วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

เงินบริจาค หลักการและกฎหมาย


เงินบริจาค หลักการและกฎหมาย

         กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำคดีเรื่อง ส.ส. และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่งหักเงินจากบัญชีเงินเดือนที่ได้รับบริจาคเป็นเงินบำรุงพรรคประชาธิปัตย์น่าสนใจยิ่งน่าสนใจทั้งในแง่ของกฎหมาย และน่าสนใจทั้งในแง่ของการส่งเสริมพรรคการเมือง

       ในแง่ของการส่งเสริมพรรคการเมืองนั้น เห็นด้วยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และใครในพรรคประชาธิปัตย์อีกหลายคนที่อธิบายว่า การหักเงินเดือนจากสมาชิกพรรคมาเป็นเงินบำรุงพรรคเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกพรรคมีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของพรรค ซึ่งจะทำให้พรรคเข้มแข็ง

        กรณีนี้พูดเมื่อไรก็ถูก พูดเมื่อไรก็เท่และดูดี มีหลักการ เพราะเมื่อสมาชิกพรรคมีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของพรรค ก็จะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง แต่ในแง่ของกฎหมายก็มีข้อกำหนดเรื่องการบริจาคเงินสนับสนุนพรรคการเมืองอยู่ ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ปี 2550 มาตรา 57 เขียนไว้ว่า ภายใต้บังคับมาตรา 54 วรรคสาม การบริจาคแก่พรรคการเมืองตั้งแต่ห้าพันบาทขึ้นไป ต้องเปิดเผยชื่อผู้บริจาคต่อสาธารณชนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด การบริจาคแก่พรรคการเมืองตั้งแต่สองหมื่นบาทขึ้นไป จะต้องบริจาคโดยวิธีการสั่งจ่ายเป็นตั๋วแลกเงินหรือเช็คขีดคร่อม

       ชัดเจนว่าหากบริจาคเงินเกิน 20,000 บาทขึ้นไป ต้องจ่ายเป็นตั๋วแลกเงินหรือเช็คขีดคร่อมเท่านั้น ไม่ให้ทำในลักษณะอื่นปัญหาของเรื่องนี้จึงอยู่ที่ว่าการหักเงิน ส.ส. จากบัญชีเงินเดือนหรือบัญชีรายได้เข้าบัญชีพรรคประชาธิปัตย์นั้น เป็นการทำตามที่กฎหมายกำหนดว่าต้องจ่ายเป็นตั๋วแลกเงินหรือเช็คขีดคร่อมเท่านั้นหรือไม่ ขอยืนยันว่าบริจาคเงินสนับสนุนพรรคโดยหลักการนั้นดี แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้น

        ส่วนจะทำถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ อย่างไร คนในพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกหักเงินเข้าพรรคย่อมรู้ดีอยู่แก่ใจ

        ประชาชนทั่วไปถึงไม่รู้ข้อเท็จจริงแต่ก็คงพอเดาทางพรรคประชาธิปัตย์ได้ว่าเป็นอย่างไร เพราะการที่นายอภสิทธิ์ และบรรดา ส.ส. ที่ถูกดีเอสไอเรียกสอบออกมาเรียกร้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการพิเศษให้ถอนเรื่องนี้ออกจากคดีพิเศษ ไม่ใช่วิสัยของพรรคประชาธิปัตย์

       เพราะลักษณะของคนพรรคนี้หากมีช่องทางต่อสู้ไม่เคยขอร้องใคร มีแต่จะฟ้องกลับเอาคืน ไม่ยอมถูกเล่นงานอยู่ฝ่ายเดียว เหมือนอย่างที่กำลังทำกับนายธาริต เพ็งดิษฐ์
เรื่องนี้ต้องแยกเป็น 2 ประเด็นระหว่าง “หลักการ” กับ “กฎหมาย” ถ้าถูกต้องถูกทั้ง 2 อย่าง ไม่ใช่ถูก “หลักการ”แต่ผิด “กฎหมาย”

        ความจริงเรื่องนี้พิสูจน์ไม่ยาก แค่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หรือสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เอาเช็คขีดคร่อมหรือตั๋วแลกเงินที่บริจาคให้พรรคมาโชว์เรื่องก็จบ
เว้นแต่ว่าไม่มีจะโชว์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น