วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พับโครงการนาซ่า บทเรียนรัฐบาล-ฝ่ายค้าน


พับโครงการนาซ่า บทเรียนรัฐบาล-ฝ่ายค้าน

พับโครงการนาซ่า บทเรียนรัฐบาล-ฝ่ายค้าน
การเมือง ข่าวสด  http://www.khaosod.co.th/

             ล่มแบบชนิดที่ไม่ต้องเสียเวลาลุ้นอีกต่อไปแล้

            เมื่อเว็บไซต์โครงการศึกษาสภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ (SEAC4RS) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซ่า ขึ้นประกาศตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา  ระบุข้อความด้วยตัวแดงหนา

             ′นาซ่าขอยกเลิกโครงการ SEAC4RS ที่ตามกำหนดเดิมจะเริ่มในเดือนส.ค.′

             ′เนื่องจากทางการท้องถิ่น (หมายถึงรัฐบาลไทย) มิได้อนุมัติให้นาซ่าใช้พื้นที่ได้ทันตามกรอบเวลา สำหรับการสังเกตการณ์ทางวิทยาศาสตร์ได้ทัน′

              นอกจากนี้ ใน เว็บไซต์ http://espo.nasa.gov/missions/seac4rs/ ยังแจงรายละเอียดโครงการ สาเหตุที่เลือกสนามบินอู่ตะเภาเป็นสถานีวิจัย ตลอดจนระยะเวลาศึกษาว่าเหตุใดถึงต้องกำหนดช่วงนี้ เป็นเพราะปัจจัยใด ซึ่งเป็นเรื่องของวิชาการล้วนๆ

              ยืนยันว่า โครงการ SEAC4RS มีแผนสำรวจก๊าซและละอองในชั้นบรรยากาศ ตลอดจนศึกษาลักษณะของมรสุมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และองค์ประกอบทางกายภาพและเคมีในชั้นบรรยากาศต่างๆ

              เหตุที่เลือกสนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานปฏิบัติการสำคัญ เนื่องจากสภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์มีความซับซ้อนสูง โดยเฉพาะช่วงมรสุมในเดือนส.ค. การค้นคว้าวิจัยครั้งนี้ มุ่งหวังจะศึกษาประเด็นสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ในเอเชียด้วย

              โดยนาซ่ามองว่า ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์มีประชากรหนาแน่น เช่น อินเดีย และอินโดนีเซีย จึงต้องการศึกษาผลกระทบของมลภาวะในอากาศ แต่สุดท้ายก็ต้องล้มเลิกโครงการนี้ทั้งหมดตามข่าว

              ในเวลาไล่เลี่ยกันก็มีท่าทีจากทางการสหรัฐอีกครั้ง

              โดย นายวอลเตอร์ บราวโนห์เลอร์ โฆษกสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย แถลงย้ำว่า เหตุผลที่นาซ่าไม่สามารถรอได้ เพราะโครงการต้องดำเนินการเฉพาะเดือนส.ค.และก.ย.เท่านั้น แต่ฝ่ายไทยโดยมติครม.ที่ผ่านมา ให้รัฐสภาอภิปรายเรื่องนี้หลังเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งเลยกำหนดเส้นตายของนาซ่าไปแล้ว 1 เดือน ก่อนสรุปถึงอนาคตโปรเจ็กต์นี้ว่า

              ′ยังไม่สามารถบอกได้ว่า นาซ่าจะทบทวนโครงการนี้อีกครั้งในปีหน้าหรือไม่′

               กรณีดังกล่าวถือเป็นบทเรียนสำคัญของประเทศ

               การนำเรื่องวิชาการมาโยงกับประเด็นการเมือง ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสเรียนรู้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และองค์ความรู้ทางวิชาการใหม่ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย

               นักวิชาการที่ติดตามเรื่องนี้สะท้อนความเห็นไปยังรัฐบาลและฝ่ายค้านดังนี้

อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา
ผอ.โรงเรียนสัตยาไส

               กรณีที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสอย่างมากมาย ประเมินความเสียหายไม่ได้เพราะโครงการนี้จะมาช่วยแก้ปัญหาภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น จู่ ๆ รัฐบาลย้ายเวลาตัดสินใจไปถึงการประชุมสภาเดือนส.ค. เป็นเรื่องไม่จำเป็น รัฐบาลสามารถตัดสินใจได้เองอยู่แล้ว ยิ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เป็นโครงการที่จะช่วยแก้ปัญหาภัยพิบัติ ยิ่งไม่จำเป็นต้องนำเข้าสู่สภา

               พิจารณาให้ดีจะเห็นว่าฝ่ายค้านไม่ได้ออกมาแย้ง เพียงแต่ขอให้ นายกฯประกาศให้ชัดว่านาซ่าจะเข้ามาทำอะไร นักวิทยาศาสตร์เองก็รอฟัง แต่รัฐบาลกลับไม่ประกาศให้ชัด รัฐบาลมีหน้าที่แจ้งให้ประชาชนทราบรายละเอียดโครงการ และชี้แจงว่าประชาชนจะได้รับผลอย่างไร ถ้าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน พรรคฝ่ายค้านก็โจมตีไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเขาเองจะเป็นฝ่ายเสียคะแนนเสีย

