วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2555


นัดแรก เบิกความสืบพยานโจทก์ คดี ‘สมยศ’

กอ.รมน.- นักศึกษานิติ มธ. เบิกความสืบพยานโจทก์ คดี ‘สมยศ’



          วันแรกของการสืบพยานต่อเนื่องในกรุงเทพฯ หน่วยงานความมั่นคงระบุ มอนิเตอร์ละเอียดสื่อแดง 3 ฉบับ กอ.รมน.ยังงงกระบวนการ ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษแล้วส่งกลับมา ศอฉ.ให้ กอ.รมน.ไปร้องทุกข์กล่าวโทษตามหลัง ด้านนักศึกษานิติ มธ.อดีตนักศึกษาฝึกงานดีเอสไอเป็นพยานโจทก์ยันบทความเข้าข่ายหมิ่น ส่วนทนายจำเลยเตรียมเบิกพยานอาจารย์จากรั้วเดียวกัน
18 เม.ย.55 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดา มีการสืบพยานโจทก์คดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบก.นิตยสาร Vioce of Taksin ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาความผิดหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 58, 91
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้เป็นการสืบพยานโจทก์นัดที่ 5 แต่เป็นนัดแรกที่สืบพยานที่กรุงเทพมหานคร และมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังการสืบพยานราว 20 คน รวมถึงนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ด้วย ทั้งนี้ ในวันนี้มีการสืบพยาน 5 ปาก โดยเป็นนายทหารในหน่วยงานของกองทัพบก 3 ปาก และเป็นนักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งไปฝึกงานที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อีก 2 ปาก
นายสุวิทย์ หอมหวน ทนายจำเลย กล่าวว่า วันที่ 1-4 พ.ค.ซึ่งเป็นวันสืบพยานจำเลยนั้น ตามบัญชีพยานคาดว่าจะมีพยานทั้งหมด 13 ปาก เช่น นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ , สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ , ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์, สุนัย จุลพงศธร  ส.ส.พรรคเพื่อไทย, จิตรา คชเดช นักกิจกรรมด้านแรงงาน, ประวิตร โรจนพฤกษ์ สื่อมวลชน รวมถึงจำเลยเองด้วย
          ด้านนายสมยศ ซึ่งถูกเบิกตัวจากเรือนจำมาศาลพร้อมโซ่ตรวน ให้สัมภาษณ์โดยตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนไทยที่ไม่นับสมยศเป็นสื่อมวลชนว่า เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะคดีมีความเกี่ยวพันกับสถานบันกษัตริย์ ซึ่งสื่อโดยทั่วไปก็ไม่กล้าแม้แต่จะรายงานเรื่องนี้อย่างจริงจังอยู่แล้วภายใต้การครอบงำของกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และบรรยากาศในสังคมแห่งความกลัว เมื่อถามถึงบทบาทของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มีต่อนักโทษทางมโนสำนึก สมยศระบุว่า เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลหรือผู้มีอำนาจยังขาดความกล้าหาญทางจริยธรรม  
         สำหรับการสืบพยานปากแรก พ.อ.วิจารณ์ จดแตง ผู้อำนวยการส่วนกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เบิกความว่า ระหว่างเกิดเหตุอยู่ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นผู้ดูแลหลักเรื่องการหมิ่นสถาบัน โดยหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ทำการรวบรวมหลักฐาน และส่งเรื่องให้คณะกรรมการคดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณา จากนั้นเมื่อคณะกรรมการรับเป็นคดีพิเศษแล้ว จึงได้ส่งเรื่องกลับมาให้ ศอฉ. และ ศอฉ.ได้มอบหมายให้ตนเป็นผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ
          ทนายจำเลยถามว่า การดำเนินคดีกับนายสมยศมีส่วนเกี่ยวพันกับพ.อ.สรรเสริญ ที่เป็นโฆษก ศอฉ. และเป็นไปตามผังล้มเจ้าของศอฉ.หรือไม่ พ.อ.วิจารณ์ระบุว่า คณะทำงานที่พิจารณาเนื้อหาในคดีนี้มี 30 กว่าคนจากหลายหน่วยงาน ไม่วาจะเป็น ดีเอสไอ คณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น และหากจำไม่ผิดก็มี พ.อ.สรรเสริญร่วมอยู่ด้วย ส่วนการประกาศผังล้มเจ้าของ ศอฉ.นั้น ตนไม่ได้อยู่ด้วยและไม่มีการปรึกษาหารือกันก่อน เมื่อถามว่ามีเรื่องไหนหรือไม่ที่ผ่านการพิจารณาของฝ่ายความมั่นคงแล้วไม่มีการดำเนินคดี พ.อ.วิจารณ์ตอบว่า ไม่มี ส่วนพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.48 ที่ในหลวงรับสั่งว่ากษัตริย์ถูกวิจารณ์ได้นั้น พ.อ.วิจารณ์ระบุว่าไม่ขอแสดงความคิดเห็นใดๆ
