วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

รายงาน: เสียงนักโทษการเมือง ต่อ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม

รายงาน: เสียงนักโทษการเมือง ต่อ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม

          ประชาไทสำรวจความคิดเห็นจากนักโทษการเมืองบางส่วนจากเรือนจำหลักสี่ ไม่กี่วันก่อนที่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะผ่านวาระ3 พวกเขาคือผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากกฎหมายนี้ และถูกอ้างเป็นหลักการพื้นฐานของการเริ่มผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ก่อนที่จะมีการปรับเนื้อหาให้ครอบคลุมส่วนอื่นๆ และสร้างการถกเถียง การเคลื่อนไหวต่อต้านจากทุกส่วน แม้แต่ในหมู่คนเสื้อแดงหรือแนวร่วมที่เคยร่วมกันต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย  
 

โกวิทย์ แย้มประเสริฐ

            ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 11 ปี 8 เดือน ปรับ 6,600 บาท ในข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน, มีวัตถุระเบิด, ลักทรัยพ์โดยร่วมกันงัดเซเว่นอีเลฟเว่น
            ศาลอุทธรณ์พิพากษาเหลือ จำคุก 9 ปี 4 เดือน ปรับ 6,100 บาท เนื่องจากเห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน โจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่า จำเลยเข้าไปขโมยของที่เซเว่นฯ จริงหรือไม่ แต่จำเลยมีของกลางไว้ในครอบครองจึงเป็นความผิดฐานรับของโจร และในส่วนความผิดฐานใช้เส้นทางคมนาคม ศาลเห็นว่าจำเลยทั้งสองได้ขับรถยนต์ออกจากที่ชุมนุมเพื่อเดินทางกลับบ้านจึงไม่เป็นความผิด คงเหลือโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคน (โกวิทย์ แย้มประเสริฐ และ ประสงค์มณีอินทร์) คนละ 9 ปี 4 เดือน ปรับเท่าเดิม (อ่านเพิ่มเติมในhttp://prachatai.com/journal/2011/06/35712)
  • “เราเห็นด้วยที่จะไม่ให้แกนนำและคนสั่งการ ที่ผ่านมาเขาสั่งยิงพี่น้องเรา”
  • “แกนนำเองเขาก็ยังไม่ยอมรับ เขาพร้อมสู้ดคีอยู่แล้ว”
  • “ร่างของวรชัยทำถูกต้องแล้ว นายใหญ่ไม่รับ (การนิรโทษกรรม) แต่ให้พี่น้องได้ออกจากคุก  หรือถ้าไม่ได้ออกจริงๆ ช้าไปอีกหน่อยก็ไม่มีปัญหา เราสู้ถึงชั้นฎีกาอยู่แล้ว เราต้องการลงโทษคนสั่งยิ่งพี่น้องเราเท่านั้น แต่ถ้าเราได้ประกันตัวไปสู้คดีก็จะดี จะได้สู้เต็มที่”

ประสงค์ มณีอินทร์

          ประสงค์เป็นคู่คดีโกวิทย์และถูกพิพากษาเช่นเดียวกัน เขาทำงานเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง วันเกิดเหตุขับรถไปร่วมการชุมนุมหลังเลิกงาน ขณะถูกจับยืนยันว่ามีแต่อุปกรณ์ก่อสร้าง หลังถูกจับไม่นานก็มีการตั้งข้อกล่าวหาและจัดแถลงข่าวการจับกุมในบ่ายวันเดียวกันนั้น
          สำหรับประเด็นพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เขากล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วไม่มีปัญหากับร่างที่รัฐบาลผลักดัน และยังเชื่อว่านักโทษในคดีทางการเมืองหลายคนก็คงมีความคิดคล้ายๆ กันคือ หากยอมได้ก็ยอมเสียบ้าง เรื่องจะได้จบๆ ไป
         “ทุกวันนี้ที่ความขัดแย้งยังคงอยู่เพราะมันไม่มีใครยอมใคร ทุกอย่างถูกดึงให้เป็นประเด็นเกมส์ทางการเมืองเสมอ จนไม่มีใครยอมใคร ปัญหาจึงไม่มีวันที่จะถูกแก้ไขได้ หาก พ.ร.บ. ตัวนี้ออกมาก็เหมือนเป็นการมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ บนพื้นฐานที่เท่ากัน ก็อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้”

