วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ขื่อแปตีนศาล


ขื่อแปตีนศาล
บทความโดย "ใบตองแห้ง" อ้างอิงจากเวบไซท์ voicetv http://www.voicetv.co.th/

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร ที่คณะรัฐมนตรีเพลย์เซฟ เอาเรื่องนาซ่าขอใช้อู่ตะเภาเข้ารัฐสภา เพื่ออภิปรายตามมาตรา 187 จนท้ายที่สุด นาซ่าต้องถอนตัว เพราะรัฐบาลกลัวผิดมาตรา 190 ซึ่งมีโทษรุนแรงถึงขั้นถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 190 ก๊อปมาจากอเมริกา รัฐบาลจะทำสนธิสัญญากับใคร ถ้าเป็นเรื่องใหญ่มีผลกระทบประชาชนวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าต้องแก้ไขกฎหมายภายในประเทศ จะต้องเอาเข้าสภา แต่ตอนนี้ประเทศต้นแบบอย่างอเมริกายังมึนตึ้บ เพราะประเทศสารขัณฑ์เอามาเล่นเกมการเมือง เรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง ถ้าฝ่ายตรงข้ามแม่-เป็นรัฐบาล ทำอะไรต้องผิดหมด สรุปแล้วรัฐบาลนี้อนุมัติอะไรได้มั่งไม่รู้ ถ้าอเมริกาเอาเรือบรรทุกเครื่องบินมาจอดให้นาวิกโยธินยกพลขึ้นบาร์เบียร์พัทยา ก็อาจถูกโจมตีว่าทำให้เสียดินแดนผืนน้อย
 "นาซา-อู่ตะเภา" แผนสหรัฐฯแผ่อิทธิพลสู่เอเชีย ?

ที่มา : HOT TOPIC 28 มิถุนายน 2555

             กรณีนาซ่ามาอู่ตะเภายากกว่าไปดวงจันทร์ เป็นกรณีที่ไม่รู้จะวิพากษ์วิจารณ์ตรงไหน เพราะฝ่ายที่คัดค้านไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง เบื้องต้น ก็หาว่าจะเอาไปแลกกับการออกวีซ่าให้ทักษิณ อ้าว พอเรื่องโอละพ่อ พบว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่รัฐบาลประชาธิปัตย์ สมัยกษิต ภิรมย์ ก็พลิกลิ้นปั้นเรื่องใหม่กันไปเรื่อย ตั้งแต่หาว่านาซ่าขนอาวุธเข้าอู่ตะเภา ไปจนอเมริกามีแผนพัฒนาอาวุธร้าย ใช้แสงออโรราทำให้เกิดภัยธรรมชาติในพื้นที่ที่ตนต้องการ

มันสะท้อนความไร้สติในสังคมไทย ที่คนไม่กี่คนสามารถออกมาปั้นอากาศเป็นตัว โดยอาศัยความช่วยเหลือของสื่อกระแสหลัก ซึ่งทำหน้าที่อย่างไม่มีความรับผิดชอบ (สื่อมักอ้างว่า เสนอข่าวตามที่เป็นข่าว แต่แท้จริงคือการช่วยกระพือกระแสให้พันธมิตรและฝ่ายค้าน) แม้เสียงข้างมากในสังคมยังมีสติ ตามที่เอแบคโพลล์สำรวจ แต่ก็แพ้กระแสสื่อและชนกลุ่มน้อยผีตองเหลืองที่ดันทุรัง เชื่อโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อโฆษกพันธมิตร มากกว่าเชื่อนักวิทยาศาสตร์ ทั้งที่เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์

             ผีตองเหลืองพวกนี้มีความรู้ทั้งนั้นนะครับ จบปริญญาตรี โท เอก แต่เชื่อฟอร์เวิร์ดเมล์ เชื่อข่าวลือในเฟซบุค มากกว่าใช้การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล

ยิ่งรู้มากยิ่งอัตตามาก เช่นนักข่าวบางคน (ที่ไม่ใช่นักข่าว ASTV หรือไทยโพสต์ด้วยซ้ำ) โพสต์เฟซบุคว่า “นักวิทยาศาสตร์ก็แกล้งโง่ได้” อีกคนผสมโรง “นักวิทยาศาสตร์ขายตัวขายชาติมีถมไป”

