วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554


เพื่อไทยกับประชาธิปไตย


ข้อมูลบทความ จาก Blog Voice TV โดยคุณ ใบตองแห้ง)


            พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษมีผลบังคับใช้แล้ว ทักษิณไม่ได้กลับมางานแต่งลูกสาว กลายเป็นนาธาน กับเสริม สาครราษฎร์ ได้รับอิสรภาพ (หมอหัวฟูอยู่หนายยย ลูกศิษย์คิดถึงมากกก)

            กี้ร์ อริสมันต์ กลับมามอบตัว แต่ศาลเห็นว่าหลบหนี เลยไม่ให้ประกัน (มอบตัวแปลว่ากลับจากหลบหนี) ทนายก็เลยไม่ยื่นขอประกัน ให้นอนคุก 5 วันเป็นเพื่อนมวลชนเสื้อแดง ใครจะว่าดรามาหรือเปล่าไม่ทราบ ที่แกนนำ นปช.เข้าคุกในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ที่แน่ๆ คือ ดีเจเสื้อแดงโดนจับไปอีกคนที่มุกดาหาร หลังจากหลบหนีไปพักหนึ่ง ด้วยความเข้าใจว่ารัฐบาลของคนเสื้อแดงชนะ ก็กลับมาโดนดีเอสไอจับ

            ถัดจากคดีอากง ก็คือ โจ กอร์ดอน ติดคุกตามมาตรา 112 ไปอีกราย ในความผิดฐานแปลหนังสือต้องห้ามเผยแพร่ในเน็ต ขณะที่ อ.สุรพศ ทวีศักดิ์ หรือ “นักปรัชญาชายขอบ” แห่งเว็บประชาไทโดนแจ้งจับที่ร้อยเอ็ด สหประชาชาติ ประชาคมยุโรป โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และองค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลก วิพากษ์วิจารณ์ 112 แต่รัฐบาลกลับตั้งคณะกรรมการปราบเว็บหมิ่นสถาบัน (โดยมีออเหลิมเป็นประธาน หลังจากไปกินข้าวกับประยุทธ์ จันทร์โอชา) รัฐมนตรีไอซีทีตั้งหน้าตั้งตาล่าแม่มดแข่งกับรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ จนมวลชนเสื้อแดงสับสนว่า ใครเป็นรัฐมนตรีไอซีทีกันแน่ อนุดิษฐ์ นาครทรรพ หรือปราโมทย์ นาครทรรพ (เหมือนที่ผมสับสนว่าใครเป็นผู้กำกับละครสี่แผ่นดิน ผมนึกว่าสุรวิชช์ วีรวรรณ)

            กระแสร้อนเรื่อง 112 ไม่มีแกนนำ นปช.คนไหนกล้าเอ่ยปากสักแอะ แม้ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ พูดว่าจะเดินหน้าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ พร้อมกับแก้ ม.112 พ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหม พ.ร.บ.ความมั่นคง แต่น้ำเสียงไม่แน่วแน่ เพราะถ้าแน่วแน่ ก็ต้องกล้าวิพากษ์วิจารณ์กว่านี้ แถมยังสับสน บอกจะแก้รัฐธรรมนูญตามแนวทางหมอเหวงบวกนิติราษฎร์ ไม่รู้บวกกันได้ไง เพราะหมอเหวงให้เอารัฐธรรมนูญ 40 คืนมา แต่นิติราษฎร์ให้ร่างใหม่

            ท่าทีหลายๆ อย่างของรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.กำลังทำให้มวลชนส่วนหนึ่งเริ่มอึดอัด ไม่พอใจ และตั้งข้อกังขาว่ากำลังมีการ “เกี้ยเซี้ย” เพื่อแลกกับการเอา “นายใหญ่” กลับบ้านหรือเปล่า

112 ประเด็นตอกย้ำ
            การออกหมายเรียก อ.สุรพศ ทวีศักดิ์ โดยตำรวจร้อยเอ็ด ตอกย้ำปัญหาของ ม.112 ที่ใครก็แจ้งจับได้ (กรณีนี้เป็นพันธมิตรผู้ถกเถียงกับ อ.สุรพศในเว็บบอร์ดอยู่เสมอ) เมื่อมีคนแจ้งจับแล้ว ตำรวจก็มักไม่กล้าตัดสินใจที่จะชี้ว่าไม่มีมูล เพราะกลัวจะถูกหาว่าไม่จงรักภักดี และผู้จงรักภักดีจะไม่ชอบหน้า มีผลกระทบต่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิตราชการ
             ไม่ใช่แค่ตำรวจ แต่รวมถึงบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ที่ขอแสดงท่าที “จงรักภักดีไว้ก่อน” เพื่อ safe ตัวเอง การใช้วิจารณญาณในคดี 112 จึงแตกต่างจากคดีอาญาอื่นๆ

