วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2554


ย้ำเอกสารลับ "สลายชุมนุม 10 เมษา" อนุญาตใช้อาวุธจริง
[ภาพ: 01_1_web.jpg]

[ภาพ: 02_2_web.jpg]
[ภาพ: 03_3_web.jpg]


คดีสลายม็อบ 91 ศพ และบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน กลายเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้งเมื่อพนักงานสอบสวนคดี 16 ศพที่เชื่อว่าตายเพราะฝีมือเจ้าหน้าที่ สอบปากคำผู้มีบทบาทสำคัญในการปราบปรามกลุ่มเสื้อแดง

นั่นคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ.ศอฉ.

นายสุเทพ เข้าให้การเป็นคนแรกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา ก่อนที่วันรุ่งขึ้นนายอภิสิทธิ์ จะตามมาให้การในภายหลัง

"สุเทพ"ขอรับเพียงผู้เดียว

อดีตผอ.ศอฉ. อ้างว่าปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายตามพ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อำนาจตามกฎหมายฉบับนี้ นายอภิสิทธิ์ นายกฯ ในขณะนั้น ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2553 และจัดตั้งศอฉ.ขึ้น มอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการ กำกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เป็นหัวหน้ารับผิดชอบ

"การสั่งการในวันที่ 10 เม.ย.2553 นั้น เป็นผู้สั่งการแต่ผู้เดียว นายอภิสิทธิ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็สั่งการตามหน้าที่และตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่รับคำสั่ง ก็ปฏิบัติงานอยู่ในกรอบของคำสั่งที่ชอบทุกประการ ไม่ได้เกินกว่ากรอบที่กำหนดแต่อย่างใด

พร้อมกันนี้นายสุเทพนำภาพเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายชายชุดดำมาให้ตำรวจ อ้างว่าเป็นสาเหตุการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนและเจ้าหน้าที่

ในการให้การและออกมาให้สัมภาษณ์ในภายหลัง นายสุเทพ แอ่นอกรับว่าเป็นผู้การเพียงคนเดียว!!!

"เหตุการณ์วันที่ 13 เม.ย. และวันที่ 14-19 พ.ค.2553 ยืนยันว่านายอภิสิทธิ์ไม่เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งของศอฉ. การแก้ไขเรื่องปัญหาจราจร การประชุม ศอฉ. ผมเป็นประธาน นายอภิสิทธิ์เข้าไปบางครั้ง ส่วนใหญ่เข้าไปในช่วงการประชุมสรุปสถานการณ์"

รายงานการสอบสวนของตำรวจระบุว่า เมื่อถามว่านายสุเทพ เป็นผู้สั่งให้สลายการชุมนุมใช่หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า สั่งการในอำนาจหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามขอบเขตของกฎหมาย เพราะขณะนั้นมีผู้ใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่ จึงต้องป้องกันตัว และควบคุมสถานการณ์

ส่วนนายอภิสิทธิ์ ซึ่งเข้าให้การในวันที่ 9 ธันวาคม พร้อมทีมทนาย อธิบายถึงบทบาทหน้าที่ในช่วงนั้น ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเรื่องการเซ็นคำสั่งตั้งศอฉ. และการปฏิบัติการตามคำสั่งของศอฉ. โดยเฉพาะเรื่องที่ประธาน ศอฉ. ดำเนินการ และมีการอธิบายเหตุผล การลำดับเหตุการณ์ การเจรจา เหตุการณ์การขอคืนพื้นที่ต่างๆ

"ความมุ่งหมายในวันที่ 10 เมษายน ในเรื่องการขอคืนพื้นที่การจราจร ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็หยุดเคลื่อนไหวไปในช่วงก่อนมืด พยายามจะออกมา แต่ก็ถูกโอบล้อมและมีการใช้อาวุธสงครามยิงเข้ามา ทำให้เกิดเหตุชุลมุน และมีภาพของชายชุดดำปรากฏตัวอยู่ในบริเวณใกล้เคียงที่เกิดเหตุ"

นายอภิสิทธิ์ชี้แจงอีกว่า มีหน้าที่ดูแลในเชิงนโยบาย เป็นผู้ตั้ง ศอฉ. จริง โดยมีนายสุเทพเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ และกำกับการปฏิบัติงานในช่วงแรก ก่อนที่ผบ.ทบ. ในขณะนั้นจะเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ คำสั่งในเชิงปฏิบัติการจึงเป็นคำสั่งที่ทำโดย ศอฉ.

?เปิดเอกสารลับศอฉ.