            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.อ.วิจารณ์ กล่าวภายหลังให้การแก่ศาลว่า ไม่ทราบเหตุผลเช่นกันว่าทำไมดีเอสไอซึ่งรับคดีของนายสมยศเป็นคดีพิเศษแล้วจึงไม่ดำเนินการต่อเลย แต่กลับส่งเรื่องกลับมายัง ศอฉ. และศอฉ.ก็มอบหมายให้ตนเป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษโดยที่ตนยังไม่เคยอ่านบทความทั้ง 2 เรื่องซึ่งเป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องร้อง ขณะที่ทนายจำเลยพยายามชี้ว่าคดีดังกล่าวมีความพิเศษทางการเมืองเนื่องจากเป็นคดีที่ทหารเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผิดกับคดีหมิ่นฯ อื่นๆ ที่ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นประชาชนทั่วไปหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ
           พ.อ.วิจารณ์ระบุด้วยว่า ในการดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษนั้นระบุถึงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มีพฤติกรรมจาบจ้างสถาบัน แต่ไม่ได้ระบุชื่อใครเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ทราบว่าฝ่ายความมั่นคงได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ ของบุคคลที่ปรากฏชื่อตามแผนผังของ ศอฉ.ส่งให้ดีเอสไอไปทั้งหมดแล้ว แต่มีการดำเนินคดีกับบุคคลเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคงได้ส่งข้อมูลเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาคดีพิเศษของดีเอสไอเมื่อ 29 เม.ย.53 จากนั้นคณะกรรมการมีมติรับเป็นคดีพิเศษในเดือนพ.ค.53 ก่อนที่ พ.อ.วิจารณ์จะได้รับมอบหมายให้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษเมื่อวันที่ 30 ส.ค.53 และพนักงานสอบสวนของดีเอสไอเรียกเขาไปสอบสวนในวันที่ 3 ก.ย.53
          ขณะที่ พ.อ.นุชิต ศรีบุญส่ง จากกรมยุทธการทหารบก กองทัพบก ให้การต่อศาลว่า หลังปี 2549 สถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงนั้นรุนแรงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หน่วยงานความมั่นคงมีการติดตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะสิ่งพิมพ์หรืออินเตอร์เน็ตตลอดจนการปราศรัยทางการเมืองโดยตลอดว่ามีข้อความใดหมิ่นเหม่ต่อการผิดมาตรา 112 หรือไม่ โดยสิ่งพิมพ์ที่ฝ่ายความมั่นคงเฝ้าจับตาเป็นพิเศษคือ Thai Red News, Voice of Taksin และความจริงวันนี้  โดยเมื่อมีการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ, กอ.รมน., สันติบาล, หน่วยข่าวกรอง, ไอซีที ฯลฯ แล้วก็จะส่งข้อมูลพร้อมความเห็นเบื้องต้นให้ ศอฉ.ดำเนินการต่อ โดยยอมรับว่าแผนผังของ ศอฉ.นั้นเป็นเครื่องช่วยในการวางแผนและวิเคราะห์ข้อมูล ส่วนว่าใครจะมีความผิดบ้างตามแผนผังนั้นขึ้นอยู่กับการสอบสวนพนักงานสอบสวน เมื่อทนายจำเลยถามว่า ทราบหรือไม่ว่าผังล้มเจ้าของศอฉ.นั้นอัยการสั่งไม่ฟ้องแล้ว พ.อ.นุชิตกล่าวว่า ไม่ทราบ  
         ทนายจำเลยถามอีกว่า ทราบหรือไม่ว่าผู้ใช้นามแฝงว่า ‘จิต พลจันทร์’ ในบทความตามฟ้องคือใคร พ.อ.นุชิตตอบว่า ไม่ทราบ แต่ยืนยันว่า เนื้อหาในบทความนั้นเป็นการดูหมิ่นสถาบัน โดยเปรียบเปรยถึงเหตุการณ์ต้นราชวงศ์จักรีและการสวรรคตของพระเจ้าตากสินมหาราช แม้ไม่มีการระบุชื่อก็ทำให้เข้าใจได้ แต่ไม่เคยนำบทความดังกล่าวไปสอบถามบุคคลอื่นนอกเหนือจากหน่วยงานความมั่นคง
          พ.อ.นุชิต ตอบอัยการถามติงว่า อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยชี้ขาดว่าข้อความในบทความเข้าข่ายหมิ่นหรือไม่นั้นเป็นอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการใน ศอฉ. ซึ่งมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหัวหน้าคณะ ตนและทีมงานเป็นเพียงผู้นำเสนอข้อมูลและความเห็นเบื้องต้น
         ส่วนพยานอีก 2 ปาก เป็นนักศึกษาชั้นปี 4 จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเคยฝึกงานที่ดีเอสไอในช่วงเวลาดังกล่าว เบิกความต่อศาลว่า ระหว่างฝึกงาน ผู้ดูแลซึ่งก็คือพนักงานสอบสวนในคดีนี้ได้นำนิตยสาร Voice of Taksinฉบับที่ใช้ฟ้องร้องมาให้อ่าน รวมทั้งบทความที่เข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูงดังกล่าว ซึ่งเมื่ออ่านข้อความดังกล่าวแล้วก็ทำให้เข้าใจได้ตามฟ้อง เมื่อทนายถามถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการแสดงความคิดเห็น พยานตอบว่า ประชาชนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น แต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น