วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

การนิรโทษกรรมทางการเมืองในสังคมไทยตั้งแต่ 2475 ถึงปัจจุบัน


การนิรโทษกรรมทางการเมืองในสังคมไทยตั้งแต่ 2475 ถึงปัจจุบัน
Posted: 17 Jan 2013 07:59 AM PST (อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท) 

การนิรโทษกรรมทางการเมืองในสังคมไทยตั้งแต่ 2475 ถึงปัจจุบัน[1]

          ขณะนี้มีเสียงเรียกร้องให้รั
ฐบาลพิจารณาออกกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง จากบุคคลหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นจากนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ จากคนเสื้อแดง จากกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล และตัวผู้ต้องขังเอง แต่ดูเหมือน     รัฐบาลทำตัวเป็นเกษตรกรที่มักเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ราวกับว่า ”คำตอบ..อยู่ในสายลม”

กฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย หากนับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี 2475 ประเทศไทยมีกฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมืองมาแล้ว ดังนี้

          1. การนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อการกบฏ/รัฐประหาร/ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร 11 ครั้ง เป็นกฎหมาย 13 ฉบับ รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ เป็นระราชกำหนด (พรก.) 2 ฉบับ พระราชบัญญัติ (พรบ.) 11 ฉบับ

  • 1.1 พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พุทธศักราช 2488
  • 1.2 พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พุทธศักราช 2488 พุทธศักราช 2488
  • 1.3 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490(การรัฐประหารกระทำโดยพลโทผิน ชุณหะวัณและพวก)
  • 1.4 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 (การปฏิวัติโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม)
  • 1.5 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 (ฉบับที่ 2)(กำหนดเวลาสิ้นสุดการขอคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ยศหรือบรรดาศักดิ์เสียภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2502)
  • 1.6 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 พ.ศ. 2500(การยึดอำนาจโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์)
  • 1.7 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พ.ศ. 2502 (การปฏิวัติโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์)
  • 1.8 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 พ.ศ. 2515 (ปฏิวัติตัวเองโดย จอมพลถนอม กิตติขจร)
  • 1.9 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2519 (คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่)
  • 1.10 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ระหว่าง วันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520 (กรณีพล อ. ฉลาด)
  •       1.11 พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2524 (กบฏเมษา ฮาวาย โดยพล.อ.สัณฑ์ จิตรปฏิมา เสธฯสนั่นกับพวก จปร. 7)
  • 1.12 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่าง วันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 พ.ศ. 2531 (ก่อการโดยพลตรีมนูญ รูปขจร และพวก)
  • 1.13 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2534
  • ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 ณ วันที่ 1 มีนาคม พุทธศักราช 2534
  • มาตรา 32  บรรดาการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ได้กระทำ ประกาศ หรือสั่งก่อนวันใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ ทั้งนี้ ที่เกี่ยวเนื่องกับการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ไม่ว่าจะกระทำด้วยประการใด หรือเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะกระทำ ประกาศ หรือสั่งให้มีผลใช้บังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ถือว่าการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่ง รวมทั้งการกระทำของผู้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้นตลอดจนการกระทำของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดหรือควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินดังกล่าว เป็นการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
  • 1.14 การนิรโทษกรรมโดยการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยพลเอกสนธิ บุณยรัตกลินและพวก
  • มาตรา 37  บรรดาการกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ของหัวหน้าและคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมตลอดทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันได้กระทำไป เพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการรวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง[2]

2. การนิรโทษกรรมแก่การชุมนุมทางการเมือง/เหตุการณ์ทางการเมือง 3 ครั้ง เป็นพรบ. 3 ฉบับ

  • 2.1 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2516
  • 2.2 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521
  • 2.3 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2532

3. การนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำทางการเมือง 4 ครั้ง เป็นพรบ. 3 ฉบับ พรก. 1 ฉบับ
  • 3.1 พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475
  • 3.2 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2476 (ฝ่ายทหารจี้บังคับให้ครม.พลเรือนลาออกทั้งคณะ)
  • 3.3 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น พุทธศักราช 2489 (นิรโทษกรรมให้กลุ่มที่ต่อต้านญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ สอง เช่น เสรีไทย)
  • 3.4 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 กลับมาใช้ พ.ศ. 2494 (การรัฐประหารเงียบ โดยคณะทหาร คณะราษฎร และบุคคล โดยอ้างสถานการณ์ภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ และคอรัปชั้น และอ้างความมั่นคงแห่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ บรมราชจักรีวงศ์ และระบอบรัฐธรรมนูญ)

เหตุผลของการตรากฎหมายนิรโทษกรรม ทั้งในรูป พระราชกำหนด (พรก.)หรือพระราชบัญญัติ (พรบ.)

        เมื่อได้ตรวจสอบเหตุ
ผลของการออกกฎหมายนิรโทษกรรม จะพบว่าเมื่อมีการยึดอำนาจทางการเมืองโดยคณะทหารที่ก่อการกบฏแต่ไม่สำเร็จ การก่อการกบฏ หรือยึดอำนาจรัฐอันมิได้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยนั้น เป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา (ปัจจุบัน)หรือกฎหมายลักษณะอาญา ในยุคก่อนการใช้ประมวลกฎหมายอาญา (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475- ก่อนพฤศจิกายน 2499) จะพบเหตุผลที่หลากหลาย แต่เหตุผลหนึ่งก็เพื่อ “สร้างสรรความสามัคคีของชนในชาติ” หรือ “รัฐบาลนี้มีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะให้เกิดความสามัคคีในระหว่างชนในชาติ” หรือ “ความสามัคคีของชนในชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็นและรีบด่วนที่จะต้องสร้างสรรให้มีขึ้นให้จงได้ การดำเนินการทางคดีต่อไปมีแต่จะก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนยิ่งขึ้น” ดังรายละเอียด

       1. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520[3]
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระชนมพรรษาเจริญวัฒนามาครบ 50 พรรษาบริบูรณ์ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520 ซึ่งนับเป็นอภิลักขิตสมัยที่สำคัญ และประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายและเจตจำนงที่จะผนึกกำลังสร้างสรรความสามัคคีของชนในชาติ สมควรนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรและความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดดังกล่าว ซึ่งได้กระทำระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 เพื่อเป็นการแผ่พระมหากรุณาธิคุณและให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นได้ร่วมกันทำคุณประโยชน์และช่วยจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

       2. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521[4]
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า การพิจารณาคดีเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ได้ล่วงเลยมานานพอสมควรแล้วและมีท่าทีว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีกนาน ถ้าจะดำเนินคดีต่อไปจนเสร็จสิ้นก็จะทำให้จำเลยต้องเสียอนาคตในทางการศึกษาและการประกอบอาชีพยิ่งขึ้น และเมื่อคำนึงถึงว่าการชุมนุมดังกล่าวก็ดี การกระทำอันเป็นความผิดทั้งหลายทั้งปวงก็ดี เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่แท้จริงเพราะเหตุแห่งความเยาว์วัยและการขาดประสบการณ์ของผู้กระทำความผิด ประกอบกับรัฐบาลนี้มีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะให้เกิดความสามัคคีในระหว่างชนในชาติ จึงเป็นการสมควรให้อภัยการกระทำดังกล่าวนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิด ทั้งผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีอยู่และผู้ที่หลบหนีไปได้ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควรและกลับมาร่วมกันทำคุณประโยชน์และช่วยกันจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

      3. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2524[5]

       เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ ตามที่ได้มีผู้ก่อความไม่สงบขึ้นเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินในระหว่างวันที่ 31 มีนาคม จนถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 โดยใช้กำลังอาวุธเข้ายึดสถานที่ราชการสำคัญหลายแห่ง อันเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรในการดำเนินการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบดังกล่าว รัฐบาลได้ใช้ความระมัดระวังมิให้เกิดการต่อสู้กันขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรและทรัพย์สินของทางราชการและเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ประเทศชาติและราชบัลลังก์ได้ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้ผู้ก่อความไม่สงบวางอาวุธและกลับคืนสู่หน่วยที่ตั้งตามปกติของตนภายในระยะเวลาที่กำหนด แล้วรัฐบาลจะไม่เอาความผิด ซึ่งปรากฏว่าผู้ก่อความไม่สงบได้เชื่อฟังและปฏิบัติตามประกาศของรัฐบาลด้วยดี มิได้มีการต่อต้านหรือขัดขืนหรือใช้กำลังอาวุธให้ต้องเสียเลือดเนื้อแต่ประการใด ทำให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อเหตุการณ์สงบลงแล้ว รัฐบาลได้ดำเนินการสอบสวนเพื่อทราบถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยประกาศให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปรายงานตัวต่อกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบแห่งชาติภายในเวลาที่กำหนด เพื่อให้ชี้แจงถึงการกระทำของตน ในขณะเดียวกันเนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมาย การดำเนินการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดจึงต้องกระทำไปตามกระบวนการแห่งกฎหมายควบคู่ไปด้วย บัดนี้ จากผลแห่งการสอบสวนเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ผู้ก่อความไม่สงบส่วนใหญ่ได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐบาลโดยครบถ้วน เป็นการสมควรที่จะนิรโทษกรรมการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบเหล่านั้นให้ตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ และเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศที่มีศัตรูของประเทศชาติและประชาชนอยู่รอบด้านทั้งภายนอกและภายในราชอาณาจักร ความสามัคคีของชนในชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็นและรีบด่วนที่จะต้องสร้างสรรให้มีขึ้นให้จงได้ การดำเนินการทางคดีต่อไปมีแต่จะก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนยิ่งขึ้น ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และจะทำให้กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศในที่สุด ฉะนั้น เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประเทศและกรณีเป็นเรื่องฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนที่ไม่อาจปล่อยให้เนิ่นช้าได้  จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้  

สาระสำคัญของกฎหมายนิรโทษกรรม
เมื่อหันมาดูเนื้อหาของกฎหมายนิรโทษกรรม จะพบว่ามีสาระสำคัญอยู่ 2 ประการ กล่าวคือ
๑. นิรโทษกรรมการกระทำผิดทางอาญา เช่น
- ความผิดต่อความมั่นคงของรั
ฐภายในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา
- ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้
องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
- ความผิดฐานกบฏและจลาจล
ดังกรณีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2532[6]

มาตรา 3  บรรดาการกระทำของบุคคลใด ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 หากการกระทำนั้นเป็นความผิดดังต่อไปนี้
  • (1) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา
  • (2) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
  • (3) ความผิดฐานอื่นที่เป็นกรรมเดียวกับความผิดตาม (1) หรือ (2)  ทั้งนี้ เฉพาะที่มิใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

ให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง
๒. นิรโทษกรรมเหตุการณ์ กรณี ความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เมื่อได้คำนึงถึงว่าการกระทำนั้นได้กระทำไปโดยปรารถนาจะให้มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้รวดเร็วยิ่งขึ้น จึงสมควรให้มีนิรโทษกรรมแก่บรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว ซึ่งเหตุการณ์เดินขบวนนั้น
- ก่อให้เกิดความผิดต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลและ
- ความเสียหายแก่ทรัพย์สินเกี่
ยวเนื่องกับการเดินขบวน
- ไม่ว่ากระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิ
ดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

ใครบ้างได้ประโยชน์จากพฎหมายนิรโทษกรรม

กฎหมายนิรโทษกรรมทุกฉบับ ให้ทุกคนที่กระทำผิดได้รั
บประโยชน์ เช่น ผู้ที่ได้กระทำความผิดฐานกบฏ 
จลาจล และผู้ที่ได้กระทำความผิดอันเกี่ยวเนื่องจากการกระทำการป้องกัน ระงับหรือปราบปรามการกบฏหรือจลาจล (กรณีกบฏ 8 พฤศจิกายน 2499 กรณีการเดินขบวนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ ซตุลาคม 2519 เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ หรือผู้กระทำตามคำสั่งในการปราบปรามนักศึกษา ประชาชนในเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษ

