วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554


นิรโทษกรรม...ทางออกหรือทางตัน?


นิรโทษกรรม...ทางออกหรือทางตัน?

จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 7 ฉบับที่ 324 ประจำวัน จันทร์ ที่ 22 สิงหาคม 2011
         โดย ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์

ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทบรรณาธิการในเว็บไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชน ประจำวันจันทร์ที่ 15-วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม 2554 เรื่อง “ถ้าคิดจะนิรโทษกรรม” ซึ่งเรียบเรียงจากข้อมูลที่ ศ.ดร.นันทวัฒน์นำไปใช้ในการเสวนาทางวิชาการเนื่องในวันรพีหัวข้อ “นิรโทษกรรมทางการเมือง...ทางออกหรือทางตัน!?” ของคณะกรรมการกิจการนิสิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันเสาร์ที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมาดังนี้

เป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่ายและทุกภาคส่วนแล้วว่ารัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นเหตุของความสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้ หลังรัฐประหารมีการออกกฎระเบียบจำนวนมากโดยคณะรัฐประหาร รวมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ที่แม้จะมีเพียง 39 มาตรา แต่ก็ออกฤทธิ์ทำให้เกิดเหตุการณ์สำคัญๆตามมามากมาย ทั้งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมือง ไปจนถึงการยึดทรัพย์นักการเมือง นอกจากนี้ยังเกิดการชุมนุมทางการเมืองอีกหลายครั้งจากหลายฝ่าย สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตของพลเรือน ข้าราชการทหาร ตำรวจ มีผู้ถูกจับกุมคุมขังจำนวนมาก มีการฟ้องร้องเป็นคดีความในศาลแทบจะทุกศาลไม่น้อยกว่า 100 คดี เกิดความแตกแยกทางความคิดในหมู่ประชาชนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มีการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องจากหลายๆฝ่ายให้ผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันหันหน้าเข้าหากันเพื่อสร้างความสงบให้กับประเทศชาติ ในบรรดาข้อเสนอที่จะทำให้เกิดความสงบในประเทศชาติมีอยู่หลายแนวทางด้วยกัน รัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้ตั้ง “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)” ขึ้นเพื่อหาแนวทางสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศชาติ นอกจากนี้ยังมีอีกแนวทางหนึ่งเสนอให้มีการ “นิรโทษกรรม” แต่แนวทางในการนิรโทษกรรมนั้นยังไม่มีความชัดเจนเท่าไรนัก เพราะยังไม่มีการดำเนินการใดๆจากทุกๆฝ่าย นอกจากนี้ความคิดเรื่องนิรโทษกรรมที่เสนอสู่สาธารณะนั้น ผู้เสนอยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำอย่างไร จะนิรโทษกรรมเรื่องอะไร หรือนิรโทษกรรมให้กับใครบ้าง ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เรื่องนิรโทษกรรมยังไม่มีความชัดเจนและไม่มีคำตอบว่าจะทำได้หรือไม่ อย่างไร

ในทางวิชาการมี 3 กรณีที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด อาจจะเรียกว่าเป็นบทยกเว้นของความผิดก็ว่าได้ 3 กรณีที่ว่านี้คือ การอภัยโทษ การนิรโทษกรรม และการล้างมลทิน การอภัยโทษคือการให้อภัยในโทษที่กำลังได้รับอยู่ การอภัยโทษเป็นการยกโทษให้ทั้งหมด คือไม่ต้องรับโทษที่ยังมีอยู่อีกต่อไป หรือเป็นการลดโทษบางส่วน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและพฤติกรรมของแต่ละบุคคลที่กำลังรับโทษอยู่ การอภัยโทษใช้สำหรับกรณีคดีถึงที่สุดแล้วและบุคคลกำลังได้รับโทษอยู่

ส่วนการนิรโทษกรรม ได้แก่ การทำสิ่งที่ผิดกฎหมายให้ถูกต้องตามกฎหมายและไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ผลคือผู้ที่ทำผิดแล้วได้รับนิรโทษกรรมจะถือว่าผู้นั้นไม่เป็นผู้ที่ทำผิดและไม่ต้องได้รับโทษ สำหรับการล้างมลทินก็คือการลบล้างมลทินที่มีอยู่อันเนื่องมาจากการได้รับโทษ เป็นการยกเลิกประวัติที่เคยได้รับโทษให้หมดไป

