วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2556

สังคมอเมริกันมี *สลิ่ม* หรือไม่?

สังคมอเมริกันมี *สลิ่ม* หรือไม่?
Posted: 21 Mar 2013 07:58 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์่ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
           ผมเข้าใจเอาเองว่า วาทกรรม“สลิ่ม” หมายถึงพวกแสดงนิสัยกระแดะ ดัดจริตอยู่ในสังคม ซึ่งอาจเลยไปถึงการเสแสร้งขั้นรุนแรงได้ และภาพของสลิ่มเป็นภาพเชิงลึกไม่ใช่เชิงตื้นๆ เหมือนกิริยาอาการกระแดะหรือดัดจริตโดยทั่วไป ชนิดที่เจ้าตัวผู้ที่ได้รับขนานนามว่า สลิ่ม นั้น อาจไม่รู้ตนเองเสียด้วยซ้ำว่าตนเองอยู่ในนิยามของคำดังกล่าว
“สลิ่ม” น่าจะเป็นคำที่เกิดขึ้นหลังจากการแบ่งสีทางการเมืองเหลือง-แดง ซึ่งว่าไปแล้ว ก็ไม่น่าจะใช่เรื่องความเห็นต่างทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความเห็นต่างในเรื่องค่านิยมเชิงวัฒนธรรมด้านอื่นรวมอยู่ด้วย

และต่อมา คำว่า สลิ่ม ก็ถูกวิวัฒนาการให้มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “ดราม่า”มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งความหมายก็เป็นไปโดยนัยเดียวกัน

ภาพของสลิ่มนั้น ตามความหมายที่เข้าใจกัน น่าจะเป็น “มายาภาพ” ที่สลิ่มชนพยายามสร้างขึ้นมาเพื่อแสดงถึง “ความเนียน”  ของการแสดงออกเชิงบวก เช่น การเป็นคนดี  มีความรู้ การเป็นคนมีจิตสาธารณะ การเป็นคนชอบเห็นอกเห็นใจคนจนหรือคนที่มีฐานะด้อยกว่า ที่สำคัญยังรวมถึงการเป็นคนธรรมะธรรมโม หรือเป็นคนฝักใฝ่ในเรื่องพุทธธรรม(ธรรมะ) ขณะที่ความจริงในแง่ของข้อเท็จจริงและวิธีการแก้ไขปัญหากลับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เช่น เมื่อพวกสลิ่ม เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ กรณีของคนมีรายได้น้อยให้มีรายได้มากขึ้น ถึงแม้ว่าประชาชนมีรายได้เพิ่มมาก ขึ้น  แต่“ที่ยืน”หรือฐานะของพวกสลิ่ม กลับไม่เปลี่ยนแปลง ยังอยู่ในระดับบน หรืออยู่ “ใน(ระดับ)ชั้น”ของตนเองต่อไป ซึ่งแน่นอนว่า ชั้นดังกล่าวย่อมสูงกว่าประชาชนจำนวนมากทั่วไป พวกเขามีศักยภาพที่แสดงถึงความเข้าใจต่อปัญหาและการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมสูญเสียอำนาจและทรัพย์สินที่มีอยู่ในมือของตน พวกเขาอาจแบ่งปันโภคทรัพย์ให้ผู้คนทั่วไป แต่การแบ่งปันดังกล่าวไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและชนชั้นทางสังคมแต่อย่างใด  เพราะโครงสร้างของสังคมยังไม่ได้เปลี่ยน

อีกแง่หนึ่งคำว่า สลิ่ม น่าจะถูกออกแบบมา เพื่อสื่อเห็นถึงความแตกต่างระหว่างการพูดแบบตรงๆไม่อ้อมค้อมกับการพูด “แบบผู้ดี” มีวาทศิลป์หรือพูดแบบสุภาพ โดยการพูดของคนพูดในประการหลังแฝงไปด้วยเลศนัยบางอย่างที่มุ่งประโยชน์ต่อเจ้าตัวผู้ที่พูดนั้น โดยผู้พูดจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เช่น การพูดแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ที่ประสบความเดือดร้อนจากอุทกภัยของผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือ หรือแม้แต่คนทั่วไป แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว ไม่ได้ลงมือทำการช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาเดือดร้อน เพียงดีแต่พูดแสดงความเป็นห่วงเห็นใจ ซึ่งไม่แน่ใจว่าออกมาจากใจจริงหรือเปล่า (เหมือนผู้เข้าประกวดนางงามต้องแสดงอาการว่า รักเด็ก รักโลก รักสิ่งแวดล้อม เป็นต้น)

