คำพิพากษาศาลฎีกา ยกหัวหน้าคณะปฏิวัติ ขึ้นเป็น ‘พระราชา’...จริงหรือ!!!? | |
วาทตะวัน สุพรรณเภษัช บทความที่เขียนโดยอดีตผู้พิพากษาท่านหนึ่ง คือ คุณนคร พจนวรพงษ์ ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ‘มติชน’ รายวัน ฉบับประจำ วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ใช้ชื่อบทความว่า เมื่อผู้เขียนถูกคำสั่งของคณะรัฐประหาร บังคับให้เป็นตุลาการศาลทหาร น่าจะได้รับความสนใจจากผู้คน เพราะนอกจากลงตีพิมพ์แล้ว ยังได้ถูกนำมาพูดถึง และอ่านออกวิทยุบางสถานีด้วย ผู้เขียนบทความเล่าว่า เคยเป็นทนายความมาก่อน แล้วไปสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาได้ภายหลัง ระหว่างที่เป็นทนายความ ท่านแสดงทีท่าต่อต้านการรัฐประหาร โดยบอกว่า ...ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่รังเกียจและต่อต้านการยึดอำนาจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่เห็นด้วยกับประกาศหรือคำสั่งใดๆ ของคณะรัฐประหาร... ด้วยเหตุนี้เอง ระหว่างเป็นทนายความ คุณนครฯจึงไม่สนใจไม่ศึกษา และไม่ยอมที่จะปฏิบัติตามตำสั่งของคณะปฏิวัติ แต่ในฐานะทนายความ ต้องว่าความให้ลูกความที่ศาล ได้ทราบว่าประกาศต่างๆ ของคณะรัฐประหาร ผู้พิพากษาศาลไทยท่านยอมรับและปฏิบัติตามเสียแล้ว ตัวท่านเอง จะทำอย่างไรได้!? ท่านให้ความเห็นสำคัญ ว่า ผู้พิพากษาไม่ควรไปยอมรับอำนาจคณะรัฐประหาร และยังมีความเห็นเพิ่มเติมอีกคือ... ...บรรดานักกฎมายที่เข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร น่าจะกระทำไปเพราะผลประโยชน์ของตัวเองโดยสร้างกฎหมายออกมากดหัวกบาลประชาชน เพื่อสืบทอดอำนาจที่ชั่วร้ายต่อไป... คนเหล่านี้ใครเป็นใครบ้าง คุณนครฯบอกให้ไปดูหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่มีบันทึกเอาไว้แล้วทั้งนั้น! ผู้เขียนบทความยังเล่าต่อไปอีกว่า ต่อมาตัวท่านสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาได้ และเมื่อเป็นผู้พิพากษาเต็มตัวแล้ว ได้ย้ายไปรับราชการที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างอยู่ที่เชียงใหม่ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ แม่ทัพเรือและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินฉีกรัฐธรรมนูญ และประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ออกคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 1 และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 24 และฉบับที่ 29 ออกคำสั่งให้ คดีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐและความผิดที่มีโทษทางอาญาบางประเภท ให้ขึ้นต่อศาลทหาร และออกคำสั่งให้ผู้พิพากษาศาลอาญาและศาลจังหวัดทุกคนเป็น