วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ เกาะขอบเวที



อาจารย์ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ เกาะขอบเวที 2 8ก.ค. 55





คำวินิจฉัยพร่าๆ ในพายุที่พรำๆ โดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
 http://www.facebook.com/verapat


ครบ 13 วัน นับจาก ‘ศุกร์ที่ 13’ ที่ศาลได้อ่านคำวินิจฉัย ก็ประจวบกับคลื่นลม 
‘จากแดนไกล’ ที่พัดเข้าใกล้การเมืองไทยมากขึ้นทุกที

          เอกสารคำวินิจฉัยที่ศาลเผยแพร่หลังพ้น 13 วันนี้ มีสาระการวินิจฉัยตรงตามที่ศาลอ่าน สิ่งที่อ่านไม่ชัดเจน ก็ยังคงเขียนไม่ชัดเจน และศาลก็ไม่ระบุจำนวนมติตุลาการซึ่งขัดแนวปฏิบัติสากลที่ศาลรัฐธรรมนูญไทยในอดีตเคยยึดถือ อีกทั้งยังไม่เปิดเผยคำวินิจฉัยส่วนตนให้อ่านประกอบได้ ในเบื้องต้นผู้เขียนจึงไม่มีประเด็นเพิ่มเติมจากที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ (ดู http://bit.ly/VPCONS)


แต่สังเกตว่า ศาลได้ปรับถ้อยคำอย่างมีนัยสำคัญบางจุด เริ่มตั้งแต่หน้าแรก ที่ระบุเพิ่มว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่ใช่ ‘ประธานรัฐสภา’ แต่เป็น ‘ประธานรัฐสภา ในฐานะรัฐสภา’

ถ้อยคำนี้ถูกปรับให้ต่างไปจาก ‘หนังสือเรียกเอกสารฯ’ ที่ประธานศาลเคยลงนามพร้อมระบุว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 คือ ‘ประธานรัฐสภา’ (เฉยๆ ดู http://bit.ly/VPC1June ) ซึ่งตรงกับที่ประธานศาลชี้แจงว่าตนออกหนังสือแจ้งไปยังประธานรัฐสภา แต่มิได้สั่งสภา อีกทั้งตรงกับคำในเอกสารข่าวของสำนักงานศาล และสอดรับกับการไต่สวนพยานที่ให้ ‘คุณวัฒนา เซ่งไพเราะ’ มาศาล ‘แทนประธานรัฐสภา’ (แต่ไม่ได้มาแทนรัฐสภา) 

การปรับถ้อยคำเช่นนี้ จึงเป็นเครื่องยืนยัน ‘ความผิดรูปผิดรอย’ ของคดีที่หลุดเลยจาก ‘ปริมณฑลทางกฎหมาย’ มาแต่ต้น และทำให้เห็นว่า ศาลเองก็สับสนในข้อกฎหมายมาตั้งแต่วันรับคำร้องแล้วเช่นกัน

แต่คำถามที่สำคัญในเวลานี้ ก็คือ สภาจะเดินหน้าต่ออย่างไร ?

คำวินิจฉัยศาล มีผลทางกฎหมายหรือไม่ ?

แม้ผู้เขียนจะค้านว่า ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้มาแต่ต้น แต่ก็ค้นจิตสำนึกทางกฎหมายไว้พร้อมแล้วว่า ไม่ว่าสุดท้ายศาลจะวินิจฉัยข้อกฎหมายอย่างไร ผู้เขียนก็พร้อมจะสนับสนุนให้คำวินิจฉัยนั้นต้องเด็ดขาดและเป็นที่สิ้นสุด

กล่าวคือ หากศาลวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญ ‘กำหนดให้’ รัฐสภาต้องทำ ‘ประชามติ’ ก่อนการ ‘ยกร่างแก้ไขใหม่ทั้งฉบับ’ แม้ว่าผู้เขียนเองจะไม่เห็นด้วยกับศาลเลยก็ตาม แต่ก็พร้อมจะหนุนศาลว่า สภาก็ต้องไปหาวิธีทำประชามติเพื่อปฏิบัติตามที่ศาลได้ชี้ขาด

