วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554


เปิด เปลื้อง เปลือย “คำ ผกา”
เปิด เปลื้อง เปลือย “คำ ผกา”
...สังคมไทยเหมือนเด็กโง่แต่นึกว่าตนเองฉลาด!
 ข่าวสดออนไลน์     นาฏินันท์ จันทร์ธีระวงศ์ รายงาน


            ไม่ว่าจะเคยชม หรือเคยด่า ถึงพ.ศ.นี้เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จัก “คำ ผกา” หรือ แขก-ลักขณา ปันวิชัย นักเขียน-คอลัมนิสต์หญิงที่ไม่ว่าจะคิด พูด หรือเขียน ล้วนมีเสียงสะท้อนกลับให้ได้อึ้ง-ทึ่ง-ตะลึง และกลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์” กันได้เสมอๆ

ค่าที่ว่าเธอเปิดเผยให้สังคมรับรู้บางสิ่งที่ถูกกดทับไว้ใต้พรมของความดีงามและไม่มีใครกล้าหาญพอที่จะเผชิญความจริง

คงเป็นที่น่าเสียดายหากจะปล่อยให้ความคิดความเห็นของเธอจางหายไปกับกาลเวลา สำนักพิมพ์มติชนจึงรวบรวมทั้งบทพูด-บทสัมภาษณ์จากข่าวสด มติชน ประชาไท รวมถึงสื่อชั้นนำอื่นๆจัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อชวนสะท้าน“เปิดเปลื้องเปลือยคำผกา”ให้ได้อ่านความคิดคอลัมนิสต์ปาก(กา)กล้าวิพากษ์สังคม-การเมืองอย่างถึงพริกถึงขิงเผ็ดร้อน สมฉายาเลดี้กาก้าเมืองไทย อีกครั้งอย่างหนำใจ

และเพราะเป็นหนังสือรวบรวมบทพูด-สัมภาษณ์ เธอจึงบอกผู้อ่านว่า ควรจะต้องอ่านเหมือนฟัง มากกว่าอ่านแบบอ่าน และเวลาอ่านควรทั้งเถียงไปด้วย ตอบโต้ไปด้วย แม้กระทั่ง ฟังไปด่าไป เพื่อจะลดอำนาจของผู้พูด เพื่อเพิ่มอำนาจของผู้ฟัง แต่จะทำให้รู้จัก คำ ผกา ได้ชัดเจน แจ่มแจ้ง อย่างที่ คำ ผกา คิด และเป็นจริงๆ หรือไม่ เธอบอกกับ “ข่าวสดออนไลน์” ว่า

“ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีใครตอบได้ว่า ‘คำ ผกา’ คิดอย่างไร เป็นอะไร เพราะตัว คำ ผกา เองก็คงไม่รู้ นอกจากนั้น ตราบใดที่ คำ ผกา ยังมีชีวิตอยู่ต่อไป ก็ยิ่งไม่สามารถบอกว่า ‘นี่คือ ตัวตน คำ ผกา ที่แท้จริง’ เพราะ ไม่มีใครรู้ว่าตัวตนที่แท้คืออะไร ตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ ยังคิดอะไรทุกวัน ยังเจอประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ คนเราย่อมไม่ ‘คงที่’ ยังเปลี่ยนแปลง ไป- มา ทุกวัน เพราะฉะนั้นเคลมไม่ได้โดยสิ้นเชิงว่า ‘นี่คือตัวตนที่คำ ผกา คิด และ เป็น’ มันเป็นแค่ คำ ผกา ในห้วงเวลาหนึ่ง”

หลายครั้งยามที่คอลัมน์ของเธอปรากฏสู่สาธารณชน คำวิพากษ์วิจารณ์แรงๆ สะท้อนกลับมาด้วยภาพความเป็นนางร้ายที่จิกกัดใครต่อใคร แต่เธอก็ไม่เคยหวั่น มิหนำซ้ำยังยืนยันว่า เป็นความตั้งใจที่จะ satire (เสียดสีเหน็บแนม) ความดัดจริตในสังคมไทย และเบื่อความปากหวานก้นเปรี้ยว รู้สึกว่าเป็นอะไรก็บอกกันมาตรงๆ ดีกว่าใส่หน้ากาก

