สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แถลง กรณีถูกคุกคามจากการอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์ | |
24 เม.ย. 2554 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แถลงข่าวถึงผลกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ: กรณีการอภิปรายเรื่อง สถาบันกษัตริย์-รัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตย ซึ่งเขาได้อภิปรายเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2553 ก่อนเริ่มการเสวนา ประชาชนผู้เข้าร่วมการแถลงข่าว มอบดอกกุหลาบสีแดงให้กำลังใจนายสมศักดิ์ โดยนายสมศักดิ์ ปรากฏตัวด้วยผมที่ย้อมเป็นสีดำ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ หนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์ กล่าวถึงที่มาของการจัดอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญปีที่แล้วซึ่งเป็นที่มาของการแถลงข่าววันนี้ว่า เป็นเรื่องที่กลุ่มนิติราษฎร์ทำขึ้น โดยกลุ่มฯ มีความมุ่งหมายที่จะแสดงทัศนะทางกฎหมายในประเด็นที่เป็นสาธารณะ โดยเริ่มจากเรื่องตุลาการ มโนธรรมสำนึก, สถาบันกษัตริย์ รัฐธรรมนูญ ถัดจากนั้นคือ กองทัพกับประชาธิปไตย และล่าสุดคือกฎหมายว่าด้วยหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยเป็นการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและตั้งใจจะทำต่อไปอีก หลังจากจัดงานในวันที่ 10 ธ.ค.53 ก็เกิดผลพวง โดยบุคคลกลุ่มหนึ่งร้องเรียนไปยังมหาวิทยาลัยให้ดำเนินการกับกลุ่มอาจารย์ที่จัดงาน และอาจารย์สมศักดิ์ และมีคนต้องการให้ดำเนินการทางวินัยกับสมศักดิ์ด้วย แต่ประเด็นเหล่านี้เราเห็นว่ายังไม่มีน้ำหนักมากเพียงพอ และเห็นว่ากลุ่มฯ ทำกิจกรรมทั้งหมดด้วยความสุจริตใจ ในตอนท้ายของการอภิปรายวันนั้น ผมได้บอกแล้วว่าไม่มีใครบอกให้เปลี่ยนรูปการปกครองเป็นสาธารณรัฐ การเสนอวันนั้นอยู่ในกรอบประชาธิปไตย ราชอาณาจักร อยู่ในกรอบกฎหมาย เมื่อเกิดสภาพแบบนี้ เราจึงต้องคิดว่าแล้วเราจะเดินต่อไปข้างหน้า ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้แล้วทุกคนเงียบหมด กิจกรรมแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกไม่ได้ กลุ่มนิติราษฎร์เห็นว่าเป็นภาระหน้าที่ทางวิชาการที่ต้องทำเรื่องเหล่านี้เพื่อให้เรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นสาธารณะ อภิปรายกันได้อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อภิปรายกัน สิ่งที่เกิดขึ้นถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ยังคงนิ่งเฉย ที่สุดแล้ว พื้นที่น้อยนิดที่มีในสังคมไทยก็จะหดหายไป “หลายคนอาจจะแปลกใจว่าคนที่ถูกดำเนินคดี 112 มีหลายคน ทำไมไม่ออกมาแถลงข่าวแบบวันนี้ ผมเรียนว่าการอภิปรายทั้งหมดทางวิชาการที่เราทำมาแล้ว และจะทำต่อไปนี่คือการช่วยเหลือบุคคลทั้งหลายทั้งปวงที่ถูกดำเนินคดีเหล่านี้อยู่ เราเรียกร้องให้เกิดการดำเนินกระบวนการตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม แต่กรณีอาจารย์สมศักดิ์ เป็นพื้นที่ทางวิชาการ เนื้อหาทางวิชาการทำอย่างเปิดเผย เปิดโอกาสให้โต้แย้งกันด้วยเหตุด้วยผล แล้วยังเกิดสิ่งที่เล่าให้ฟังไป ปัญหาคือเราไม่สามารถขยับเขยื้อนต่อไปได้อีก