วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อีกมุมหนึ่งของแก้หรือไม่แก้ รธน.


นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อีกมุมหนึ่งของแก้หรือไม่แก้ รธน.
ในมติชน ออนไลน์  วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 11:29:06 น. 
( ที่มา บทความกระแสทรรศน์ นสพ.มติชน รายวัน 17 ธันวาคม 2555 ) 


          ความขัดแย้งเรื่องแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญนั้นมีหลายมิติ ที่พูดกันมากคือมิติด้านกฎหมาย และหลักการประชาธิปไตย และถึงจะทำโพลอีกกี่ครั้ง ผมเชื่อว่าคะแนนของสองฝ่ายก็ยังสูสีกันไปอีกนาน 
          คิดดูก็น่าประหลาดนะครับ เหตุใดรัฐธรรมนูญที่ได้รับเสียงประชามติไม่ถึงกับท่วมท้น ซ้ำยังก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อนเช่นนี้ จึงสร้างความผูกพันกับผู้คนได้มากถึงเพียงนี้  
          ผมคิดว่า หากเรามองความขัดแย้งนี้ให้พ้นออกไปจากมิติทางกฎหมาย, หลักการประชาธิปไตย และทักษิณ 
          แต่มองจากอีกมิติหนึ่ง คือเรื่องของดุลแห่งอำนาจในการเมืองไทย บางทีเราอาจเข้าใจความขัดแย้ง, โพล และความยึดติดกับรัฐธรรมนูญ ปี 50 ได้ดีกว่า

กลุ่มพลังที่มีความสำคัญทางการเมืองไทยนั้นแบ่งออกได้เป็น 6 กลุ่ม คือ 

1.ขุนนางและทหาร 
2.นักธุรกิจในมหานครและเทคโนแครต 
3.นักธุรกิจหัวเมือง 
4.คนงานคอปกขาว 
5.แรงงาน และ 
6.คนชั้นกลางระดับล่าง (ปรับปรุงจากข้อเขียนของอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร และอาจารย์คริส เบเคอร์, Power in Transition, Thailand in the 1990s) 

        ดุลแห่งอำนาจของคนหกกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่คงที่ เมื่อกลุ่มหนึ่งสะสมอำนาจได้เพิ่มขึ้น ก็เป็นผลให้คนอีกกลุ่มหนึ่งสูญเสียอำนาจที่เคยมีไป แล้วต่อมาก็อาจช่วงชิงกลับคืนมาได้ใหม่         ยิ่งกว่านี้ยังอาจมีกลุ่มพลังใหม่เกิดขึ้น เข้ามาร่วมช่วงชิงอำนาจกับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งทำให้ดุลแห่งอำนาจทางการเมืองของไทยต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลา

         ช่วงชิงอำนาจไม่ได้หมายความเพียงการลากอาวุธออกมายิงกัน (นั่นก็เป็นวิธีหนึ่ง) แต่มีพื้นที่ของการช่วงชิงอำนาจหลายพื้นที่ เพิ่งผ่านการถวายพวงมาลาแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 10 ไปหยกๆ นั่นก็เป็นพื้นที่ของการช่วงชิงอำนาจทางวัฒนธรรมในวันรัฐธรรมนูญอย่างหนึ่ง ทำรัฐประหารก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งเป็นเวทีค่อนข้างปิด เพราะขุนนางและทหารจับจองไปมาก เปิดให้นักธุรกิจทั้งในมหานครและหัวเมืองเข้าร่วมด้วยได้ในฐานะผู้สนับสนุน การยึดมัฆวาน, ทำเนียบ, สนามบิน และราชประสงค์ ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งของการช่วงชิงอำนาจ

          และที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเราโดยตรงคือรัฐธรรมนูญ ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา อันเป็นผลให้การทำรัฐประหารต้องเปิดกว้างแก่คนกลุ่มอื่นๆ มากกว่ากลุ่มขุนนางและทหาร

          รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับเป็นความพยายามจะจัดสรรดุลแห่งอำนาจระหว่างกลุ่มพลังต่างๆ ที่เก็งกันว่า จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่าง "ลงตัว" 
          รัฐธรรมนูญไทยไม่ใช่เอกสารประกันสิทธิเสรีภาพของพลเมือง หรือเอกสารที่จำกัดอำนาจรัฐไว้ในระดับที่ไม่อาจล่วงละเมิดเสรีภาพพื้นฐานได้ ดังนั้น จึงไม่มีหลักการอะไร (นอกจากในฐานะเครื่องประดับ) ที่จะต้องยึดถือเป็นการถาวร แต่ดังที่กล่าวแล้วว่าดุลแห่งอำนาจทางการเมืองย่อมไม่หยุดนิ่งกับที่ ในขณะที่รัฐธรรมนูญไปสมมุติว่าดุลแห่งอำนาจต้องอยู่คงที่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง การปรับดุลแห่งอำนาจอย่างเป็นทางการ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการช่วงชิงอำนาจดังที่กล่าวแล้ว) จึงเป็นผลให้ต้องฉีกรัฐธรรมนุญทุกครั้งไป  
          แต่ฉีกแล้วก็ต้องร่างขึ้นใหม่ โดยมีสมมติฐานเดิมว่า จะจัดสรรอำนาจระหว่างกลุ่มพลังต่างๆ ให้ลงตัวอย่างถาวรตลอดไป อันเป็นสมมติฐานที่ขัดกับความเป็นจริง ภายใต้รัฐธรรมนูญที่หวังว่าจะ "ลงตัว" นั้น กลุ่มพลังต่างๆ ช่วงชิงอำนาจกันผ่านกลไกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งดุลอำนาจกำลังจะเปลี่ยนไป กระทบต่อกลุ่มอื่นๆ ก็รวมหัวกันยึดอำนาจและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่คิดว่าจะ "ลงตัว" มากกว่า

          ผมคิดว่ากลุ่มพลังที่อ่อนไหวต่อความเปลี่ยนแปลงดุลแห่งอำนาจที่เกิดขึ้นจริงในสังคมมากที่สุดคือ กลุ่มขุนนาง-ทหาร บางครั้งก็ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มพลังอื่นซึ่งไม่พอใจแนวโน้มของความเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏในดุลแห่งอำนาจใหม่   
          แนวโน้มอันหนึ่งซึ่งกระเทือนต่อดุลอำนาจอย่างมากสืบมาหลายทศวรรษแล้ว คือการเติบโตของกลุ่มพลังนักธุรกิจหัวเมือง ในระบบเลือกตั้ง คนกลุ่มนี้อาศัยสถานะของตนเองในท้องถิ่นเข้าไปถืออำนาจในสภา ซึ่งเป็นต้นทางที่จะได้ตำแหน่งบริหารใน ครม.ด้วย โดยทางกฎหมายคือ ผู้บังคับบัญชาของกลุ่มพลังขุนนาง-ทหารนั่นเอง ปล่อยไว้นาน คนกลุ่มนี้เข้ามาสลายอำนาจของกลุ่มขุนนาง-ทหารได้ เช่น โยกย้ายข้าราชการ หรือวางนโยบายสาธารณะที่ขัดผลประโยชน์ของกลุ่มขุนนาง-ทหาร
          ตราบเท่าที่กลุ่มขุนนาง-ทหาร สามารถวางตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เอง และนายกฯคนนั้นมีความสามารถและบารมีเพียงพอที่จะถ่วงดุลนักธุรกิจหัวเมืองในพรรคต่างๆ กับระบบบริหารของขุนนาง-ทหารได้ (เช่น พลเอก เปรม ติณสูลานนท์) ก็ถือว่าส่วนแบ่งอำนาจของขุนนาง-ทหารยังมีความปลอดภัยอยู่ แต่เมื่อนายกฯ เช่นนั้นพ้นจากตำแหน่ง ซ้ำยังถูกแทนที่ด้วยหัวหน้าพรรคการเมืองที่รวมนักธุรกิจหัวเมืองไว้มากสุดเช่นพรรคชาติไทย ผลก็คือ รสช.ใน พ.ศ.2534