ผลของกฎหมายนิรโทษกรรม
- ให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิด เช่น บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นเหล่านั้นไม่ว่าของบุคคลใด ๆ ในคณะราษฎรนี้ หากว่าจะเป็นการละเมิดบทกฎหมายใด ๆ ก็ดี ห้ามมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายเลย (มาตรา 3  พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475)  และ
- ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ไม่ว่าผู้นั้นจะได้รับโทษตามคำสั่งดังกล่าวอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหรือไม่ก็ตาม ก็ให้พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (กรณี พล.อ.ฉลาด) และ
- ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น
- ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง ปล่อยตัวไป เช่น ในพรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 มาตรา 4  ให้ศาลทหารกรุงเทพดำเนินการปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดซึ่งถูกฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 253 ก/2520 ของศาลทหารกรุงเทพ (ใช้กฎ 6 ต.ค. 19) และให้ศาลอาญาดำเนินการปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดซึ่งถูกฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 4418/2520 ของศาลอาญา
บรรดาการกระทำที่เป็นเหตุให้จำเลยถูกฟ้องในคดีตามวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 3 และการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้จำเลยพ้นจากความผิดและความรับผิดด้วย

       ดังนั้นเมื่อสำรวจกฎหมายนิรโทษกรรมตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา อาจตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่า การก่อการกบฏ การก่อจราจล การรัฐประหาร การเดินขบวนเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญหรือการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย ล้วนเป็นคดีการเมืองทั้งสิ้น การไม่เอาผิดแก่ผู้ชุมนุมเรียกร้องหรือดำเนินการทางการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย ต้องถือว่าเป็นการกระทำทางการเมือง หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ หรือกระทำความผิดทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียกร้องประชาธิปไตย ต้องถือเป็นการกระทำทางการเมือง ที่ต้องพิจารณาให้ได้รับการนิรโทษกรรมทางการเมืองทั้งสิ้น

        แม้แต่นายทหารที่มิได้ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ที่พยายามยึดอำนาจรัฐด้วยการก่อการกบฏ ก็ยังถือเป็นคดีการเมืองที่ได้รับการนิรโทษกรรม จึงไม่มีเหตุผลใดที่การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มนปช. หรือกลุ่มพันธมิตรฯ หากมีความผิดตามกฎหมาย ก็สมควรได้รับการนิรโทษกรรมทั้งสิ้น เสมอภาคกัน ทั้งนี้อาจสอดคล้องกับการเหตุผลของกฎหมายนิรโทษกรรมในอดีตที่ต้องเร่งจัดให้มีขึ้นเพราะ “ความสามัคคีของชนในชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็นและรีบด่วนที่จะต้องสร้างสรรให้มีขึ้นให้จงได้ การดำเนินการทางคดีต่อไปมีแต่จะก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนยิ่งขึ้น ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และจะทำให้กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศในที่สุด”[7]


[1] รวบรวมและเรียบเรียงโดย ศราวุฒิประทุมราช ผู้อำนวยการสถาบันหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน[2] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ณ วันที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2549  ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123/ตอนที่ 102 ก/1 ตุลาคม 2549][3] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 94/ตอนที่ 121/ฉบับพิเศษ หน้า 1/3 ธันวาคม 2520[4] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 95/ตอนที่ 97/ฉบับพิเศษ หน้า 1/16 กันยายน 2521[5] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98/ตอนที่ 69/ฉบับพิเศษ หน้า 1/5 พฤษภาคม 2524[6] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 106/ตอนที่ 142/ฉบับพิเศษ หน้า 4/30 สิงหาคม 2532[7] พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2524 , อ้างแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น