ในประเทศไทยมีการอภัยโทษ การนิรโทษกรรม และการล้างมลทินเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว แต่ในที่นี้จะขอนำมากล่าวถึงเฉพาะการนิรโทษกรรมเท่านั้น ที่ผ่านมาเคยมีการนิรโทษกรรมแล้วร่วม 20 ครั้ง การนิรโทษกรรมที่เกิดขึ้นมีหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ทำการปฏิวัติรัฐประหาร เช่น พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490 หรือพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2534 การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุมทางการเมือง เช่น พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2516 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2521 หรือพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2535 หรือการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ทำการกบฏ เช่น พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พุทธศักราช 2488 เป็นต้น

ในส่วนของรูปแบบการนิรโทษกรรมนั้น นอกจากการนิรโทษกรรมจะทำได้โดยการออกเป็นพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การนิรโทษกรรมยังสามารถเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญได้อีกด้วย ดังเช่นในการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็มีการเขียนบทบัญญัติที่มีลักษณะเป็นการนิรโทษกรรมเอาไว้ในมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ว่า

“บรรดาการกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ของหัวหน้าและคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมตลอดทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”
แม้กระทั่งในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตราสุดท้ายคือมาตรา 309 ที่บัญญัติว่า “บรรดาการใดๆที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้” ถือได้ว่าเป็นบทบัญญัติที่มีผลเป็นการนิรโทษกรรมทั้งย้อนหลังและล่วงหน้าได้เช่นกัน

ผลของการนิรโทษกรรมก็จะเป็นไปตามที่บัญญัติเอาไว้ในกฎหมายนิรโทษกรรม อย่างเช่น พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2535 ได้บัญญัติ “นิรโทษกรรมอย่างกว้าง” เอาไว้ในมาตรา 3 ว่า “บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 และได้กระทำในระหว่างวันดังกล่าว ไม่ว่าได้กระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง”

ในขณะที่มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520 ได้บัญญัติถึงการ “นิรโทษกรรมอย่างแคบ” คือนิรโทษกรรมเฉพาะการกระทำบางอย่างเอาไว้ว่า “บรรดาการกระทำอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรซึ่งได้กระทำระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 และบรรดาการกระทำอันเป็นความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับหรือเนื่องจากการกระทำอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรระหว่างวันดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการกระทำอันเป็นความผิดต่อชีวิต ให้ถือว่าการกระทำนั้นๆไม่เป็นความผิดอีกต่อไป”
ทั้งหมดก็คือบางส่วนของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการนิรโทษกรรมในช่วงเวลาที่ผ่านมา

กลับมาสู่ปัจจุบัน ผมไม่ทราบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราทุกวันนี้นั้นต้องการ “นิรโทษกรรม” หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม หากคำตอบสุดท้ายของการจบสิ้นปัญหาทั้งหลายทั้งปวงของประเทศอยู่ที่การนิรโทษกรรม คำถามที่ตามมาคือจะนิรโทษกรรมอะไรกันบ้าง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมานั้นมีมากมายหลายอย่างเหลือเกิน

ผมลองประมวลดูว่าจะต้องนิรโทษกรรมอะไรบ้างจากเสียงเรียกร้องของคนหลายๆกลุ่มแล้วพบว่ามีเรื่องใหญ่ๆที่อยู่ในความต้องการที่จะให้มีการนิรโทษกรรม 3 เรื่องด้วยกันคือ การยุบพรรคการเมืองและการคืนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ เรื่องการคืนทรัพย์ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้ยึดทรัพย์จำนวน 76,000 ล้านบาทเศษไปเมื่อต้นปี 2550 และสุดท้ายคือเรื่องความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลายๆครั้งในช่วงเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา

เรื่องแรกคือ เรื่องการยุบพรรคการเมืองและการคืนสิทธิเลือกตั้งให้แก่กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ สามารถแยกพิจารณาได้เป็น 2 เรื่องย่อยคือ การยุบพรรคการเมืองและการคืนสิทธิเลือกตั้งให้แก่กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ โดยเรื่องการยุบพรรคการเมืองนั้น การนิรโทษกรรมคงไม่มีผลใดๆเกิดขึ้น เพราะพรรคการเมืองทั้งหลายถูกยุบไปแล้ว และบรรดาสมาชิกพรรคการเมืองเหล่านั้นก็ได้ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่กันหมดแล้ว การนิรโทษกรรมให้กับเรื่องการยุบพรรคการเมืองจึงไม่เกิดประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น เว้นแต่ว่ายังมีคนอยากใช้ชื่อพรรคการเมืองที่ถูกยุบไป!

ส่วนการนิรโทษกรรมเพื่อคืนสิทธิเลือกตั้งให้แก่บรรดากรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติของประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ที่ “เพิ่มโทษ” ให้กับพรรคการเมืองที่ถูกยุบว่าให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบมีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง และต่อมารัฐธรรมนูญปัจจุบันได้นำเอาการ “เพิ่มโทษ” ดังกล่าวไปบัญญัติไว้ในมาตรา 237 วรรคสองด้วย ดังนั้น หากจะนิรโทษกรรมเรื่องดังกล่าวก็สามารถทำได้ด้วยการออกเป็นกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ต้องไม่ลืมด้วยว่าโทษของการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองยังคงอยู่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งในเรื่องดังกล่าวมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากตลอดเวลาว่าโทษของการเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมืองทุกคน ซึ่งอาจมีบางคนได้รับรู้หรือรู้เห็น หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเป็นการลงโทษที่รุนแรงและไม่ยุติธรรม

ในเรื่องนี้เองที่ผมมีความเห็นว่าการนิรโทษกรรมคงเป็นประโยชน์เฉพาะผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำนวน 200 กว่าคนเท่านั้น แต่โทษและความผิดในเรื่องดังกล่าวยังมีอยู่ และยังอาจเกิดกับพรรคการเมืองอื่นและกับกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่นได้ (รวมทั้งพรรคเพื่อไทยด้วย) ด้วยเหตุนี้เองที่หากจะแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวอย่างตรงจุด นอกเหนือไปจากการนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำนวน 200 กว่าคนแล้ว ยังอาจต้องทบทวนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวด้วยว่าสมควรมีอยู่ต่อไปหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องเช่นนี้อีกในอนาคต

เรื่องต่อมาคือ เรื่องการนิรโทษกรรมเพื่อให้มีการคืนทรัพย์ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในความเห็นส่วนตัวแม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการทั้งหมดโดย คตส. ก่อนที่เรื่องดังกล่าวจะถูกส่งต่อมายังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจนนำไปสู่คำพิพากษายึดทรัพย์ แต่เมื่อการยึดทรัพย์ทำโดยคำพิพากษาของศาล ซึ่งมีทั้งโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายรองรับไว้ หากจะมีการนิรโทษกรรมก็ต้องทำให้คำพิพากษาดังกล่าวสิ้นผลลง ซึ่งผมเห็นว่าการกระทำเช่นนั้นจะส่งผลกระทบตามมามากมาย รวมทั้งยังอาจเป็นประเด็นต่อเนื่องไปในอนาคตด้วยหากเราออกกฎหมายมายกเลิกเพิกถอนคำพิพากษาของศาล ดังนั้น ในขณะนี้คงต้องเคารพผลของคำพิพากษาที่ออกมา

แต่อย่างไรก็ตาม หากจะต้องเอาทรัพย์สินที่ถูกยึดไปคืนจริงๆก็พอมีทางอยู่บ้าง แต่คงไม่สามารถกล่าวในที่นี้ได้ เพราะอาจเกิดประเด็นใหม่ขึ้นมาเป็นข้อโต้เถียง ซึ่งจะกระทบกับบรรยากาศของการปรองดองที่กำลังจะเกิดขึ้นได้