         อันที่จริงนอกจากกลุ่มพลังขุนนาง-ทหารแล้ว กลุ่มพลังนักธุรกิจมหานครก็ไม่พอใจต่อการเติบใหญ่ทางการเมืองของนักธุรกิจหัวเมืองนัก
         บางส่วนเข้าไปหนุน รสช.มาแต่ต้น แต่อีกบางส่วนก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ค่าต๋งภายใต้เผด็จการทหารจะคุ้มทุนกว่าหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ความไร้เดียงสาทางการเมืองของรุ่น 5 ทำให้ รสช.พังสลายลงในปีเดียวที่ได้อำนาจ
         กลุ่มพลังคนงานคอปกขาวก็เป็นอีกกลุ่มที่ลังเลกับ รสช. ในแง่หนึ่งขจัดการทุจริตของนักการเมืองที่เป็นนักธุรกิจหัวเมืองเสียก็ดี แต่ในอีกแง่หนึ่ง เผด็จการทหารอาจทำลายเสรีภาพของสื่อซึ่งตัวใช้เป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจได้
          ความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของ รสช. ทำให้กลุ่มพลังขุนนาง-ทหารต้องปล่อยให้พรรคการเมืองซึ่งเต็มไปด้วยนักธุรกิจหัวเมืองได้ถือส่วนแบ่งอำนาจสูงสุด จาก 2535-40 โอกาสที่ทหารจะทำรัฐประหารไม่มีเลย อย่างไรก็ตาม การตอบโต้ของกลุ่มพลังอื่นๆ ที่สูญเสียส่วนแบ่งอำนาจให้แก่นักธุรกิจหัวเมืองในช่วงนี้นั้นน่าสนใจ เพราะมีสภาวการณ์บางอย่างที่คล้ายกับในตอนนี้ การต่อต้านอำนาจของนักธุรกิจหัวเมืองออกมาในรูปของความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มพลังที่เหลือทั้งหมด เพื่อผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นคือรัฐธรรมนูญ 2540 
         อาจกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญ2540ฉบับนี้รวบรวมจินตนาการทางการเมืองกลุ่มพลังอีก 5 กลุ่มไว้ได้มากที่สุด (อาจเป็นเพราะกระบวนการร่างคือเลือกตั้ง ส.ส.ร.) นั่นคือที่มาของสมญา "ฉบับประชาชน" (หากไม่รวมนักธุรกิจหัวเมืองไว้ด้วย) 

          ผมคิดว่าเป้าหมายที่ไม่เปล่งออกมาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ การถ่วงดุลอำนาจของนักการเมืองที่มาจากธุรกิจหัวเมือง แม้ไม่ปฏิเสธที่นักธุรกิจหัวเมืองต้องมีส่วนแบ่งในฝ่ายบริหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็มีกลไกที่ถ่วงอำนาจของฝ่ายบริหารหลายอย่าง นับตั้งแต่วุฒิสภาซึ่งมาจากเขตเลือกตั้งที่ใหญ่มาก, องค์กรอิสระ, ประชาพิจารณ์, สิทธิชุมชน, เสรีภาพของสื่อ, ฯลฯ ทุกกลุ่มพลังได้รับการติดอาวุธในการป้องกันผลประโยชน์ของตนจากกลไกเหล่านี้   
          ผู้นำของฝ่ายบริหารในความหวังของกลุ่มพลังต่างๆ น่าจะเป็นคนที่มาจากขุนนาง-ทหาร, นักธุรกิจมหานคร, เทคโนแครต หรือคนที่กลุ่มเหล่านี้พอรับได้ แต่ในที่สุดคนที่โผล่เข้ามาคือ ทักษิณ ชินวัตร ซ้ำเป็นนายกฯ ที่มี ส.ส.ในสังกัดเกือบครึ่งของสภาผู้แทนฯ ด้วย (ผมอยากเดาว่าการเกิดพรรคใหญ่ในเวลารวดเร็วเช่นนี้เกินความคาดหมายของผู้สนับสนุนรัฐธรรมนูญด้วย)

         ทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่บุคคลที่ผิดจากความคาดหมายทีเดียวนัก เพราะเขาคือคนจากกลุ่มนักธุรกิจมหานครนั่นเอง แต่พรรค ทรท.ไม่ใช่พรรคของนักธุรกิจมหานคร (แม้ได้เงินอุดหนุนจากกลุ่มนี้ด้วย) แต่ประกอบด้วยก๊วนต่างๆ ของนักธุรกิจหัวเมืองนั่นเอง ทรท.ยิ่งเติบโตไปในทางเป็นพรรคของนักธุรกิจหัวเมืองเด่นชัดขึ้น เมื่อควบรวมพรรคอื่นๆ เข้าร่วมมากขึ้น  