ตุลาการศาลทหาร ให้พนักงานอัยการเป็นอัยการทหาร ให้ใช้สถานที่ทำการศาลอาญาและสถานที่ทำการศาลจังหวัดทุกศาล เป็นที่ทำการศาลทหาร ให้คดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร เป็นคดีที่ห้ามอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหาร คุณนคร พจนวรพงษ์ ผู้เขียนบทความเลยต้องตกกระได พลอยเป็นโจร เพราะคำสั่งดังกล่าว แต่ท่านได้สรุปบทความว่า ผู้พิพากษายุคใหม่สมัยใหม่ ที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ สามารถต่อต้านด้วยสันติวิธี ด้วยการไม่ออกคำสั่งหรือวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ตามประกาศหรือคำสั่งใดๆ ของคณะรัฐประหารที่ประกาศใช้มาแล้ว และ/หรือจะพึงมีหรือเกิดขึ้นต่อไปอีกในอนาคต ‘วาทตะวัน’ อยากให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ! ผมเห็นว่า บทความของคุณนคร พจนวรพงษ์ น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะมีวัตถุประสงค์สนับสนุนผู้พิพากษารุ่นหลังจากท่าน ให้บังเกิดความกล้าหาญ ลุกขึ้นมาต่อสู้ กับกลุ่มบุคคลที่ยึดอำนาจไปจากประชาชนด้วยอย่างไม่เป็นธรรม แต่... ตัวคุณนครฯเอง ไม่เคยลุกขึ้นมาต่อสู้ และยอมเป็นตุลาการศาลของฝ่ายรัฐประหาร มาแล้วอีกด้วย! ตรงนี้เอง ผมอยากจะบอกกับคุณนคร ว่า เป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่ไม่ใช่เฉพาะคุณนครฯเท่านั้น แม้บรรดา ‘ท่านเปา’ คนอื่นๆ ในบ้านเมืองของเรา ก็ไม่เคยมีประวัติในการลุกขึ้นต่อสู้กับฝ่ายทหาร ที่ยึดอำนาจบ้านเมืองของเรา โดยปราศจากความชอบธรรม แม้แต่ครั้งเดียว ตราบจนกระทั่งเกิดปรากฏการณ์ของท่านผู้พิพากษาศาลฎีกา กีรติ กาญจนรินทร์! อย่างที่ผมเคยเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังไปแล้ว (ดูคอลัมน์ จดหมายฟ้องโลก!!! ท้ายบทความนี้) อยากจะเล่าให้คุณนครฯ ฟังเพิ่มเติมด้วยว่า หลังการปฏิวัติรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ผมได้เขียนบทความยุยงผู้พิพากษาทั้งหลาย ให้ท่านแข็งข้อต่อการรัฐประหาร หลายบทความ ลงในเว็บไซด์ผู้จัดการ เช่น “ผู้พิพากษาต้องเป็น ‘ธงนำ’ ในการต่อต้านรัฐประหาร” ซึ่งท่านหาอ่านได้ได้หนังสือ “รัดทำมะนวย ฉบับหัวคูณ” ส่วนบรรดาบทความอื่นๆ ที่มีทิศทางเดียวกัน ผมได้ให้รายละเอียด สำหรับผู้ที่สนใจจะทำการศึกษาค้นคว้า ไว้ท้ายบทความนี้แล้ว บทความ “ผู้พิพากษาต้องเป็น ‘ธงนำ’ ในการต่อต้านรัฐประหาร” ที่ผมเขียนนั้น ได้บรรยายถึงความเลวทราม ในการทำรัฐประหารยึดบ้านยึดเมือง แล้วในที่สุดหัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งเป็น ผบ.ทบ.ทั้งนั้น ล้วนแต่ต้องประสบชะตากรรมร้ายแรงต่างๆกันไป บ้างไปเสียชีวิตในต่างแดน เช่นจอมพล ป.