             ประเทศนี้เจริญแน่ เพราะนักข่าวรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ดีกว่านักวิทยาศาสตร์

มีบางคนตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจไปเสียให้สิ้นเรื่อง เพราะโพลล์ออกมา เสียงส่วนใหญ่สนับสนุนอยู่แล้ว โห ใครจะไปกล้าละครับ ในเมื่อการตัดสินว่าผิดไม่ผิด ไม่ได้ขึ้นกับเสียงส่วนใหญ่ในสังคม แต่ขึ้นกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ซึ่งมั่นใจอะไรไม่ได้ ก็ขนาดแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยตั้ง สสร.เหมือนปี 2540 วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ยังบอกว่า “เป็นไปได้” ที่จะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

              ขนาดแถลงการณ์ร่วมปราสาทพระวิหาร รับรองแผนที่ที่ประเทศไทยตัดแบ่งปราสาทพระวิหารให้เขมรไปตั้งแต่ปี 2505 ศาลรัฐธรรมนูญยังชี้ว่า “อาจจะ” เสียดินแดน แค่อาจจะ ก็ยังมีความผิด สมัคร-นพดล ถูกฟ้องให้ถอดถอน

              ต่อให้ 100 กฤษฎีกา 1,000 นักกฎหมาย 10,000 นักวิทยาศาสตร์ ก็ไม่มีหลักประกันอันใด ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นพ้องด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศาลชี้ผิดแล้วยังส่งเรื่องไปถอดถอน ซึ่งอาจส่งผลซ้ำรอยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากอำนาจศาล

              ระบบกฎหมายของเรา ไม่สามารถใช้หลักการเหตุผลมาคาดการณ์ ไม่ว่ารัฐบาลจะใช้ดุลพินิจไตร่ตรองอย่างรอบคอบถี่ถ้วนเพียงไร ก็มั่นใจไม่ได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินตามหลักกฎหมาย

ระบบกฎหมายของเรา ไม่มีความมั่นคงแน่นอนที่เชื่อถือได้ เพราะเราไม่มีทางรู้ว่ารัฐบาลทำอะไรไป แล้วจะผิดหรือไม่ผิด จะมีคนตั้งแง่ กล่าวหาว่าผิดอยู่ทุกเรื่อง แล้วตุลาการภิวัตน์ก็อาจจะตัดสินว่าผิด ทั้งที่เรื่องเดียวกันเคยตัดสินว่าถูก

              คำถามคือ บ้านเมืองยังมีขื่อแปอยู่หรือไม่ ในเมื่อขื่อแปพร้อมจะพลิกผันได้ทุกเมื่อ ด้วยการตีความ



ถ้า “ล้มล้าง” ก็กลียุค

             อันที่จริง ในตอนแรกผมยังไม่ค่อยเชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะกล้าๆ ตีความให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เป็นการ “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แต่พอเห็นความสามารถในการปั้นอากาศเป็นตัวของพรรคประชาธิปัตย์ พันธมิตร และสื่อ ในกรณีนาซ่า ก็เริ่มคิดเผื่อว่า ประเทศนี้อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น

คนขนาดอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังกล้าๆ ออกมาอ้างว่า มาตรา 291 ห้ามแก้ทั้งฉบับ เฮ้ย ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยและรัฐธรรมนูญทั้งหลายในโลกนี้ มีด้วยหรือที่ห้ามแก้ ผมขี้เกียจไปค้นตำรา แต่ถ้าจะมีรัฐธรรมนูญไหนห้ามแก้ ก็คงเป็นรัฐธรรมนูญของฮิตเลอร์ มุสโสลินี พรรคคอมมิวนิสต์ หรือเผ่าอูลาฮากู ที่หัวหน้าเผ่ามีอำนาจอยู่ผู้เดียว

              รัฐบาลและรัฐสภาน่าจะเสนอพยานเพิ่ม ไปหักล้างกับสมคิด เปล่า ไม่ใช่วรเจตน์ เอาแค่พุทธิพงษ์ พงษ์เอนกกุล ก็พอ

