วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ข้อจำกัดของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน

พวงทอง ภวัครพันธุ์: ข้อจำกัดของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน

       ในขณะนี้ ฝ่ายประชาชนที่พยายามผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองกำลังเจอปัญหาว่าจะสนับสนุนร่างกฏหมายฉบับไหนดี ระหว่างร่างฯ ของ สส.วรชัย เหมะ และร่างฯ ฉบับประชาชน ที่เสนอโดยญาติผู้เสียชีวิตเมษา-พฤษภา 2553 ดิฉันเชื่อว่าจุดมุ่งหมายหลักของทั้งสองฉบับนี้ คือช่วยเหลือนักโทษเสื้อแดงที่ยังติดคุกมานานกว่า 3 ปี ให้ได้อิสรภาพโดยเร็ว โดยฉบับประชาชนระมัดระวังไม่ต้องการให้นายทหารระดับบังคับบัญชาและระดับล่างที่ใช้กำลังตามอำเภอใจลอยนวลไปง่าย ๆ 
        อย่างไรก็ดี บทความนี้จะจำกัดการพิจารณาว่าร่างนิรโทษกรรมฉบับประชาชนนี้ จะสามารถบรรลุเป้าหมายในการช่วยเหลือนักโทษการเมืองได้มากน้อยแค่ไหน   
ใครจะได้รับนิรโทษกรรมบ้าง
         ประเด็นสำคัญของร่างฯฉบับประชาชนมี 2 ประเด็น คือ
  • หนึ่ง ตัวหลักการของร่างที่ระบุว่า “ให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดต่อความสงบเรียบร้อยหรือต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง” นับแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
  • สอง มาตรา 3 (4) ระบุว่า “การกระทำใด ๆ หรือการตระเตรียมการของผู้ใด ทั้งผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม โดยมุ่งต่อการประทุษร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธ ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย” และ “การกระทำใด ๆ หรือการตระเตรียมการของผู้ใด ทั้งผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม อันมุ่งต่อการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน หรือกระทำผิดต่อทรัพย์ เช่น การวางเพลิงเผาทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์ อันเป็นของเอกชน ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย” (ส่วนที่เน้นเป็นของผู้เขียน)

        คำถามคือ ข้อหาบุกรุกและเผาสถานที่ราชการ ฯลฯ เข้าข่ายความผิดต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือไม่ หรือจะถูกศาลตีความว่าเป็นคดีอาญาเท่านั้น หากในขั้นแปรญัตติสามารถโต้แย้งและระบุให้ชัดเจนว่าเข้าข่าย ก็จะเป็นการดี แต่หากปล่อยให้ศาลเป็นผู้ตีความว่าข้อหาใดบ้างที่เข้าข่าย ก็เชื่อว่าผลร้ายจะเกิดแก่นักโทษการเมืองเสื้อแดงอย่างแน่นอน
         นักโทษการเมืองมาตรา 112 เป็นกลุ่มที่เข้าข่ายความผิดต่อความมั่นคงแน่นอน แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าพวกเขาจะถูกกีดกันจากพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลก็จะพากันหัวหดต่อกรณีนี้อย่างไม่ต้องสงสัย
        ปัญหาไม่ได้มีเพียงแค่นี้  คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดว่าผู้ต้องขังเสื้อแดงที่อุบลฯ และอุดรฯ มีความผิดข้อหาเผาสถานที่ราชการเท่านั้น ผู้ที่มีส่วนร่าง พรบ.ฉบับประชาชนก็ดูจะเข้าใจเช่นเดียวกัน จึงระบุให้เอาผิดเฉพาะกับผู้ที่เผาทำลายทรัพย์สินของเอกชนเท่านั้น ซึ่งเท่ากับยกเว้นการเผาทำลายสถานที่ราชการ (กระนั้นก็ตาม เรื่องการเผาสถานที่เอกชน ก็เป็นปัญหาเช่นกัน จะกล่าวถึงในภายหลัง) แต่จริงๆ แล้วพวกเขาถูกพิพากษาให้มีความผิดหลายข้อหามาก ดังข้อมูลต่อไปนี้
  • 1.     กรณีอุดรธานี – นายอาทิตย์ ทองสาย จำคุก 20 ปี, นายกิตติพงษ์ ชัยกัง จำคุก 10 ปี 3 เดือน, นายเดชา คมขำ จำคุก 20 ปี 6 เดือน, นายบัวเรียน แพงสา จำคุก 20 ปี 6 เดือน และแต่ละคนต้องชดใช้ค่าเสียหายอีกคนละตั้งแต่ 31-47.3 ล้านบาท  นอกจากข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินและวางเพลิงที่ว่าการอำเภอแล้ว ทั้ง 4 คนนี้ ยังมีความผิดฐานก่อความวุ่นวาย + บุกรุกโดยมีอาวุธ + และทำให้เสียทรัพย์ (รถดับเพลิง)