สังคมไทยจะตกอยู่ในภาวะเงียบงัน ไม่มีใครกล้าพูดในประเด็นเหล่านี้ซึ่งทุกคนมีความชอบธรรมที่จะพูดได้” นายวรเจตน์กล่าว “เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวของอาจารย์สมศักดิ์ แล้วปล่อยให้ไปเผชิญปัญหาไปโดยลำพัง นิติราษฎร์ในฐานะผู้จัดงานต้องร่วมรับผิดชอบ และเรายืนยันว่าเราทำในกรอบของกฎหมาย สิ่งที่เราทำในวันนี้เป็นการยืนยันความบริสุทธิ์ใจของเราทั้งหมด และการกระทำทางวิชาการของเราเป็นเรื่องที่จะมาข่มขู่กันไม่ได้ "การแถลงข่าววันนี้ไม่ได้มีเฉพาะนิติราษฎร์เท่านั้น เราไม่ได้มีกำลังทรัพย์สิน ไม่ได้มีอาวุธ เรามีเพียงกำลังสติปัญญาตอบแทนกับสังคม การที่บุคคลที่ไม่มีอะไรเลยอย่างพวกเรา ถูกกระทำในลักษณะที่ล่วงละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพอย่างนี้ เราต้องทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องฉุกละหุกเมื่อวานนี้ และเราได้รับกำลังใจจากนักวิชาการหลายท่านที่มาร่วมกับเราในวันนี้ กลุ่มสันติประชาธรรม ที่ให้การสนับสนุนอย่างดี นักวิชาการอื่นๆ และอีกหลายท่านที่ไม่สามารถมาได้ ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็กำลังจะแถลงท่าทีเหมือนกัน” นายวรเจตน์กล่าวและว่ายังอุ่นใจว่าวันนี้เพื่อนนักวิชาการอื่นๆ ยังร่วมกับกลุ่มฯ ที่จะเดินต่อไปบนหนทางวิชาการที่จะทำให้ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นสาธารณะ “ไม่ว่าเราจะมีแรงกดดันแรงเสียดทานอย่างไรเราจะพยายามทำต่อไปอีก” นายวรเจตน์กล่าวในที่สุด นายสมศักดิ์ ซึ่งปรากฏตัวในภาพลักษณ์ใหม่ เรียกเสียงปรบมือจากผู้ฟัง เนื่องจากเขาย้อมผมเป็นสีดำ กล่าวว่า บรรยากาศทางการเมืองช่วงที่ผ่านมาชวนให้อึมครึมและเซ็ง ทั้งแม่ทั้งภรรยายุให้ย้อมผมหลายปี ที่ผ่านมาเลยลองย้อมดู แต่พอย้อมแล้วรู้สึกว่าหล่อสู้ของเก่าไม่ได้ เขากล่าวขอบคุณ กลุ่มนิติราษฎร์และนักวิชาการรวมถึงผู้ให้การสนับสนุนและให้กำลังใจแม้ที่ผ่านมาจะมีการถกเถียง ทะเลาะเบาะแว้งกัน ซึ่งเขารู้สึกขอบคุณอย่างจริงใจที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือ จากนั้นจึงกล่าวแถลงดังนี้ ผมรู้สึกว่าถ้าเป็นอะไรไปหลังจากนี้ก็รู้สึกคุ้มกับชีวิต ตลอดระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมาผมได้เขียนบทความทางวิชาการและข้อเขียนอื่นๆ และพูดอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยที่ไม่เคยเสนอให้ล้มเจ้าหรือล้มเลิกสถาบันกษัตริย์สิ่งที่ผมพูดอยู่ในกรอบของการมีสถาบันกษัตริย์ทั้งสิ้น ขณะเดียวกันผมก็ไม่ปิดบังความคิดที่ว่า สถาบันฯ ต้องปรับปรุง ซึ่งไม่ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และอาญา ผมจึงเขียนโดยใช้ชื่อจริงและเปิดเผยโดยตลอด เมื่อปีกลาย 2553 ได้รวบรวมข้อเสนอ 8 ข้อ สว. คำนูณ (สิทธิสมาน) ยังเอาไปเผยแพร่มาแล้ว อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่าเป็นความผิด ผมก็ยินดีจะชี้แจงและไม่เคยคิดหลบเลี่ยง แต่ระยะสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของรัฐได้สร้างบรรยากาศความเครียดกดดัน มีการให้สัมภาษณ์พาดพิง เช่น นักวิชาการโรคจิตที่จ้องทำลายสถาบัน หลังจากนั้น การออกมาให้สัมภาษณ์และการตบเท้าของทหาร