จากคำให้การของ 2 นักการเมืองที่อยู่ในฐานะผู้สั่งการให้ทหารขนอาวุธออกมาควบคุมสถานการณ์ ทำให้มีการพูดถึงหลักฐานสำคัญเป็นเอกสารลับของศอฉ.ที่ออกมาในช่วงวันที่ 10 เมษายน และ 13 เมษายน 2553 และนำไปสู่การใช้อาวุธเข่นฆ่าม็อบครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของประเทศไทย

เอกสารดังกล่าวมีทั้งหมด 3 แผ่น เปิดเผยออกมาโดยกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า "กลุ่มทหารตำรวจประชาธิปไตย 2554" ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดยผู้เกี่ยวข้องรับว่าเป็นเอกสารจริงที่ออกโดยศอฉ.

ฉบับแรกลงวันที่ 10 เม.ย.2553 ตีตราคำว่า "ลับมาก" ถึงผู้ปฏิบัติ ใจความว่า

1.อ้างถึง

1.1 วิทยุผอ.ศอฉ.ลับ-ด่วนที่สุด ที่กห 0407.45/4 ลง 7 เม.ย.53

1.2 คำสั่งปฏิบัติการที่ 1/53-ศอฉ.

2.ตามที่นรม.สั่งการให้ศอฉ.ทำการผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่และพื้นผิวการจราจร บริเวณสะพานผ่านฟ้าและพื้นที่ใกล้เคียง ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.53 เวลา 13.30 น. เป็นต้นไป เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่รับผิดชอบของศอฉ. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์นั้น ดังนั้นเพื่อเป็นการดำเนินการตามสั่งการดังกล่าว จึงให้ทภ.2 กกล.รส.ทภ.1 และหน่วยเกี่ยวข้อง ปรับกำลัง/จัดกำลังเพิ่มเติมเพื่อปฏิบัติภารกิจ ดังนี้

2.1 พล.1รอ. ปรับกำลังในพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 21 ร้อย.รส.เข้าผลักดันและควบคุมพื้นที่การชุมนุมในทิศทางแยกมิสกวัน ไปยังแยกจปร., แยกเทวกรรม ไปยังสะพานมัฆวานรังสรรค์ และรักษาแนวที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ

2.2 มทบ.11 ปรับกำลังของทภ.3 จำนวน 11 ร้อย.รส.จากบก.ศอฉ. ขึ้นควบคุมทางยุทธการกับพล.1รอ.เพื่อเพิ่มเติมการปฏิบัติในข้อ 2.1

2.3 พล.ร.2รอ. ปรับกำลังในพื้นที่รับผิดชอบจำนวน 14 ร้อย.รส.เข้าผลักดันและควบคุมพื้นที่ชุมนุมในทิศทางแยกคอกวัว ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

2.4 พล.ร.9 ปรับกำลังในพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 10 ร้อย.รส.ขึ้นควบคุมทางยุทธการกับพล.ร.2รอ.เพื่อเพิ่มเติมการปฏิบัติในข้อ 2.3

2.5 นปอ.ปรับกำลังรปภ.บริเวณสถานีดาวเทียมไทยคม 2 จำนวน 18 ร้อย.รส.เข้าผลักดันและควบคุมเส้นทางที่มุ่งเข้าสู่พื้นที่ชุมนุม บริเวณแยกการเรือน, แยกอู่ทอง, แยกวังแดง, แยกวัดเบญจมบพิตร, แยกอุทัย, แยกเสาวนีย์ และแยกเทวกรรม

2.6 พล.ม.2รอ. จัดกำลังเพิ่มเติมจากอ้างถึงในข้อ 1.1 จำนวน 1 ร้อย.รสพ.ขึ้นควบคุมทางยุทธการกับพล.ร.2รอ.เพื่อเพิ่มเติมการปฏิบัติในข้อ 2.3

?ไฟเขียวโปรยแก๊สน้ำตา

2.7 นปพ.ทบ.จัดชุดปฏิบัติการพิเศษ ปฏิบัติภารกิจร่วมกับหน่วยบินเฉพาะกิจศอฉ.ในการตรวจการณ์และการใช้แก๊สน้ำตาทางอากาศเพื่อสนับสนุนภารกิจของทภ.1/กกล.รส.ทภ.1 บริเวณพื้นที่ชุมนุมตามขั้นตอนของกฎการใช้กำลัง

2.8 สยก.ศอฉ.และสกร.ศอฉ. จัดชุดปจว.ทางอากาศปฏิบัติภารกิจโปรยเอกสารคำชี้แจงของศอฉ. สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่กลุ่มผู้ชุมนุม

2.9 หน่วยบินเฉพาะกิจศอฉ. จัดอากาศยานสนับสนุนภารกิจตามข้อ 2.7-2.8

3.มาตรการควบคุม

3.1 การใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน ให้ยึดแนวทางและขั้นตอนตามคำสั่งปฏิบัติการที่ 1/53-ศอฉ.ตามอ้างถึงในข้อ 1.2 อย่างเคร่งครัด

3.2 การใช้อาวุธ

3.2.1 อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธในการป้องกันตนเองและรักษาความปลอดภัยให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