ปัทมา มูลมิน

           ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต ร่วมกับจำเลยอีก 4 ราย แต่ทั้งหมดให้การเป็นประโยชน์กับรูปคดี จึงลดโทษเหลือจำคุกหนึ่งในสาม เป็นเวลา 33 ปีกับ 4 เดือน
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 4 คน เป็นเวลา 33 ปี 4 เดือน
(อ่านรายละเอียดที่ 
http://prachatai.com/journal/2011/08/36615)
  •  “ตอนนี้มีกำลังใจดีขึ้นที่เห็นเรื่องพ.ร.บ.นิรโทษเดินหน้า แต่ก็ชะงัก เพราะเขาบอกว่าจะเหมาเข่งแล้วกระแสต่อต้านมันเยอะ”
  • “ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษเหมาเข่ง เพราะไม่คุ้มกันที่ต้องให้ฆาตรกรที่ฆ่าประชาชนหลุดด้วย ถึงเข้าใจได้ว่า 2 คนนั้นไม่มีทางติดคุกแน่ แต่ในทางความเป็นจริง ก็ควรให้โอกาสศาลได้พิสูจน์ตัวเองว่ายุติธรรมจริงไหม หาความจริงได้ไหม”
  • “อยากออกไหมก็อยาก เราเป็นประชาชน เป็นเจ้าของประเทศ แค่มาเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ได้ฆ่าใครตาย”
  • “จริงๆ ฉบับวรชัยไม่น่าจะมีปัญหา ฝ่ายค้านก็ไม่ได้ค้านอะไร แต่ถามว่าสำหรับทักษิณมันยุติธรรมไหม เขาถูกกลั่นแกล้งไม่ได้กระทำผิด แต่ต้องมานิรโทษด้วย กลับมาก็ไม่สง่างาม อย่างนี้แก้ไขมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญไปเลย แต่ของประชาชนจะให้แก้ตรงไหน”
  • กี่ครั้งแล้วที่เรานิรโทษกรรมให้คนฆ่าประชาชน แต่ครั้งนี้มันแปลก เพราะฝ่ายถูกฆ่ามานิรโทษกรรม แถมนิรโทษให้คนฆ่าอีก อย่าลืมว่าที่เราออกมาก็เพราะมีคนถูกฆ่า เราออกมาเรียกร้องให้คนที่ตาย แล้ววันนี้คุณจะมายกโทษให้คนฆ่าคนตาย อย่างนั้นสิ่งที่เราทำมาก็ไม่มีความหมาย ถ้าพรรคทำแบบนี้ อย่าว่าแต่ฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายเดียวกันก็คงไม่เอาคุณเหมือนกัน”
  • “ถ้าจะยืดเยื้อ เราก็พอทำใจได้ แต่เราก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมศาลไม่ให้ประกันตัว เราจะหนีไปไหน แค่เลี้ยงครอบครัวเรายังจะหาเลี้ยงกันไม่รอด แต่กับสนธิ ลิ้มทองกุล มีเงินตั้งเท่าไรจะหนีก็หนีได้สบาย แต่เขากลับได้ประกันตัว”

 

เอนก สิงขุนทด

              เป็นจำเลยคดีวางระเบิดพรรคภูมิใจไทย ได้รับบาดเจ็บจนตาบอดทั้ง 2 ข้าง ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ เห็นควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ให้จำคุกรวมทั้งสิ้น 35 ปี และปรับ 50 บาท ต่อมา ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้เป็นลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี
          เอนกระบุว่า เขาเห็นด้วยไม่ว่าจะเป็นฉบับของวรชัย เหมะ หรือฉบับที่ผ่าน กมธ.ที่มีการเปลี่ยนเนื้อหา
  • “ที่ผ่านมาพวกผมไม่มีส่วนได้ มีแต่ส่วนเสีย ถ้าไม่ได้ของใครร่างใดร่างหนึ่ง ก็ต้องติดอยู่แบบนี้เหมือนเดิม เหมือนเอาพวกผมเป็นตัวประกัน เขาว่าจะทำเพื่อคนคนเดียว ทักษิณไปฆ่าใครที่ไหน เขาโดนกลั่นแกล้งเฉยๆ”
  • “มองโดยภาพรวมแล้วคนสั่งการยังไงเขาก็ไม่ติดคุก ถึงอัยการฟ้องเขาก็ไม่ติด เชื่อไหม ไม่มีทาง สองมาตรฐานยังมีอยู่จริงๆ ถ้าให้คนสั่งฆ่าประชาชนติดคุก เขาคงติดนานแล้ว แต่นี่ผ่านมา 3 ปีกว่าแล้ว ถามว่าจะเอาความเชื่อมั่นตรงไหนไปเชื่อแบบนั้น เขาเป็นลูกเทวดา เรามันคนธรรมดา”
  • “ผมว่าสุดซอยไปเลยแล้วมานับหนึ่งใหม่ ส่วนกระบวนการยุติธรรมเป็นปัญหาจริงๆ เราก็ต้องมาหาทางปฏิรูป เมื่อเรานิรโทษกรรมแล้ว เราก็ต้องแก้ มาตรา 309 เพื่อไม่ให้มีการัฐประหารอีก มันเป็นต้นตอของเรื่องทั้งหมด แก้ตรงนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการฆ่าประชาชนอีก”