            อานันท์ ปันยารชุน ยอมรับว่า 112 มีปัญหาการบังคับใช้ ที่ใครก็แจ้งความได้ แต่จริงๆ มันไม่ใช่แค่ปัญหาการบังคับใช้ แต่มันเป็นปัญหาเชิงอุดมการณ์ ความผิดตาม ม.112 ใครก็แจ้งจับได้เพราะถูก
            บัญญัติไว้ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ เป็นกฎหมายตกทอดจากอุดมการณ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์คือรัฐ แต่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์กรหนึ่งของรัฐ แม้ควรได้รับความคุ้มครองในฐานะประมุข แต่ไม่ใช่การกระทำความผิดต่อประมุขจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐทุกเรื่องไป (อ.วรเจตน์เคยแยกแยะตัวอย่างเช่น การลอบปลงพระชนม์ ต้องถือเป็นความผิดต่อความมั่นคง แต่การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ไม่ควรไปไกลถึงขั้นกระทบความมั่นคงของรัฐ)

            อุดมการณ์ที่มีผลต่อการบังคับใช้ 112 ยังแสดงออกในการตีความความผิดฐาน “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์” จนขยายความเป็นการกระทำใดที่เพียงไม่เหมาะสมก็ถือเป็นความผิด ขยายความกว้างกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ที่กำหนดว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท”

              ข้อที่ผมกังขาในคดี โจ กอร์ดอน คือหนังสือ The King Never Smile ซึ่งเป็น “หนังสือต้องห้าม” นั้นมีข้อความ “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” หรือไม่  ผมก็ไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ (ไม่ทราบว่าอ่านแล้วจะมีความผิดหรือเปล่า ใต้เท้าที่เคารพ) แต่เท่าที่เคยอ่านบทวิจารณ์ของ ส.ศิวรักษ์ หนังสือ The King Never Smile มีทั้งข้อเขียนในด้านดีและบทวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งข้อมูลบางส่วนผิดพลาดสับสน แต่นั่นคือสไตล์การเขียนหนังสือชีวประวัติแบบฝรั่ง ซึ่งเขาสามารถเขียนชีวประวัติบุคคลสาธารณะได้ตามทัศนะคนเขียน ไม่หมิ่นประมาท และเจ้าตัวก็ห้ามไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลสำคัญหรือดาราเซเลบส์ ตั้งแต่ไดอานาไปถึงแองเจลินา โจลี บางเรื่องโด่งดังก็เอามาสร้างเป็นหนัง แต่งเติมสีสันเขียนบทให้มันดรามาแอคชั่นกันตามใจชอบ ต่างกับวัฒนธรรมไทย จำได้ว่าเคยมีผู้กำกับหนังจะทำหนังประวัติศาสตร์ยุคก่อน 2500 แต่ทายาทผู้นำขู่ฟ้องร้อง

           ผมนึกถึงหนังและละคร The King and I ซึ่งเคยเป็นหนังต้องห้าม ผมอยากดูตั้งแต่สมัยวัยรุ่น มาได้ดูเอาราวๆ พ.ศ.2530 ยุคที่ยังไม่มีการเซ็นเซอร์วีดิโอ ดูแล้วก็ไม่เห็นมีอะไร เป็นแค่เรื่องแต่งเหลวไหล ดูไปก็หัวเราะไปว่านี่หรือละครบรอดเวย์ที่โด่งดังนักหนา

           แต่ถามว่า The King and I หมิ่น ร.4 ไหม ผมไม่เห็นว่า “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” ตรงไหน ก็แค่มันผิดเพี้ยนจากความจริงไปไกล แบบว่าฝรั่งที่ดูหนังหรือดูละครเรื่องนี้ แล้วจะเข้าใจเมืองไทยไปอีกอย่าง มาเห็นความจริงแล้วเป็นอีกอย่าง

