วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การยึดอำนาจ 3 ครั้ง ในปี 2476 ..กล้าสู้ทุกรูปแบบ..ก็ไม่แพ้


การยึดอำนาจ 3 ครั้ง ในปี 2476 ..กล้าสู้ทุกรูปแบบ..ก็ไม่แพ้

การยึดอำนาจ 3 ครั้ง ในปี 2476 ..กล้าสู้ทุกรูปแบบ..ก็ไม่แพ้ 
อาทิตย์ ที่ 24 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2555

โดย มุกดา สุวรรณชาติ 
คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ 

ฉบับวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 
ฉบับที่ 1662 หน้า 20


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ระวัง!! เมื่อถอย จะถูกรุกต่อเพื่อรวบอำนาจ 

         79 ปีที่แล้ว สภาถูกรุกครั้งแรกโดยไม่มีการใช้อาวุธ แต่เป็นอำนาจจากฝ่ายบริหาร ถึงขั้นปิดสภา


        ปี 2555 ฝ่ายนิติบัญญัติโดยความเห็นพ้องของฝ่ายบริหาร พร้อมใจกันถอยให้กับการรุกล้ำของศาลรัฐธรรมนูญ แต่นี้ไป เสียงจากการเลือกตั้งกี่สิบล้านเสียงก็ไม่มีความหมาย เมื่อผู้แทน ต้องทำตามคำสั่งแบบนี้ ... "หยุด! ห้ามยกมือขึ้น...ขอให้ทุกคนอยู่ในความสงบ คอยฟังคำตัดสิน"

              แม้พรรคเพื่อไทยมีคำอธิบายในการถอยไว้หลายข้อ แต่เสนาธิการฝ่ายตรงข้ามสรุปดังนี้ 


            "พวกมันถอยแล้ว... ที่พวกมันภูมิใจคือชนะเลือกตั้ง...ก็ยกให้มันไป ต่อให้มี 20 ล้าน 30 ล้านเสียง ก็ต้องแพ้เรา เพราะไม่ว่าเราจะสั่งอะไร ตัดสินอะไรมันก็ทำตาม ขอเพียงเราเป็นคนคัดเลือกผู้ตัดสินทุกองค์กรให้เป็นฝ่ายเรา จะดึงเวลา จะหมกคดี จะเร่งคดี จะให้หมดอายุความ ให้ถูกหรือผิด เราทำได้ คดีในช่วง 10 ปีนี้ยังมีอีกเยอะที่จะคุ้ยขึ้นมาเล่นงานมัน... แต่ถ้าพวกมันตั้งผู้ตัดสินได้ คงคุ้ยคดีของพวกเราเล่นเราถึงตายแน่ ... ดังนั้น ต้องรักษาความได้เปรียบนี้ไว้เท่าชีวิต ห้ามแก้ไขเด็ดขาด กว่าจะได้อำนาจนี้มาลงทุนไปเยอะ เราเคยหลอกพวกมันสำเร็จว่า ให้รับรัฐธรรมนูญไปก่อน เพื่อจะได้เลือกตั้ง เอาไว้แก้ไขทีหลัง ซึ่งคงจะทำได้ครั้งเดียว"

          ไม่รู้ว่าพรรคเพื่อไทยมีแผนรุกกลับหรือไม่ หรือเพียงแค่ซื้อเวลา แต่ในปี 2476 คณะราษฎร มีวิธีถอยและรุกกลับ...

2476 อำนาจบริหาร รุก...ปิดสภาผู้แทน และรุกต่อ

          หลังการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา 1 เมษยน 2476 ให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา อำนาจเก่าก็รุกต่อโดย มีการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ รัฐบาลดูเหมือนจะควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นได้แล้ว

           แต่ด้านการทหารยังมีพระยาพหลฯ ขวางอยู่อีกคน เพราะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พระยาทรงสุรเดช จึงชวนให้ทั้งหมดลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี และทางการทหาร พระยาพหลฯ ก็ยอมลาออกตาม "สี่ทหารเสือ" ของคณะราษฎร คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ ได้ยื่นหนังสือลาออก ด้วยข้ออ้างเรื่องสุขภาพ โดยระบุวันลาออกจากราชการไว้ล่วงหน้า คือ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2476

         พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยอมรับให้ลาออกโดยไม่มีการทักท้วงแต่อย่างใด 18 ตุลาคม รัฐบาลก็ได้มีประกาศแต่งตั้งให้พระยาพิชัยสงครามเป็นผู้รักษาในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแทนพระยาพหลพลฯ ให้พระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นผู้รักษาการเจ้ากรมยุทธการทหารบกแทนพระยาทรงสุรเดช และให้หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นรองผู้บังคับการทหารปืนใหญ่อยู่ในขณะนั้นเลื่อนขึ้นเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการแทนพระยาทรงสุรเดช ซึ่งควบอยู่สองตำแหน่ง

         การเปลี่ยนแปลงทางการทหาร มีผลต่อความปลอดภัยและอนาคตของนายทหารผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ช่วงนั้นก็มีการโยกย้ายคนของพระยาพหลฯ ออกจากหน่วยคุมกำลังทั้งหมด และจะให้พวกผู้ก่อการที่คัดค้านพระยามโนฯ นั้นไปศึกษาวิชาในต่างประเทศ ส่วนหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ถูกสั่งให้เตรียมตัวเข้าศึกษาวิชาทหารเรือ ณ ประเทศฝรั่งเศส

คณะราษฎรเห็นว่า พระยามโนฯ เตรียมเปลี่ยนการปกครองกลับเป็นระบอบเก่า


การรุกกลับของคณะราษฎร  ยึดอำนาจ เพื่อ...เปิดสภา 

20 มิถุนายน 2476

          กลุ่มนายทหารหนุ่มของคณะราษฎรจึงได้ทำการรวมกำลังกัน โดยมีหลวงพิบูลสงครามเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารบก และหลวงศุภชลาศัยเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารเรือ ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และเปิดสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง

          ตอนเช้ามืดของวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 มีการนำกำลังเข้ายึดและควบคุมที่ทำการของรัฐบาลและจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในพระนคร บังคับให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาและคณะรัฐมนตรีลาออกในวันเดียวกัน พร้อมกันนั้นก็ได้มีการแจกประกาศแถลงการณ์แก่ประชาชนถึงเหตุผลของการยึดอำนาจว่า


"ด้วยคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน ณ บัดนี้ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นปิดสภาผู้แทนราษฎร แล้วงดใช้รัฐธรรมนูญ คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน จึงได้ดำเนินการเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ..."
          ประธานสภาผู้แทนราษฎร กราบบังคมทูลลงพระปรมาภิไธยให้มีประกาศแต่งตั้งพระยาพหลพลฯ เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร อีกครั้งในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2476 หลังจากที่ปิดไปเป็นเวลากว่า 81 วัน
ส่วนพระยามโนฯ ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ปีนังจนเสียชีวิต


วิเคราะห์ การถอย-การรุก ของคณะราษฎร

           มีคนบอกว่าพระยาพหลฯ เป็นคนซื่อ ตามไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมคนอื่นๆ
แต่ผู้อาวุโสที่รู้จักคนหนึ่งแย้งว่า คนที่ได้เป็นนายก 5 สมัย เป็นคนซื่อ พอฟังได้ แต่ที่จะไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมคนอื่นอาจไม่จริง

         วันที่สภาถูกปิด นายปรีดีถูกบีบให้ลี้ภัยไปฝรั่งเศส พระยาพหลฯ รู้ดีว่าแรงบีบมาจากไหน คำกระซิบบอกนายปรีดีว่า ให้จากไปก่อน เดี๋ยวพรรคพวกทางนี้จะจัดการให้กลับมาทีหลัง แสดงว่ามีแผนอยู่แล้ว

         ในขณะที่อีกฝ่าย เห็นว่าศัตรูตัวเก่งจากไปแล้วก็ย่ามใจ จึงรุกแบบไม่เกรงใจใคร ยิ่งพระยาพหลฯ ลาออก ก็ยิ่งมั่นใจ หารู้ไม่ว่า ข่าวที่ไปถึงหูนายทหารทุกคนว่าจะต้องถูกกำจัดเป็นข่าวร้าย ที่ทำให้ทุกคนโกรธแค้นและจะต้องโต้ตอบกลับ  


          จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของหลวงพิบูลสงคราม นายทหารหนุ่ม ขาบู๊ ที่ออกมาจัดการกับพวกโต้การอภิวัฒน์ การยึดอำนาจกลับครั้งนี้ชอบธรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำไปเพื่อเปิดสภาผู้แทนให้กลับมาทำงานได้อีกครั้งหนึ่ง 

แต่มีข้อเสียก็คือ ไ

ปสร้างนิสัยการใช้กำลังเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองให้กับกลุ่มทหารหนุ่ม
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น