แม้ไม่เกี่ยวข้องหรือพาดพิงถึงผม ก็ได้สร้างความหวาดกลัวกับสังคมไทย “เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาบุคคลระดับนำของรัฐบาล แจ้งให้ผมทราบว่าทหารได้กดดันให้ดำเนินการกับผมเป็นการเฉพาะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นกับผมโดยตรง เช่น ชายสองคนขี่มอเตอร์ไซค์เข้าไปเวียนในหมู่บ้านผม โดยบอกกับยามว่า มารับอาจารย์ มีโทรศัพท์ไปที่บ้านผม ว่ามีกำลังเจ้าหน้าที่หลายสิบนายติดตามอย่างใกล้ชิด ผมขอยืนยันว่าผมทำการวิพากษ์วิจารณ์ภายใต้กรอบกฎหมายเสมอมา “ภายใต้บรรยากาศแปลกๆ ผมต้องชี้แจงต่อสื่อมวลชนและสาธารณชน สิ่งที่ผมทำเป็นสิทธิที่ชอบธรรม ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และตามกฎหมายของไทยเองก็ตาม และหากจะดำเนินการกับผมก็ควรดำเนินการไปตามแนวทางกฎหมายปกติ หยุดสร้างบรรยากาศหวาดกลัวที่เอื้อกับอำนาจนอกระบบไม่ว่ากับผมหรือผู้ต้องหาอื่นๆ การออกมาแสดงพลังของทหารในหลายวันที่ผ่านมาไม่ใช่ครรลองของกฎหมาย ผมขอย้ำว่าผมมีความบริสุทธิ์ใจและเปิดเผยในสิ่งที่ผมทำมาโดยตลอด หากเจ้าหน้าที่เห็นว่าผมมีปัญหาก็สามารถขอพบเพื่อชี้แจง และหากมีการตั้งข้อหาดำเนินคดีผมก็พร้อมจะสู้คดีตามครรลองของกฎหมาย นายสมศักดิ์กล่าวว่าเรื่องที่ผ่านมาไม่ได้กระทบกันตนเองมากเท่ากับภรรยา นายสมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากนั้นมีข่าวกระซิบเขียนด่า แต่สัปดาห์ที่ผ่านมามีการพูดชัดเจน มีตัวตนชัดเจน เช่น คุณประยุทธ์ (จันทร์โอชา) นอกจากนั้นยังมีคนโทรศัพท์ไปที่บ้าน ภรรยาก็ตกใจ เพื่อนฝูงก็บอกให้ผมเผ่นไป ผมก็คิดอยู่ บางคนก็กลัวว่าผมจะโดนดักตีหัว ในที่สุดผมก็คิดว่าไม่ เพราะสิ่งที่ผมพยายามจะทำคือการพยายามจะเปิดพื้นที่พิสูจน์ให้เห็นว่าสังคมไทย ไม่ใช่ทุกคนมีความเห็นเหมือนกันหมดเกี่ยวกับสถานะของสถาบันกษัตริย์ มีคนที่เห็นต่างจากการโฆษณาชวนเชื่อ เผลอๆ เกือบจะเหยียบล้านคนด้วย “บรรดาผู้พิทักษ์สถาบันทั้งหลายควรจะตั้งสติให้ดีว่าคนเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านที่เขาไม่ได้คิดเหมือนกัน คุณจะทำอย่างไร จะไล่ออกไปนอกประเทศหรือ ปัญหาคือมันไม่ใช่อย่างนั้น มันมีคนจำนวนมากที่เห็นว่าสถานะปัจจุบันของสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องที่..อย่างน้อยที่สุดคือการอภิปรายกันอย่างตรงไปตรงมา “และผมยอมรับว่าการอภิปรายเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. มันส่งผลที่ผมคาดไม่ถึง แม้แต่พาหมาไปหาหมอ หรือขึ้นลิฟท์ในมหาวิทยาลัยก็มีเด็กมาจ้องหน้าผม ว่านี่คือคนที่อยู่ในวิดีโอใช่ไหม นี่คือความเป็นจริงที่ว่า มีคนเห็นอย่างหลากหลายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ สิ่งที่ผมทำไม่มีอะไรมากไปกว่าการเปิดพื้นที่และบอกว่า เราสามารถอภิปรายเรื่องสถาบันได้ และพิสูจน์ได้ว่าผมไม่เคยบอกให้เลิก สิ่งที่ผมพยายามจะทำคือเอาประเด็นพวกนี้มาเปิดการอภิปรายและชี้ให้เห็นว่าถ้าพูดโดยหลักสามัญสำนึก ผมเถียงจนคนที่มาเชียร์ผมเขาเหนื่อยกันไปเองแต่ผมก็ยังไม่หยุด และการถกเถียงมันหยุดไป เช่น บอร์ดเสรีไทย เพราะใช้วิธีแบนผม “ผมไม่คิดจะหนีไปไหน สิ่งที่ผมอยากจะสื่อสารไปถึงคนเหล่านี้ว่า ให้มองความเป็นจริงของสังคมไทยบ้าง