            หนังสือที่เขียนถึงในหลวง นอกจาก The King Never Smile ยังมี The Revolutionary King อีกเล่ม ซึ่ง ส.ศิวรักษ์และคนที่ได้อ่านวิจารณ์ว่าเป็นนิยาย เขียนไม่ดี เต็มไปด้วยข้อมูลผิดพลาด

             แต่ประเด็นที่น่าคิดคือ หนังสือทั้งสองเล่ม ในหลวงพระราชทานสัมภาษณ์ วิลเลียม สตีเฟนสัน และพอล แฮนด์ลีย์ ทรงให้ข้อมูลหลายเรื่องที่เราชาวไทยไม่เคยได้ฟังมาก่อน (เช่น ส.ศิวรักษ์เขียนไว้ว่า ทรงให้สัมภาษณ์สตีเฟนสัน ว่าจำเลย 3 คนที่ถูกประหารชีวิตในคดีลอบปลงพระชนม์ ร.8 เป็นผู้บริสุทธิ์ เช่นเดียวกับ อ.ปรีดี)  ประเด็นน่าคิดก็คือ ในหลวงเป็นปราชญ์ ทรงอ่านหนังสือฝรั่งมาก็มาก พระองค์ท่านไม่ทรงทราบหรือว่านักเขียนฝรั่งจะเอาไปเขียนอย่างไร ไม่น่าใช่ ผมเชื่อว่าพระองค์ทรงทราบดี แต่ทรงมีพระทัยกว้างพอที่จะให้พวกเขาเอาไปเขียนอย่างอิสระ ขณะที่สังคมไทยยอมรับไม่ได้กับการเขียนหนังสือถึงพระมหากษัตริย์แบบนั้น

            คำถามทางกฎหมายคือ The King Never Smile ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย จริงๆ หรือ หรือแค่มีข้อมูลผิดพลาดและเนื้อหาบางส่วนไม่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย (คำว่าต้องห้ามกับหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายที่ห่างกันไกลนะครับ)

            ศาลได้พิเคราะห์แล้วหรือไม่ว่า เนื้อความใน The King Never Smile ตอนใดเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ก่อนจะตัดสินลงโทษผู้แปล

           นี่ก็เป็นปัญหาของ 112 อีกประการคือ สื่อไม่สามารถเผยแพร่ได้ว่า การกระทำอย่างไร ใช้ถ้อยคำอย่างไร หรือส่ง SMS ว่าอะไร ใครเผยแพร่ก็ผิดไปด้วย

            เสียดายนะครับที่คดีโจ กอร์ดอน ไปไม่ถึงศาลฎีกา เพราะเจ้าตัวชิงสารภาพก่อน โดยเชื่อว่ารีบทำให้คดีสิ้นสุด แล้วขอพระราชทานอภัยโทษ จะใช้เวลานอนคุกน้อยกว่า หลังได้รับอภัยโทษก็บินกลับอเมริกา (และคงไม่มาอีกเลย)

            นี่ก็เป็นปัญหาของ 112 อีก คือเมื่อจำเลยมักไม่ได้รับการประกันตัว และเมื่อคดีสิ้นสุดก็มักได้รับพระราชทานอภัยโทษ จึงทำให้ไม่มีใครอยากสู้คดี จนมีคำตัดสินของศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐาน เพราะทำอย่างนั้นกว่าคดีจะสิ้นสุดก็ติดคุก 4-5 ปี

            มีแต่ดา ตอร์ปิโด กับอากง ที่ใจเด็ด ขอสู้ให้ถึงที่สุด

มีอำนาจลืมเสรีภาพ
            112 เป็นเพียงประเด็นหนึ่งที่ทำให้เห็นว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่กล้า หรือจริงๆ แล้วก็คือไม่ได้มีจุดยืนที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งที่เป็นรัฐบาลซึ่งได้ชัยชนะมาจากชีวิตเลือดเนื้อของมวลชนเสื้อแดง

            ที่จริงผมไม่ได้หวังว่ารัฐบาลจะมาเป็นตัวตั้งตัวตีแก้ 112 แต่นอกจาก 112 ยังมีกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพอีกมากมาย ตั้งแต่ พรก.ฉุกเฉินที่ใช้ปราบมวลชนเสื้อแดง พรบ.ความมั่นคง ที่ให้อำนาจ
             กอ.รมน.เป็นรัฐซ้อนรัฐ สอดส่องควบคุมการเคลื่อนไหวมวลชน รวมทั้ง พรบ.คอมพิวเตอร์ ที่มีจุดประสงค์ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ “สื่อใหม่” ทางอินเตอร์เน็ต (ทั้งที่สื่ออินเตอร์เน็ตคือเครื่องมือลดอิทธิพลสื่อกระแสหลัก ที่จ้องล้มรัฐบาลนี้)  แต่แทนที่รัฐบาลจะกระตือรือร้นหรือมีแนวคิดที่ชัดเจนในการแก้ไข กลับไม่แสดงท่าที และเอามาใช้ด้วย