เหตุผลที่ผู้เขียนมองเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะลุ่มหลงกับ มาตรา 216 วรรค 5 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยนั้นต้องเด็ดขาดและผูกพันรัฐสภา แต่เป็นเพราะผู้เขียนเชื่อในหลักการที่ใหญ่กว่านั้น

หลักการที่ว่า ก็คือ ‘หลักกระบวนการเรียนรู้ทางประชาธิปไตย’ กล่าวคือ ประชาธิปไตยต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้ร่วมกันภายใต้กติกาที่แน่นอน แม้จะกติกาที่ว่าจะไม่สมบูรณ์และไม่เป็นที่ถูกใจทุกฝ่ายก็ตาม ดังนั้น เมื่อสภาปฎิบัติตามศาลแล้ว สภาจะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือจะไปปฏิรูปศาลอย่างไร ก็เป็นเรื่องกระบวนการประชาธิปไตยที่ทั้งสภาและศาลจะต้องเรียนรู้ร่วมกัน โดยไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปตัดตอนผลคำวินิจฉัย ซึ่งเป็นสาระของการเรียนรู้เสียเอง

ฉันใดก็ฉันนั้น หากจะมี ‘พายุแดนไกล’ ลูกใด ที่ถูกถูกมองว่ารุนแรงและเลวร้ายต่อการเมืองไทย แต่หากเรามีศาลเป็นที่พึ่ง มีกติกาที่แน่นอน ผู้เขียนก็เชื่อว่า คนไทยก็มิได้โง่เขลาขนาดจะปล่อยให้บ้านเมืองถูกพัดทำลายจนชาติสลาย ดังนั้น จึงไม่มีพื่นที่ใดที่จำเป็นสำหรับ ‘ลัทธิรัฐประหาร’ ที่มาตัดตอนการสู้คลื่นลมโดยประชาชน ที่มีกฎหมาย ศาล สภา และองค์กรอื่นๆ เป็นที่พึ่ง (ดูเพิ่มที่ http://bit.ly/VPProcess )

ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่า ‘คำวินิจฉัยที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย’ จะต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากต่างฝ่ายต่างอ้างกันได้เช่นนี้ สังคมก็คงขัดแย้งบานปลาย เพราะทุกคนชี้เองได้ แต่ชี้ไปกี่สิบกี่พันนิ้ว ก็ไม่ขาดเสียที

และแม้จะคิดให้ไกลกว่านั้น ผู้เขียนก็ได้หาเหตุผลมารอหนุนศาลไว้ โดยหากศาลวินิจฉัยว่า ‘ต้องทำประชามติ’ ผู้เขียนก็จะอธิบายว่า ศาลได้วินิจฉัยให้การได้ลงประชามติที่ว่าเป็น “สิทธิโดยปริยาย” ตาม มาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรา 27 ที่ว่านี้ หากศาลใช้เป็น ก็จะเป็นฐานอำนาจที่ทรงอานุภาพยิ่งกว่า มาตรา 68 อีกหลายเท่า

ตกลงสภาต้องทำ ‘ประชามติ’ หรือไม่ ?

แม้ผู้เขียนมีหลักการและเหตุผลที่พร้อมจะหนุนศาล แต่ชะตากลับเล่นตลก เมื่อศาลท่านกลับไม่ยอมวินิจฉัยให้เด็ดขาดว่าสภา ‘ต้องทำประชามติ’ หรือไม่

แต่ศาลกลับอ้างเจตนารมณ์โดยไม่มีบทบัญญัติอ้างอิงชัดแจน เพื่อกล่าวเอาเองอย่างสะดวกว่า “ก็ควรจะได้ให้ประชาชน...ได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” 

คำว่า ‘ควร’ ที่ศาลกล่าวมานี้ ต้องมองให้ทะลุถึงความหมายสองชั้น

ชั้นแรก คือ ‘ควร’ ให้ประชาชนลงประชามติ (กล่าวคือ ศาลไม่บังคับว่าจะต้องลงประชามติ)

ชั้นที่สอง คือ ประชามติก็เพียงถามว่า ‘สมควร’ มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ (กล่าวคือ ศาลไม่บังคับว่าผลการลงประชามติจะต้องเป็นข้อยุติที่ผูกพันสภา แต่อาจเป็นเพียงความเห็นของประชาชน ซึ่งแสดงว่าตรรกะและการใช้คำของศาลนั้น ก็ขัดแย้งกันเอง)