“รู้สึกว่าสังคมไทยเหมือนเด็กโง่แต่นึกว่าตนเองฉลาด สิ่งที่สังคมไทยต้องการคือ การเรียนรู้ที่จะเปิดโลกทัศน์ หรือที่แขกชอบพูดว่าต้องออกมาจากกะลา ต้องออกจากโลกทัศน์เก่า อุดมการณ์เก่าที่ปลูกฝังเรื่องลำดับชั้นต่ำสูงของมนุษย์ ปัญหาของสังคมไทยคือคนไทยไม่ยอมรับว่าตนเองถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์อำนาจนิยมมายาวนาน”

“จากนั้นคืออาการหวาดกลัวที่จะเผชิญหน้ากับความจริง ทนไม่ได้ที่จะเห็นโลกที่ตนเองยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ล่มสลาย บางคนอาจบอกว่า ตายเสียดีกว่าที่จะสูญเสียภาพลวงตาอันนี้ แขกว่าลึกๆ แล้วคนไทยจำนวนมากรู้นะคะว่าอะไรเป็นอะไร แต่ทำใจไม่ได้ที่จะยอมรับว่าโลกที่ตนเองเคยคิดว่ามันจริงนั้นเป็นแค่ภาพมายา” คำ ผกา พูดถึงวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทย ที่หากอาจหาญไปวิจารณ์ถึงบุคคล สถาบัน หรือองค์กรที่เป็นที่เคารพนับถือ ก็จะถูกเหยียบย่ำ หรือผลักไสให้กลายเป็นขั้วตรงข้ามได้ในชั่วข้ามคืน

ท่าทีที่ชัดเจนว่าไม่เอารัฐประหารและเป็นแดงแบบที่เรียกร้องการเลือกตั้งต่อต้านสองมาตรฐานไม่เอา doublestandardต่อต้านความอยุติธรรมคือความแน่วแน่ของคำผกาในยามที่ประเทศไทยอยู่ในระหว่างเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองซึ่งหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้บริหารประเทศ สังคมการเมืองไทยจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น เธอบอกว่า

“มองได้หลายอย่างเลยค่ะ ตั้งแต่ ก. ประชาธิปไตยจะเข้มแข็งขึ้น การเมืองในรัฐสภามีเสถียรภาพมากขึ้น ข. มีรัฐประหารแล้วประชาชนออกมาสู้แบบไม่กลัวตาย ค. มีการลอบสังหารผู้นำ ง. สลิ่มฆ่าตัวตายหมู่หากต้องเผชิญหน้ากับความจริงง่ายๆ ของสากลโลกว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของใครนั้นวัดกันที่เสียงของคนข้างมาก เท่านั้น ย้ำว่า เท่านั้น”

ส่วนประวัติศาสตร์หน้าต่อไปของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร คำ ผกา ตอบอย่างไม่เป็นกังวลว่า “เมื่อเวลาผ่านไป จะไม่มีใครผูกขาดการเขียนประวัติศาสตร์อีกแล้ว เทคโนโลยีของอินเทอร์เน็ต โลกดิจิตอล ทำให้เกิดกระบวนการ democratization ของการเขียนประวัติศาสตร์หรือประวัติศาสตร์นิพนธ์”

และที่ใครๆ เป็นห่วงเป็นใยว่า ที่ทางของวัฒนธรรมไทยควรจะดำรงอยู่อย่างไร เพราะยุคสมัยนี้ มากไปก็ถูกมองว่าสวมชฎา น้อยไปก็ถูกด่าว่าไม่รักความเป็นไทย คอลัมนิสต์ฝีมือฉกาจระบุว่า


“ให้คิดเรื่องวัฒนธรรมเฉยๆ อย่าไปเอาคุณศัพท์ใดๆ มาห้อยท้าย แค่นี้ก็ไม่มีปัญหาแล้วค่ะ”

