วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กรรมการสิทธิฯ เปิดรายงานสลายชุมนุม ปี 53 แล้ว

กรรมการสิทธิฯ เปิดรายงานสลายชุมนุม ปี 53 แล้ว

เว็บไซต์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่ "รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553" จำนวน 92 หน้า แล้ว ที่ http://www.nhrc.or.th/2012/wb/img_contentpage_attachment/692_file_name_9897.pdf
        ท้ายรายงานฉบับดังกล่าว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สรุปบทเรียนต่อกลุ่มต่างๆ ดังนี้
ผู้ชุมนุม
  • 1. ผู้จัดการชุมนุมต้องสร้างเจตจำนงร่วมกันในการชุมนุมโดยสงบและสันติ ตลอดจนดูแลให้มีอุดมการณ์ที่ถูกต้องในการรักษาระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
  • 2. ผู้จัดการชุมนุมและผู้ร่วมชุมนุมต้องมีหน้าที่ร่วมกัน ทำให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ยึดแนวทางสันติวิธีและเจรจาไกล่เกลี่ย ไม่ปลุกระดม อีกทั้งการชุมนุมนั้นต้องปราศจากอาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธทุกชนิดในพื้นที่การชุมนุม รวมถึงไม่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์หรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรงทุกประเภท
  • 3. ผู้จัดการชุมนุมและผู้ร่วมชุมนุมต้องชุมนุมในลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั่วไป หรือให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น และต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมด้วย

ภาครัฐ
  • 1. รัฐต้องดูแลการชุมนุมให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย เพื่อป้องกันมิให้กระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงกรอบแห่งกฎหมาย มาตรฐานสากล รวมถึงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ
  • 2. ควรหลีกเลี่ยงการประกาศใช้กฎหมายพิเศษเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม เพราะไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลสถานการณ์การชุมนุมได้อย่างมีประสทิธิภาพ รัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการกฎหมายที่เหมาะสมหรือกลไกเฉพาะเพื่อดูแลและรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม
  • 3. การดูแลสถานการณ์การชุมนุมโดยรัฐ ต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวต้องมีแผนปฏิบัติการและขั้นตอนที่ชัดเจน มีเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะในการทำงานด้านมวลชน รวมถึงเครื่องมือที่เหมาะสม

         อ่านความเห็นและข้อเสนอในรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ที่นี่

          อนึ่ง ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 8 ก.ค.2554 หน้า 3 ได้เปิดเผย “ผลการตรวจสอบ กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.-19 พ.ค.2553” ของคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมหลักฐานกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งต่อมา น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ และประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ยอมรับว่า ฉบับร่างดังกล่าวเป็นของ กสม.จริง แต่เป็นเพียงร่างรายงานของ “คณะทำงาน” ซึ่งได้สำรวจ เก็บข้อมูล เบื้องต้นและยังต้องผ่านการพิจารณาของอนุกรรมการเฉพาะกิจอีก 3 ชุด และกรรมการสิทธิชุดใหญ่อีกจึงจะเป็นรายงานที่พร้อมเผยแพร่  นอกจากนี้ กสม. ยังชี้แจงกับพะเยาว์ อัคฮาค มารดาของพยาบาลอาสา กมนเกด อัคฮาด ซึ่งหนึ่งในหกผู้เสียชีวิตที่วัดปทุมฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 ด้วยว่าร่างรายงานที่หลุดออกไปยังมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และรับปากว่าจะแถลงความคืบหน้าทุกเดือน โดยจะแจ้งข่าวให้ผู้เสียหายทราบและร่วมเข้าฟังด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น