความเกี่ยวโยงกับความมั่นคงของประเทศ ซึ่งนิยามของคำว่า “ความมั่นคง” อาจไม่ใช่นิยามที่คนทั่วไปต้องการ


ศ.ดร.ผาสุกให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมามีรายงานว่า ผบ.ทบ. ในฐานะผู้อำนวยการ กอ.รมน. เสนอให้ กอ.รมน. มีลักษณะเป็นกระทรวงเพื่อดูแลความมั่นคงภายในเหมือนกับของสหรัฐหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งรัฐบาลสหรัฐกำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก มีการใช้อำนาจมืดในการปิดเว็บไซต์ การแสวงหาข้อมูลจนเกินเลย ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการรักษาความมั่นคงภายในของสหรัฐเพื่อต่อต้านขบวนการก่อการร้าย และยังใช้อำนาจจับกุมผู้ต้องสงสัยและทำทารุณกรรมกับชาวต่างประเทศ เป็นสิ่งที่ไม่คิดว่าจะเป็นการกระทำของประเทศที่ได้ชื่อว่ามีเสรีนิยมและสิทธิมนุษยชนมากอย่างสหรัฐ


ในรายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า ผบ.ทบ. ต้องการขยายขอบข่ายงานของ กอ.รมน. เพื่อจัดการกับกรณีที่ประเทศไทยถูกคุกคาม อีกทั้งกฎกระทรวงใหม่ยังให้อำนาจในการดูแลปัญหาภัยพิบัติจากธรรมชาติ ปัญหาภาคใต้ และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ต้องจัดตั้งงบประมาณใหม่หากมีการตั้งกระทรวงขึ้นมา


ในรายงานบอกอีกว่า ผบ.ทบ. ได้เสนอความคิดนี้ต่อนายกฯอภิสิทธิ์แล้ว ซึ่งนายกฯก็เห็นด้วย ผบ.ทบ. จึงสั่งการให้มีคณะกรรมการเพื่อศึกษาวางแผนที่จะเสนอการตั้งกรมใหม่ให้แก่รัฐบาลต่อไป ขณะที่ กอ.รมน. ถูกวิจารณ์ว่ากำลังใช้อิทธิพลต่อการเลือกตั้งครั้งใหม่ด้วยการส่งทหารไปทำด้านการพัฒนาให้ความรู้ประชาชนทั่วประเทศ แต่ กอ.รมน. ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ


“สถาบันกองทัพไทยเป็นองค์ประกอบสำคัญของฝั่งปฏิกิริยาของผู้ที่ต้องการรักษาระเบียบเก่า และเป็นองค์ประกอบอันหนึ่งของความยุ่งยากในทางการเมือง เคยมีการพูดถึงการปฏิรูปสถาบันทหารให้มีขนาดกะทัดรัดแต่มีประสิทธิภาพ ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงสิ่งเหล่านี้แล้ว กลายเป็นว่ากองทัพกำลังเพิ่มบทบาท โดยเฉพาะจากการรัฐประหาร 2549 ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องมีการพูดคุยกันว่าการขยายตัวของกองทัพเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี มีผลกระทบอย่างไร และแนวโน้มเป็นอย่างไร ถ้าเราต้องการหาทางออกให้กับประเทศ เราจะต้องเสวนาพูดคุยกันในเรื่องนี้” ศ.ดร.ผาสุกกล่าวปิดท้าย


ความชอบธรรม “ไพร่-อำมาตย์”?


ศ.ดร.แมคคาร์โกกล่าวถึงวิกฤตแหล่งที่มาของความชอบธรรมทางการเมืองว่ามี 3 แหล่งคือ 1.ความชอบธรรมจากกติกาใหญ่สุดของสังคมคือรัฐธรรมนูญ มีความเชื่อกันว่าหากมีกฎเกณฑ์สังคมดีพร้อมก็จะสามารถแก้ปัญหาต่างๆได้ง่าย 2.ความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง ภายหลัง ค.ศ. 2000 เมื่อเกิดระบอบทักษิณก็มีแหล่งความชอบธรรมอีกแหล่งเกิดขึ้น นั่นคือความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง เป็นความท้าทายต่อความชอบธรรมจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากผู้ใดได้รับการเลือกตั้งก็จะมีความชอบธรรม แม้จะคอร์รัปชันก็ตาม และ 3.ค่านิยมดั้งเดิมของคนไทยคือความชอบธรรมจากนักปกครองที่ดี นั่นคือพระมหากษัตริย์ ถือเป็นความนิยมอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ


ศ.ดร.แมคคาร์โกคิดว่าประเทศไทยยากที่จะมีเสถียรภาพทางการเมือง เพราะรัฐไม่มีฐานอะไรที่เป็นที่ยอมรับ การปกครองโดยคนดีมีคนท้าทายเยอะ อย่างที่ ศ.ดร.ผาสุกบอก แนวคิดเรื่องความชอบธรรมจากผู้ปกครองที่ดีเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯเชื่อเรื่องความดีของผู้นำมากกว่าคนต่างจังหวัด แนวคิดความชอบธรรมที่มาจากการเลือกตั้งเป็นแนวคิดที่มาจากกลุ่มคนที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เป็นแนวคิดที่สนับสนุนความชอบธรรมที่ต่างกัน เลยเกิดความไม่ไว้วางใจในการเลือกตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณไม่ไว้ใจคนอื่นให้มาเป็นหัวหน้าพรรค เลยให้น้องสาวคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นผู้นำในพรรคเพื่อไทยแทน


เมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างและเชิงโครงสร้างใน ค.ศ. 2010 คนเสื้อแดงเกิดขึ้นจำนวนมาก คนที่มาร่วมชุมนุมส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางระดับล่าง การศึกษาไม่สูงมาก ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน แทบไม่มีข้าราชการหรือมีน้อย อาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เคยกล่าวไว้ว่ามีการแตกแยกกันระหว่างเขตเมืองกับต่างจังหวัด แต่คิดว่าไม่ถึงขั้นนั้น เพราะฝ่ายที่อยู่ในเมืองก็เป็นคนต่างจังหวัดมากเหมือนกัน


เวลานี้คนต่างจังหวัดเริ่มมีความกว้างขวางของแนวคิดเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านได้เข้ามาอยู่ในระบบตลาดแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณให้อะไรกับเขาหลายอย่าง ทำให้เขาเคารพและสนใจในอำนาจเก่าน้อยลง ทำให้เขารู้สึกมีเกียรติ ไม่รู้สึกถูกกดขี่เหยียดหยาม สิ่งที่เกิดขึ้นปีก่อนบ่งบอกว่าประเทศไทยเปลี่ยนแปลงมาก มีการถกเถียงกันในหมู่เสื้อแดงเรื่องอำมาตย์กับไพร่ มีการวิเคราะห์กันอย่างละเอียดถึงความต้องการของผู้ชุมนุม คือความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของนายทุนแต่ไม่ต้องการล้มระบบ


เสื้อแดงมีเสียงสนับสนุนมากในภาคเหนือและอีสาน เขาได้ไปทำงานที่ 3 จังหวัดภาคใต้ วิกฤตด้านความชอบธรรมของคนทางใต้นั้นมีความรู้สึกว่าเหมือนถูกล่าเมืองขึ้นจากส่วนกลาง ไทยเสียพื้นที่ให้ต่างชาติหลายครั้ง ทำให้คนไทยส่วนกลางเกิดความไม่มั่นใจขึ้นมา ตัวคนที่อยู่ในพื้นที่ทางใต้เองก็คิดว่ามาอยู่ผิดที่หรือไม่


ความขัดแย้งที่มีสีเสื้อมาแบ่งจึงไม่ดีเลย เพราะเป็นความขัดแย้งเชิงภูมิภาค ไม่ใช่เชิงอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว อีสานมีอัตลักษณ์ของเขา มีความภูมิใจมานาน ในช่วง ค.ศ. 1950 มีความรู้สึกแปลกแยกออกจากรัฐไทย มีการต่อสู้ของคอมมิวนิสต์ มีการคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการปกครองของรัฐบาลกลาง เนื่องจากรัฐบาลกลางเข้าไปล่าเมืองขึ้นที่อีสาน นี่คือสิ่งที่อธิบายว่าทำไม พ.ต.ท.ทักษิณถึงดัง เพราะเขาไม่ได้เข้าไปเหมือนล่าเมืองขึ้น