  • 2.     กรณีอุบลราชธานี - น.ส.ปัทมา มูลมิล,นายธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ, นายสนอง เกตุสุวรรณ์, นายสมศักดิ์ ประสานทรัพย์ ทั้ง 4 คนนี้ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่ลดให้คนละ 1 ใน 3 เหลือ 34 ปี นอกจากความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และวางเพลิงเผาศาลากลางอุบลราชธานี ศาลตัดสินให้พวกเขามีความผิดฐานก่อความวุ่นวาย + กีดขวางทางจราจร + และทำให้เสียทรัพย์ของเอกชน (ร้านค้าเอกชนในพื้นที่ศาลากลางถูกเพลิงไหม้ไปด้วย)  ต่อให้ตัดข้อหาเผาศาลากลางและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไป นักโทษจากอุดรฯและอุบลฯ ก็อาจต้องโทษจำคุกอีกคนละหลายปี
  • 3.    กรณีนายประสงค์ มณีอินทร์ และนายโกวิทย์ แย้มประเสริฐ จำคุกคนละ 11 ปี 8 เดือน ปรับ 6,100 บาท ในฐานความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน + มีวัตถุระเบิดและเครื่องวิทยุชนิดมือถือโดยไม่ได้รับอนุญาต + พกพาวัตถุระเบิดและอาวุธต่าง ๆ + ปล้นทรัพย์
  • 4.    นายคำหล้า ชมชื่น จำคุก 10 ปี มีความผิดฐานปล้นปืน (เอ็ม 16) จากเจ้าหน้าที่ทหาร 2 กระบอก บริเวณซอยหมอเหล็ง (แท้จริงคือการรุมล้อมรถทหารที่เข้ามาบริเวณสี่แยกดินแดง มีการแย่งปืนและดึงทหารลงจากรถ)
  • 5.    นายบัณฑิต สิทธิทุม จำคุก 38 ปี มีความผิดฐานก่อการร้าย + พกพาอาวุธปืนกล + มีวัตถุระเบิด + ใช้และครอบครองเครื่องยิงจรวดจำคุก (ใช้อาร์พีจียิ่งใส่ ก.กลาโหม) + ใช้เอกสารราชการปลอม (แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอม) + พกพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุอันควร
  • 6.    คดีผู้หญิงยิง ฮ. – คดีนี้มีจำเลย 3 คน คือ 1.นางนฤมล หรือจ๋า วรุณรุ่งโรจน์ 2. นายสุรชัย นิลโสภา 3. นายชาตรี ศรีจินดา ถูกฟ้องข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด สิ่งเทียมอาวุธ และปลอมแปลงเอกสารราชการ  ศาลชั้นต้นยกฟ้องทั้งสามคน แต่อัยการอุทธรณ์จำเลยที่ 1 (นางนฤมล) ส่วนจำเลยที่ 2 เสียชีวิต และไม่อุทธรณ์จำเลยที่ 3 หากร่าง พ.ร.บ.ฯฉบับประชาชนผ่านสภา นางนฤมลก็ยังต้องถูกดำเนินคดีต่อไป
  • 7.    คดีเผาเซ็นทรัลเวิร์ล – แม้ว่าศาลชั้นต้นจะยกฟ้องนายสายชล แพบัว และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ ไปแล้วก็ตาม แต่อัยการตัดสินใจอุทธรณ์คดีนี้ต่อไป