พิบูลสงคราม ส่วนที่ถูกยึดทรัพย์ก็มีตัวอย่าง เช่น จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร แต่ที่อื้อฉาวมากที่สุด คือเจ้าของฉายา “จอมพลสะดือแตก” หรือ “จอมพลพันเมีย” เพราะมีเมียมากมายเหลือเกิน คนนั้นคือ “จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์” สำหรับบทความของ คุณนคร พจนวรพงษ์ น่าสนใจก็จริง แต่ผมว่ามันก็เป็นการยาก ที่จะให้ผู้พิพากษารุ่นน้องหรือรุ่นหลัง เชื่อตามคำแนะนำของคุณนครฯ เพราะต่างคนก็ล้วนแต่รักตัว กลัวภัยที่จะมาถึงตัวด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น แม้ตามหลักอินทภาษ ซึ่งวางวางหลักธรรมในการดำรงตน และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาตุลาการว่า จะต้องพิจารณาตัดสินอรรถคดี ด้วยความเที่ยงธรรม ปราศจากความลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใด อันเกิดจากอคติ 4 ประการ ได้แก่ ฉันทาคติ คือ ลำเอียงเพราะรักชอบ เห็นแก่อามิสสินบน โทษาคติ คือ ลำเอียงเพราะโกรธ ภยาคติ คือ ลำเอียงเพราะกลัว และ โมหาคติ คือลำเอียงเพราะหลง ‘ภยาคติ’ หรือความกลัวภัยนั้น เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ที่เลือกทางเอาตัวรอดไว้ก่อนดีกว่า ซึ่งไม่เว้นแม้แต่คนที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษา ดังนั้น การที่จะให้ผู้พิพากษาไทยเรา มีความกล้าหาญรักษาระบบประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องง่าย! อย่างไรก็ดี มี ‘ท่านเปา’ บางประเทศ เช่น ผู้พิพากษาปากีสถาน ซึ่งมีความกล้าหาญเพียงพอ ที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจไม่เป็นธรรม อย่างกล้าหาญชาญชัยยิ่งนัก ‘ท่านเปา’ ปากีสถานนั้น ได้ลุกขึ้นต่อต้าน อำนาจเถื่อนของทหาร จนต้องถูกปลดออกจากตำแหน่ง บางท่านถูกจับกุม คุมขัง แต่การต่อสู้ของท่านเหล่านั้น ก็ได้รับชัยชนะในที่สุด และได้กลับเข้ารับตำแหน่งเดิมทุกคน จนชาติต่างๆเขา พากันยกย่องในความความกล้าหาญ ของบรรดาท่านเปาปากีสถาน เป็นอย่างมาก สำหรับประเทศไทยนั้น ผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือ บอกว่าการที่จะให้ผู้พิพากษาบ้านเรา เป็น ‘ธงนำ’ ประชาชนชาวไทย ในการต่อสู้กับคณะรัฐประหาร อย่างที่ผมเขียนยุยงนั้น คงจะยากเย็นพอๆกับการ... บังคับผู้หญิง ให้ออกลูก...ทางตูด! คุณนครฯ คงจะทราบดีว่า บรรดาผู้พิพากษาก่อนท่าน ได้ยึดมั่นในคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 45/2496 และ 1663/2505 ซึ่งวางหลักเกณฑ์ว่า ทหารผู้ทำปฏิวัติสำเร็จเป็น “รัฐาธิปัตย์” ทำให้ฝ่ายทหารผู้ก่อการ บังเกิดความฮึกเหิม ได้ใจว่าการทำระยำ ด้วยการยึดอำนาจการปกครองบ้านเมือง เป็นความชอบธรรม เพราะ... ศาลฎีกาท่าน ‘ตีตรา’ รับรองให้แล้ว! ด้วยคำพิพากษาของศาลฎีกาอย่างนี้เอง