              ถ้าสมคิดจะอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติ ก็ต้องย้อนถามว่าตอนลงประชามติคุณบอกประชาชนไหมว่าห้ามแก้ คุณไม่ได้บอกเลยนี่ครับ ไม่ได้เขียนไว้ตรงไหนด้วย แถมตอนดีเบตกันก็มีแต่คนพูดว่า ให้รับไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง อ้างด้วยว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ง่าย

              พยานคนสำคัญคือ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่พูดไว้สมัยเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ว่าให้รับไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ ตั้ง สสร.มาแก้เหมือนปี 2540 รัฐบาลควรเอาเทปการดีเบตไปยืนยัน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้ โดยมารยาท จรัญต้องลาออก ไม่ใช่แค่งดออกเสียงหรือทำเป็นเสียงข้างน้อย ต้องลาออกและยุติบทบาททุกอย่าง เพราะร่างรัฐธรรมนูญเอง มาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเอง แล้วสิ่งที่ท่านพูดไว้กลับกลายเป็นความผิด

               พยานอีกปากที่รัฐบาลน่าจะนำไปอ้าง ให้ศาลรัฐธรรมนูญออกหมายเรียก ไม่ใช่ใครที่ไหน คืออานันท์ ปันยารชุน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 เรียกไปถามสิว่าการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับผิดตรงไหน ตอนนั้นมีใครกำหนดข้อห้ามอะไรหรือไม่

               อานันท์จะมาชิ่งแต่เพียงว่า ไม่ได้รู้เห็นเป็นพยานให้สมเจตน์ บุญถนอม แค่นั้นไม่พอนะครับ

               แต่อันที่จริงผมไม่เห็นด้วยหรอกที่รัฐบาลและรัฐสภาไปยื่นคำให้การแก้ต่างกับศาลรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบาลและรัฐสภาควรยืนหยัดปฏิเสธอำนาจศาล อยากพิจารณาอย่างไรก็ให้พิจารณาไป รัฐบาลและรัฐสภาไม่ยอมรับ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญทำเกินอำนาจ ก้าวล่วงมาใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ

                ถ้อยคำที่ไร้สาระที่สุดของ วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ คืออ้างว่าฝ่ายรัฐบาลและรัฐสภาไม่เห็นออกมาปฏิเสธเลยสักคน เป็นคู่ความประสาอะไร โจทก์ฟ้องจำเลย แทนที่จะไปสู้กับโจทก์เพื่อแก้ข้อกล่าวหา แต่กลับมาสู้กับศาล

                ข้อแรก ก็ศาลใช้อำนาจเกินขอบเขต ข้อสอง มันเป็นข้อหาไร้สาระเสียจนไม่รู้จะตอบโต้อย่างไร รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญตามอำนาจที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ กลับมีคนกล่าวหาว่าล้มล้างระบอบ พูดอย่างไรก็กวนน้ำให้ขุ่น จะแก้ต่างอย่างไรก็ไร้ประโยชน์

                ฉะนั้น ถ้าประเมินล่วงหน้า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ผมมองว่ามี 3 ทางคือหนึ่ง ไม่ผิด ให้แก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 ต่อไปได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยมาก อุตส่าห์ลงทุนแหกมาตรา 68 มาถึงขนาดนี้

                ทางที่สองคือ แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 แบบนี้ไม่มีหลักประกันว่าจะ “ล้มล้างระบอบ” หรือไม่ ให้เพิ่มเข้าไปว่า เมื่อ สสร.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จะให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัยแต่ผู้เดียวไม่ได้ ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบก่อน

                ข้อนี้เป็นไปได้มากที่สุด ดูเหมือน “พบกันครึ่งทาง” แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะมาวินิจฉัย ไม่มีอำนาจที่จะมาสกัดขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ สสร.ที่ประชาชนเลือกตั้งมา เป็นสิ่งที่ยอมไม่ได้เด็ดขาด เพราะศาลรัฐธรรมนูญอาจฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ สสร.อุตส่าห์ร่างมา แล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีความหมายอะไร

                แต่ในทางการเมืองก็น่ากลัวว่าจะมีการสร้างกระแส “เพื่อความสงบ” รัฐบาลควรยอม ผ่านสื่อที่ทำเนียน ทำเป็นไม่เห็นด้วยกับ ปชป.หรือพันธมิตร แต่เอาเถอะ พบกันครึ่งทางดีกว่า แถมรัฐบาลสู้ไปกราบไป ก็อาจจะยอมศิโรราบให้เขาด้วยสิครับ

                ทางที่สามคือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับมีความผิด เป็นการล้มล้างระบอบ ยุบพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ถอดถอนตัดสิทธิ 461 ส.ส. ส.ว. ซึ่งแม้มันจะบ้าบอคอแตก แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

                คำถามคือถ้ามันเป็นไปได้ แล้วรัฐบาล รัฐสภา พรรคเพื่อไทย มวลชนเสื้อแดง จะรับมืออย่างไร

                รัฐบาลกับรัฐสภาจะยอมรับคำวินิจฉัยนี้ไม่ได้ เพราะถ้ายอมรับก็เท่ากับยอมเป็นทาสอำมาตย์ไปชั่วกัลปาวสาน คุณอาจจะชนะเลือกตั้งถล่มทลายถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ แต่ชนะแล้วแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ปรับโครงสร้างอำนาจไม่ได้ จะมีประโยชน์อะไร

               หนทางเดียวเท่านั้นคือรัฐบาลและรัฐสภาต้องสู้ ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาล ประกาศเป็นคำวินิจฉัยเถื่อน ตรึงอำนาจของตนไว้ แน่นอน จากนั้นก็คือการแตกหัก พันธมิตร สลิ่ม ปชป.จะออกมาเต็มถนน หาว่ารัฐบาลเป็นรัฐบาลเถื่อน ไม่ถูกกฎหมาย ขณะที่มวลชนเสื้อแดงก็จะต้องออกมาปกป้องรัฐบาล ซึ่งจะนำไปสู่กลียุค อำนาจ 3 ฝ่ายในระบอบแตกกระจาย กองทัพอาจฉวยโอกาสทำรัฐประหาร หรือมีข้ออ้างนำไปเรียกร้อง “นายกพระราชทาน”

ผมยังนึกวาดภาพกลียุคครั้งนี้ได้ไม่ชัดเจน แต่แกนนำรัฐบาล พรรคเพื่อไทย เสื้อแดง ควรต้องคิดได้แล้วว่าคุณจะต่อสู้อย่างไร เพราะถ้าศาลวินิจฉัยออกมาเช่นนั้นก็เท่ากับล้มล้างระบอบประชาธิปไตยทั้งระบอบ เลิกพูดเรื่องเหตุผล เรื่องหลักการ กลับไปสู่การเอาชนะกันด้วยกำลัง ด้วยการฆ่าฟัน ซึ่งแน่นอน ฝ่ายที่มีกองกำลังอาวุธในมือคือฝ่ายได้เปรียบ ฝ่ายที่มีมวลชน แม้จะมากกว่าสักกี่เท่า ก็เสียเปรียบอยู่ดี

               ถ้าถึงตอนนั้นนะครับ รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะต้องสำนึกเสียใจ ที่ไม่กล้าลงมติไม่รับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ และผ่านร่างแก้ไขมาตรา 291 วาระ 3 แต่กลับไปหงอ ยอมรับอำนาจศาล ส่งคำให้การแก้ต่าง ทั้งที่รู้ว่าพูดอะไรไปก็อาจจะผิดอยู่ดี

               สิ่งที่พรรคเพื่อไทยและ นปช.ทำได้ในตอนนี้ จึงมีแค่การรณรงค์เชิงเหตุผล ให้เห็นการก้าวล่วงของศาลรัฐธรรมนูญ ประสานกับการแสดงพลังของมวลชน ที่ประกาศท่าทีไม่ยอมรับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ

               ส่วนตัวผมกลัวทั้งทางที่สอง และทางที่สาม แต่ขอบอกว่ากลัวทางที่สามน้อยกว่า กลัวทางที่สองมากกว่า เพราะกลัวความขลาดเขลาของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย จะถูกบีบให้ยอมเขาไปเรื่อยๆ จนไม่มีทางดิ้นรน


ใบตองแห้ง
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น