       จากข้อมูลบางส่วนข้างต้นนี้ ชี้ให้เห็นว่านักโทษการเมืองเสื้อแดงจำนวนมากอาจไม่ได้ประโยชน์จากร่างนิรโทษกรรมฉบับประชาชน  ต่อให้ร่างฯ นี้ผ่านสภา ก็ต้องมาไล่ดูทีละคดีว่าใครบ้างที่จะเข้าข่ายได้รับนิรโทษกรรม ซึ่งแน่นอนว่าภาระหน้าที่นี้จะตกอยู่ที่ศาล 
       อันที่จริง เจตนารมณ์ที่ต้องการแยกผู้ที่กระทำผิดจริงออกจากการนิรโทษกรรมนั้น เป็นหลักการที่ดี เราอาจไม่ต้องมีการนิรโทษกรรมใครๆ เลย หากระบบตุลาการในประเทศนี้ทำให้เราเชื่อมั่นในความยุติธรรมได้จริง แต่ที่ผ่านมาเราล้วนประจักษ์กับความพิกลพิการของกลไกความยุติธรรมกันเป็นอย่างดี จนไม่สามารถรับเอาคำตัดสินข้างต้นมาเป็นเกณฑ์ว่าใครบ้างจะได้รับนิรโทษกรรม
หมายเหตุผู้เขียน: ดูบทความที่ชี้ให้เห็นปัญหาของระบบตุลาการที่เกี่ยวข้องกับคดีคนเสื้อแดงได้ใน

        หมายเหตุประชาไท: พวงทอง ภวัครพันธุ์ได้เขียนบันทึกเพิ่มเติมลงใน เฟซบุ๊ก "ประชาไท"เห็นว่ามีเนื้อหาประเด็นที่ต่อเนื่องและชวนให้เกิดการถกเถียงต่อเนื่องกับบทความชิ้นนี้จึงได้ขออนุญาตผู้เขียนเพื่อนำมาเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ (12.40 น. 20 กรกฎาคม 2556)
*****************************************************************


พวงทอง ภวัครพันธุ์: เรื่องการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ 

           ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งของร่างนิรโทษฉบับประชาชนคือ ไม่ต้องการนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งในระดับสั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ ที่กระทำการเกินกว่าเหตุ และ/หรือผิดกฎหมาย 
         ดิฉันมีความเห็นมาตลอดว่าผู้นำทหารที่ร่วมวางแผนและสั่งการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงจะต้องได้รับโทษทัณฑ์ด้วยเช่นกัน เพราะเห็นได้ชัดว่าเป็นปฏิบัติการทางทหารที่ผู้ร่วมวางแผนสามารถเล็งผลว่าจะเกิดความสูญเสียชีวิตแก่ผู้ชุมนุมอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม การที่ร่างฉบับนี้ใส่ข้อความว่า “หากการกระทำนั้นไม่สมควรแก่เหตุ และ/หรือเป็นความผิดตามกฎหมาย ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย” เป็นการเปิดช่องให้ตีความว่าการกระทำของผู้นำทหาร ภายใต้คำสั่งของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ และผู้อำนวยการ ศอฉ.นายสุเทพ ถือเป็นการกระทำที่ไม่สมควรแก่เหตุ หรือเป็นความผิดตามกฎหมายอย่างไร

         ในทางกลับกัน ในขณะที่ญาติผู้เสียชีวิตมีความกริ่งเกรงว่า ร่างนิรโทษกรรมฉบับวรชัย อาจเปิดทางให้ผู้นำกองทัพได้รับประโยชน์ไปด้วย เพราะระบุไว้แต่เพียงกว้าง ๆ ว่า การนิรโทษกรรมจะ “ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว” ซึ่งอาจหมายถึงอภิสิทธิ์และสุเทพเท่านั้น