               บทเรียนสำหรับรัฐบาลต่อไปภายหน้า คือรัฐบาลต้องพูดตรงไปตรงมา ปล่อยให้เป็นเรื่องของสภาไม่ได้ นายกฯเป็นหัวหน้ารัฐบาล สามารถตัดสินใจเรื่องนี้ได้เราต้องการนายกฯที่มีพลัง เด็ดขาด กล้าตัดสินใจมากกว่านี้

ไชยันต์ ไชยพร
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

              รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้ล่าช้ามาก ทั้งที่ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว หรืออาจเปิดเวทีประชาวิจารณ์รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน เชิญนักวิชาการจากหลายสาขามาแสดงความคิดเห็น ให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจประชาชน

              ประเทศไทยมีนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถเรื่องวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ส่วนหนึ่งยังทำงานในนาซ่าหรือทำงานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในทวีปยุโรป แทนที่รัฐบาลจะสอบถามไปยังนักวิชาการเหล่านี้ เพื่อให้เขาออกมาชี้เเจงว่าโครงการมีประโยชน์หรือไม่ อย่างไร เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ แต่รัฐบาลก็ไม่ทำ หากรัฐบาลต้องการให้โครงการนี้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยจริง ต้องฉลาดในการให้ข้อมูลโน้มน้าวประชาชนว่า ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อันใดจากโครงการนี้

               ฉะนั้นในอนาคตหากจะมีการใช้ประเทศไทยเพื่อเป็นฐานดำเนินการโครงการต่างๆอีกนั้น

               สิ่งแรกที่รัฐบาลต้องทำคือ เอาข้อมูลในเรื่องนั้นๆ ออกมาระดมความคิดเห็นที่หลากหลายของสังคมว่ามีความคิดเห็นอย่างไร สมควรดำเนินการโครงการต่อไปหรือไม่ ถ้าดำเนินเเล้วประเทศไทยจะได้หรือเสียประโยชน์อย่างไร

               ส่วนหน้าที่ของฝ่ายค้านที่ออกมาคัดค้านนั้น เป็นเรื่องปกติทางการเมืองที่ต้องออกมาตรวจสอบและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติอยู่เเล้ว

               ในทางกลับกันถ้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย จะต้องออกมาคัดค้านโครงการนี้อย่างแน่นอน

                อีกอย่างโครงการนี้ยังเป็นเรื่องที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน จึงห้ามพรรคประชาธิปัตย์คัดค้านไม่ได้

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

               บทเรียนหลักของรัฐบาล รวมถึงพรรคการเมืองต่างๆ คือ เรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเริ่มดำเนินการ แต่นาซ่าขอความร่วมมือลักษณะนี้มานานแล้ว กรณีที่เกิดขึ้นน่าสลดใจว่ากระบวนการรัฐสภาไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ในสหรัฐเองเมื่อมีโครงการลักษณะนี้ก็ต้องผ่านรัฐสภาเช่นกัน

               รัฐสภาไทยควรหยิบยกเรื่องนี้มาถกกันตั้งแต่แรก เพราะมีทีมนักวิทยาศาสตร์ไทยทำงานที่นั่นอยู่แล้ว จะได้มีคำตอบที่ชัดเจน และนำเสนอต่อครม.ได้ทันเวลาซึ่งจะเป็นการตัดสินใจด้วยความรู้ ด้วยเหตุผล และโปร่งใส อธิบายได้ตั้งแต่แรก

               แม้กฎหมายหลักในรัฐธรรมนูญจะมีหลายมาตราที่กลายเป็นปัญหาในการตีความ เปิดช่องให้ฝ่ายค้านฟ้องรัฐบาลได้ รัฐบาลจึงกลัว ไม่กล้าทำอะไร แต่ถ้าเอากฎหมายมาใช้ทำลายฝ่ายตรงข้ามเสมอไป คุณจะไม่ได้ใจประชาชน เป็นบทเรียนที่ทั้งสองฝ่ายต้องนำกลับไปคิด

               รัฐบาลมีจุดอ่อนเรื่องการชี้แจงข้อมูล ยิ่งระยะหลังมานี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ลอยตัวต่อปัญหาแทบทุกเรื่อง ทำให้เกิดคำถามต่อภาวะผู้นำ สิ่งที่ไม่เคยทำเลยคือการตั้งโต๊ะแถลงข่าวให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน เชิญนักวิทยาศาสตร์มาชี้แจง หรือเชิญตัวแทนจากนาซ่ามาด้วยก็ได้

               เรื่องนี้รัฐบาลล้มเหลวมาโดยตลอดตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วม

               ส่วนฝ่ายค้านซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบ แต่ตอนนี้พยายามใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ แท้จริงแล้วโครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ด้วยซ้ำ ต้องถามกลับไปว่า คุณจะเอาผลประโยชน์ทางการเมือง หรือผลประโยชน์ของประเทศชาติ

               ถ้าทั้งสองฝ่ายยังเป็นเช่นนี้ต่อไป การเลือกตั้งครั้งหน้า ประชาชนจะเสื่อมศรัทธาและไม่อยากจะเลือกใครอีก

เครดิตจากเวป http://www.khaosod.c...PQ==&sectionid
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น