1 ธค. 2556 - เมื่อเวลา 01.55 น. บริเวณซอยรามคำแหง 24 แยก 14 นิค นอสติทซ์ ช่างภาพอิสระ ชาวเยอรมันได้รายงานว่า ขณะที่กลุ่มการ์ดเสื้อแดงเข้าสำรวจพื้นที่ภายหลังจากที่การปะทะกันระหว่างคนเสื้อแดงกับผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้าน นปช. ยุติลง ได้มีเสียงปืนดังขึ้น 6 นัดและกลุ่มการ์ดเสื้อแดงได้แบกร่างของการ์ดเสื้อแดงที่ไม่ได้สติออกมาจากในซอย และนำส่งขึ้นรถของมูลนิธิร่วมกตัญญู โดยชายเสื้อแดงไม่ทราบชื่อดังกล่าวมีบาดแผลจากการถูกกระสุนปืนยิงทะลุหมวกกันน็อคเป็นบาดแผลบริเวณศีรษะ
เหตุปะทะระหว่าง ผู้ชุมนุม นปช. กับผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย
30 พ.ย. 2556 - จากเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกลุ่มต่อต้าน นปช. และผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ที่บริเวณซอยรามคำแหง 24 และบริเวณด้านหลังมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อเวลา 20.00 - 21.00 น. คืนนี้นั้น (30 พ.ย.) ศอ.รส. และศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 21 ราย ผู้เสียชีวิตชื่อ ทวีศักดิ์ โพธิ์แก้ว อายุ 21 ปี ถูกกระสุนที่ชายโครงซ้าย 2 นัด
ผู้บาดเจ็บที่มีอาการสาหัสได้แก่ จีระพงษ์ คลองชาตรีพงศ์ อายุ 25 ปี ถูกกระสุนที่ขาขวาเหนือเข่า 1 นัด ฉัตรชัย คำประสงค์ อายุ 23 ปี ถูกกระสุนที่แขนขวา 1 นัด เสน่ห์ จันทร์เกิด อายุ 33 ปี ถูกกระสุนที่แขนขวา 1 นัด นายบุญ รัตนา อายุ 30 ปี ถูกกระสุนที่ด้านหลัง 2 นัด อรรถพล หอมบุปผา อายุ 19 ปี ถูกกระสุนที่ต้นขาซ้าย 2 นัด
ทั้งนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผอ.ศอ.รส. ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. เข้าไปสืบสวนสอบสวนเพื่อคลี่คลายคดีดังกล่าว
สำหรับเหตุปะทะที่ซอยรามคำแหง 24 ดังกล่าว เกิดขึ้นไม่ไกลจากสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน พื้นที่ชุมนุมของ นปช. ที่เริ่มนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 30 พ.ย.
ล่าสุดเมื่อเวลา 01.55 น. เข้าสู่วันที่ 1 ธ.ค. หลังกลุ่มการ์ด นปช. เดินสำรวจพื้นที่บริเวณซอยรามคำแหง 24 แยก 14 หลังเหตุปะทะระหว่างกลุ่ม นปช. กับกลุ่มต่อต้าน นปช. ยุติลง ได้เกิดเสียงปืนดังขึ้น 6 นัด ทำให้การ์ด นปช. ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบชื่อ 1 ราย ถูกยิงเข้าที่ศีรษะ โดยถูกนำส่งโรงพยาบาลโดยรถของมูลนิธิร่วมกตัญญู
(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
เมื่อเวลา 17.50 น. วันที่ 30 พ.ย. 56 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เริ่มปิดกั้นถนนรามคำแหง โดยด้านที่อยู่ไกลออกไปคือด้านหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อกันไม่ให้ผู้ชุมนุมต่อต้าน นปช. และผู้ชุมนุม นปช. เผชิญหน้ากัน (ที่มา: เพจ Prachatai)
ต่อต้าน นปช. หน้ารามคำแหง บานปลายสู่เหตุปะทะ
โดยก่อนหน้าเหตุปะทะจนมีผู้เสียชีวิตนั้นนั้น ในช่วงเวลา 16.35 น. วันที่ 30 พ.ย. 56 ที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ชุมนุมต่อต้าน นปช. กลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วยศิษย์เก่า และนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงกลุ่มหนึ่ง และผู้สนับสนุนกลุ่ม กปปส. มาชุมนุมเรียกร้องให้คนเสื้อแดงยุติการชุมนุมที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน และมอบหนังสือผ่านทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.หัวหมาก และ สน.วังทองหลาง ที่เรียกร้องให้เอาผิดผู้ที่ทำร้ายนักศึกษาหญิง เมื่อคืนวันที่ 29 พ.ย. โดยผู้ชุมนุมเชื่อว่าเป็นการกระทำของคนเสื้อแดง
ทั้งนี้ นปช. ได้ปักหลักชุมนุมที่สนามราชมังคลากีฬาสถานมาตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 56 ภายหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 20 พ.ย. และมีการนัดหมายชุมนุมใหญ่ในวันที่ 30 พ.ย. 56 ก่อนที่ผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส. จะเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในวันที่ 1 ธ.ค. 56
และในวันที่ 28 พ.ย. ไม่กี่วันก่อนวันที่ 30 พ.ย. ซึ่งเป็นวันนัดหมายชุมนุมใหญ่ของ นปช. ในโลกสังคมออนไลน์ มีการ
แชร์คลิป ที่ระบุว่าถ่ายวันที่ 27 พ.ย. เป็นภาพชายสามคนถูกทำร้ายและบังคับให้ถอดเสื้อแดงจากกลุ่มคนที่ถือธงชาติไทย บริเวณสะพานที่ซอยมหาดไทย ใกล้กับย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหง และราชมังคลากีฬาสถาน นอกจากนี้มีรายงานว่าผู้ชุมนุม นปช. ถูกดักทำร้ายหลังกลับจากการชุมนุมหลายครั้ง และมีกระแสข่าวว่าผู้ชุมนุม นปช. ตามมาดักแก้แค้น ทั้งยังมีการกล่าวหาว่าคนเสื้อแดงกรีดป้ายพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์แห่งสุโขทัย สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วย จนทำให้กลุ่มต่อต้าน นปช. ยกเรื่องนี้มาเป็นสาเหตุชุมนุมต่อต้าน นปช. อยู่ที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงในวันที่ 30 พ.ย. ดังกล่าว
ทั้งนี้จากรายงานของ
มติชนออนไลน์ การชุมนุมต่อต้าน นปช. ที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง เกิดเหตุชุลมุนขึ้นในช่วงเย็นหลังจากมีคนขับรถแท็กซี่สีเขียว-เหลือง รับผู้โดยสารเสื้อแดงมุ่งหน้าไปทางสนามราชมังคลากีฬาสถานผ่านบริเวณที่ชุมนุมทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปทำร้าย นอกจากนี้มีการไล่ทุบรถเมล์ ขสมก. ที่รับคนเสื้อแดงโดยสารมาในรถด้วย โดยไล่วิ่งตีรถเมล์ตั้งแต่บริเวณหน้าซอยรามคำแหง 53 จนถึงซอยรามคำแหง 55 โดยรถเมล์มีสภาพกระจกแตกยับเยินเสียหายรอบคัน โดยคนขับรถประจำทางได้นำรถไปจอดที่ สน.หัวหมาก และเข้าแจ้งความกับตำรวจ (ชมภาพใน
สเตรทไทม์) (คลิปเหตุการณ์ใน Youtube
1,
2 คลืปเหตุการณ์ใน Facebook
3)