ที่บรรดา ‘ท่านเปา’ รุ่นหลังๆจึง ‘ไม่หือ-ไม่อือ’ กับการรัฐประหาร จนมีสภาพเป็นศาลใต้อำนาจเถื่อนอย่างแท้จริง ถึงกับออกคำพิพากษาศาลฎีกา โดยใช้คำว่า “รัฐาธิปัตย์” อย่างเต็มปากเต็มคำ ทั้งๆที่คำๆนี้ ไม่ใช่ภาษาไทย และไม่มีอยู่ในพจนานุกรมฉบับใดๆของประเทศนี้ด้วย ซึ่งผมได้เขียนบทความ ตั้งข้อสงสัยว่า ในเมื่อกฎหมายบอกว่า คำพิพากษาต้องทำเป็นภาษาไทย ก็แล้วคำๆนี้ มันไม่มีอยู่ในภาษาของเรา แล้วเหตุไฉนผู้พิพากษาศาลฎีกาในอดีต ดันยกคำๆนี้ ขึ้นมากล่าวอ้างในคำพิพากษา ได้อย่างไรกัน!? เมื่อผมตั้งข้อสงสัยในเรื่องนี้ไป ก็มีเว็บไซด์พุทธธรรมสาร ได้นำไปวิพากษ์วิจารณ์ (แต่ไม่ปรากฏนามผู้เขียน) โดยแจกแจงความหมายดังต่อไปนี้ รัฐาธิปัตย์ พุทธธรรมสาร บทความทั่วไป >> รัฐาธิปัตย์ ศุกร์ ที่ 30 เดือน กรกฎาคม พ.ศ.2553 มีศัพท์ใหม่มาให้วิจารณ์อีกแล้ว "รัฐาธิปัตย์" มันคืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร ? ศัพท์ ๆ นี้. ผมได้ไปอ่านคอลัมน์ ชื่อ "วิบากกรรมของ ป.ป.ช. เห็นทีจะต้องคืนเงิน อย่างนั้นหรือ?" ของคุณ วาทตะวัน สุพรรณเภษัช จากหนังสือ ประชาทรรศน์รายสัปดาห์ ก็เกิดความสนใจในคำว่า "รัฐาธิปัตย์" มีหลายคนหลายท่านไปหาดูในพจนานุกรมว่า คำนี้มีความหมายว่าอย่างไร แต่ก็ปรากฏว่า ศัพท์นี้ท่านไม่ได้เขียนไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่จะมีอยู่ในที่อื่นอย่างไรผมก็ไม่อาจทราบได้ อย่างไรก็ตามผมดูแล้วว่า ศัพท์นี้ มันเป็นภาษาบาลีแน่นอน ในฐานะที่พอจะรู้บาลีพอสมควร ก็เลยจะลองแยกแยะ และหาความหมายของศัพท์นี้มาชี้แจงแถลงไขให้ดู พอหอม(ตรง)ปากและหอม(ตรง)คอ คำว่า "รัฐาธิปัตย์" หากเขียนตามภาษาบาลี จะเขียนว่า "รฏฺฐาธิปตฺย" (รัด-ถา-ทิ-ปะ-ตะ-ยะ เวลาออกเสียง ตะ ออกได้เพียงแค่ครึ่งเสียง คือให้ออกเสียงเร็ว ๆ คือลักษณะ ตฺ คล้าย ๆ กับว่า เป็นตัวสะกดของ ป นิดหนึ่ง และออกเสียงว่า ตะ นิดหนึ่ง) ตามรูปศัพท์เดิมจะเขียนว่า "รฏฺฐาธิปติ" (รัด-ถา-ทิ-ปะ-ติ) ใน ทางไวยกรณ์บาลี ท่านจะเขียน ฏ ซ้อนหน้า ฐ เสมอ แต่ภาษาไทยเราก็ตัด ฏ ออก ไม่ทราบเหตุผลกลใด บางครั้งการตัดพยัญชนะตัวใดตัวหนึ่งออก ทำให้คำอ่าน หรือเนื้อความเสียหายไปก็มี อย่างเช่นคำที่ว่านี้ รัฐาธิปัตย์ (จะให้อ่านว่าอย่างไร? รัด-ถา, หรือ ระ-ถา ถ้าอ่านว่า รัด-ถา ก็หมายความว่า ฐ ทำหน้าที่ 2 อย่าง คือเป็นทั้งตัวสะกด และเป็นตัวของตัวเอง คือ ฐา ข้อนี้ทำให้เกิดการลักลั่นในการอ่าน, ถ้าเขียนว่า รัฏฐาธิปัตย์ ก็จะอ่านว่า รัด-ถา-ธิ-ปัด ได้เลย และถือว่าเขียนไม่ผิด อ่านไม่ผิดด้วย. อีกอย่างหนึ่ง การเขียนให้ครบเต็มตามรูปศัพท์เดิม คือ รัฏฐาธิปัตย์ นี้ ก็จะทำให้ทราบที่ไปที่มาของศัพท์ได้ด้วย ว่ามีการทำตัวศัพท์ สำเร็จรูปมาอย่างไร. (นี่เป็นเพียงข้อสังเกตเล็กน้อยของผู้เขียนเท่านั้น) จากศัพท์ว่า รฏฺฐาธิปติ กลายเป็น รฏฺฐาธิปตฺย ได้นั้น ก็เป็นไปด้วยอำนาจของไวยากรณ์บาลี คือท่านสามารถให้แปลง อิ เป็น ย ได้ อย่างศัพท์ว่า รฏฺฐาธิปติ เมื่อแปลง อิ ที่ ติ (รฏฺฐาธิปติ) เป็น ย แล้ว รูปศัพท์ก็จะเป็น รฏฺฐาธิปตฺย จะสังเกตเห็นว่า ข้างล่างของ ตฺ จะมีจุดดำๆ เล็ก ๆ อยู่ ก็เป็นการบอกให้ทราบว่า ตอนนี้ ตฺ ไม่มีสระอาศัยแล้ว หมายความว่า สระ อิ ได้ถูกแปลงเป็น ย ไปแล้ว. ทีนี้พอมาเขียนเป็นภาษาไทย ท่านก็จัดการเลย ลบ ฏ ออก ใส่ไม้หันอากาศ ตรง ร, ป แล้วก็ใส่ไม้ทัณฑฆาตตรง ย เพื่อไม่ให้ ย อ่านออกเสียงได้ ก็เลยได้ศัพท์เป็น "รัฐาธิปัตย์" ในภาษาบาลีนั้น การแปลง สระ ให้เป็นพยัญชนะนั้น มีหลายอย่างด้วยกัน เช่น - แปลง อิ เป็น ย - แปลง อี เป็น เอ แล้ว เอา เอ เป็น อย ก็ได้ เช่น นายก มาจาก นี + ณฺวุ (เอา อี เป็น เอ แล้วเอา เอ เป็น อย = นย (นะ-ยะ), แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ) อำนาจปัจจัยที่เนื่องด้วย ณฺ ให้ทีฆะ นย เป็น นาย + อก สำเร็จรูปเป็น นายก (นา-ยก แปลว่า ผู้นำ) - แปลง อุ เป็น วฺ เช่น ธนฺวาคม (ธันวาคม) มาจาก ธนุ + อาคม เอา อุ ที่ นุ เป็น ว = ธนฺว + อาคม สำเร็จรูปเป็น ธนฺวาคม (ธันวาคม = เดือนเป็นที่มาแห่งธนู) - แปลง อู เป็น โอ แล้วเอา โอ เป็น อฺว - ...... ฯลฯ..... เมื่อมาแยกศัพท์ออก ดูความหมายทีละศัพท์ ก็จะได้เป็น รฏฺฐ (รัด-ถะ) + อธิปติ (อธิปัตย์) คำว่า "รฏฺฐ หรือ รัฏฐ" นี้ ตามรูปศัพท์ แปลว่า แว่นแคว้น ซึ่งมีพระราชาเป็นผู้ปกครอง. จึงมีศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระราชา เช่น ศัพท์ ว่า รฏฺฐาธิโป (รัด-ถา-ธิ-โป) ก็คือ รัฏฐาธิป = ผู้เป็นใหญ่ในแว่นแคว้น ในที่นี้มุ่งหมายเอาพระราชา ตามคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา, ในคัมภีร์อื่น ๆ เช่น กัจจายนะ, ปทรูปสิทธิปกรณ์, สัททนีติสุตตมาลา แสดงความหมายของคำว่า "รฏฐ" ว่า สถานที่อันเป็นที่ยินดีของประชาชน ท่านแสดงวิเคราะห์ศัพท์ไว้ว่า "รญฺชนฺติ เอตฺถาติ = รฏฺฐํ ประชาชนทั้งหลาย ย่อมยินในสถานที่นั้น เหตุนั้น สถานที่นั้น จึงชื่อว่าเป็นที่ยินดีของประชาชน (แว่นแคว้น) รากศัพท์เดิม มาจาก รนฺช ธาตุ ซึ่งเป็นไปในความกำหนัด ยินดี, ฐ ปัจจัย. ส่วนศัพท์ว่า อธิปติ หรือภาษาไทยเรานำมาใช้เป็น อธิบดี นั้น แยกออกเป็น 2 ศัพท์ คือ อธิ + ปติ (บดี), อธิ แปลว่า ยิ่ง เกิน ล่วง, ส่วนคำว่า ปติ (บดี) แปลว่า เจ้า ผัว (สามี =เจ้าของ) เมื่อรวมกันแล้วก็แปลว่า เจ้าใหญ่นายโต ก็แล้วกัน 555 !. คำว่า "รัฐาธิปัตย์" นั้น ที่มาของศัพท์พอคร่าว ๆ ก็ว่าไปแล้ว ทีนี้ศัพท์นี้ เมื่อนำมาใช้ในทางโลก มีผู้นำไปกล่าวทำนองว่า "ข้าพเจ้าคือรัฐาธิปัตย์ หรือเป็นรัฐาธิปัตย์" นี่ มันหมายความว่าอย่างไร คำแปลนี่ก็แปลกันได้อยู่แล้วละครับว่า "ผู้เป็นใหญ่ในแว่นแคว้น" ในทางโลกเขาจะหมายถึงใครก็แล้วแต่ แต่ถ้าพูดถึงในทางพุทธศาสนา ในฐานะที่ศัพท์นี้เป็นศัพท์ที่มาจากภาษาบาลี ก็หนีความเป็นศัพท์ในทางพุทธศาสนาไปไม่พ้น คือมีคำที่ทำนกล่าวไว้ว่า "ภาษาบาลีอยู่ที่ใด พุทธศาสนา ก็อยู่ที่นั่น, พุทธศาสนาอยู่ที่ใด ภาษาบาลีก็อยู่ที่นั่น" ฉะนั้น คำว่า รัฐาธิปัตย์ นี้ จึงมีความหมายว่า "ผู้เป็นใหญ่ในแว่นแค้วน, หรือ ผู้เป็นใหญ่แห่งแว่นแคว้น" ซึ่ง มุ่งหมายเอา ‘พระราชา’ เท่านั้น!!! หมายความว่า แว่นแคว้นใด ที่มีการปกครองโดยพระราชา มีพระราชาเป็นประมุข แว่นแคว้นนั้นก็จัดได้ว่ามีพระราชาเป็นใหญ่. อีกประการหนึ่ง คำว่า รัฐ นี้ มีความหมายว่า "ประชาชน" หมายถึงประชาชนทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในสถานที่นั้น ๆ ซึ่งพระราชาทรงมีพระอำนาจในการปกครองดูแล คือมีพระอาญาครอบงำชนเหล่านั้นได้ เวลาที่ท่านให้ความหมายของคำว่า "ราชา" จึงตั้งวิเคราะห์ศัพท์ว่า "สงฺคหวตฺถูหิ รฏฺฐํ รญฺเชตีติ = ราชา ผู้ใดทำ ให้ชาวแว่นแคว้นทั้งหลาย ชื่นชมยินดีด้วย สังคหวัตถุทั้งหลาย ผู้นั้น ชื่อว่า ราชา. ท่านผู้อ่าน ที่เคารพครับ เมื่อได้ความตามภาษาบาลี ที่เทียบเคียงกันแล้ว ผมจึงขอถามท่าน นคร พจนวรพงษ์ผู้เขียนคอลัมน์ใน ‘มติชน’ อย่างตรงไปตรงตรงมา ว่า ผู้พิพากษารุ่นก่อนท่าน ได้ใช้คำ “รัฐาธิปัตย์” ที่ไม่มีอยู่ในภาษาไทย ในคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งเป็นผลพวงให้บรรดา ‘ท่านเปา-ไทยแลนด์’ รุ่นต่อมา ก็ใช้คำๆนี้ อย่างไม่เก้อเขิน! จนกระทั่งท่านผู้รู้ภาษาบาลี ได้มาอธิบายความ แต่กว่าจะอธิบายความหมายของคำนี้ได้ ก็ต้องกล่าวเท้าความกันอย่างยืดยาว ดังที่ผมได้นำมาเสนอท่านผู้อ่านแล้ว สรุปลงตรงที่ว่า “รัฐาธิปัตย์” แปลว่า “พระราชา” นั่นหมายความว่า... ไอ้หัวหน้าคณะรัฐประหารระยำ ที่มันเข้าปล้นอำนาจ ไปจากประชาชนชาวไทย นั้น... มันได้รับการสถาปนา ด้วยคำพิพากษาศาลฎีกา ให้เป็น “พระราชา” ขึ้นมาอีกองค์หนึ่ง อย่างนั้น...ใช่ไหม? ถามแบบหาเรื่อง ฉลอง ‘คริสต์มาส’ กันอย่างนี้แหละครับ... ...ใครจะทำไม!!!? ........... ท้ายบท ท่านสามารถอ่านบทความ ของ ‘วาทตะวัน’ ที่เกี่ยวข้องกับศาลและผู้พิพากษา มีดังต่อไปนี้ - ตุลาการวิบัติ” หรือ “ตุลาการวิบัติ-ฉิบหาย”กันแน่!? (http://www.vattavan.com/detail.php?cont_id=258) (***บทความประจำสัปดาห์ ตอน หัวหน้าคณะปฏิวัติ เป็น ‘พระราชา’ อีกองค์หนึ่ง...จริงหรือ!!!? ออนไลน์วันเสาร์ ที่ 24 ธันวาคม 2554) | |
http://redusala.blogspot.com |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น