วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ม.เที่ยงคืน ขอสังคมร่วมปฏิรูปการเมืองใต้กลไกรัฐสภา-ตามกรอบรัฐธรรมนูญ

ม.เที่ยงคืน ขอสังคมร่วมปฏิรูปการเมืองใต้กลไกรัฐสภา-ตามกรอบรัฐธรรมนูญ
           9 ธ.ค.2556 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการณ์ เรื่อง หยุดการเคลื่อนไหวที่ทำลายระบบประชาธิปไตย ระบุข้อเรียกร้อง กปปส. ที่เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีขอลาออกจากตำแหน่ง โดยต้องการให้มีการแต่งตั้งนายกฯ พระราชทานนั้นจะนำไปสู่ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ปราศจากความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับกรณีการยุบสภาและการลาออกของนายกรัฐมนตรีไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ในข้อเสนอเรื่องการตั้งสภาประชาชนที่จะดำเนินการติดตามมาก็ไม่ปรากฏว่าจะมีการดำเนินการในลักษณะเช่นใด ใครเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้ง หรือมีกระบวนการในการคัดเลือกอย่างไร หรือเป็นอำนาจของบรรดาผู้นำในการเคลื่อนไหวครั้งนี้เท่านั้นที่จะเป็นผู้มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ
        มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนแนะว่า หากกลุ่มแกนนำ กปปส. มีความต้องการที่จะให้เกิดการปฏิรูปการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นก็สามารถทำการผลักดันและเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ ไม่ว่าจะโดยผ่านกระบวนการทางการเมืองตามปกติ เช่น การเผยแพร่ข้อเสนอและแนวทางในการแก้ไขของตนเองอย่างชัดเจนให้แก่สาธารณชนและแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชนในการเลือกตั้ง หรือการจัดตั้งเป็นกลุ่มองค์กรอิสระที่คอยติดตามตรวจสอบในประเด็นที่ตนเองตระหนักว่าเป็นปัญหาซึ่งควรต้องได้รับการแก้ไข หรือแม้กระทั่งการปรับแก้ไขโครงสร้างของระบบการเมืองไม่ว่าจะเป็นระบบการเลือกตั้ง ระบบการตรวจสอบ ซึ่งได้มีกำหนดไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติหลายฉบับก็สามารถกระทำได้ด้วยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายนั้นๆ
          พร้อมกันนี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเรียกร้องให้สังคมร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบอบการเมืองของไทยภายใต้กลไกของระบบรัฐสภาและบนกระบวนการตามกรอบของรัฐธรรมนูญ และร่วมกันปฏิเสธการเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่การใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญทุกประการในการแทรกแซงและทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับระบบการเมืองที่ไม่ได้เคารพต่อหลักการประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ
 
 
00000
 
แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง หยุดการเคลื่อนไหวที่ทำลายระบบประชาธิปไตย
      
           ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภาเมื่อเช้าวันที่ 9 ธันวาคม 2556 อันมีผลให้คณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งพ้นไปจากตำแหน่งทั้งหมด และมีผลให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ภายใน 60 วัน
         การยุบสภาเป็นกระบวนการในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองประการหนึ่งตามระบบรัฐสภาและเป็นกระบวนการที่ได้มีการรับรองไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ อันถือเป็นการคืนอำนาจกลับไปสู่ประชาชนทุกคนภายในสังคมให้ร่วมกันตัดสินใจต่อปัญหาต่างๆ ที่ได้บังเกิดขึ้น บนพื้นฐานของการยอมรับความเสมอภาคและความเท่าเทียมระหว่างบุคคลทุกคนผ่านระบบการเลือกตั้ง
          แม้การยุบสภาอาจมิใช่เป็นเป้าหมายของบรรดาแกนนำ กปปส. ที่ทำการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในขณะนี้ แต่ความพยายามในการเคลื่อนไหวที่ต้องการให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ด้วยการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีขอลาออกจากตำแหน่ง โดยต้องการให้มีการแต่งตั้งนายกฯ พระราชทานตามแนวทางของทางกลุ่มเคลื่อนไหวนั้นจะนำไปสู่ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ปราศจากความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับกรณีการยุบสภาและการลาออกของนายกรัฐมนตรีไว้อย่างชัดเจน
           นอกจากนี้ในข้อเสนอเรื่องการตั้งสภาประชาชนที่จะดำเนินการติดตามมาก็ไม่ปรากฏว่าจะมีการดำเนินการในลักษณะเช่นใด ใครเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้ง หรือมีกระบวนการในการคัดเลือกอย่างไร หรือเป็นอำนาจของบรรดาผู้นำในการเคลื่อนไหวครั้งนี้เท่านั้นที่จะเป็นผู้มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ
            ความไม่ชัดเจนในข้อเสนอเรื่องสภาประชาชนย่อมทำให้ประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างออกไปอาจกลายเป็นผู้ไร้สิทธิ ซึ่งแนวทางดังกล่าวย่อมเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก และอาจเกิดความยุ่งยากติดตามมาหากผู้ซึ่งมีความเห็นต่างจัดการชุมนุมและเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงด้วยการอ้างอิงถึงอำนาจอธิปไตยของประชาชนเช่นเดียวกัน ทั้งหมดก็ย่อมจะนำไปสู่ภาวะที่บ้านเมืองตกอยู่ในสภาพอนาธิปไตย
              หากกลุ่มแกนนำ กปปส. มีความต้องการที่จะให้เกิดการปฏิรูปการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นก็สามารถทำการผลักดันและเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ ไม่ว่าจะโดยผ่านกระบวนการทางการเมืองตามปกติ เช่น การเผยแพร่ข้อเสนอและแนวทางในการแก้ไขของตนเองอย่างชัดเจนให้แก่สาธารณชนและแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชนในการเลือกตั้ง หรือการจัดตั้งเป็นกลุ่มองค์กรอิสระที่คอยติดตามตรวจสอบในประเด็นที่ตนเองตระหนักว่าเป็นปัญหาซึ่งควรต้องได้รับการแก้ไข หรือแม้กระทั่งการปรับแก้ไขโครงสร้างของระบบการเมืองไม่ว่าจะเป็นระบบการเลือกตั้ง ระบบการตรวจสอบ ซึ่งได้มีกำหนดไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติหลายฉบับก็สามารถกระทำได้ด้วยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายนั้นๆ
            การตั้งเป้าหมายถึงระบบการเมืองที่มีคุณภาพมากขึ้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การเปลี่ยนแปลงด้วยความคาดหวังว่าจะทำให้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนภายใต้การชี้นำของคนดีเพียงบางกลุ่มที่ไม่มีกฎหมายอันชอบธรรมรองรับ ไม่เพียงแต่จะเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านที่ดีขึ้นเท่านั้น หากยังจะสามารถนำไปสู่ความรุนแรงในทางการเมืองระหว่างฝ่ายต่างๆ ให้บังเกิดขึ้นมากกว่าเดิม
           มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอเรียกร้องให้สังคมร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบอบการเมืองของไทยภายใต้กลไกของระบบรัฐสภาและบนกระบวนการตามกรอบของรัฐธรรมนูญ และร่วมกันปฏิเสธการเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่การใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญทุกประการในการแทรกแซงและทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับระบบการเมืองที่ไม่ได้เคารพต่อหลักการประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ การรักษาระบบและการเปลี่ยนแปลงด้วยการพัฒนาระบบให้ดีขึ้นมีความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันในอนาคต แต่ถ้าหากมุ่งสู่การล้มระบบที่เป็นอยู่ก็จะนำไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายอย่างยากจะที่จะยุติลงได้ ซึ่งจะส่งผลเสียร้ายแรงต่อคนทุกๆ กลุ่มในสังคมไทย

9 ธันวาคม 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น