             โถ ก็ดูกรณีนักร้องดังถูกเมียแพร่ภาพคล้ายกับเสพย์อะไรบางอย่างในเฟซบุค ตำรวจบอกว่าหลักฐานไม่พอ ผบ.ตร.พี่เมียอดีตนายกฯ กลับจะไปเอาผิดเมียตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ ชาวบ้านชาวช่องวิพากษ์ วิจารณ์กันอื้ออึงว่าท่านโดน “ข้าวสารเสก” มาหรือเปล่า  แน่นอนว่ารัฐบาลอยากแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อ “ลบล้างอำมาตย์” ลดอำนาจองค์กรอิสระ ลดอำนาจแฝงของตุลาการที่เป็นผู้สรรหาวุฒิสมาชิกและองค์กรอิสระ รัฐบาลอยากแก้ พรบ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม เพื่อกลับมามีอำนาจเต็มในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร
             นั่นเป็นเป้าหมายตรงกันกับผู้รักประชาธิปไตย แต่ปัญหาคือ รัฐบาลไม่มีความมุ่งหมายไกลกว่านั้น

            นักวิชาการบางท่านบอกว่ารัฐบาลไม่มี Mandate ผมเถียงว่าความจริงมี คือเอาทักษิณกลับบ้าน (ฮา) กับพยายามรักษาอำนาจให้ได้ยาวนานที่สุด กองเชียร์รัฐบาลอาจเถียงว่า มีความจำเป็นต้องประนีประนอม ต้องกินทีละคำ ทำทีละอย่าง สมมติเช่นจะมาแก้ 112 ทันทีไม่ได้หรอก ใช่ครับ แต่ต้องแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าพร้อมจะเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่มาประกาศปราบเว็บหมิ่นสถาบันแข่งกับประชาธิปัตย์ ถ้าคุณมีจุดยืน แต่จำเป็นต้องประนีประนอม คุณก็ต้องพูดให้ชัดว่าปัญหาเกิดขึ้นเกิดเพราะการอ้างอิงสถาบันมาใช้เป็นประโยชน์ทางการเมือง ต้องช่วยกันยกสถาบันออกจากความขัดแย้ง แล้วเว็บหมิ่นทั้งหลายก็จะลดลง ระหว่างนี้ รัฐบาลก็จะดูแลตักเตือน ถ้าไม่ไหว ต้องดำเนินคดีก็ดูแลไม่ให้กลั่นแกล้งกัน กลั่นกรองให้แน่ชัดก่อนส่งฟ้อง เพราะการดำเนินคดีมากเกินไป ก็มีผลกระทบต่อสถาบัน
             เฮ้ย พูดให้เป็นก็พูดได้ ไม่จำเป็นต้องจำขี้ปากปราโมทย์ นาครทรรพ มาพูด

             หรืออย่างการดำเนินคดี 91 ศพ อ้าว พอไก่อูซัดทอดอภิสิทธิ์ สุเทพ ทหารก็ลอยนวล คนบางขุนเทียนนับญาติกันถึงยาย (ลืมไปแล้วที่ก่อนเลือกตั้งออกมาประกาศปาวๆ อย่าเลือกพรรคล้มสถาบัน) เปล่า ผมไม่ได้พูดเฉพาะตัวบุคคล แต่การชำระสะสางกรณีเข่นฆ่าประชาชน มันต้องพูดถึงการปฏิรูปกองทัพ พูดถึงการแก้ไข พรก.ฉุกเฉิน พรบ.ความมั่นคง ที่ฟื้น กอ.รมน.มาเป็นเครื่องมือของทหาร
             หรืออย่างศาลยกฟ้องมวลชนเสื้อแดง 6 คนคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ แต่จำคุก 6 เดือนฐานฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน โดยจำเลยติดคุกมาปีครึ่ง ไม่ได้ประกัน เท่ากับติดฟรี 1 ปี นี่เป็นประเด็นที่ต้องพูดถึงการปฏิรูปศาล ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ใครจะชดใช้ให้เขา กับเสรีภาพที่ต้องสูญเสียไป 1 ปีเต็ม เพราะศาลไม่ให้ประกัน ศาลผู้สูงส่งเคยรับผิดชอบอะไรไหมกับการที่คนบริสุทธิ์สูญเสียเสรีภาพ ไม่ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย

            ในขณะที่นักคิดนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย เคลื่อนไหวนำหน้ากันไปไกลแล้ว ท่าทีของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย เหมือนไม่ได้มีความรู้สึกรู้สาอะไรเลย ถ้าไม่มี นปช.ออกมาแสดงบทบาทเชิงพิธีกรรม รัฐบาลนี้ก็แทบไม่มีอะไรบ่งบอกว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากชีวิตเลือดเนื้อของมวลชน ไม่มีอะไรต่างจากรัฐบาลนักการเมืองทุกชุด
            ผมไม่ได้คัดค้านการปรองดอง หรือแม้แต่การ “เกี้ยเซี้ย” ตั้งอำมาตย์มาร่วมงานแก้ไขปัญหาของชาติ นั่นเป็นด้านดี อำมาตย์ดีๆ มีความสามารถก็เยอะ การสร้างความปรองดองร่วมมือกันแก้ไขปัญหาควรจะเป็น Mandate ของรัฐบาล แต่ที่ต้องควบคู่กันคือการปรองดองบนหลักการประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ

           ที่พูดนี่ไม่ใช่ว่าแกนนำ นปช.ก็จะเข้าท่าเข้าทีอะไร เพราะพอเป็น ส.ส.ก็กลายเป็น “ลูกพรรค” กันไปหมด นอกจากบทบาทยกมือเป็นฝักถั่วแล้ว ไอ้ที่จะเคลื่อนไหวผลักดันอะไรก็ไม่จริงจังซักเท่าไหร่

           ส่วนพรรคไม่ต้องพูดถึง พรรคเพื่อไทยจริงๆ น่าจะเหลือ “เด็จพี่” อยู่คนเดียวในฐานะโฆษกพรรค ที่เหลือก็เป็นห้องรกร้างว่างเปล่า พรรคไม่ได้มีบทบาททางนโยบาย ไม่ว่าจะนโยบายประชาธิปไตย
            นโยบายการศึกษา นโยบายสาธารณสุข หรือการปฏิรูปเศรษฐกิจด้านต่างๆ กลายเป็นเรื่องของนักการเมืองเจ้ากระทรวง ที่แบ่งเค้กกันไปเรียบร้อยแล้ว

             ปัญหาของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างที่เห็นตั้งแต่ตอนตั้ง ครม.ต่างตอบแทน ของนายใหญ่ นายหญิง ของเจ๊ ของเสี่ย นักการเมืองพรรคเพื่อไทยจำนวนไม่น้อยไม่ได้ตระหนักว่าตัวเองได้เสวยอำนาจ เพราะมวลชน แถมยังรำคาญเสื้อแดง แอนตี้แกนนำ นปช.กลัวโดนแย่งตำแหน่ง
              พรรคเพื่อไทยจึงขับเคลื่อนอะไรไม่ได้ ทุกอย่างไปรวมศูนย์ที่ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ และขึ้นกับใครเข้าถึงยิ่งลักษณ์-ทักษิณ (หรือจะให้เจ๊แดงมาร่วมขับเคลื่อนนโยบาย-ฮา)

             ขณะที่ นปช.ก็สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง แม้ก่อนนี้จะถูกมองว่าขึ้นกับนายใหญ่ แต่ก็ยังมีการขับเคลื่อนที่เป็นตัวของตัวเองค่อนข้างสูง จนกระทั่งมาอยู่ใต้พรรคกับรัฐบาล

            ขอเตือนว่าปรากฏการณ์นี้จะดำรงอยู่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะมวลชนที่เริ่มอึดอัด ไม่พอใจ มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเว็บบอร์ดเสื้อแดงตอนนี้ก็เริ่มด่ารัฐมนตรีหลายคน ตั้งแต่รัฐมนตรีล่าแม่มด ไปถึงรัฐมนตรีหญิงที่ถูกตั้งฉายาว่า “อีเฉย” (เล่นเน็ตไม่เป็น IF ประชาทอล์ค พันทิพ ไม่รู้จัก เฟซบุค ทวิตเตอร์ ไม่มีใช้ จบบัญชีแต่ยังใช้ลูกคิดอันเก่าของเตี่ยอยู่เลย ฯลฯ...อย่างฮา) ตบท้ายด้วย “เจ๊แดง...เด็กเจ๊มันไม่ทำงาน เปลี่ยนตัวด่วน” (ล่าสุดด่าสื่อเสื้อแดงด้วยกันก็ยังมี)