ความเป็นจริงของโลกบ้าง ถึงคุณจะไม่เห็นด้วยโกรธหรือเกลียดมากอย่างไรก็ตาม แต่ความเป็นจริงคือคนเหยียบล้านที่คิดไม่ตรงกัน แล้วการพยายามจะปิดโน่นปิดนี่ เอากฎหมาย 112 มาเล่นงานคนเป็นร้อยๆ แล้วตอนนี้ จะแก้ไขอย่างไร มันไม่มีที่สิ้นสุด ที่จะสิ้นสุดได้คือการมาพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ภายใต้หลักการประชาธิปไตย ต่อให้ความเห็นไม่ตรงกันอย่างไรก็มานั่งเถียงกัน การจับคนนั้นคนนี้เข้าคุก แม้แต่อากง (ชายที่ถูกกล่าหาว่าส่งSMSหมิ่นเบื้องสูงไปยังโทรศัพท์มือถือของนายอภิสิทธิ์ฯ) ก็ไม่ปล่อย หรือคุณสุรชัย (แซ่ด่าน) ถึงปล่อยมาแกก็คงไม่ไปไหนหรอก เพราะถ้าจะไปแกคงไปก่อนหน้านี้แล้ว นั่นไม่มีเหตุมีผล และที่สุดแล้วมันก็จะนำไปสู่การปะทะใหม่ นำไปสู่ความรุนแรง นำไปสู่การเสียชีวิตอีก “บรรดาที่ออกมาตบเท้าลองถามตัวเองดีๆ ว่าคุณต้องการให้มันเป็นอย่างไร คุณปิดปากเขา เขาพูดตรงๆ ไม่ได้เขาก็ใช้สัญลักษณ์พูด นี่คือความจริง คุณประยุทธ์เองก็ตาม ไม่มีประโยชน์นะครับท่าทีแบบนี้ไม่มีทางที่จะทำให้คนไม่คิดไม่พูดไม่อภิปรายกัน ประเทศไทยไม่มีทางกลับถึงยุคที่คนพูดเป็นเสียงเดียวกันหมด ซึ่งมียุคนั้นจริงหรือเปล่าไม่รู้ นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ และวิธีแก้ปัญหาแทนที่จะใช้กำลังกดดัน จับคนแก่ไม่ให้ประกัน ผู้หญิง ศาลยกเลิกคำตัดสินไปแล้วก็ยังไม่ให้ประกัน วิธีแบบนี้มีแต่ทำให้คนไม่พอใจอยู่แล้วก็ไม่พอใจยิ่งขึ้น คนที่สงสัยก็ยิ่งสงสัยมากขึ้นและนำไปสู่การปะทะ “ใครที่เคยอ่านเคยฟังผม ผมก็พูดแบบนี้มาตลอด แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่ผมพยายามยืนยันคือการเสนอให้แก้ให้ปรับปรุงสถาบันกษัตริย์ และถ้าทำตามที่ผมว่า สถาบันกษัตริย์จะมั่นคงมาก ผมยังคิดเล่นๆ ว่า ในอนาคตพวกรอยัลลิสม์จะต้องมาขอบคุณผม ประเด็นคือในระยะยาวมันเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ ที่คุณให้ข้อมูลด้านเดียวตลอดเวลา ตบเท้า ทำให้ทุกคนต้องเงียบ มันทำไม่ได้หรอก และทำให้ประเทศนี้ไม่น่าอยู่มากๆ เลย “ผมรักประเทศนี้ แต่เราต้องการประเทศหรือบ้านที่มีสภาพแวดล้อมที่น่ารักกว่านี้ ที่คนมีเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ ถ้ามีเรื่องไม่เห็นด้วยก็แสดงความไม่เห็นด้วยออกมา ไม่ใช่ว่าพอเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์แล้วต้องเงียบ ฐานคิดของผมคือทำให้เราทุกคนมีความเป็นคนปกติในเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เหมือนเรื่องอื่นๆ องค์กรสาธารณะอื่นๆ เมื่อไม่เห็นด้วยก็เถียงกันออกมา นี่คือความเป็นคนปกติธรรมดา แต่สถานะของสถาบันกษัตริย์มาถึงจุดที่ว่า เมื่อคุณจงรักภักดีมาก แล้วพอมีคนไม่เห็นด้วยแล้วคุณต้องการให้คนที่ไม่เห็นด้วยเป็นอะไรล่ะ สังคมแบบนี้ประเทศแบบนี้มันไม่น่าอยู่เอามากๆ” 000000 000000 ใบแถลงข่าว ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ผมได้เขียนบทความทางวิชาการและข้อเขียนอื่นๆ และได้พูดอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยที่ในการกระทำต่างๆเหล่านี้ ไม่เคยเลยแม้แต่ครั้งเดียวที่ผมจะเสนอให้ “ล้มเจ้า” หรือ “ล้มเลิกสถาบันกษัตริย์” สิ่งที่พูดและเขียนทั้งหมดล้วนอยู่ในกรอบของการมีสถาบันกษัตริย์ทั้งสิ้น