วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ความอยุติธรรมคดี‘สมยศ’



         การตัดสินของศาลใน คดีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง และนำมาสู่การตั้งคำถามอย่างยิ่งต่อความยุติธรรมของศาลไทย

ทั้งนี้ 23 มกราคม 2556 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาในคดีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารเสียงทักษิณ ซึ่งถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ในที่สุดศาลพิพากษาให้นายสมยศมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 10 ปี จากความผิด 2 กรรม บวกกับโทษเดิมเมื่อปี 2552 คดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ที่รอลงอาญาไว้อีก 1 ปี รวมเป็นจำคุก 11 ปี

ในคำอธิบายของคำพิพากษาได้อ้างอิงถึงบทความ 2 บทความในนิตยสารเสียงทักษิณ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2553 ชื่อว่า “แผนนองเลือด ยิงข้ามรุ่น” และ “6 ตุลาแห่ง พ.ศ. 2553” ตามลำดับ โดยผู้เขียนใช้นามแฝงว่า “จิตร พลจันทร์” ว่าเป็นบทความที่ตีความได้ว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้ว่าตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ไม่ได้กำหนดให้บรรณาธิการต้องรับผิดชอบกับบทความที่ผู้อื่นเขียน แต่ความผิดในกรณีมาตรา 112 ไม่ได้ถูกยกเลิกไปด้วย ศาลจึงวินิจฉัยว่า แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้เขียนบทความก็ถูกลงโทษได้

หลังจากการอ่านคำพิพากษา องค์กรสิทธิมนุษยชนกลุ่มต่างประเทศหลายกลุ่ม ได้ออกแถลงการณ์ประณามคำตัดสิน โดยระบุว่า คำตัดสินวันนี้ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อหลักนิติธรรมของประเทศไทย และจะทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองในอนาคต และตัวแทนสหภาพยุโรปได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการลงโทษครั้งนี้ โดยระบุว่า คำตัดสินดังกล่าวลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่ออย่างรุนแรง กระทบต่อภาพลักษณ์สังคมที่เป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพของประเทศไทย

นายสมยศถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554 และถูกขังคุกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพราะศาลไม่ยอมให้ประกันตัว แม้ว่าต่อมาทนายจะขอประกันตัวถึง 10 ครั้ง แต่ศาลก็ไม่ยอมอนุมัติ โดยอ้างเพียงแต่ว่าเป็นคดีที่มีโทษสูง กลัวผู้ต้องหาหลบหนี การสืบพยานคดีของนายสมยศสิ้นสุดลงเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2555 แต่ศาลได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษามาจนถึงเดือนมกราคมนี้

เมื่อวันที่ 24 มกราคม หลังจากการตัดสินคดี นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงกรณีแถลงการณ์ของสหภาพยุโรปต่อกรณีคำพิพากษานายสมยศว่า การพิจารณาคดีของศาลอาญามีหลักการพิจารณาเป็นสากลเหมือนกับศาลยุติธรรมอื่น ทั่วโลก คือพิจารณาตามกฎหมายที่บัญญัติเอาไว้ การละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็เป็นความผิดตามกฎหมายของประเทศไทย การที่นายสมยศนำบทความดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งแม้จะเป็นบทความของคนอื่นมาลง ก็เข้าข่ายเป็นความผิด เพราะบทความที่เผยแพร่ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ แต่เป็นข้อความที่มีลักษณะดูหมิ่น เหยียดหยาม ทำให้สถาบันได้รับความเสียหาย

ก่อนอื่นคงจะต้องขอเห็นแย้งกับนายทวี เพราะการตัดสินของศาลไทยกรณีของนายสมยศครั้งนี้ ไม่ได้เป็นแบบมาตรฐานสากล จะขอเริ่มอธิบายตั้งแต่การตัดสินเรื่องคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่งก็ไม่ถูกต้อง เพราะ พล.อ.สพรั่งขณะนั้นเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นนายทหารที่ร่วมก่อการรัฐประหาร และยังมีบทบาทเป็นผู้นำระดับสูงในกองทัพ การวิจารณ์บทบาทในทางสาธารณะย่อมเป็นสิ่งทำได้ การตัดสินลงโทษถึงขั้นติดคุกในคดีหมิ่นประมาทลักษณะนี้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้มาตรฐานสากลอยู่แล้ว

