เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 95 ปี โดยเป็นหนึ่งในผู้ต่อสู้เพื่อความเสมอภาคในแอฟริกาใต้ ต่อต้านนโยบายแบ่งแยกสีผิว ถูกจองจำนานถึง 27 ปี กระทั่งได้รับการปล่อยตัวและชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้
เนลสัน แมนเดลา ในวันที่ได้รับการปล่อยตัวเมื่อ 12 ก.พ. 2533 หลังถูกจองจำมานานกว่า 27 ปี (ที่มา: หนังสือพิมพ์ The Weekly Mail, February 12 1990)
เนลสัน แมนเดลา ในปี 2551 (ที่มา: วิกิพีเดีย)
6 ธ.ค. 2556 - เมื่อคืนวันที่ 5 ธ.ค. ตามเวลาท้องถิ่นของแอฟริกา ประธานาธิบดียาค็อป ซูมา แห่งแอฟริกาได้ ได้ประกาศว่าอดีตประธานาธิบดีแอฟริกาเนลสัน แมนเดลา เสียชีวิตแล้ว ที่บ้านพักของเขาในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก สิริอายุ 95 ปี ทั้งนี้ อัลจาซีรารายงานว่า อดีตประธานาธิบดีแมนเดลาต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่า 3 เดือน เพื่อรักษาอาการติดเชื้อในปอด
นักเรียนกฎหมายวัยหนุ่มและการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคในแอฟริกาใต้
แมนเดลาเป็นบุคคลสำคัญในขบวนการการต่อต้านนโยบาย Apartheid หรือนโยบายแบ่งแยกสีผิว ทั้งนี้เขาเกิดเมื่อปี 2461 ที่เมืออุมตาตู ในครอบครัวของผู้ปกครองเผ่าเทมบู ในแคว้นทรานสไก แมนเดลาได้รับการศึกษาด้านกฎหมายจากที่มหาวิทยาลัยฟอร์ตแฮร์ (Fort Hare University) และมหาวิทยาลัยวิตวอเตอร์สรันด์ (University of Witwatersrand) ที่โจฮันเนสเบิร์ก และที่เมืองนี้เอง ทำให้เขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองแนวต่อต้านอาณานิคมร่วมกับขบวนการสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา หรือ ANC และเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งสันนิบาตเยาวชนของ ANC
อย่างไรก็ตามภายหลังที่พรรคชาตินิยมชนะการเลือกตั้งในปี 2491 และเริ่มนโยบายแบ่งแยกสีผิว แมนเดลาเป็นผู้นำสำคัญในแคมเปญของ ANC เพื่อต่อต้านนโยบายดังกล่าว และในปี 2495 ได้รับเลือกเป็นประธานสาขาของ ANC ที่ทรานสวาล (Transvaal) และเข้าร่วมสมัชชาประชาชนเมื่อปี 2498
ทั้งนี้ แมนเดลากับเพื่อนนักกฎหมายคือ โอลิเวอร์ แทมโบ ได้เปิดสำนักกฎหมาย "Mandela and Tambo" ขึ้น เพื่อให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ชาวแอฟริกันผิวสีในราคาต่ำหรือไม่คิดมูลค่า อย่างไรก็ตามเขามักจะถูกจับในข้อหาปลุกปั่น ทั้งนี้แม้ว่า แมนเดลา จะบอกว่าเขานั้นได้รับอิทธิพลการต่อสู้ในเชิงสันติอหิงสาจากมหาตมะ คานธี และพยายามผูกมิตรกับเหล่านักการเมืองเชื้อชาติอื่นทั้งคนผิวขาวและคนผิวสี
อย่างไรก็ตามภายหลังเหตุการณ์สังหารที่
ชาร์ปเพวิลล์ (The Sharpeville massacre) ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 69 คนจากการประท้วงที่สถานีตำรวจของเมือง ในเดือนมีนาคมปี 2503 ทำให้ ANC ตัดสินใจต่อต้านนโยบาบแบ่งแยกสีผิวด้วยการใช้กำลังอาวุธ โดยในปี 2504 แมนเดลาก่อตั้งและขึ้นเป็นผู้นำกลุ่ม "Umkhonto we Sizwe" หรือ "หอกแห่งชาติ" ซึ่งเป็นฝ่ายติดอาวุธของกลุ่ม ANC เพื่อต่อต้านนโยบายแบ่งแยกสีผิวด้วยการใช้กำลังอาวุธ "คนของพวกเราเป็นนักสู้เพื่อเสรีภาพที่ถูกฝึกมาอย่างดี ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย" เนลสันกล่าวไว้ในแถลงการณ์เมื่อปี 2513 ว่า
"พวกเรากำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย การปกครองโดยคนหมู่มาก เพื่อสิทธิของชาวแอฟริกันที่จะได้ปกครองแอฟริกา พวกเรากำลังต่อสู้เพื่อแอฟริกาใต้ อันจะนำมาซึ่งความสงบสุข ปรองดอง และให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน"
ต่อมาในวันที่ 5 สิงหาคม 2505 เขาและแกนนำคนอื่นๆ ถูกจับกุม และถูกตั้งข้อหาก่อวินาศกรรมและโค่นล้มรัฐบาลด้วยการใช้กำลัง ทั้งนี้เขาถูกจำคุกเป็นเวลา 27 ปี
อย่างไรก็ตามมีการรณรงค์ในต่างประเทศกดดันให้รัฐบาลแอฟริกาใต้ในขณะนั้นปล่อยตัวเนลสัน แมนเดลาและผู้ถูกจับกุม และมีรัฐบาลหลายประเทศที่คว่ำบาตรนโยบายเหยียดผิวของแอฟริกาใต้ โดยเหตุการณ์รณรงค์ที่สำคัญครั้งหนึ่งคือการจัดคอนเสิร์ตที่สนามเวมบลีย์ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อ 11 มิถุนายน 2531 ในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 70 ปีของแมนเดลาในวันที่ 18 กรกฎาคม และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวแมนเดลาและเพื่อน โดยมีการถ่ายทอดสดไป 67 ประเทศทั่วโลก มีผู้ชม 600 ล้านคน อย่างไรก็ตามในสหรัฐอเมริกา สถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์ได้เซ็นเซอร์บางช่วงของคอนเสิร์ตที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง
ได้รับการปล่อยตัว และการปรองดองแห่งชาติ
กระทั่งในปี 2533 หลังแอฟริกาใต้มีการเปลี่ยนประธานาธิบดีคนเก่าซึ่งป่วยหนัก มาเป็น เฟรเดอริค วิลเลม เดอ เคลิร์ก นโยบายเหยียดผิวในแอฟริกาใต้เริ่มผ่อนปรน โดยเดอ เคลิร์ก ได้ประกาศปล่อยตัวแมนเดลาเป็นอิสระในเดือนกุมภาพันธ์ 2533
ทั้งนี้เดอ เคลิร์ก และแมนเดลา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกันในปี 2536 จากบทบาทสำคัญของทั้งสองในการยุติยุคแห่งการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้
และภายหลังได้รับการปล่อยตัว แมนเดลากลับมามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยสำหรับทุกเชื้อชาติในแอฟริกาใต้ และได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรก หลังการเลือกตั้งทั่วไป 27 เมษายน 2537 และเขาได้ตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ โดยมีเดอ เคลิร์ก และทาโบ อึบแบกีเป็นรองประธานาธิบดี ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ได้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดสีผิว และได้ริเริ่มโครงการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน หรือ (RDP) เพื่อสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจแก่ประชาชนหลังสิ้นสุดยุคแบ่งแยกสีผิว
หลังจากนั้นอีก 5 ปีเขาได้ลงจากอำนาจ แต่ยังมีบทบาทสำคัญอื่นๆ อาทิเป็นผู้รณรงค์ต่อสู้ในประเด็นเรื่องโรคเอดส์ และสนับสนุนให้แอฟริกาได้สิทธิเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2553 นอกจากนี้ยังคงมีบทบาทในการเจรจาสันติภาพในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา
ทั้งนี้ แมนเดลาอำลาการเมืองในปี 2547 ด้วยวัย 85 ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวและเพื่อน โดยไม่ค่อยออกงานสังคมมากนัก ยกเว้นการปรากฏตัวของเขาในพิธีปิดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่แอฟริกาใต้ในปี 2553
อนึ่งมีรายงานครึกโครมในสื่อมวลชนไทยด้วยว่าในปี 2553
ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยเดินทางไปเยี่ยมคารวะเนลสัน แมนเดลาด้วย และทางสำนักงานของแมนเดลา ระบุว่าเป็นการขอเข้าพบส่วนตัว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น