            ที่พูดเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการให้เสียกำลังใจ แต่เป็นสิ่งที่เห็นอยู่แล้วว่ามันต้องเกิด มันต้องมีการแยกขั้ว เป็นธรรมดาหลังชัยชนะในการเลือกตั้ง ที่เป็นชัยชนะของแนวร่วมระหว่างพลังประชาธิปไตยกับนักการเมืองพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีจุดร่วมแต่บางด้านก็แตกต่างกันสุดขั้ว เป็นธรรมชาติที่จะต้องมีการแยกขั้วมีจุดร่วมจุดต่างใหม่

            ปฏิกิริยาของมวลชนแสดงความก้าวหน้าที่กำลังจะ “ก้าวข้ามทักษิณ” ไปสู่ความต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตยที่แท้จริง วันหนึ่ง เราจะเห็นการแยกขั้วของมวลชนเสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตยที่จะก้าวไปในแนวทางนิติราษฎร์-สันติประชาธรรม ขณะที่อีกส่วนอาจยังอยู่กับเพื่อไทยหรือแกนนำ นปช.

             คำว่า “ก้าวข้ามทักษิณ” ไม่ได้แปลว่าไม่เอาทักษิณหรือเกลียดทักษิณนะครับ ผมเชื่อว่ามวลชนจำนวนมากจะสามารถ “ก้าวข้ามทักษิณ” ทั้งที่พวกเขารักทักษิณ แต่หมายถึงวันไหนที่ทักษิณหยุด โดยพวกเขายังไปไม่ถึงเป้าหมาย ของสิทธิเสรีภาพและการทวงความยุติธรรม พวกเขาก็พร้อมจะไปต่อ

              การแยกขั้วไม่ได้หมายความว่าแตกแยก หรือต้องสู้รบกัน หากเป็นการยกระดับความเป็นแนวร่วมขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง ที่ต้องต่อสู้ความคิดกันในขณะที่มีจุดร่วมกัน โดยประเด็นสำคัญที่ทักษิณและพรรคเพื่อไทยต้องตระหนักคือ พวกเขาไม่สามารถชนะได้ อยู่ในอำนาจได้ ด้วยการเกี้ยเซี้ยกับอำมาตย์ พวกเขาชนะได้ และอยู่ในอำนาจได้ ด้วยมวลชนและพลังประชาธิปไตยเท่านั้น และนั่นคือฐานอำนาจที่พวกเขาสามารถต่อรองกับอำมาตย์

              พลังประชาธิปไตย มวลชนเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทย จะมีจุดต่างมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่เหมือนพันธมิตรกับประชาธิปัตย์ (เว็บไซต์ผู้จัดการยังขึ้นข่าว อ.ใจยุเสื้อแดงต่อต้านเพื่อไทย เป็นข่าวยอดนิยม ข้าม
              อาทิตย์ไม่ยอมเอาลง) เพราะขบวนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่บนหลักการ เหตุผล (ไม่สติแตกจนเพ้อหาการเมืองใหม่) แม้มวลชนจำนวนหนึ่งอาจฮาร์ดคอร์ เลยเถิด แต่ที่สุดพวกเขาก็จะต้องพัฒนามายอมรับเหตุผล ยอมรับจุดลงตัวที่เป็นไปได้ ในขณะที่การเดินทางของพรรคเพื่อไทยอาจเหนื่อยหน่อย ตอนนี้ดำรงอยู่ได้เพราะมวลชนปกป้องจากภัยสลิ่ม-แมลงสาบ แต่ถ้าไม่ปรับตัวก็ต้องโดนมวลชนตบโหลกสั่งสอนเหมือน “อีเฉย” และจะสูญเสียมวลชนไปเรื่อยๆ
               แล้วมวลชนจะไปไหน อย่างน้อยผมมั่นใจว่า เสื้อแดงไม่กลับไปเป็นสลิ่มแน่นอน


                                                                                    ใบตองแห้ง
                                                                                    9 ธ.ค.54
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น