ต่อมาการตัดสินให้คนติดคุกถึง 10 ปี โดยบทความที่เขาไม่ได้เขียน จะอธิบายด้วยมาตรฐานอะไร ในต่างประเทศการเขียนบทความใดก็ตาม ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเขาก็เขียนบทความมาตอบโต้ให้ประชาชนพิจารณา ไม่มีใครเอาคนเขียนบทความที่ตนไม่เห็นด้วยไปติดคุกเช่นในประเทศไทย แต่ปัญหาที่ยิ่งกว่านั้นคือ คนติดคุกไม่ได้เขียน และตามกฎหมายการพิมพ์ บรรณาธิการก็ไม่ต้องรับผิดชอบ การที่ศาลอธิบายว่า แม้จะไม่ผิดกฎหมายการพิมพ์แต่ยังผิดตามาตรา 112 นั้น ศาลวินิจฉัยเอง เพราะถ้าหากกฎหมายมาตรา 112 เป็นข้อยกเว้น ตามหลักการทางด้านนิติศาสตร์ต้องระบุข้อยกเว้นไว้ในกฎหมายการพิมพ์ด้วย เมื่อไม่มีระบุข้อยกเว้นเช่นนี้ โดยทั่วไปต้องยกประโยชน์ให้จำเลย

ปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ บทความที่ศาลอ้างทั้ง 2 บท ไม่ได้เข้าข่ายการหมิ่นตามมาตรา 112 เพราะตามกฎหมายมาตรานี้ได้ระบุการคุ้มครองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ แต่บทความทั้ง 2 ที่อ้าง ล้วนเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์และไม่มีข้อความหมิ่นบุคคลคนใดตามมาตรา 112 เลย ไม่ได้เอ่ยถึงสถาบันเบื้องสูงเลยด้วยซ้ำ เช่น ในส่วนที่ศาลตัดสินจากข้อความจากบทความที่อ้างถึง “โคตรตระกูล” อธิบายไม่ได้เลยว่าเป็นความผิดตามกฎหมายนี้ แม้จะอ้างตามนัยคำตัดสินของศาล คือตีความว่าเป็นเรื่องสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่กรณีนี้ก็มีปัญหาในการตีความ เพราะจิตร พลจันทร์ อธิบายว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น “ตั้ง 200 ร้อยกว่าปีมาแล้ว”
บทความนี้เขียนเมื่อ พ.ศ. 2553 เมื่อ 200 ปีคือ ปี พ.ศ. 2353 ล่วงพ้นจากสมัยรัชกาลที่ 1 มาแล้ว เป็นต้นรัชกาลที่ 2 จึงอาจจะตีความได้ด้วยซ้ำว่าไม่เกี่ยวข้องกับพระเจ้ากรุงธนบุรี ยิ่งกว่านั้นก็เป็นที่ทราบกันดีว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีถูกประหารชีวิตโดยการตัดศีรษะ ผู้ที่ถูก “จับลงถุงแดง” จึงไม่น่าจะหมายถึงพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่กระนั้นสมมุติว่าเรื่องนี้กล่าวถึงเรื่องพระเจ้ากรุงธนบุรีจริง มาตรา 112 ก็ไม่ได้มีบทบัญญัติคุ้มครองไปถึงพระมหากษัตริย์ในอดีตแต่อย่างใด การอ้างเอาความผิดแก่นายสมยศจึงไม่น่าจะเป็นไปได้

กรณีต่อมาการกล่าวถึง “หลวงนฤบาลแห่งโรงแรมผี” ที่ออกกฎหมายตั้งทรัพย์สินส่วนตัว พ.ศ. 2491 หนุนอำนาจเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โค่นรัฐบาลถนอม-ประภาส และอยู่เบื้องหลังการสังหารฝ่ายซ้าย การมีส่วนในการลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้น ก็ไม่สามารถตีความตามที่คำพิพากษาของศาลได้เลยว่าหมายถึงพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัว อย่างน้อยที่สุดการเอ่ยถึงการออกกฎหมาย พ.ศ. 2491 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังอยู่ต่างประเทศ

ดังนั้น เรื่องหลวงนฤบาลจึงเป็นการตีความโดยไม่ตรงข้อมูลประวัติศาสตร์หรือไม่ หรืออาจจะพิจารณาได้ด้วยซ้ำว่า คำพิพากษาของศาลที่ตีความเช่นนี้จะทำให้กระทบถึงสถาบันหรือไม่?

สรุปแล้วการดำเนินการของศาล เช่น การห้ามประกันตัวและการตัดสินคดีในลักษณะตีความเช่นนี้ จึงอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของศาลเอง และยังเป็นการชี้ให้เห็นด้วยว่ากฎหมายมาตรา 112 ขัดกับหลักนิติธรรมและหลักความยุติธรรม ทั้งยังเป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับเสรีภาพอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเสรีภาพในด้านความคิดที่มุ่งจะบังคับให้คนคิดและเชื่อในแบบเดียวกัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น