ปรองดองโดยประเด็น | |
ปรองดองโดยประเด็น โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 21:30:26 น. ผมไม่ค่อยแปลกใจที่ความพยายามจะ "ปรองดอง" ในประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จ ร้ายไปกว่านั้นกลับฟื้นความขัดแย้งที่ซ่อนอยู่ข้างในให้ปรากฏชัดขึ้น ผมไม่ทราบหรอกว่า คณะกรรมการที่ทำหน้าที่ "ปรองดอง" ไม่รู้จะกี่ชุดที่ผ่านมา มี "วาระซ่อนเร้น" ทางการเมืองอะไร ซ้ำยังออกจะเชื่อด้วยว่า ถึงรู้ไปก็ไม่มีประโยชน์ นอกจากทำให้เกิดความระแวงสงสัย และกระตุ้นความขัดแย้งให้แรงขึ้นโดยไม่จำเป็น เมื่อนึกถึงการปรองดอง กรรมการทุกชุดที่ผ่านมา มักนึกถึงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นคู่ขัดแย้ง และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ผมไม่แปลกใจว่าความพยายามของกรรมการมักล้มเหลว เพราะความขัดแย้งที่เกิดในประเทศไทยนั้น ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ไม่ใช่เพราะนาย ก.ไม่ชอบนาย ข. จึงได้เคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างอำนาจของกันและกัน แต่ทั้งนาย ก.และนาย ข.ต่างสามารถดึงประชาชนจำนวนมาก ให้เข้ามาร่วมเคลื่อนไหวได้ จนกลายเกิดเหตุร้ายแรงบ่อยครั้ง เรื่องของเรื่องจึงเกินกว่าความบาดหมางส่วนบุคคล และระงับความขัดแย้งด้วยวิธี "จับเข่าคุยกัน" ไม่ได้ เพราะไม่ใช่เรื่องของนาย ก.และนาย ข.เท่านั้น มีเข่าให้จับยุ่บยั่บไปหมด ที่น่าแปลกใจมากกว่า คือคณะกรรมการปรองดองชุดต่างๆ ไม่ค่อยให้ความสนใจกับ "ประเด็น" ที่สังคมไทยขัดแย้งกันเอง "ประเด็น" เหล่านี้ต่างหากที่น่าจะใช้กระบวนการทางสังคมเข้ามาเจรจาต่อรองกัน ผมคิดว่าในกระบวนการเจรจาต่อรองซึ่งออกมาในรูปของการอภิปราย โต้เถียง และข้อเสนอต่างๆ นั้น ประเด็นของความขัดแย้งจะชัดขึ้น ในขณะเดียวกัน หนทางประนีประนอมที่ทุกฝ่ายยอมรับได้จะปรากฏให้เห็นขึ้นมาพร้อมกัน ผมจึงอยากเสนอ (โดยปราศจากการวิจัยรองรับ) ว่า ประเด็นแห่งความขัดแย้งในสังคมไทยเวลานี้มีอะไรบ้าง 1. ดูเหมือนทุกฝ่ายยอมรับ (อย่างน้อยด้วยปาก) ว่า ประเทศของเราต้องก้าวต่อไปในวิถีทางประชาธิปไตย แต่ที่เห็นไม่ตรงกันก็คือ ประชาธิปไตยมีนัยยะในเชิงปฏิบัติอย่างไรกันแน่ ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าเมื่อเป็นประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของปวงชนอย่างเด็ดขาด จะมีอำนาจอื่นที่ไม่ได้มาจากอธิปไตยของปวงชนเข้ามาแทรกหรือถ่วงดุลไม่ได้ และด้วยเหตุดังนั้น อำนาจทางการเมืองจึงต้องถูกจัดสรรไปตามผลของการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าการเมืองที่อาศัยการเลือกตั้งเป็นเกณฑ์เพียงอย่างเดียวนี้อันตราย เพราะการเลือกตั้งย่อมต้องจัดองค์กรและกลไกเพื่อผลสัมฤทธิ์แคบๆ คือได้รับคะแนนเสียง องค์กรและกลไกดังกล่าวไม่ได้มีไว้ตรวจสอบการใช้อำนาจ หรือมีส่วนร่วมในการเมืองอย่างแท้จริง ฉะนั้น ผู้ที่ได้อำนาจไปจากองค์กรและกลไกเช่นนี้จึงมีแนวโน้มจะทุจริตต่อหน้าที่ และ/หรือไม่มีสมรรถภาพในการทำงาน ด้วยเหตุดังนั้นจึงต้องอิงอำนาจที่ไม่ได้มาจากอธิปไตยของปวงชน ไว้คอยถ่วงดุลนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ผมคิดว่าประเด็นของทั้งสองฝ่ายมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน แต่ไม่มีเนื้อที่จะพูดถึงโดยละเอียดในที่นี้ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าหากเน้นความขัดแย้งไว้ที่ประเด็น โดยไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล ทั้งสองฝ่ายก็อาจปรับข้อเสนอเข้าหากันได้ เช่นถึงอย่างไรนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งก็ควรถูกควบคุมตรวจสอบ แต่จะออกแบบกระบวนการควบคุมตรวจสอบอย่างไร จึงจะเชื่อมโยงกับอธิปไตยของปวงชน ไม่ใช่โดยมี ส.ส.และ ส.ว.