สามารถเปรียบเทียบได้กับการแสดงลิเก ที่นักแสดงพูดวาดภาพให้คนดูคล้อยตามและจินตนาการตามจากคำพูด เช่น การพูดว่า “ก๊อก ก๊อก ก๊อก ! ที่หมายถึงการเปิดประตู แล้ว “ทำท่า”ชะเง้อไปดูข้างในห้องว่ามีใครอยู่หรือเปล่า หรือ การ“ทำท่า” ป้องหน้า ชะเง้อคอ เมื่อกำลังมองหาใครสักคนอยู่ ซึ่งความเป็นจริงในแง่ของกิริยาอาการของการใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้เป็นไปอย่างการแสดงลิเกนี้ เพราะเวลามองหาคนจริงๆ ไม่มีใครเอามือป้องหน้า ชะเง้อคอ มองหาอย่างลิเก

หรือ..ไม่ว่าจะเลี่ยงการพูดเรื่องวิธีการมีเซ็กส์หรือการมีความสัมพันธ์ทางเพศ ด้วยการใช้คำพูดสวยหรูเพียงใดก็ตาม แต่การมีเซ็กส์ของคนปกติโดยทั่วไปมีวิธีการและเป้าหมาย(ของการมีเซ็กส์)ก็คล้ายคลึงหรือเหมือนกัน ต่างอะไรกับการเอาเรื่องเซ็กส์ไว้พูดกันที่ลับแบบมุบมิบ แต่ปัญหาทางเพศยังเกลื่อนเต็มไปหมด สิ่งที่ต้องการคือ การพูดความจริงเกี่ยวกับการมีเซ็กส์อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งมันอาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องเพศได้

 หรือ..การกล่าวถึงการบริโภคแบบพอเพียง การกล่าวถึงโทษภัยของทุนนิยมบริโภค ขณะที่คนกล่าวยังคงใช้ของแพงๆ ตามยุคสมัยนิยม เช่น รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น การพูดอย่างทำอย่าง ก็จะกลายเป็น “สลิ่มชน” ไปโดยปริยาย แต่หากยอมรับความจริงว่าตัวเอง เป็นอย่างนั้น เช่น ชอบใช้ของแพงแต่ก็มีเงินซื้อของนั้น ก็ไม่มีใครว่า เพราะยอมรับตัวเองเสียก่อนแล้ว

หรือ..การกล่าวถึงกระบวนการการสร้างสันติภาพหอคอย โดยที่ผู้กล่าวถึงสูตรสันติภาพนั้น แทบไม่เคยสัมผัสหรือรู้รสจากเหตุการณ์ไร้ซึ่งสันติภาพเอาเลย เป็นแต่การสร้างวาทกรรมสันติภาพจากการอนุมานหรือคิดเอา เพราะแท้จริงแล้วผู้สร้างวาทกรรมสันติภาพบนหอคอยเหล่านี้ ลึกๆแล้วมีประโยชน์แอบแฝงจากวาทกรรมอยู่ด้วย ไม่ว่าเจ้าตัวผู้สร้างวาทกรรมจะรู้หรือไม่ก็ตาม หากลงไปสัมผัส หรือต่อสู้เพื่อสันติภาพด้วยตัวเองร่วมกับคนอื่นต่างหาก จึงได้ชื่อว่า ไม่เป็นสลิ่ม ซึ่งสำหรับคนพวกนี้เราสามารถเห็นได้จาก กรณีของ เนลสัน แมนเดลา แห่งแอฟริกาใต้ มหาตมะคานธี หรือแม้แต่แม่ชี เทเรซ่าแห่งอินเดีย

ปัญหามีว่า ในสังคมตะวันตก อย่างเช่น อเมริกันมีสลิ่มด้วยหรือไม่?

เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างทางสังคม โดยเฉพาะฐานรากทางด้านวัฒนธรรมแล้ว ย่อมจะเห็นว่า สังคมอเมริกันมีรากฐานด้านวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากไทย สังคมอเมริกันเป็นสังคมตรงไปตรงมามีพิธีรีตองน้อยกว่าไทย โดยเฉพาะในแง่ของการไม่อาศัยระบบอุปถัมภ์ แต่มีการให้คุณค่าเชิงปัจเจกสูงกว่าคุณแห่งสายสัมพันธ์เชิงพหุนิยมหรือการเล่นพวก ดังนั้น ความเป็นสลิ่ม จึงน่าจะน้อยกว่าระบบไทยๆ

อย่างเช่น การเรียกชื่อคนโดยใช้คำนำหน้าซึ่งคนอเมริกันส่วนใหญ่ ไม่มีการเรียกชื่อนำหน้าว่า พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา แต่เรียกชื่อเฉยๆ ไม่ว่าคนถูกเรียกจะอยู่ในวัยเท่าใด ยกเว้นในบางกรณีเช่น เป็นญาติกัน ขณะที่คนไทยชอบเรียกชื่อนำหน้าคน เสมอ อย่างเช่น พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา  เพื่อแสดงถึงความนับถือ ความเป็นพวก หรือเพื่ออะไรก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วจะนับถือ หรือเป็นพวกจริงหรือไม่ ไม่มีใครรู้นอกจากเจ้าตัวคนเรียกเท่านั้น ซึ่งหากการเรียกดังกล่าวเป็นไปตามธรรมเนียม หรือผู้เรียกหวังใช้ประโยชน์จากการเรียกคำนำหน้า(เช่น เพื่อการตีสนิท การประจบประแจง เป็นต้น) ผู้เรียกก็ได้ชื่อว่า เป็นสลิ่ม