3.2.2 การใช้อาวุธตามข้อ 3.2.1 ต้องเป็นการดำเนินการเมือง

3.2.2.1 เจ้าหน้าที่พบผู้กระทำผิดซึ่งหน้า โดยเป็นการทำเพื่อป้องกันตนเองและประชาชนที่ได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ไม่ให้ได้รับอันตราย

3.2.2.2 เป็นการป้องกันภัยอันตรายที่ใกล้จะมาถึง และเป็นอันตรายต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่หรือประชาชนที่ได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่

3.2.3 หากจำเป็นต้องใช้อาวุธแล้ว การใช้อาวุธต้องใช้ตามลำดับขั้นดังนี้

3.2.3.1 ขั้นที่ 1 ให้แจ้งเตือนด้วยวาจา เพื่อให้ผู้ก่อเหตุหยุดการกระทำดังกล่าว

3.2.3.2 ขั้นที่ 2 การยิงเตือนขึ้นฟ้า หรือเป็นการยิงในทิศทางที่ปลอดภัย

3.2.3.3 ขั้นที่ 3 การใช้อาวุธตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและสมควรแก่เหตุ

?อนุญาตให้ใช้อาวุธยิงได้

ส่วนอีกฉบับเป็นคำสั่งด่วนภายใน ลงวันที่ 13 เม.ย.53 จากศอฉ.ถึงผู้รับปฏิบัติ ใจความว่า

1. ตามที่ในห้วงเวลาได้มีกลุ่มติดอาวุธแฝงตัวเข้ามาในกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายด้วยการลอบยิงเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์นั้น

2. เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจของศอฉ.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์ จึงให้หน่วยพิจารณาใช้ปืนลูกซอง ซึ่งเป็นอาวุธที่ไม่ร้ายแรงและสามารถควบคุมการยิงได้ ในการป้องกันตนเองของเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยกำหนดแนวทางในการใช้ ดังนี้

2.1 ใช้อาวุธยิงเมื่อปรากฏภัยคุกคาม หรือกลุ่มติดอาวุธที่มีท่าทีคุกคามต่อชีวิตเจ้าหน้าที่หรือประชาชนผู้บริสุทธิ์

2.2 ให้ใช้อาวุธต่อเป้าหมาย ตามข้อ 2.1 ในระยะ 30-50 เมตร ทั้งนี้เพื่อเป็นการควบคุมวิถีกระสุนและควบคุมความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ให้สมควรแก่เหตุและห้ามใช้อาวุธต่อเป้าหมายที่เป็นผู้หญิงและเด็ก

2.3 การใช้อาวุธ ให้ดำเนินการโดยไม่มุ่งประสงค์ต่อชีวิตของเป้าหมาย ดังนั้นจึงให้เล็งส่วนล่างของร่างกาย (ตั้งแต่เข่าลงมา) เพื่อระงับ ยับยั้ง การกระทำของกลุ่มติดอาวุธซึ่งมีท่าทีคุกคามต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์

?ซ้ำรอยประวัติศาสตร์เลือด

เอกสารลับทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวจึงกลายเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่าศอฉ.ที่ตั้งโดยนายอภิสิทธิ์ มีนายสุเทพ เป็นผอ. ออกคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนปฏิบัติการในเมืองได้

แม้บางข้อจะกำหนดขั้นตอนปฏิบัติการเป็น 1-2 และ 3 หรือให้ใช้อาวุธปืนลูกซองยิงต่ำกว่าหัวเข่า

แต่ในข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นหลักฐาน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูง ซึ่งหน่วยแม่นปืนนิยมใช้สังหารฝ่ายตรงข้าม

และผู้เสียชีวิตจำนวนมากถูกยิงเข้าที่ศีรษะ!!!

รวมทั้งหลายศพมีพยานยืนยันว่าเจ้าหน้าที่เริ่มขั้นตอนด้วยกระสุนจริง และยิงจากปืนเอ็ม 16 ทันที

ที่สำคัญการอนุญาตให้ทหารซึ่งเป็น "นักรบ" เชี่ยวชาญการปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดน ไม่คุ้นเคยกับการควบคุมม็อบ ใช้อาวุธปืน และอาวุธหนักหลายชนิดเข้ามาปฏิบัติการในเมือง

ก็ไม่ต่างจากการออก "ใบอนุญาต" อันบานปลายควบคุมไม่ได้กลายเป็นการยิงการฆ่านั่นเอง

ประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ระเรื่อยมาถึง 6 ตุลา 19 และพฤษภาทมิฬ 35 ที่นักศึกษาและประชาชนต้องเสียชีวิตไปจำนวนมาก

ก็ล้วนแต่มีสาเหตุจากผู้มีอำนาจในห้วงเวลานั้นๆ ส่งทหารเข้ามารบกับม็อบทั้งนั้นมิใช่หรือ!??

ประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายเขามีไว้เพื่อให้จดจำ มิใช่ให้ทำตามซ้ำ
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น