สรรหา, ไม่ใช่โดย "ตุลาการภิวัฒน์", ไม่ใช่องคมนตรีซึ่งโดยฐานะแล้วไม่ควรแสดงความเห็นทางการเมืองใดๆ ต่อสาธารณชนทั้งสิ้น, ไม่ใช่โดยองค์กรอิสระซึ่งไม่เชื่อมโยงกับอธิปไตยของปวงชน ในขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมการควบคุมตรวจสอบโดยตรงของประชาชนในเขตเลือกตั้งด้วย จะต้องวางเงื่อนไขอย่างไรให้แก่พรรคการเมือง, การจัดองค์กรภาคประชาชนในท้องถิ่น, อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันท้องถิ่น ฯลฯ จึงจะทำให้อำนาจตรวจสอบควบคุมของประชาชนมีผลในทางปฏิบัติได้จริง 2. คนส่วนใหญ่ในคู่ความขัดแย้งยอมรับตรงกันว่า ประเทศไทยควรมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (หรือเป็นราชอาณาจักร) แต่สถานะทางการเมืองของพระมหากษัตริย์พึงเป็นอย่างไร มีความเห็นที่ขัดแย้งกันมาก ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า แม้เป็นที่เคารพสักการะ แต่สถานะของพระมหากษัตริย์ในทางการเมือง ย่อมเป็นประมุขหรือตัวแทนของอำนาจอธิปไตยของปวงชนในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น มีหน้าที่ในทางพิธีกรรม แต่พิธีกรรมเหล่านั้นมีความสำคัญต่อรัฐ เช่น ทรงรับพระราชสาส์นหรือสาส์นตราตั้งทูตต่างประเทศ ก็ทรงรับเอาบุคคลผู้นั้นเป็นตัวแทนของรัฐต่างประเทศแทนประชาชนชาวไทยทั้งหมด ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามที่ประธานรัฐสภากราบบังคมทูล แทนอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยซึ่งได้แสดงให้เห็นแล้วผ่านความยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร พระมหากษัตริย์ย่อมไม่ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ประธานสภาไม่ได้กราบบังคมทูล อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เชื่อมโยงกับอธิปไตยของปวงชนโดยตรง นั่นก็คือพระราชอำนาจที่มีในสถาบันนี้นับตั้งแต่ก่อน 24 มิถุนายน 2475 และด้วยเหตุดังนั้น การใช้พระราชอำนาจนี้เป็นพระบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์เอง ว่าจะใช้เมื่อไรและอย่างไร และเพื่อธำรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจนี้ จึงต้องรักษาความ "ศักดิ์สิทธิ์" ของสถาบันไว้ให้อยู่เหนือการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ทั้งสิ้น และพระราชอำนาจตรงนี้แหละที่จะเป็นผู้ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจอธิปไตยของปวงชน แน่นอนว่าสถานะทั้งสองนี้ย่อมขัดแย้งกันเอง แต่หากเปิดให้กระบวนการทางสังคมสามารถพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างอิสระ ในที่สุดก็น่าจะหาทางประนีประนอม (reconcile) กันได้ เช่นตัวผมเองเชื่ออย่างฝ่ายแรก แต่ก็ยอมรับว่าขึ้นชื่อว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ว่าที่ใด ก็ต้องมีลักษณะ mystique อยู่ด้วย ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจะรักษาลักษณะ mystique นี้ไว้อย่างไร โดยไม่ต้องมีพระราชอำนาจที่ขัดกับอธิปไตยของปวงชน 3. ทุกฝ่ายมีความเห็นพ้องกันว่า อำนาจตุลาการนั้นควรเป็นอิสระจากอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ แต่ฝ่ายหนึ่งเน้นความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการไว้จนหลุดลอยไปเลย กลายเป็นเทวดาที่จุติจากสวรรค์และรับผิดชอบกับพระอินทร์เพียงผู้เดียว ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง เห็นว่าอำนาจตุลาการก็ยังต้องถูกสังคมตรวจสอบและถ่วงดุลได้อยู่นั่นเอง เพียงแต่ยังไม่ได้พัฒนาวิถีทางที่สังคมจะเข้าไปตรวจสอบถ่วงดุลว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ตุลาการสามารถพิพากษาอรรถคดีได้ โดยไม่ต้องถูกกดดันจากปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับกฎหมายและความสงบสุขของสังคม หากคณะกรรมการปรองดองชุดต่างๆ นำประเด็นนี้มาสู่การถกเถียงอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายจะยอมรับตรงกันว่ากระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลตุลาการนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องออกแบบอย่างประณีตกว่าการตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมือง แต่ก็ต้องมีประสิทธิภาพด้วย เพียงเท่านี้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะถกเถียงกันต่อไปในเชิงสร้างสรรค์ได้แล้ว 4. การปฏิรูปกองทัพ กองทัพไม่เคยเป็นเครื่องมือทางการเมืองของใคร นอกจากของตัวเอง กองทัพจึงทำตัวเป็นรัฐอิสระที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับของใครตลอดมา แม้แต่ที่ทำตัวเหมือนเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำบางกลุ่ม ที่จริงแล้วก็เป็นการรักษาผลประโยชน์ของกองทัพไว้ด้วยในประวัติศาสตร์ก็เห็นอยู่แล้วว่า กองทัพเองก็เคยเป็นปฏิปักษ์กับชนชั้นนำกลุ่มนั้นมาแล้ว ทั้งหมดขึ้นอยู่กับจังหวะ ว่าจังหวะใดกองทัพจะได้ประโยชน์มากกับฝ่ายใด กองทัพไม่เคยตกเป็นเครื่องมือของใคร 100% สภาวะเช่นนี้ไม่น่าจะเป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันอยู่เวลานี้ แม้บางฝ่ายอาจเรียกร้องให้กองทัพทำรัฐประหาร (เพื่อฝ่ายตัว) แต่ก็เห็นกันอยู่แล้วว่า เมื่อกองทัพทำรัฐประหาร กองทัพก็ไม่ได้ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่เรียกร้อง ถึงจะทำรัฐประหารอีก กองทัพก็ไม่สามารถตอบสนองฝ่ายนั้นๆ ได้เพียงฝ่ายเดียวอยู่นั่นเอง อย่าลืมว่าผลประโยชน์ที่กองทัพจะต้องปกป้องดูแลรักษาที่สุด คือผลประโยชน์ของกองทัพเอง ฉะนั้น ทุกฝ่ายคงเห็นด้วยว่ากองทัพไม่ใช่รัฐอิสระหรือรัฐซ้อนรัฐ แต่กองทัพต้องเป็นเครื่องมือของรัฐ ปัญหากลับมาอยู่ที่ว่ารัฐเล่าเป็นของใคร? ถ้าเห็นพ้องต้องกันว่าเราจะก้าวต่อไปในวิถีทางประชาธิปไตย รัฐก็ต้องเป็นของประชาชน และด้วยเหตุดังนั้น กองทัพก็ต้องเป็นเครื่องมือของรัฐซึ่งเป็นของประชาชน จึงจำเป็นต้องปฏิรูปกองทัพให้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพด้วย ส่วนจะปฏิรูปอย่างไร เป็นรายละเอียดซึ่งคงโต้เถียงอภิปรายกันได้อีกมาก ประชาชนอาจตัดสินใจใช้จ๊อกกี้คนนี้ ระหว่างนั้นกองทัพก็ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามจ๊อกกี้คนดังกล่าว เมื่อประชาชนเปลี่ยนจ๊อกกี้ใหม่ กองทัพ ก็ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามจ๊อกกี้คนใหม่ อย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเจ้าของคอกคือประชาชน 5. นอกจากความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มเสื้อสีต่างๆ แล้ว ที่จริงมีความขัดแย้งที่คุกรุ่นอยู่ในเมืองไทยมานาน และว่าที่จริงก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของรากฐานความขัดแย้งของเสื้อสีด้วย นั่นคือความขัดแย้งด้านแนวทางการพัฒนาซึ่งรวมศูนย์, เอื้อต่อคนส่วนน้อย, และแย่งชิงทรัพยากรจากมือประชาชนไปใช้ ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นลุกขึ้นต่อต้านและต่อสู้ในหลายรูปแบบ คณะกรรมการปรองดองทุกชุดไม่เคยสนใจความขัดแย้งในรูปนี้เลย ผมคิดว่าหนทางปรองดองจะขาดซึ่งมิตินี้ไม่ได้ ไม่มีฝ่ายใดไม่ต้องการการพัฒนา แต่จะพัฒนาอย่างไรจึงจะเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย รวมทั้งกระจายผลของการพัฒนาให้กว้างขวางไปถึงทุกฝ่ายด้วย เรื่องนี้น่าจะเป็นประเด็นใหญ่อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องผลักให้ลงมาสู่กระบวนการโต้เถียงอภิปรายในสังคม | |
http://redusala.blogspot.com |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2555
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น