เมื่อศาล ‘เลือก’ ให้คำแนะนำทางการเมืองอย่างกำกวม แทนการชี้ข้อกฎหมายให้เด็ดขาด ผู้เขียนจึงไม่อาจนำหลักการที่เตรียมหนุนศาลมาใช้ได้ แต่กลับกัน ผู้เขียนกลับต้องไปหนุนสภาให้เดินหน้าสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางประชาธิปไตย โดยการ ‘ยึดรัฐธรรมนูญให้อยู่เหนือศาลรัฐธรรมนูญ’ เพื่อยืนยันว่าศาลย่อมต้องเป็นศาลที่ชี้กติกาให้ชัด แต่จะมาเล่นการเมืองแบบกำกวมไม่ได้ 

ดังนั้น สภาจึง ‘ไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม’ คำแนะนำของศาล ตรงกันข้าม สภาต้องปฏิบัติตามการชี้ขาดของศาลที่วินิจฉัย ‘ยกคำร้อง’ หมายความว่า การดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่กระทำมาค้างที่ วาระ 2 ก็ต้องเดินต่อไปสุดที่ วาระ 3 โดยสภาไม่มีหน้าที่ต้องทำประชามติแต่อย่างใด

การเมืองไทย จะเดินต่ออย่างไร ?



แม้สภาจะเปิดประชุม 1 สิงหาคมนี้ แต่สภาก็คงจะอาศัยภารกิจในวโรกาสมหามงคล ประกอบกับการลุ้นชิงตำแหน่ง ‘ประธานวุฒิสภา’ คนใหม่ มาเป็นเครื่องต่อเวลา เพื่อไม่ต้องตัดสินใจทันทีว่าจะเดินต่อตามคำวินิจฉัยหรือไม่อย่างไร

แต่ในระยะยาว แม้ผู้เขียนจะเสนอให้สภาต้องเดินหน้าต่อสู่ วาระ 3 แต่ความพร่ามัวของคำวินิจฉัยก็ทำให้หลายฝ่ายกลับต้องกังวลว่า หากเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าจะทางใด จะทำผิดกฎหมายหรือไม่ หรือพลาดพลั้งในทางการเมืองอย่างไร ?

หากเดินหน้าต่อวาระ 3 ก็จะมีผู้กล่าวหาว่าทำผิดรัฐธรรมนูญ เพราะศาลตีความรัฐธรรมนูญเอาไว้แล้วว่าควรต้องทำประชามติก่อน จะอ้างว่าศาลเพียงเสนอแนะ ก็ไม่มีใครรับประกันผลที่ตามมาได้

แต่หากเดินหน้าทำประชามติ หรือปล่อย วาระ 3 ทิ้งไว้ ก็จะมีผู้กล่าวหาว่าทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่บังคับชัดเจนว่าต้องดำเนินการให้ครบ 3 วาระ ครั้นจะอ้างศาลมากำบัง ก็จะมีการอ้างว่าข้อเสนอแนะย่อมไม่มีผลผูกพัน

หรือหากสภาจะเลือกเดินหน้าไปสู่วาระ 3 และยอมลงมติไม่เห็นชอบ เพื่อให้กระบวนการตั้ง ส.ส.ร. เป็นอันต้องล้มเลิกไป (จากนั้นจึงไปแก้ไขรายมาตรา) แม้สภาย่อมทำได้ในทางกฎหมาย แต่สภาก็คงต้องคิดถึงผลทางการเมืองที่หนักหนายิ่งกว่า

หรือหากมองโลกให้ร้ายที่สุด ความพร่ามัวของคำวินิจฉัย อาจกลายมาเป็น ‘ใบเบิกทาง’ การรอมชอมระหว่างกลุ่มอำนาจ ทำนองว่า หากสภาไม่แก้รัฐธรรมนูญไม่ลดอำนาจศาล ศาลก็จะไม่แตะอำนาจนิรโทษกรรมของสภา ซึ่งการรอมชอมที่ว่า จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากกฎหมายมีความชัดเจน ยุติเป็นที่สิ้นสุด แม้พายุทางการเมืองจะพัดพรำๆ ก็ตาม

VOTE NO: ทางออกที่เป็นไปได้ และควรเป็น ?