         6 ปีของทักษิณสร้างศัตรูไว้มาก จากกลุ่มขุนนาง-ทหาร, บางส่วนของกลุ่มนักธุรกิจมหานครและเทคโนแครต, กลุ่มคอปกขาวซึ่งสูญเสียอำนาจต่อรองทางการเมืองไปมาก, บางส่วนของแรงงานในเมืองซึ่งถูกเขาคุกคามด้วยการขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชน แต่เขาได้มิตรจำนวนมหึมาจากกลุ่มคนชั้นกลางระดับล่าง บางส่วนอาจอยู่ในกลุ่มแรงงาน (คอปกน้ำเงิน), ในภาคการเกษตร, ในภาคธุรกิจส่วนตัวระดับย่อยๆ ฯลฯ 
         รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 คือการรวมหัวของศัตรูทักษิณซึ่งมองไม่เห็นทางออกภายใต้รัฐธรรมนูญ 40 ได้อย่างไร แน่นอนโดยมีกลุ่มขุนนาง-ทหารเป็นแกนนำ

         รัฐธรรมนูญปี 50 คือความพยายามใหม่อีกครั้งหนึ่งที่จะสร้างกลไกถ่วงดุลอำนาจของนักธุรกิจหัวเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้จึงทำความแน่ใจว่า องค์กรและกระบวนการถ่วงดุลที่สร้างไว้ในรัฐธรรมนูญ 40 จะต้องอยู่ในความควบคุมของฝ่ายขุนนาง-ทหาร หลายองค์กรไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน แต่ไปผูกไว้กับฝ่ายขุนนางตุลาการ วุฒิสภาต้องถูกถ่วงดุลด้วยสมาชิกที่กลุ่มขุนนางทหาร และกลุ่มธุรกิจมหานคร-เทคโนแครต รวมทั้งคนงานคอปกขาวเลือกสรรเข้าไป สิทธิในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพลังอื่นๆ ยังคงมีอยู่ หรือขยายมากขึ้นในบางกรณี 

         นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่ออกสมัยรัฐบาลรัฐประหาร ที่ป้องกันมิให้อำนาจของนักการเมืองล่วงล้ำมาถึงกองทัพได้ ดังนั้น แม้ว่ารัฐบาลอาจมาจากการหนุนของธุรกิจหัวเมือง (เช่นพรรคเพื่อไทย) ก็ไม่อาจขยับอะไรได้สะดวกนัก  
         เป็นดุลแห่งอำนาจทางการเมืองที่กันมิให้ฝ่ายใดขยับอะไรได้มากนัก ไม่ว่าในทางที่ดี หรือทางที่เลว กลุ่มพลังต่างๆ ปกป้องผลประโยชน์ของตนได้พอสมควร แต่จะผลักดันอะไรที่สร้างสรรค์เชิงปฏิรูปไม่ได้เลย กองทัพไม่อยู่ในฐานะที่จะทำรัฐประหารได้อีก อย่างน้อยในอนาคตที่พอจะมองเห็นได้ ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ แต่ก็เป็นเสถียรภาพที่ไม่นำไปสู่อะไร


          อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มพลังสามกลุ่มที่ไม่ได้รับประโยชน์จากดุลแห่งอำนาจของรัฐธรรมนูญ2550ฉบับนี้คือ แรงงานในเมือง, คนชั้นกลางระดับล่าง และกลุ่มนักธุรกิจหัวเมือง (ที่จริงกลุ่มนี้ก็ได้ประโยชน์ แต่ได้ไม่เต็มที่)

          การต่อสู้เพื่อแก้ หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญในช่วงนี้ คือการต่อสู้ที่จะจัดวางโครงสร้างอำนาจระหว่างกลุ่มพลังทั้งหกนี้ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า จัดวางโครงสร้างดังที่เป็นอยู่นี้คือจุดสมดุลที่เป็นไปได้ที่สุดแก่สังคมไทย อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าต้องปรับเปลี่ยนใหม่เพื่อลดอำนาจของฝ่ายอื่นลง เพื่อเปิดพื้นที่ให้กลุ่มของตนได้มีอำนาจเพิ่มขึ้น จึงจะเป็นดุลแห่งอำนาจที่เหมาะสมแก่ประเทศ (ดังนั้นถึงทำโพลอีก ก็จะได้คะแนนสูสีกันเช่นนี้)

          ที่พูดทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เรียกว่า "อุดมการณ์" ไม่มีความสำคัญเสียเลย "อุดมการณ์" มีความสำคัญแน่ และมีอย่างน้อยสองลักษณะคือ หนึ่งเป็นแรงผลักดันให้คนร่วมรณรงค์ให้แก้ หรือไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ

         และสอง เป็นข้ออ้างเพื่อบดบังเป้าหมายที่แท้จริงของตนเองไม่ให้ดูน่าเกลียดเกินไป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น