         ในทางกลับกัน ดิฉันกลับเห็นว่าข้อความกว้าง ๆ นี้เปิดโอกาสให้ตีความว่า “บรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ” สามารถหมายถึง ผู้นำกองทัพที่มีอำนาจในการวางแผนและตัดสินใจสั่งเคลื่อนกำลังพลได้ด้วย

         แน่นอนว่า ณ ปัจจุบัน พรรคเพื่อไทยไม่กล้าที่จะขัดแย้งกับกองทัพ จึงกันผู้นำกองทัพออกจากการดำเนินคดี แต่ในอนาคต อาจจะเป็น 10 ปีหรือ 20 ปีข้างหน้า เมื่อดุลอำนาจทางการเมืองเปลี่ยน ฝ่ายประชาธิปไตยสามารถรุกคืบทางการเมืองได้มากขึ้น กฎหมายที่ผ่านสภาแล้วนี้ จะเปิดโอกาสให้เราสามารถนำผู้นำกองทัพมารับโทษก็ได้

         แต่จะให้ดีที่สุด ในช่วงแปรญัตติวาระ 2 พรรคเพื่อไทยต้องกล้าเพิ่มข้อความว่าการนิรโทษ "ไม่รวมถึงการกระทำใด ๆ ของข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือผู้นำการเมืองที่สั่งการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว"

         การต่อสู้เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อของความรุนแรงโดยรัฐในหลายประเทศมักใช้เวลานาน 2-3 ทศวรรษ ในกรณีของไทย เราอาจต้องสู้กันยาวนานด้วยเช่นกัน ขอเพียงอย่าเพิ่งหมดแรงกันเสียก่อน

         สุดท้าย แม้ว่าจะเห็นได้ชัดว่าปฏิบัติการกระชับวงล้อม และขอคืนพื้นที่ เป็นการกระทำที่เกินขอบเขต และไม่เป็นไปตามขั้นตอนสลายการชุมนุมตามหลักสากล ดิฉันมีความเห็นว่าการเอาผิดกับทหารระดับปฏิบัติการที่กระทำเกินขอบเขตและนอกคำสั่งนั้น ยากมาก ดิฉันคิดว่าเราไม่มีข้อมูลที่จะเอาผิดพวกเขาได้ บวกกับทัศนะของคนในวงการยุติธรรมก็เป็นปัญหาด้วย กล่าวคือ เพียงแค่มีคำสั่งให้พวกเขาเคลื่อนกำลังพล ข้าราชการก็ถือว่าเขาได้ปฏิบัติการตามคำสั่งแล้ว แถมยังแจกกระสุนจริงให้อีก กองทัพไม่เคยอบรมหรือสั่งเขาว่า ห้ามยิงหัว ให้ยิงแต่ขาเท่านั้น กระสุนที่กราดยิงใส่ผู้ชุมนุม ก็ไม่รู้ว่ายิงออกมาจากปืนกระบอกไหนบ้าง ทหารแต่ละคนยิงไปกี่นัด จะให้ลงโทษทหารทั้งกอง แบบเหมารวม ก็เชื่อว่าจะไม่มีใครทำ

         ที่จริงหลักฐานที่ชี้ว่าทหารระดับล่างกระทำเกินกว่าเหตุก็ไม่ถึงกับไม่มีเลย เช่น ภาพถ่ายการซ้อมทรมานผู้ชุมนุมในระหว่างจับกุม ศปช.ก็มีบันทึกของพยานที่ถูกซ้อม แต่เรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องหานี้ ระบบตุลาการของไทย ไม่เคยให้ความสำคัญเลย ตำรวจและทหารน้อยรายมาก ๆ ที่จะถูกลงโทษเรื่องนี้ แม้แต่ในกรณีสามจังหวัดภาคใต้ ที่การซ้อมทรมานเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง จนเกิดการเสียชีวิตหลายราย แต่ก็ไม่มีการเอาผิด จนท.รัฐ อย่างมากก็จ่ายค่าชดเชยชีวิตกันไป
 เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น