หากสภาต้องการยึดกฎหมายให้อยู่เหนือศาล แต่น้อมฟังความห่วงใยของศาลไปพร้อมกัน โดยไม่ต้องไปสุ่มเสี่ยงกับความวุ่นวายทางกฎหมายและการเมืองที่อธิบายมา ผู้เขียนก็ขอเสนอทางออกดังนี้


ประการแรก ยึดหลักกฎหมายให้มั่นว่า สภามีหน้าที่ต้องเดินต่อไปสู่วาระที่ 3 และกฎหมายย่อมอยู่เหนือการเมืองหรือข้อเสนอแนะใดๆ

ประการที่สอง หากสภาอ่านคำวินิจฉัยให้ดี จะพบว่าถ้อยคำของศาลที่ว่า “ก็ควรจะได้ให้ประชาชน...ได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” นั้น ศาลไม่ได้ระบุว่าควรมีการลงประชามติ “ก่อนการลงมติ วาระ 3” ดังที่บางฝ่ายเข้าใจ ศาลกล่าวเพียงว่า การลงประชามตินั้นควรมี “ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ” (โปรดดูคำวินิจฉัยหน้า 25 ย่อหน้าสุดท้ายที่http://bit.ly/VP26July )


ดังนั้น แม้สภาจะลงมติ ‘วาระ 3’ ไปแล้ว แต่หากการแก้ไขโดยยกร่างใหม่ทั้งฉบับ (โดย ส.ส.ร.) ยังไม่เริ่มต้นขึ้น สภาก็ย่อมชอบที่จะหามติจากประชาชนได้ และก็มิได้เป็นการขัดแย้งกับคำแนะนำของศาลเสียทีเดียว

ประการที่สาม สภาจะมีวิธีการถามมติจากประชาชน ‘หลังการลงมติในวาระ 3’ อย่างไร จึงถูกกฎหมาย และไม่เป็นการไปยอมรับคำแนะนำที่ขัดต่อหลักการเสียเอง ?

ทางออกที่เป็นไปได้ คือ การให้สภาประกาศ ‘คำมั่นทางการเมือง’ แก่ประชาชน ดังนี้


(1) ในวันเลือกตั้ง ส.ส.ร. (หลังการลงมติวาระ 3) หากประชาชนได้กาช่อง ‘ไม่ประสงค์ลงคะแนน’ (Vote No) รวมกันสูงเป็นลำดับที่ 1 จากคะแนนทั้งหมด รัฐสภาจะยอมรับว่า ประชาชนมีมติไม่ต้องการให้มี ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และสภาก็จะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกการตั้ง ส.ส.ร. (โดยยอมรับข้อจำกัดว่า อาจมีประชาชนบางส่วนต้องการให้มี ส.ส.ร. แต่ไม่ประสงค์เลือก)

(2) ตรงกันข้าม หากประชาชนเสียงข้างมากตัดสินใจลงคะแนนเลือก ส.ส.ร. สภาก็ย่อมเคารพมติของประชาชนในการเดินหน้าให้มี ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ 

วิธีที่นำเสนอมามานี้ เป็นการอำนวยให้ประชาชนสามารถ ‘ลงมติยับยั้ง’ การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ตั้งแต่ก่อนการแก้ไขทั้งฉบับจะเริ่มขึ้น ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีกฎหมายรองรับ อีกทั้งประหยัดงบประมาณ เพราะทำไปในคราวเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร. อีกทั้งไม่มีเหตุผลให้ศาลหรือใครจะมาคัดค้าน หากใครไม่ต้องการให้มี ส.ส.ร. มายกร่างทั้งฉบับ ก็ออกไปรณรงค์ Vote No ได้เต็มที่ หรือจะส่งพวกมาสมัครเป็น ส.ส.ร. ที่พร้อมลาออก ก็ทำได้

หากสภาทำได้เช่นนี้ ‘กระบวนการเรียนรู้ทางประชาธิปไตย’ ของไทยก็จะพัฒนาไปสู่การใช้กฎหมายอย่างลึกซึ้งแยบยล เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองที่น่าปราถนา แทนที่จะมาติดกับดักเรื่อง หลักนิติศาสตร์ / รัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ไร้แก่นสารและโบราณเกินไปเสียแล้ว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น