“ลักษณะการล่าเมืองขึ้นจากส่วนกลาง จนถึงเวลานี้ก็ยังไม่เปลี่ยน มีแต่การเปลี่ยนรูปแบบใหม่เฉยๆ ไม่ได้มีการกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเมือง ผมรู้สึกอย่างนั้น...ผมมาจากอังกฤษตอนเหนือที่มีเรื่องราวลักษณะนี้เหมือนกัน มีอะไรก็พูดกันอย่างตรงไปตรงมา ขวานผ่าซาก ผมมีความเชื่อว่าสำหรับประเทศไทยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนใหม่ เพื่อที่ประเทศไทยจะได้รับความชอบธรรมอย่างแท้จริง ภาคใต้ต้องมีการปกครองที่เป็นเอกเทศมากขึ้น เพราะที่บ้านผมก็มีปัญหาเหมือนกัน ฉะนั้นผมอยากบอกว่าหากคุณอยากจะมีรัฐเดี่ยวในศตวรรษที่ 21 ควรที่จะให้มีการขยายคำจำกัดความของรัฐเดี่ยวให้ยืดหยุ่นมากกว่านี้ ความตึงเครียดก็จะลดลง โดยใช้แนวนโยบายที่ผ่อนคลาย และควรทำอย่างเร่งด่วนด้วย”


สัญญาประชาคม?


ด้าน ศ.ดร.ชัยวัฒน์ได้ย้อนวันครบรอบ 1 ปีที่รัฐบาลใช้กำลังปราบคนเสื้อแดงจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ เกิดความรุนแรงอีกครั้งใจกลางกรุงเทพฯ สิ่งที่น่าสนใจคือญาติของเหยื่อเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ก็ยังตามหาญาติที่หายไป ที่จนบัดนี้ยังไม่เจอมา 19 ปีแล้ว


“ผมเชื่อว่าผู้ที่นั่งฟังอยู่ตรงนี้เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญการเมืองการปกครองไทยทั้งนั้น แต่ถ้าจะให้ผมสอนการเมืองไทย ผมสอนไม่ได้ ไม่อาจเอื้อม ไม่กล้าสอน ผมไม่เข้าใจ มันยุ่งเหยิง ให้สอนการเมืองอังกฤษเสียจะดีกว่า”


ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวว่า การคิดถึงสัญญาประชาคมใหม่ภายใต้สภาพแวดล้อมปัจจุบัน ทำให้หวนกลับไปพิจารณาว่าอะไรคือฐานของทฤษฎีสัญญาประชาคมในปรัชญาการเมืองยุคใหม่ พื้นฐานของสัญญาประชาคมคือความไว้วางใจ และเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ต้นทฤษฎีสัญญาประชาคมในศตวรรษที่ 17 ความไว้วางใจยังมีลักษณะเป็นปัจเจกบุคคลและเป็นรากฐานของสังคมประชาธิปไตยที่ทำงานได้ แต่ในสังคมไทยได้เกิดความรุนแรงในระยะเวลาที่ผ่านมา จึงจำเป็นต้องรื้อฟื้นความไว้วางใจขึ้นมาอย่างยิ่ง คำถามสำคัญที่ต้องถามคือ เราจะฟื้นความไว้วางใจได้อย่างไรหลังจากที่มันแตกไปแล้ว


ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวถึงข้อถกเถียง 5 ข้อคือ 



1.เมื่อย้อนกลับไปดูสัญญาประชาคมหรือกำเนิดของสังคมการเมืองมักจะอธิบายว่าเกิดจากสิ่งที่เรียกว่าสภาพธรรมชาติที่มนุษย์เห็นคนอื่นเป็นศัตรู ทุกคนพร้อมที่จะแย่งชิงทำร้ายกันทุกอย่าง แต่แล้ววันหนึ่งมนุษย์ในสภาพธรรมชาติตัดสินใจว่าอยู่แบบนี้ไม่ได้ เกิดการตกลงทำสัญญาประชาคมพร้อมกัน วางอาวุธพร้อมกัน การจะทำแบบนี้ได้ต้องเกิดจากการไว้ใจกัน ในที่สุดเราละวางบางอย่างในสภาพธรรมชาติพร้อมกัน แล้วเดินเข้าสู่สังคมการเมือง เกิดสัญญาประชาคมในทางปรัชญาการเมือง

2.Trust หรือความไว้วางใจ เป็นฐานของชีวิตปรกติ ไม่ว่ามนุษย์จะเดินทางไปไหน เช่น การซื้อตั๋วรถก็ต้องมีความไว้วางใจว่าเราจะต้องได้เดินทาง รถต้องออกตรงเวลา ฯลฯ เรียนหนังสือก็ต้องมี trust ระหว่างอาจารย์กับศิษย์ คนรับทุนกับคนให้ทุน เป็นต้น


3.มีนักวิชาการต่างชาติคนหนึ่งกล่าวว่า สิ่งที่ทำให้สังคมประชาธิปไตยทำงานได้คือ Trust Network หรือเครือข่ายความไว้วางใจ และเครือข่ายนี้ก่อให้เกิดกลุ่มคนต่างๆ เช่น กลุ่มสมาคมนักเรียนเก่า สมาคมศาสนา สมาคมกีฬา เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าของพวกนี้เป็นฐานสำคัญของสังคม


4.อีกประเด็นหนึ่งคือ อภัยวิถี มีนักปรัชญาเยอรมันอธิบายไว้ว่าชีวิตมนุษย์มีปัญหา 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือปัญหาของอดีต ทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วหวนคืนไม่ได้ ด้านหนึ่งคือปัญหาของอนาคต ทุกอย่างที่จะเกิดล้วนไม่แน่นอน การที่มนุษย์จะอยู่กับอดีตที่หวนคืนมาไม่ได้ต้องอาศัยการให้อภัย แต่สำหรับอนาคตคือสัญญา ซึ่งสัญญาจะเกิดขึ้นได้ถ้ามีความไว้วางใจ กล่าวได้ว่า Trust เป็นฐานของชีวิตมนุษย์ในการเดินต่อในอนาคต และ 



5.จะทำอย่างไรเมื่อ Trust หักพังไปแล้ว?

“ในชีวิตครอบครัว หากใครดูดอกส้มสีทอง ภรรยาซึ่งสามีไปมีชู้อาจยกโทษให้ได้ แต่ไม่สามารถกลับไปมีความสัมพันธ์แบบเดิมได้เพราะ trust หายไป แล้วจะฟื้นมันอย่างไร บอกได้เลยว่าโคตรยาก”


ในทางการเมืองเวลาพูดถึงสถาบันตุลาการ ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อมีการเรียกร้องเรื่องสองมาตรฐานอยู่เต็มเมือง ความไว้วางใจต่อสถาบันที่ให้ความยุติธรรมนั้นหายไป โอกาสที่จะจัดการกับความขัดแย้ง โอกาสที่จะจัดการกับอดีตจึงเป็นเรื่องที่ยาก ครั้งหนึ่งที่เคยทำอะไรได้นับวันจะทำอะไรได้น้อยลง แก้ปัญหาได้น้อยลง คุ้มครองป้องกันสังคมได้น้อยลง


“อริสโตเติลกล่าวว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับสังคมการเมืองคือ มิตรภาพ “Without friends no one would choose to live” หากไม่มีมิตรสหายก็ไม่มีผู้ใดเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป เพราในมิตรสหายมีความไว้วางใจ และความไว้วางใจนั้นเป็นรากฐานของสัญญาประชาคมใหม่ ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สังคมไทยกำลังต้องการในตอนนี้” ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย



ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 312 
วันที่ 28 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554 หน้า 5-7 
คอลัมน์ รายงานพิเศษ โดย ทีมข่าวโลกวันนี้
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น