ในแง่มุมทางการเมืองของระบบวัฒนธรรมอเมริกัน  จะขอยกตัวอย่าง 2 กรณี คือ หนึ่ง เป็นแง่มุม จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอเมริกัน กับ สอง  เป็นแง่มุมของการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศหรือประธานาธิบดี

ในแง่มุมของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หมายถึง การบัญญัติรัฐธรรมนูญของอเมริกันคำนึงถึงหลักการใหญ่ ได้แก่ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค โดยมีการนำไปใช้จริงชนิดที่สามารถเรียกได้ว่า ถูกทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมหรือวิถี ประชาธิปไตย(หรือ จารีต –Mores  และวิถีประชา –Folkways) ชนิดเข้าเส้นคนอเมริกัน จนแทบแยกไม่ออกว่า อันไหนคือ หลักการของรัฐธรรมนูญและอันไหนคือหลักการประชาธิปไตย  แต่ของไทยไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น หลักการของรัฐธรรมนูญกับหลักการประชาธิปไตย เหมือนต่างเดินอยู่บนเส้นคู่ขนาน ทั้งรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยไม่ได้ถูกหลอมรวมให้เป็นหนึ่งเดียว ยังไม่กลายเป็นจารีตและวิถีประชา จากเหตุแห่งระบบอุปถัมภ์ และระบบสัมพันธ์เชิงพหุนิยม ที่มีมายาวนานในประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ แหละนี่ก็เป็นที่มาของ “สลิ่ม” คือ พวกที่อ้างถึงประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรือ การปฏิเสธปรัชญาและคุณค่าประชาธิปไตยแบบสากล   

ในแง่การดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ ซึ่ง ก็คือประธานาธิบดี, หมายถึงที่มาของผู้นำประเทศ ที่ไม่ว่าใครก็ตาม ในสถานะใดๆก็ตาม สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำได้ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เลือกแล้ว การวางโครงสร้างการได้มาซึ่งตำแหน่งผู้นำทางการเมืองหรือผู้นำประเทศตรงไปที่ประชาชน ถือเกณฑ์มติมหาชนเป็นเรื่องสำคัญ ประเด็นดังกล่าว เท่ากับเป็นการกันอำนาจอื่นให้ออกไปเสียได้ ให้อำนาจของประชาชนเท่านั้นที่เป็นใหญ่ ไม่ใช่การวางผังประชาธิปไตยแบบขั้นบันได (ที่หมายถึงเมื่อประชาชนเลือกตัวแทนของเขาแล้วก็ดันมีหน่วยงานหรือคนอื่นมาเลือกต่ออีกขั้น) เพราะประชาธิปไตยแบบขั้นบันไดจะประสบความสำเร็จได้ ด้วยเหตุที่คนในประเทศนั้นอยู่ในครรลองจารีตประชาธิปไตยแล้วเท่านั้น ,การดำรงอยู่ในอำนาจของประธานาธิบดีอเมริกัน คือ ของจริง ไม่ใช่ ผู้นำสลิ่ม

นอกเหนือไปการให้ความนับถือเชิงการคุ้มครองทางกฎหมายต่อการงานอาชีพอย่างค่อนข้างเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงสถานะทางสังคม ในอเมริกา ไม่ยากที่จะเห็นการเข้าคิวต่อแถวซื้อของ ร่วมกับชาวบ้านทั่วไปของนายทหารยศนายพลระดับคุมกองทัพ หรือเห็นประชาชนเดินกอดคอกับผู้พิพากษา(ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา โดยเสียงของพวกเขา)

ร้านอาหารหรือธุรกิจบริการยินดีต้อนรับลูกค้าใส่เสื้อยืด กางเกงขาสั้น และก็น่าจะยินดีต้อนรับมากกว่า ลูกค้าที่ใส่สูทเดินเข้าร้าน ซึ่งพวกที่ทำงานธุรกิจบริการชอบเรียกว่า มังคีย์สูท(Monkey suit) ทำนองแต่งตัวดี แต่โคตรขี้เหนียวทิพ(Tip)    

เมื่อกลไกโครงสร้างของระบบไม่เป็นแบบ “บน-ล่าง” หรือเป็นแนวดิ่ง  “สลิ่ม” ก็ดำรงอยู่ยาก กลายเป็นวัฒนธรรมแบบฉบับอเมริกันที่เน้นความเป็นปัจเจกและให้คุณค่ากับหนึ่งชีวิตเท่ากับหนึ่งชีวิตโดยที่ “ทุนนิยม” อาจทำให้อเมริกันฟูหรือแฟบก็ได้ แต่ไม่มีการเสริมเรื่องจุดอ่อนด้อยหรือจุดแข็งด้านสถานะทำนองการ “เปล่งรัศมีแสแสร้งทางสังคม”

คนอเมริกันก็จะไม่ “สลิ่ม” กันหรอก.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น