ส่วนเรื่องสุดท้ายคือ เรื่องการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุมและก่อความไม่สงบในช่วงเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา ที่ดีที่สุดและถูกต้องเหมาะสมที่สุดก็คือ รอให้มีความชัดเจนก่อน ควรรอบทสรุปการทำงานของ คอป. ก่อนว่าปัญหาและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งนั้นความจริงคืออะไร ใครผิดใครถูก พูดกันง่ายๆก็คือ ต้องมีข้อยุติ ต้องมีผู้รับผิดชอบ ต้องทราบว่าใครเป็นผู้ทำผิด และต้องทำความจริงให้ปรากฏก่อน มิฉะนั้นเรื่องของ “ชายชุดดำ” “ผู้ก่อการร้าย” หรือ “91 ศพ” จะยังคงเป็นประเด็นที่เราสงสัยกันอยู่ต่อไปไม่รู้จบ เมื่อมีข้อยุติที่ชัดเจนแล้วหาก คอป. เห็นว่าควรนิรโทษกรรมค่อยมาออกกฎหมายนิรโทษกรรมกันต่อไป ซึ่งก็ทำได้แม้เวลาจะผ่านไปหลายปีแล้วก็ตาม

เคยมีตัวอย่างของการนิรโทษกรรมลักษณะนี้มาแล้วคือ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2521 เป็นกฎหมายที่ออกมาในปี 2521 เพื่อนิรโทษกรรมให้กับการกระทำที่เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 โดยในคำปรารภของกฎหมายดังกล่าวได้เขียนคำอธิบายเจตจำนงของการนิรโทษกรรมเอาไว้ดีมากคือ โดยที่ได้พิจารณาเห็นว่าการพิจารณาคดีเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้นได้ล่วงเลยมานานพอสมควรแล้ว และมีท่าทีว่ายืดเยื้อต่อไปอีกนาน ถ้าจะดำเนินคดีต่อไปจนเสร็จสิ้นจะทำให้จำเลยต้องเสียอนาคตในทางการศึกษาและการประกอบอาชีพยิ่งขึ้น และเมื่อคำนึงถึงว่าการชุมนุมดังกล่าวก็ดี การกระทำอันเป็นความผิดทั้งหลายทั้งปวงก็ดี เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่เข้าในสถานการณ์ที่แท้จริงเพราะเหตุแห่งความเยาว์วัยและขาดประสบการณ์ของผู้กระทำความผิด ประกอบกับรัฐบาลนี้มีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะให้เกิดความสามัคคีในระหว่างคนในชาติ จึงเป็นการสมควรให้อภัยการกระทำดังกล่าวนั้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิด ทั้งผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีอยู่และผู้ที่หลบหนีไปได้ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควร และกลับมาร่วมกันทำคุณประโยชน์และช่วยกันจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป

ทั้งหมดก็คือความเห็นของผมเกี่ยวกับเรื่องการนิรโทษกรรม และก่อนที่จะจบบรรณาธิการนี้ก็ขอฝากไปยังรัฐบาลใหม่ด้วยว่าทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมนั้นรัฐบาลไม่ควรทำเอง และไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวใดๆทั้งสิ้น เพราะถือว่ามีส่วนได้เสียโดยตรง หากรัฐบาลยังยืนยันที่จะให้ คอป. ทำงานต่อไปก็คงจะต้องขอให้ คอป. พิจารณาเลยไปถึงว่าเพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศควรมีการนิรโทษกรรมไหม นิรโทษกรรมใคร นิรโทษกรรมการกระทำใด เมื่อได้ข้อยุติที่ชัดเจนจาก คอป. แล้วรัฐบาลจึงค่อยไปดำเนินการต่อตามข้อเสนอของ คอป. ต่อไป

ท้ายที่สุดขอต้อนรับรัฐบาลใหม่ที่เป็นรัฐบาล “ของประชาชน” ผมหวังว่ารัฐบาลของประชาชนคงปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุด “เพื่อประชาชน” ครับ

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 324 วันที่ 20 - 26 สิงหาคม 
พ.ศ. 2554 หน้า 5-6 คอลัมน์ ข่าวไร้พรมแดน โดย ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น