 

เพชร แสงมณี

           ผู้ต้องขังชาวเขมร วัยเกือบ 30 ปี อยู่เมืองไทยมา 10 กว่าปี สามารถพูด อ่าน เขียน ภาษาไทยได้  เพชรถูกจับกุมในวันที่ 19 พ.ค.53  เขาถูกคุมขังในระหว่างสู้คดี โดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 6 ปี 6 เดือน ในข้อหาร่วมกันวางเพลิงตลาดพระโขนง ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใบอนุญาตทำงานสิ้นสุด ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยยกข้อหาก่อการร้าย คดีของเขาถึงที่สุดแล้วโดยเขาตัดสินใจไม่ฎีกา
  • “ตอนนั้นผมไม่รู้คิดอะไรเลยไม่ฎีกา น้อยใจมากเลย กะว่าจะทำอะไรกับกูก็ทำไป”
  • “เรื่องนิรโทษกรรม ใจผมมี 2 ใจ คืออยากให้นิรโทษแกนนำและผู้สั่งการแบบนี้ กับ นิรโทษให้เฉพาะประชาชน มันเป็นเรื่องยากทางการเมือง อยากให้ถกเถียงการไปก่อน เพราะความคิดเห็นยังแตกต่างกันอยู่มาก”
  • “ผมรู้สึกเห็นใจผู้สูญเสีย เขาอาจทำใจลำบาก แต่ลึกๆ ผมก็อยากให้นับหนึ่งใหม่และให้รัฐบาลผลักดันพ.ร.บ.ฉบับนี้ แล้วไปแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ใครทำรัฐประหารให้ลงโทษสถานหนัก”
  • “ถ้าอยากให้ประเทศเดินหน้า เราอาจต้องลืมอดีต ทำใจยอมรับให้ได้แล้วเริ่มกันใหม่”
  • “สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดคือ การโดยคุมขังโดยไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ผมไม่ได้สนใจการเมือง เป็นคนหาเช้ากินค่ำ สังคมไทยไม่มีความเป็นธรรมให้ผมเลย แต่อย่างว่า แม้แต่คนชาติเดียวกันเขายังทำรุนแรงกันขนาดนั้น นับประสาอะไรกับคนต่างชาติ ก็ต้องปิดตารับชะตากรรมของตัวเองไป”


วรนุช หรืออัจฉรา  ศรีวันทา

          (รายใหม่) เป็นชาว อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ถูกดีเอสไอตั้งข้อหาให้เป็นแกนนำเสื้อแดงขอนแก่น ในเหตุการณ์ปิดถนนมิตรภาพ บริเวณแยกบ้านหนองโจด อ.พล  จ.ขอนแก่นเมื่อวันที่  12 พ.ค.53  เธอและชูชัย เจ้าของรถเครื่องเสียงที่ใช้เป็นเวทีชุมนุม ถูกแจ้งข้อหาก่อการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง กีดขวางการทำงานเจ้าพนักงาน
          ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 12 เดือน ปรับ 10,000 บาท ได้รับการประกันตัวเพื่อสู้คดี จนกระทั่ง 12 มิ.ย.56 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น สั่งจำคุกวรนุชและชูชัย 12 เดือน 
        เธอเล่าว่าในเหตุการณ์นั้น เธอเป็นคนที่นำเอาข้าวเอาน้ำมาแจกให้ทหารระหว่างที่ผู้ชุมนุมปิดกั้นถนน และพยายามไม่ให้นำทหารจากทางภาคอีสานลงมาผลัดเปลี่ยนกำลังที่กรุงเทพ  เธอเลยถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำของผู้ชุมนุม
          “นี่เป็นผลตอบแทนที่ได้รับจากการเอาอาหารและน้ำไปให้ทหาร”
         ในช่วงสองเดือนแรกเธอถูกจำคุกอยู่ที่ขอนแก่น สามีเทียวเยี่ยม ส่งข้าว ดูแล รวมทั้งรับภาระในการส่งเสียลูกสาวที่เริ่มเรียนในสถาบันอุดมศึกษาเป็นปีแรก กิจการฟาร์มหมูขาดทุนและหมูถูกขายนำมาเป็นค่าใช้จ่ายเหล่านี้ เมื่อเห็นว่าเป็นภาระที่หนักของสามี ผนวกกับสภาพแออัดในเรือนจำขอนแก่น เธอตัดสินใจขอย้ายมาถูกขังที่เรือนจำพิเศษ หลักสี่  ซึ่งสภาพความเป็นอยู่สบายขึ้น แม้ต้องห่างครอบครัว แต่ก็ไม่เป็นภาระทางเศรษฐกิจให้กับครอบครัว 
         สำหรับประเด็นนิรโทษกรรม วรนุชบอกว่าเธอเห็นด้วยกับการผลักดันกฎหมาย
         “ถ้าไม่ให้อภัยกัน มันก็ไม่จบ..บ้านเมืองมันก็ก้าวไปข้างหน้าต่อไปไม่ได้ มันต้องอะลุ่มอะหล่วยกัน ลูกหลานข้างหน้าจะได้สบายขึ้น ถ้าเรายังจมอยู่กับความขัดแย้งมันก็ไปไหนไม่ได้” 
         เมื่อถามว่าถ้าไม่ได้นิรโทษโดยส่วนตัวเธอจะรู้สึกอย่างไร วรนุชบอกว่าเธอคิดว่าจะได้รับการพักโทษเมื่อถูกขังได้ 2 ใน 3 ของกำหนดโทษ หรือราว 8 เดือน  เธอบอกว่าสภาพของเธอดีกว่าคนอื่นที่โดนโทษหนัก น่าเป็นห่วงกว่ามากนัก