ขณะเดียวกัน ผมก็ไม่ปิดบังทัศนะที่ว่า สถาบันกษัตริย์ควรต้องมีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการปกครองในแบบประชาธิปไตย, หลักนิติธรรม และพัฒนาการของโลกสมัยใหม่ ซึ่งทัศนะหรือการเสนอให้เปลี่ยนแปลง ปรับปรุงสถาบันกษัตริย์เช่นนี้ เป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญา ผมจึงได้พูดและเขียนโดยใช้ชื่อจริงอย่างเปิดเผยมาโดยตลอด เมื่อต้นปีกลาย (2553) ผมได้รวบรวมความเห็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ออกมาเป็นข้อเสนอ 8 ข้อ เสนอต่อสาธารณชนโดยเปิดเผย และเป็นที่รู้จักกันดีพอสมควร ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน ยังได้เคยนำข้อเสนอ 8 ข้อนี้ ไปตีความเผยแพร่และอภิปรายในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ฉบับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2553 มาแล้ว การอภิปรายของผมเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2553 และการพูดหรือเขียนในโอกาสต่อๆมา ก็ล้วนแต่ทำขึ้นภายใต้กรอบข้อเสนอที่ไม่ผิดกฎหมาย เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่มีรูปธรรม 8 ข้อนี้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพลเรือนหรือทหาร เห็นว่า การกระทำของผมเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ผมก็ยินดีจะชี้แจงโต้แย้งข้อกล่าวหาดังกล่าวตามกระบวนการทางกฎหมายทุกประการ ไม่เคยคิดที่จะหลบเลี่ยงแต่อย่างใด และดังที่ทราบกันดี ในส่วนของประชาชนอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับผม ผมก็พร้อมและก็ได้เคยทำการโต้แย้งแลกเปลี่ยนด้วยโดยเปิดเผยเสมอ แต่ในระยะ 2 สัปดาห์เศษที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มีการสร้างบรรยากาศตึงเครียด กดดันในข้อหาที่เรียกกันว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ผู้บัญชาการทหารบกได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา โจมตี “นักวิชาการโรคจิต” ที่ “จ้องทำลายสถาบัน” หลังจากนั้น การออกมาให้สัมภาษณ์รายวัน และตบเท้าแสดงกำลังของทหาร ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน เป็นต้นมา ในเรื่องข้อกล่าวหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” แม้จะไม่เกี่ยวข้องพาดพิงถึงผม ก็ได้สร้างบรรยากาศแห่งความน่าหวาดกลัวให้กับสังคมไทยในเรื่องนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับตัวผมเองนั้น เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้มีบุคคลระดับนำของรัฐบาล เปิดเผยเป็นส่วนตัวว่า มีแรงกดดันจากทหารให้ดำเนินการกับผมเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ก็ยังมีการเปิดเผยจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคนถึงการเตรียมที่จะจัดการทางกฎหมายกับผม ดังที่ได้กล่าวในตอนต้นว่า สิ่งที่ผมได้ทำไปในเรื่องนี้ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะไม่กี่วันที่ผ่านมาคือ ภายใต้การแสดงกำลังรายวันของทหารที่ทำให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัวในเรื่องนี้ ได้มีปรากฏการณ์แปลกๆเกิดขึ้นที่เกี่ยวกับผมโดยตรง เช่น เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีชาย 2 คนขี่มอเตอร์ไซต์ 2 คัน เข้าไปวนเวียนในหมู่บ้านผม 2 ครั้ง เมื่อยามหมู่บ้านถาม ก็ได้รับคำตอบแต่เพียงว่า “มารับตัวอาจารย์” โดยไม่มีการแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่หรือมีเอกสารราชการมาแสดงแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังมีโทรศัพท์ลึกลับไปยังบ้านผมเตือนให้ระมัดระวังตัวว่า ขณะนี้หน่วยงานด้านความมั่นคงบางหน่วย ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่หลายสิบนายคอยเฝ้าติดตามผมอยู่ตลอดเวลาโดยใกล้ชิด พร้อมจะดำเนินการจับกุมผมได้ทันทีที่ได้รับคำสั่ง ผมขอย้ำว่า ผมกระทำการวิพากษ์วิจารณ์และเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์โดยเปิดเผยและภายใต้กรอบของกฎหมายเสมอมา แต่ขณะเดียวกันภายใต้บรรยากาศและสิ่งแปลกๆที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น ผมรู้สึกจำเป็นที่จะต้องเรียนสื่อมวลชนและสาธารณชนและฝากผ่านไปยังเจ้าหน้าที่รัฐว่า สิทธิในการแสดงความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถานะของสถาบันกษัตริย์นั้น เป็นสิทธิที่ชอบธรรมและได้รับการรับรองตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และแม้แต่ในหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยเอง ในส่วนที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เรียกว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” นั้น หากจะมีการดำเนินการอย่างใด ไม่ว่าในกรณีผมเองหรือกรณีอื่นๆ ก็ควรดำเนินการไปตามแนวทางของกฎหมายโดยปรกติ ควรหยุดการสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวที่เอื้ออำนวยให้กับการใช้อำนาจนอกระบบไม่ว่ารูปแบบใดๆ ไม่ว่าจะต่อผมเองหรือผู้ถูกกล่าวหาอื่นๆ การออกมาแสดงกำลังรายวันของทหารเป็นเวลาถึง 10 กว่าวันติดต่อกัน ภายใต้ข้ออ้างเรื่อง “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ไม่ใช่การปฏิบัติในลักษณะที่เป็นไปตามครรลองของกฎหมาย และมีแต่จะส่งเสริมให้เกิดการกระทำที่นอกเหนือจากครรลองของกฎหมายตามมาได้ ผมขอย้ำว่า ผมมีความบริสุทธิ์ใจและเปิดเผยในสิ่งที่ตัวเองทำมาตลอด หากทางเจ้าหน้าที่มีปัญหาก็สามารถเรียกให้ผมเข้าพบ ซึ่งผมก็พร้อมเสมอที่จะเข้าพบชี้แจง ไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องออกหมายจับตัว หรือส่งคนคอยควบคุมการเคลื่อนไหวใดๆ หรือใช้วิธีการกดดันตลอดจนวิธีการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และหากถึงขั้นมีการตั้งข้อหาดำเนินคดี ผมก็พร้อมใช้สิทธิต่อสู้คดีและขอประกันตัว เพราะผมเองมีงานราชการสอนหนังสือและวิจัยทางวิชาการที่จะต้องทำอยู่ตลอดเวลา และไม่เคยคิดที่จะหลีกเลี่ยงหรือหลบหนีใดๆ ผมเชื่อว่า การปฏิบัติเช่นนี้ จึงจะเป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้องไม่เพียงแต่ในกรณีตัวผมเอง แต่รวมทั้งกรณีอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย จึงเรียนมาเพื่อให้ทุกท่านพิจารณา อ.ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | |
http://redusala.blogspot.com |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น