นั่นคือการเปลือยความคิดส่วนหนึ่งของ คำ ผกา หนึ่งในนามปากกาของ นางสาวลักขณา ปันวิชัย สาวบ้านสันคะยอม อำเภอสันทราย เชียงใหม่ เรียนจบปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อด้วยปริญญาโทและเอกจากมหาวิทยาลัยเกียวโต ที่ซึ่งทำให้เธอเริ่มมีคอลัมน์แรก “จดหมายจากเกียวโต” ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ โดยใช้นามปากกาว่า ฮิมิโตะ ณ เกียวโต แต่ที่ทำให้สร้างชื่อ คือคอลัมน์ “กระทู้ดอกทอง” โดย คำ ผกา

ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเปลื้องผ้าขึ้นหน้าปก GM เพราะต้องการบอกว่า การแก้ผ้าไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับผู้หญิง และยังมีงานเขียนในนิตยสารอีกหลายฉบับ สื่อสารถึงคนอ่านตั้งแต่เรื่องกับข้าวกับปลา ไลฟ์สไตล์ ไปจนถึงชีวิตเซ็กส์ และแน่นอนว่า คอลัมน์วิพากษ์วิจารณ์สังคม-การเมืองในมติชนสุดสัปดาห์ ของ คำ ผกา เรียกทั้งเสียงชมและเสียงด่าไม่เคยเงียบ ล่าสุด ยังรับหน้าที่เป็นพิธีกรรายการ “คิดเล่นเห็นต่าง” ออกอากาศทาง วอยซ์ทีวี ยั่วให้คนนำประเด็นที่นำเสนอในรายการไปคิดต่อ

ส่วนชีวิตของเธอทุกวันนี้ “ยังมีเวลาออกกำลังกาย ช้อปปิ้ง กินข้าวกับเพื่อน อ่านหนังสือ ทำอาหาร เหมือนเดิมทุกอย่างค่ะ แต่แขกเป็นคนไม่เที่ยวกลางคืนนะคะ ไม่โดยสิ้นเชิง เว้นแต่ไปดื่มกับเพื่อนเงียบๆ”

“แต่เรื่องแต่งงานหรือชีวิตคู่ คงไม่ใช่เรื่องที่เราบอกว่า ใช่ หรือ ไม่ – หากเราได้เจอคนที่เราอยากอยู่กับเขา และเขาอยากอยู่กับ เรา อยู่ด้วยกันแล้วชีวิตรื่นรมย์ขึ้น ได้พึ่งพา เกื้อกูลกัน คุยกันสนุก มีเซ็กส์ดีๆ ด้วยกัน ทำไมเราจะไม่อยากอยู่กับใครละคะ?” เธอปิดท้ายอย่างนั้น

อย่าด่วนสรุปว่า คำ ผกา เป็นคนอย่างไร หากยังไม่ได้คุยกับเธออย่างเปิดเปลื้อง!!!




บางส่วนจากเปิด เปลื้อง เปลือย คำ ผกา


“เราเป็น ‘คอลัมนิสต์’ เรามีหน้าที่ให้ความเห็น แสดงความคิดเห็น เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถแสดงความคิดเห็นโดยที่บอกว่าตัวเองเป็นกลางได้ คอลัมนิสต์จะต้องมีจุดยืน แล้วถามว่าจุดยืนของเราเป็นอะไร จุดยืนของเราคือความเชื่อมั่นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง ผ่านระบอบรัฐสภา แล้วเราไม่เอารัฐประหาร”

“คนที่น่าห่วงไม่ใช่ชาวบ้าน คนบ้านนอก แต่เป็นชนชั้นกลางที่ยึดติดกับเรื่องความดี ศีลธรรมผู้ปกครอง ไม่ศรัทธาการเลือกตั้ง ไม่ไว้ใจนักการเมือง หวังพึงอำนาจนอกระบบเลือกตั้ง หวังพึ่งคนดี และยังเชื่อเหมือนเดิมว่า ชาวบ้านไม่ฉลาดพอที่จะมีประชาธิปไตย”

“วิธีคิดแบบบ้านๆ ที่แขกคุ้นเคย มันมีความฟูมฟายทางอารมณ์ที่เป็นนามธรรมน้อยกว่าวัฒนธรรมทางอารมณ์ของชนชั้นกลางเท่านั้นเอง และอย่าลืมว่า การรับรู้หรือความเข้าใจเรื่องความรัก อกหัก วิถีทางเพศนั้นก็มีลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรม ชนชั้น ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกที่เป็นสากล”

http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น