วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555


ร่วมกันปกป้องพระมหากษัตริย์ด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยโทสะหรืออคติใดๆ

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

           อาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ ได้แสดงความเห็นกรณีกฏหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ แนะให้ทุกฝ่ายใช้ปัญญาแก้ปัญหาแทนโทสะหรืออารมณ์ มีรายละเอียดน่าจะมีประโยชน์ไปขบคิดต่ออย่างยิง จึงขอนำเสนอไว้ดังนี้

Kittisak Prokati
" ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นฐานความผิดสำคัญในการรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ เพราะตลอดหลายสิบปีมานี้ ปวงชนถือเอาพระมหากษัตริย์เป็นผู้แทนของตนตามจารีตประเพณี และถือพระมหากษัตริย์เป็นจิตวิญญาณของชาติ ที่ยึดเหนี่ยวสถาบันหลักของชาติไว้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อใดที่ปล่อยให้มีการดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์โดยรัฐไม่ลงโทษ ก็จะเป็นเหตุแห่งความไม่สงบขึ้นได้ เพราะมหาชนที่ถือเอาองค์พระมหากษัตริย์เป็นสัญญลักษณ์และศักดิ์ศรีของความเป็นชาติ ย่อมรู้สึกคับแค้นยิ่งกว่าตนถูกประทุษร้ายเสียเอง การคุ้มครองพระมหากษัตริย์คือการคุ้มครองความมั่นคงของรัฐ

           แต่เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัิตริย์เป็นประมุข จึงมีคุณธรรมสองอย่างที่ต้องรักษาไว้ คือทั้งประชาธิปไตย และสถาบันพระมหากษัตริย์
คุณธรรมทั้งสองสิ่งนี้ไม่อาจรักษาไว้ได้เพียงด้วยรูปแบบ เพราะประชาธิปไตยนั้นหากเสียงข้างมากขาดการไตรตรอง ปล่อยให้ความโลภที่คนหมู่มากมองข้ามได้ครองแผ่นดิน ก็ย่อมทำลายประชาธิปไตยเองในที่สุด เสียงข้างมากจึงต้องถูกถ่วงดุลด้วยคุณธรรมตามกฎหมาย ที่ขี้ขาดโดยตุลาการ
ขณะเดียวกันสถาบันพระมหากษัติรย์ก็ไม่อาจตั้งมั่นอยู่บน การสรรเสริญด้วยเพียงลมปาก บนความไม่เอาใจใส่ บนความหวาดกลัว หรือความโกรธ คาดโทษผู้อื่นโดยขาดเหตุผล แต่ต้องเทอดไว้บนบัลลังก์แห่งความจริงและสติปัญญาของคนในชาติ กฎหมายจึงยอมรับการวิจารณ์ การร้องเรียน การเสนอข้อปรับปรุงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ และสิ่งเหล่านี้ย่อมบำรุงให้สถาบันเข้มแข็งยิ่งขึ้น ใกล้ชิดประชาชนและแนบแน่นอยู่บนความเป็นจริงของสังคมยิ่งขึ้น
ในกฎหมายไทยเดิม หากพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมีพระบรมราชวินิจฉัยในทางไม่ชอบกฎมณเฑียรบาลจึงกำหนดห้ามสนองพระบรมราชโองการ และให้เสนาบดีคัดค้านพระมหากษัตริย์สามครั้งในที่แจ้ง และในที่ลับอีกหนึ่งครั้ง และพระอัยการขบถศึกก็กำหนดให้ค้านพระมหากษัตริย์ถึงห้าครั้ง ครั้งสุดท้ายให้พระสังฆราชเป็นผู้เตือนพระสติ

          แต่ทุกวันนี้ มีบางท่านอ้างตนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยการตวาดด่า ใช้คำหยาบประนาม จนถึงข่มขู่ และยุยงให้ประทุษร้ายผู้อื่นที่เห็นต่างจากตัวในเรื่องพระมหากษัตริย์ คติเยี่ยงนี้ นอกจากจะเผาลนตนเองด้วยโทสะแล้ว ที่จริงยังบ่อนทำลายความเชื่อถือของมหาชนต่อผู้รักเคารพสถาบันส่วนใหญ่อีกด้วย ถ้าปล่อยให้เข้าใจกันว่าผู้ปกป้องสถาบันล้วนแต่มีโทสะเป็นเจ้าเรือนแล้ว สถาบันจะตั้งอยู่บนอะไร จะมิเท่ากับปล่อยให้สถาบันตั้งอยู่บนกองเพลิงหรือ? ท่านผู้เปี่ยมแน่นด้วยโทสะเหล่านั้นจะไม่อ้างสถาบันข่มเหงผู้อื่นโดยมิชอบเมื่อสบโอกาสดอกหรือ? คุณธรรมของพระมหากษัตริย์จะไม่มัวหมองลงด้วยแรงแห่งอคติ และโทสะของผู้อ้างตนว่าจงรักภักดีดอกหรือ? แล้วเราจะกำจัดผู้แฝงกายหาประโยชน์โดยอ้างสถาบันฯในทางมิชอบให้น้อยลงได้อย่างไร?

          พระบรมเดชานุภาพนั้นควรยอยกขึ้นด้วยความจงรักภักดีเพียงใด ก็ต้องเฉลิมด้วยความยุติธรรมเพียงนั้น

          ความยุติธรรมในการรักษาพระบรมเดชานุภาพนั้น ต้องประกอบด้วยความสมประโยชน์ในการคุ้มครองความมั่นคงของรัฐ ความแน่นอนชัดเจน เข้าใจได้ไม่ปล่อยให้การกล่าวหาและวินิจฉัยตกอยู่ใต้อำเภอใจหรืออารมณ์ของผู้มีอำนาจ และกอรปด้วยความสมควรแก่เหตุเห็นได้ว่าโทษนั้นต้องด้วยเหตุผล และต้องด้วยกรณี ชั่งน้ำหนักดีแล้ว เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมแท้จริง เพราะความภักดีที่ขาดฐานแห่งความเป็นธรรม ย่อมเป็นกัดกร่อนลงโดยง่ายด้วยอคติของเหล่าผู้ภักดีนั้นเอง

         เหตุนี้การดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงควรมีกลไกกลั่นกรองให้ตั้งอยู่ในกรอบแห่งเหตุผลและกฎหมายโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ว่าจะเป็นสำนักราชเลขาฯ อัยการสูงสุด หรือกระทรวงยุติธรรม และบทลงโทษก็ควรจะเบาลงจากที่ตั้งไว้อย่างน้อย ๓ ปี อย่างมาก ๑๕ ปี โดยกำหนดให้สมควรแก่เหตุหนักเบาตามเหตุตามผลในแต่ละเรื่องแต่ละคดีได้ ไม่ต้องมีโทษขั้นต่ำ ขั้นสูงไม่เกิน ๗ ปี ดังที่่มีมาก่อน ๖ ตุลา ๑๙

         เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับนิติราษฎร์ทั้งหมด แต่ก็ไม่พึงปิดหูหลับตา ไม่ตรวจสอบความคิดเห็นของเขาไปเสียเลย แม้เขาคิดต่าง - ก็ฟังเขาบ้างเถิด ไม่ชอบใจ ขัดเคืองด้วยเรื่องอะไร ก็ค่อย ๆ บอกกล่าว โต้แย้ง ปุจฉา-วิสัชชนากันฉันท์มิตรเถิด"
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น