“ฉันรักท่านทักษิณ ทำเพื่อท่านทักษิณ ถึงมาอยู่อย่างนี้” เธอฝากถึงทักษิณ ชินวัตร
 

พนม กันนอก

           หนึ่งในผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 20 ปี และได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 ปัจจุบันรับจ้างทำงานก่อสร้าง โดยต้องไปรายตัวกับสำนักงานยุติธรรมจังหวัดมุกดาหารทุกเดือน และต้องยังไปพบหมอจิตเวชทุก 2 เดือน อันเนื่องจากผลกระทบจากการถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลานาน
        “ถ้านิรโทษแบบสุดซอยแล้วทำให้ประเทศชาติเดินหน้าได้ ทำให้พี่น้องออกจากคุกได้ ผมก็ยอมรับได้ เพราะว่ายังไงเราก็เอาอภิสิทธิ์ สุเทพมาลงโทษไม่ได้ ถามว่าผมโกรธมั้ย ช้ำใจมั้ย ผมช้ำใจ เราได้รับผลกระทบมานาน ทั้งที่ไม่ได้ทำผิด เรารอการนิรโทษมานาน คนที่อยู่ข้างในเรือนจำก็รอมานาน ถ้าคนอยู่ข้างในได้ประกันตัวออกมาเหมือนเรา เราก็พร้อมจะสู้ในกระบวนการยุติธรรมปกติ และต้องให้อภิสิทธิ์ สุเทพ รวมทั้งอีกฝ่ายหนึ่งเข้าสู่กระบวนการเหมือนกัน แม้สุดท้ายศาลฎีกาจะพิพากษาจำคุกพวกเราก็ยอมรับได้ แต่อีกฝ่ายก็ต้องรับโทษเหมือนกัน”
         แต่ถ้านิรโทษสุดซอยแล้ว อีกฝ่ายจะออกมาชุมนุมต้าน ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะไม่อยากให้ทักษิณกลับ แล้วทำให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ตกไป พี่น้องเราไม่ได้ออก ผมก็ไม่เอา ให้พรรคเพื่อไทยกลับไปเอาร่างเดิมของวรชัยดีกว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้พี่น้องเราออกมาได้เร็วที่สุด ผมเห็นใจเขา”  
 

วินัย ปิ่นศิลปชัย

           ผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหารอีกคน ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์เช่นเดียวกัน แต่ผลกระทบจากการถูกคุมขัง ทำให้เขาไม่สามารถกลับไปวิ่งรถขายขนมเครปตามโรงเรียนได้อีกแล้ว ทำได้เพียงเป็นลูกมือช่วยภรรยาขายกล้วยทอด
         “ผมไม่เห็นด้วยที่จะนิรโทษสุดซอย ไม่ต้องมี ผมทำใจไม่ได้ เราสูญเสียมาเยอะ ตาย 90 กว่าศพ จะไปยกโทษให้คนทำง่ายๆ ได้ยังไง ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ให้เป็นมาตรฐานว่าคนสั่งฆ่าประชาชนต้องติดคุก ถ้าฆ่าประชาชนแล้วได้รับการนิรโทษ คราวหน้าก็จะมีอย่างนี้อีก ประชาชนมาชุมนุมก็ถูกฆ่าอีก เวลาเขาทำกับเราเหมือนเราไม่ใช่คนไทย เราจึงยอมให้นิรโทษไม่ได้ แม้ว่าถึงที่สุดแล้วคดีของเราศาลจะตัดสินให้จำคุก ผมก็ยอมรับได้ ขอแค่ให้อภิสิทธิ์ สุเทพ รับโทษบ้าง ติดคุกบ้าง”
“ถ้านิรโทษเฉพาะประชาชน กับทักษิณ ผมถึงจะยอมรับ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น